“เฟรเซอร์ส-โรจนะ-เอเชีย อินดัสเตรียล เอสเตท” สามยักษ์อุตสาหกรรมไทย จับมือพัฒนาโครงการ ‘อารยะ ดิ อีสเทิร์น เกตเวย์’ เมืองอุตสาหกรรมพร้อมระบบนิเวศครบวงจร พื้นที่กว่า 4,600 ไร่ ริมถนนบางนา-ตราด เผยนิคมเฟสแรก 2,000 ไร่ มูลค่าการลงทุนกว่า 20,000 ล้านบาท
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ กล่าวว่า โครงการ ‘อารยะ ดิ อีสเทิร์น เกตเวย์’ เรียกได้ว่ามาถูกที่ถูกเวลา ตอนนี้ประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงเวลาสำคัญ จากการปรับเปลี่ยนซัพพลายเชน ไปจนถึงการเคลื่อนย้ายการลงทุนครั้งใหญ่ที่จะมีคลื่นการลงทุนลูกใหม่เข้ามาในไทยอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
“ตัวเลขการลงทุนปีที่แล้ว บีโอไอได้อนุมัติคำขอส่งเสริมการลงทุนมูลค่ารวมกัน 1.1 ล้านล้านบาท สูงสุดในรอบ 10 ปี โดยมีจำนวนทั้งสิ้น 3,500 โครงการ สูงสุดตั้งแต่ก่อตั้งโอไอ นี่คือโอกาสทองของประเทศไทยจริงๆ ดังนั้นเราเองต้องเตรียมพร้อมทั้งในเรื่องแรงงานสกิลใหม่เพื่อให้รองรับกับอุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่เข้ามา
“นอกจากนี้อีกส่วนหนึ่งที่มีผลต่อการตัดสินใจลงทุนคือ ที่ดิน ทั้งในแง่ของทำเล การเดินทางที่สะดวกสบาย และมีระบบนิเวศที่ดีและดึงดูดแรงงานกลุ่ม Talent รวมถึงธุรกิจอื่นๆ ให้มาตั้งอยู่ใกล้เคียงได้ ซึ่งอารยะ ดิ อีสเทิร์น เกตเวย์ นอกจากจะมีพื้นที่รองรับอุตสาหกรรม โลจิสติกส์ ยังมีพื้นที่ที่สามารถรองรับการจัดหาพลังงานสะอาดได้อย่างเพียงพอจากการมีโซลาร์ฟาร์ม ด้านทำเลยังอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ที่สามารถเชื่อมโยงกับสนามบินสุวรรณภูมิและ EEC ได้ ดีลนี้จึงเรียกได้ว่าเป็นไมล์สโตนสำคัญของภาคอุตสาหกรรมไทย”
ทั้งนี้ บริษัท อารยะ แลนด์ ดีเวลลอปเม้นต์ จำกัด เกิดขึ้นจากความร่วมมือของทั้ง 3 บริษัท ได้แก่ บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) จํากัด (มหาชน), บริษัท สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท นิคมอุตสาหกรรมเอเซีย จำกัด หรือเอเชีย อินดัสเตรียล เอสเตท ซึ่งเฟรเซอร์ส ถือหุ้นในสัดส่วน 50% ขณะที่โรจนะและเอเชีย อินดัสเตรียล เอสเตท ถือหุ้นคนละ 25%
![](https://forbesthailand.com/wp-content/uploads/2025/02/ZXKjTUTB3vXdygRSERYc.jpg)
ในงานแถลงข่าวเปิดตัวอย่างเป็นทางการในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2568 มีผู้บริหารร่วมเปิดโครงการ ได้แก่ ชายน้อย เผื่อนโกสุม ประธานกรรมการ บริษัท อารยะ แลนด์ ดีเวลลอปเม้นต์ จำกัด, กมลกาญจน์ คงคาทอง กรรมการผู้จัดการ บริษัท อารยะ แลนด์ ดีเวลลอปเม้นต์ จำกัด และ ปณต สิริวัฒนภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ลิมิเต็ด และ ชาลี โสภณพนิช ประธานกรรมการ บริษัท นิคมอุตสาหกรรมเอเอชีย จำกัด
![](https://forbesthailand.com/wp-content/uploads/2025/02/CvU9FxHsbGV2a6h5Paba.jpg)
กมลกาญจน์ คงคาทอง กรรมการผู้จัดการ บริษัท อารยะ แลนด์ ดีเวลลอปเม้นต์ จำกัด กล่าวว่า อารยะ ดิ อีสเทิร์น เกตเวย์ ถูกพัฒนาขึ้นภายใต้แนวคิด ระบบนิเวศเมืองอุตสาหกรรมและนวัตกรรมที่เชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียวกัน หรือ Industrial Tech Ecosystem โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อบุกเบิกระบบนิเวศแห่งนวัตกรรมด้านอุตสาหกรรม เทคโนโลยีขั้นสูง และโลจิสติกส์แบบครบวงจรที่ยังไม่เคยมีมาก่อนในประเทศไทย
โดยตั้งเป้าสนับสนุนความสำเร็จทางธุรกิจของลูกค้า ส่งเสริมคุณภาพชีวิตของบุคลากรในโครงการด้วยสิ่งอำนวยความสะดวก และโครงสร้างพื้นฐานที่ครบครัน ทั้งยังเป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์ประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการลงทุนที่น่าเชื่อถือ และได้รับการยอมรับจากบริษัทระดับนานาชาติ เพื่อดึงดูดการลงทุนจากทั่วโลกเข้ามาส่งเสริมเศรษฐกิจภายในประเทศ”
![](https://forbesthailand.com/wp-content/uploads/2025/02/973VpV3wS8f9PuhgWmey.jpg)
โดยโครงการตั้งอยู่บนประตูสู่ภาคตะวันออก ณ กิโลเมตรที่ 32 ของถนนบางนา-ตราด จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งนับเป็นทำเลทองของอุตสาหกรรมไทยใกล้กรุงเทพฯ เชื่อมต่อจากถนนบางนา-ตราด สู่ทางพิเศษกรุงเทพ-ชลบุรีสายใหม่ (Motorway)
นอกจากนี้ ยังสามารถเชื่อมต่อกับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจที่สำคัญ และท่าเรือแหลมฉบังในเวลาเพียง 60 นาที เหมาะกับการเป็นศูนย์กลางธุรกิจ โลจิสติกส์ อุตสาหกรรม และการค้าระหว่างประเทศ
“ทั้งยังรายล้อมด้วยศูนย์การผลิตสินค้าจากหลากหลายอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ ธุรกิจ E-Commerce รวมถึงธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค (FMCG) ฯลฯ ซึ่งถือเป็นโอกาสใหม่ๆ ในการเปิดรับลูกค้าจากบริเวณใกล้เคียงที่ตั้งของโครงการมาร่วมสร้างมูลค่า พร้อมรองรับการเติบโตและขยายตัวของธุรกิจในอนาคตอย่างเต็มศักยภาพ”
![](https://forbesthailand.com/wp-content/uploads/2025/02/gKkNbZaPm63neUUV4bGP.jpg)
ทั้งนี้ อารยะ ดิ อีสเทิร์น เกตเวย์ ออกแบบระบบนิเวศภายในโครงการ ภายใต้ 6 องค์ประกอบหลัก ได้แก่
1.Industrial Tech Campus (แคมปัสด้านอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี): พื้นที่ที่ถูกออกแบบให้เป็นแคมปัสของบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูง รวมไปถึงศูนย์ข้อมูล (Data Center) โดยมีสิ่งอำนวยความสะดวกและโครงสร้างพื้นฐานที่ทันสมัย เพื่อสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจในกลุ่มอุตสาหกรรมแห่งอนาคต
2.Logistics Park (พื้นที่โลจิสติกส์): พื้นที่สำหรับธุรกิจโลจิสติกส์ คลังสินค้า และศูนย์กระจายสินค้า ด้วยทำเลที่ตั้งที่เชื่อมต่อการคมนาคมขนส่งได้อย่างสะดวก จึงเหมาะสำหรับธุรกิจที่ต้องการความคล่องตัวในการขนส่งสินค้าทั้งภายในและต่างประเทศ
3.ARAYA Industrial Estate (นิคมอุตสาหกรรมอารยะ): พื้นที่สำหรับโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ และตั้งอยู่ในพื้นที่ของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (IEAT) ซึ่งจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีและการลงทุนต่างๆ ตามนโยบายของภาครัฐ
4.Lifestyle & Amenities (โซนไลฟ์สไตล์และบริการต่างๆ): พื้นที่รีเทล ไลฟ์สไตล์ และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ของโครงการที่มุ่งเน้นการส่งมอบคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับทุกคน
5.Community Services Centre (ศูนย์กลางการให้บริการชุมชน): ศูนย์กลางในการให้บริการชุมชน และช่วยเหลือลูกค้าของโครงการ พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น สวนสาธารณะ ลู่วิ่ง และสนามฟุตซอล
6.Residential Project (โครงการที่อยู่อาศัย): เตรียมจัดสรรพื้นที่สำหรับพัฒนาเป็นโครงการที่อยู่อาศัยเพื่อรองรับบุคลากร ผู้เชี่ยวชาญ และผู้บริหาร ที่ทำงานในโครงการ เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดี และลดความจำเป็นในการเดินทาง สอดคล้องกับแนวคิด Work-Live-Play
“สำหรับการพัฒนาเฟสแรกเป็นพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม 2,000 ไร่ มูลค่าการลงทุน 20,000 ล้านบาท ปัจจุบันเราอยู่ระหว่างการพิจารณา EIA ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงปลายปีนี้ และเปิดให้ลูกค้ารายแรกของเรา ซึ่งเป็นบริษัทจากเยอรมนีที่ตกลงซื้อที่ดินราว 100 ไร่ สามารถเข้ามาพัฒนาโรงงานได้ในช่วงกลางปีหน้า”
![](https://forbesthailand.com/wp-content/uploads/2025/02/MkhZhF77wcgKvZmgueXL.jpg)
กมลกาญจน์ กล่าวอีกว่า จุดเด่นของที่ดินผืนนี้ คือเป็นพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมผืนเดียวที่ยังเหลืออยู่ในสมุทรปราการ ขณะที่โครงการอื่นๆ ขายหมดแล้ว โดยราคาขายที่ดินอยู่ในระดับเดียวกับราคาตลาดของพื้นที่โซนนี้ของสมุทรปราการที่เธอบอกว่าอยู่ที่ประมาณไร่ละ 12-14 ล้านบาท
“บริษัทยังอยู่ระหว่างพูดคุยกับนักลงทุนหลายราย และตั้งเป้าว่าจะสามารถขายที่ดินได้ราว 300-400 ไร่ในปีนี้ ขณะเดียวกันจะเดินหน้าพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำหรับนิคมอุตสาหกรรมเฟสแรกซึ่งคิดเป็นพื้นที่กว่า 2,000 ไร่ ให้แล้วเสร็จในอีก 2-3 ปี และคาดว่าจะปิดการขายที่ดินในเฟสแรกได้ใน 5-6 ปีข้างหน้า”
เธอยังเผยมุมมองต่อแนวโน้มการลงทุนด้วยว่า นโยบายกีดกันทางการค้าของ Donald Trump นั้นส่งผลดีกับการลงทุนในไทย เนื่องจากประเทศที่มีแนวโน้มจะลงทุนในจีน ต้องการเคลื่อนย้ายการลงทุนออกนอกจากจีน จึงเริ่มที่จะมองหาประเทศอื่นๆ แทน และไทยก็เป็นตัวเลือกที่ดี
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : ‘พอลล์ กาญจนพาสน์’ เปิดแผนปั้นเมืองทองธานีสู่ Tourism Destination ลุยสร้างโรงแรมใหม่รวม 1,000 ห้อง
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine