ดีดี พร็อพเพอร์ตี้ เผยดัชนีราคาที่อยู่อาศัยในกรุงเทพ ปรับตัวลดลงต่ำสุดในรอบ 15 ไตรมาส ราคาคอนโดปรับลดลงสูงสุด สถานการณ์ระบาดระลอก 3 กดดันตลาด คาดแนวโน้มอสังหาริมทรัพย์ปีนี้ยังทรงตัว ระบุคนยังมีความต้องการซื้อที่อยู่ อาศัย แต่ใช้เวลาตัดสินใจนานขึ้น
กมลภัทร แสวงกิจ ผู้จัดการใหญ่ประจำประเทศไทย ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ ในเครือ PropertyGuru Group ผู้ให้บริการเวบไซต์ DDproperty.com ที่มีผู้เข้าชม 3.5 ล้านคนต่อเดือน และมี 14 สำนักงานในเอเชีย เปิดเผยแนวโน้มตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทยไตรมาส 1/2564 โดยดัชนีราคาที่อยู่อาศัยในกรุงเทพปรับตัวลดลงต่ำสุดในรอบ 15 ไตรมา นับตั้งแต่ไตรมาส 2/2560 ค่าดัชนีอยู่ที่ 190 ลดลงร้อยละ 4 เมื่อเทียบกับไตรมาส 4/2563 และลดลงร้อยละ 7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ดัชนีราคาที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 16 ทั้งนี้เมื่อแยกประเภทที่อยู่อาศัย ดัชนีราคาคอนโดมิเนียมและทาวน์เฮ้าส์ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน ขณะที่ราคาบ้านเดี่ยวทรงตัว โดยดัชนี้ราคาคอนโดมิเนียม ลดลงร้อยละ 3 จากไตรมาสก่อน และลดลงร้อยละ 8 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ทาวเฮ้าส์ ลดลงร้อยละ 0.5 และบ้านเดี่ยว ลดลงร้อยละ 0.1 จากไตรมาสก่อน อย่างไรก็ตาม สำหรับ 5 ทำเลในกรุงเทพฯ ที่ดัชนีราคาที่อยู่อาศัยยังมีการเติบโตโดดเด่นในไตรมาสแรกที่ผ่านมา ได้แก่ ทวีวัฒนา เพิ่มขึ้นร้อยละ 13 อยู่ที่ 25,000 บาทต่อตารางเมตร บางเขนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 10 อยู่ที่ 50,000 บาทต่อตารางเมตรตลิ่งชัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 6 อยู่ที่ 43,000 บาทต่อตารางเมตร สะพานสูง เพิ่มขึ้นร้อยละ 5 อยู่ที่ 31,000 บาทต่อตารางเมตร และปทุมวัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4 อยู่ที่ 215,000 บาทต่อตารางเมตร ขณะที่ 5 ทำเลในกรุงเทพฯ ที่ดัชนีราคาที่อยู่อาศัยลดลงมากที่สุดในไตรมาสแรกที่ผ่านมา ได้แก่ สัมพันธวงศ์ ลดลงร้อยละ 18 อยู่ที่ 81,000 บาทต่อตารางเมตร ป้อมปราบศัตรูพ่าย ลดลงร้อยละ 11 อยู่ที่ 190,000 บาทต่อตารางเมตร บางบอน ลดลงร้อยละ 9 อยู่ที่ 47,000 บาทต่อตารางเมตร ภาษีเจริญ ลดลงร้อยะล 7 อยู่ที่ 65,000 บาทต่อตารางเมตร และพระโขนง ลดลงร้อยละ 6 อยู่ที่ 97,000 บาทต่อตารางเมตร สำหรับ 5 ทำเลในกรุงเทพ ที่ราคาคอนโดมิเนียมเพิ่มขึ้นมากที่สุดในรอบไตรมาสที่ผ่านมา ได้แก่ เขตพระนคร เพิ่มขึ้นร้อยละ 40 เขตสายไหม เพิ่มขึ้นร้อยละ 32 เขตบางเขน เพิ่มขึ้นร้อยละ 14 เขตป้อมปราบศํตรูพ่าย เพิ่มขึ้นร้อยละ 11 เขตบางพลัด เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 ส่วนบ้านเดี่ยวที่มีราคาเพิ่มขึ้นมากที่สุด ได้แก่ เขตห้วยขวาง เพิ่มขึ้นร้อยละ 30 เขตทวีวัฒนา เพิ่มขึ้นร้อยละ 15 เขตพระโขนงเพิ่มขึ้นร้อยละ 8 เขตตลิ่งชั่น เพิ่มขึ้นร้อยละ 6 และเขตวัฒนา เพิ่มขึ้นร้อยละ 6 ด้านทาวเฮาส์ ได้แก่ เขตหนองจอก เพิ่มขึ้นร้อยละ 14 เขตดอนเมือง เพิ่มขึ้นร้อยละ 12 เขตบางนา เพิ่มขึ้นร้อยละ 9 เขตพระโขนง เพิ่มขึ้นร้อยละ 9 และเขตบางขุนเทียน เพิ่มขึ้นร้อยละ 8 “จะเห็นได้ว่าดัชนีราคาที่เพิ่มขึ้นของที่อยู่อาศัย เป็นการเติบโตควบคู่กับการขยายตัวตามกการพัฒนาของระบบขนส่งมวลชนในกรุงเทพฯ” กมลภัทรกล่าว ซัพพลายเพิ่ม ดีมานด์เปลี่ยน กมลภัทร กล่าวว่า สำหรับดัชนีซัพพลายที่อยู่อาศัยในกรุงเทพ เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา ขณะที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 9 เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้เนื่องจากสถานการณ์โควิดที่คลี่คลายในช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมา ทำให้ผู้ประกอบการและผู้บริโภคที่มีสินค้าในมือเริ่มนำสินค้าออกมาขายมากขึ้น ก่อนที่สถานการณ์จะกลับมารุนแรงในเดือนเมษายน-พฤษภาคมที่ผ่านมา ส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคที่ใช้เวลานานขึ้นจากปกติ 8 เดือน เป็น 1 ปีครึ่งถึง 2 ปี สำหรับซัพพลายของบ้านเดี่ยว เพิ่มขึ้นร้อยละ 12 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ขณะที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 34 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนซัพพลายทาวเฮาส์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 12 เทียบกับไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้น ร้อยละ 37 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน และซัพพลายคอนโดมิเนียม เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 เทียบกับไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้น ร้อยละ 17 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซัพพลายที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่อยู่ในระดับราคา 5-10 ล้านบาท เมื่อพิจารณาในฝั่งดีมานด์ หรือความต้องการซื้อ มี 5 ทำเลในกรุงเทพ ที่ได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นในรอบ 1 ปีที่โควิดระบาด ได้แก่ ยานนาวา ธนบุรี มีนบุรี และจอมทอง ด้านความต้องการเช่ามีเพิ่มขึ้นในเขตปทุมวัน บางคอแหลม บึงกุ่ม จตุจักร และบางซื่อ เช่นเดียวกับจังหวัดในเขตปริมณฑลมีความต้องการซื้อ-เช่าเพิ่มขึ้น ทั้งนนทบุรี สมุทรปราการ ปทุมธานี และสมุทรสาคร “ความต้องการซื้อ-เช่าที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากสถานการณ์โควิดทำให้ต้องทำงานที่บ้าน ไม่มีการเดินทาง คนจึงมองหาที่อยู่อาศัย ขณะเดียวกันตลาดเช่ามีศักยภาพมาก เพราะมีความต้องการเพิ่มขึ้นทุกจังหวัด รวมถึงจังหวัดหัวเมืองใหญ่ เมืองท่องเที่ยว เช่น เชียงใหม่ ภูเก็ต พัทยา ระยอง” กมลภัทรกล่าว นอกจากนี้ ยังเห็นแนวโน้มความต้องการที่อยู่อาศัยเปลี่ยนแปลงไปในมิติที่หลากหลายมากขึ้น เช่น การตอบโจทย์วิถีชีวิแบบใหม่ ที่ต้องการฟังก์ชั่นที่พร้อมสำหรับการทำงานที่บ้าน ปัจจัยด้านราคาอาจจะไม่ใช่เหตุผลหลัก โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์การระบาดระลอกล่าสุดที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อหลักพันคนขึ้นไป ทำให้ความสนใจซื้อ-เช่าที่อยู่อาศัยเริ่มสะดุด ขึ้นอยู่กับมาตรการของภาครัฐและความชัดเจนในแผนการฉีดวัคซีนจะเป็นตัวแปรสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย การกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งจะส่งผลต่อตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทยให้ฟื้นตัวในระยะต่อไป สำหรับภาพรวมในปีนี้ยังคงอยู่ในภาวะทรงตัวต่อเนื่อง อ่านเพิ่มเติม: “ศุภชัย เจียรวนนท์” มั่นใจพร้อมรับมอบ “แอร์พอร์ต เรล ลิงก์”ไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine