เมืองที่ถูกสร้างขึ้นใหม่หมดจดกำลังเกิดขึ้นทั่วทวีปเอเชียและแอฟริกา หลังจากตลาดเกิดใหม่ทวีความสำคัญในระดับสากลและท้าทายกรอบความคิดเดิมๆ ของวิถีความเป็นไปในโลก
มีประเทศมากกว่า 40 ประเทศที่กำลังก่อสร้างเมืองใหม่นับร้อยแห่ง อาทิ Cyberjaya (มาเลเซีย), Naypyidaw (เมียนมา), Nanhui (จีน), Gracefield Island (ไนจีเรีย), Dompak (อินโดนีเซีย), Tbilisi Sea New City (จอร์เจีย) ซึ่งแต่ละแห่งต่างก็มีเป้าหมายเพื่อเปลี่ยนบทบาทใหม่ของประเทศในสนามเศรษฐกิจโลก และเหล่านี้คือ
5 เมืองสร้างใหม่ที่น่าจับตามอง ทั้งในแง่บวกและลบรอบทวีปเอเชีย
Forest City, มาเลเซีย
โครงการเมืองสร้างใหม่ที่ได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุดในรอบหลายปีที่ผ่านมา โครงการมูลค่าการลงทุน 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ แห่งนี้ลงทุนร่วมกันระหว่าง
Country Garden บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์จากจีน ร่วมกับ
Esplanade Danga บริษัทของสุลต่านแห่ง Johor
ตัวโครงการมีเป้าหมายที่จะเป็น “คำตอบ” ให้กับชาวสิงคโปร์และชาวจีนที่ต้องการโยกย้ายทรัพย์สิน เพราะพื้นที่ตั้งอยู่ห่างจากประเทศสิงคโปร์เพียง 2 กิโลเมตรเท่านั้น
Forest City คือโครงการที่ต้องการเป็น eco-city บนพื้นที่ 14 ตารางกิโลเมตร ภายในจะมีโครงสร้างพื้นฐานเพียงพอที่ทำให้เมืองปราศจากการใช้รถยนต์ เมื่อสร้างเสร็จในปี 2035 โครงการจะมีทั้งออฟฟิศ ห้างสรรพสินค้า ที่พักอาศัยแนวสูง และโรงแรม ซึ่งรองรับประชากรได้ 7 แสนคน เป็นแหล่งงาน 2.2 แสนตำแหน่ง และสร้างเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจใหม่ของมาเลเซีย
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ทำให้โครงการถูกวิพากษ์วิจารณ์คือการวางเป้าเป็นเมืองอนุรักษ์ธรรมชาติแต่กลับใช้ทรายถึง 162 ล้านลูกบาศก์เมตรมาถมทะเลสร้างเมือง ซึ่งสร้างความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงจำนวนคน 7 แสนคนในพื้นที่ 14 ตารางกิโลเมตรนั้นจะทำให้ Forest City กลายเป็นเมืองที่มีคนอยู่หนาแน่นที่สุดในโลก ไปจนถึงการสร้างความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างรัฐมาเลเซียและสิงคโปร์ ปิดท้ายด้วยคำถามที่ว่า
“ใครกันจะมาซื้อและอยู่อาศัยในเมืองนี้?”
Xiong’an New Area, จีน
การสร้างเขตใหม่ระดับประเทศ (state-level new area) ของจีนแทบจะการันตีความสำเร็จได้เลย เพราะเขตใหม่นี้จะได้รับการสนับสนุนทุกช่องทางจากรัฐบาล เม็ดเงินนับพันล้านเหรียญสหรัฐฯ จะมุ่งตรงไปลงทุนที่เขตใหม่ ตัวอย่างเช่น เขต Pudong เมือง Shanghai, เขต Binhai เมือง Tianjin, เขต Liangjiang เมือง Chongqing เป็นต้น และเขตใหม่เหล่านี้ก็กลายเป็นเครื่องยนต์เศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดของจีนไปแล้ว
ดังนั้นเมื่อจีนประกาศการพัฒนาเขตใหม่ระดับประเทศแห่งใหม่อย่าง Xiong’an ซึ่งอยู่ห่างจากเมือง Beijing เพียง 100 กม. นักลงทุนย่อมตื่นตัวที่จะเทเม็ดเงินไปที่นั่น ราคาอสังหาฯ ปรับขึ้น 72% ภายในไม่กี่วัน จนหน่วยงานรัฐต้องสั่งระงับการขายอสังหาฯ ท้องถิ่นในทันที
ทั้งนี้ ตัวเมือง Xiong’an เบื้องต้นจะมีขนาด 100 ตารางกิโลเมตร และวางแผนจะขยายไปให้ถึง 2,000 ตารางกิโลเมตร โดย
วางเป้าเป็นเมือง “ทดลอง” ด้านเศรษฐกิจ คือมีการเปิดเสรีการค้าสูงขึ้น และเป็นฮับของศูนย์วิจัย เทคโนโลยีขั้นสูง และการศึกษา Xiong’an จะเป็นเหมือนเมืองน้องของ Beijing ที่ทำหน้าที่ทางเศรษฐกิจ และให้ตัวเมืองหลวงเป็นศูนย์กลางทางการเมืองการปกครองอย่างแท้จริง
Nurkent, คาซัคสถาน
ดินแดนยูเรเชีย พื้นที่ที่แทบจะอยู่ห่างไกลจากมหาสมุทรมากที่สุดในโลก ณ ขอบชายแดนจีน-คาซัคสถานคือ
โซนการพัฒนาสองสัญชาติที่อาจจะเปลี่ยนมุมมองของเราต่อศักยภาพทางเศรษฐกิจของการขนส่งทางบกระหว่างเอเชียและยุโรป
ฝั่งประเทศจีนนั้นคือเมือง Horgos เมืองใหม่มูลค่า 3.25 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ที่มีประชากร 2 แสนคน ขณะที่ฝั่งคาซัคสถานคือเขตเศรษฐกิจพิเศษ Khorgos East Gate ซึ่งบริษัทจีนเข้าไปตั้งท่าเรือบก (Dry Port) และพื้นที่นี้ยังมีโซนการค้าปลอดภาษีที่กำกับร่วมกัน 2 ประเทศอีกด้วย
ฝั่งจีนนั้นพัฒนาไปไกล แต่ฝั่งเมือง Khorgos เรียกได้ว่า มีแต่ด่านศุลกากรกับสถานีรถไฟ แต่สิ่งเหล่านี้กำลังจะเปลี่ยนไปเมื่อรัฐสนับสนุนการพัฒนาเมืองใหม่ Nurkent ที่อยู่ใกล้เคียงเพื่อเชื่อมต่อการขยายตัวด้านโลจิสติกส์และอุตสาหกรรมจากเขตเศรษฐกิจพิเศษดังกล่าว โดย
Nursultan Nazarbayev ประธานาธิบดีของคาซัคสถานประกาศว่า Nurkent จะเป็นกุญแจสำคัญของนโยบายการผลักดันทั้งประเทศให้เติบโตด้วยโลจิสติกส์
Colombo Port City, ศรีลังกา
อีกเมืองสร้างใหม่ของโลกที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์เนื่องจากประเทศจีนเข้าไปสนับสนุนด้านการลงทุน Colombo Port City ถูกสร้างขึ้นริมชายฝั่งของเมืองหลวงแห่งศรีลังกา จุดระหว่างกลางเส้นทางเดินเรือของโลก เชื่อมต่อทั้งเอเชียตะวันออก ตะวันออกกลาง และแอฟริกา
ด้วยทำเลทองเช่นนี้ เมื่อปี 2014 รัฐวิสาหกิจจีน
China Harbor Engineering Corporation จึงนำเม็ดเงิน 1.4 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ มาลงทุนสร้างเขตเศรษฐกิจตามแนวชายฝั่งศรีลังกา และเพื่อไม่ให้มีปัญหาเรื่องการครอบครองที่ดิน บริษัทนี้จึงวางแผนถมพื้นที่ราว 2.69 ตารางกิโลเมตรยื่นออกไปในทะเล
หากสร้างเสร็จตามแผนในปี 2041 เมือง Colombo Port City จะเป็นเมืองท่าต้อนรับคนหลากสัญชาติ และมีกฎหมายการลงทุนรวมถึงนโยบายพิเศษของตัวเอง เมืองจะมีโรงแรมลักชัวรี ศูนย์การค้าหรู ออฟฟิศบิลดิ้งจำนวนมาก ไปจนถึงสนามแข่งรถฟอร์มูล่า วัน ทุกอย่างเพื่อแข่งขันกับเมืองท่าเดิมอย่างสิงคโปร์และ Dubai
อย่างไรก็ตาม Colombo Port City เป็นโครงการที่ประเทศอินเดียไม่ชอบใจอย่างยิ่ง เพราะนอกจากที่นี่แล้ว จีนยังมีการลงทุนทั้งในบังคลาเทศ ปากีสถาน มัลดีฟส์ ทั้งหมดเปลี่ยนแปลงภูมิศาสตร์การเมืองโลก และใครจะรู้ว่าวันหนึ่งจีนอาจจะมีกลยุทธ์ทางทหารหรือกองทัพที่เกี่ยวข้องกับสถานที่เหล่านี้...ซึ่งตั้งอยู่รายล้อมประเทศอินเดีย
Duqm, โอมาน
โอมานกำลังหาทางสร้างความหลากหลายให้เศรษฐกิจที่เคยพึ่งพิงแต่ทรัพยากรธรรมชาติ โดยสิ่งที่ประเทศเลือกคือการพัฒนาภาคธุรกิจโลจิสติกส์และอุตสาหกรรมการผลิต เพื่อให้สอดรับกับ
นโยบาย Belt and Road ของประเทศจีน
ภายในเขตเศรษฐกิจพิเศษเมือง Duqm กำลังพัฒนาพื้นที่ขนาด 11 ตารางกิโลเมตร เม็ดเงินลงทุนมูลค่า 1.07 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ไหลสู่พื้นที่ชายฝั่งทะเลอาระเบียที่ตั้งอยู่ห่างจากกรุง Muscat 550 กม.
โครงการนี้ดำเนินการโดยบริษัทเอกชน
Oman Wanfang บริษัทจากเขตปกครองตนเอง Ningxia Hui พื้นที่ของประชาชนชาวจีนมุสลิม ผู้มีองค์ความรู้ในการพลิกที่ดินทะเลทรายว่างเปล่าสู่เขตอุตสาหกรรม โดย
วางแผนให้ Duqm เป็นเขตอุตสาหกรรมหนัก เช่น โรงกลั่นน้ำมัน เมธานอล อุปกรณ์ผลิตแผงโซลาร์เซลล์ ยานยนต์ วัสดุก่อสร้าง รวมถึงมีเขตที่พักอาศัยครบครันทั้งบ้านเรือน โรงเรียน โรงพยาบาล และแหล่งบันเทิง
แม้ผู้ลงทุนจะเป็นบริษัทเอกชน แต่คาดว่าได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลจีน เพราะจีนประกาศเต็มตัวว่าโครงการในเมือง Duqm คือสุดยอดสวนอุตสาหกรรมในต่างประเทศของจีน ทั้งนี้ การส่งออกน้ำมันของโอมาน 80% มีปลายทางที่จีน จึงอาจจะเป็นเหตุผลหนึ่งของการลงทุนครั้งนี้
แปลและเรียบเรียงบางส่วนจากบทความ 5 New Cities That Are Set To Shake Up The Future (For Better Or Worse) โดย Wade Shepard ใน forbes.com