SHARGE เล็งขึ้นแท่นผู้นำธุรกิจชาร์จรถ EV สู่เป้าหมาย 3 พันล้านใน 5 ปี - Forbes Thailand

SHARGE เล็งขึ้นแท่นผู้นำธุรกิจชาร์จรถ EV สู่เป้าหมาย 3 พันล้านใน 5 ปี

ชาร์จ แมเนจเม้นท์ฯ (SHARGE) เปิดแผน 5 ปีสู่ยอดขาย 3 พันล้าน ด้วยการจับมือพันธมิตรสร้าง Ecosystem ครอบคลุมกลุ่มลูกค้าตามการใช้งาน ทั้งกลุ่มชาร์จตามบ้าน ชาร์จที่จุดหมายปลายทาง และชาร์จตามสถานี พร้อมชูอุปกรณ์นำเข้ามาตรฐานยุโรป ทีมบริการหลังการขาย และแอปฯ รองรับการค้นหา จองสถานีชาร์จ และจ่ายเงินครบวงจร

พีระภัทร ศิริจันทโรภาส กรรมการผู้จัดการ บริษัท ชาร์จ แมเนจเม้นท์ จำกัด หรือ SHARGE ผู้นำด้านการสร้าง EV Charging Ecosystem เปิดเผยว่า ภายใน 5 ปีการใช้รถยนต์ไฟฟ้า (EV) จะเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด เนื่องจากปัจจัยการเป็นเมกะเทรนด์ของโลกและการสนับสนุนจากภาครัฐ รวมถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นประเด็นที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ โดยเฉพาะการหาวิธีลดการสร้างมลภาวะ ด้วยการเปลี่ยนแปลงเปลี่ยนแปลงด้านการขนส่งจากรถยนต์สันดาปภายในไปสู่รถ EV ซึ่งรถยนต์ไฟฟ้าที่ใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ขับเคลื่อนเพียงอย่างเดียว (BEV) จะกลายเป็นเป้าหมายหลักของการขับเคลื่อนโลกยุคใหม่ ดังนั้น บริษัทจึงก่อตั้งธุรกิจเพื่อสนับสนุนการสร้างระบบนิเวศต่อการเติบโตของรถ EV ด้วยการเป็นผู้ให้บริการด้านการชาร์จรถ EV อย่างครบวงจร ทั้งในรูปแบบของการจำหน่ายอุปกรณ์ชาร์จสำหรับติดตั้งตามที่อยู่อาศัย  และแหล่งไลฟ์สไตล์ รวมถึงการพัฒนาสถานีชาร์จ (EV Charging Station) ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ โดยวางเป้าหมายแผนการดำเนินว่าภายใน 5 ปี (ปี 2563-2568) SHARGE จะสามารถสร้างยอดขายได้ 3 พันล้านบาท จากการขายเครื่องชาร์จ 16,000 เครื่อง ขณะที่เป้าหมายรายได้ดังกล่าวจะมาจากการขายอุปกรณ์ให้กับโครงการที่พักอาศัยร้อยละ 30 และอีก 70 มาจากยอดขายไฟฟ้า จากหัวชาร์จที่กระจายอยู่ 250 แห่ง ให้บริการหัวชาร์จในแหล่งไลฟ์สไตล์ชั้นนำ ตลอดเส้นทางกรุงเทพ หัวหิน พัทยา และเขาใหญ่ ซึ่งมั่นใจว่าจะส่งผลให้ SHARGE ขึ้นเป็นอันดับ 1 ในอุตสาหกรรม ครองส่วนแบ่งการตลาดผู้ให้บริการด้านธุรกิจการชาร์จรถ EV ในทุกรูปแบบมากกว่าร้อยละ 30 นอกจากนั้น บริษัทยังกำหนดแผนธุรกิจ 5 ปีในการดำเนินการผ่านกลยุทธ์ LIFESTYLE CHARGING ECOSYSTEM: NIGHT, DAY, ON-THE-GO เพื่อเติมเต็มไลฟ์สไตล์และอำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิตของลูกค้าอย่างยั่งยืน ควบคู่กับการใช้รถพลังงานไฟฟ้าในประเทศไทย โดยร่วมมือกับภาคอสังหาริมทรัพย์ (ผู้ประกอบการที่อยู่อาศัยและศูนย์การค้า) ผู้ประกอบการรถยนต์ และธุรกิจพลังงาน สร้างระบบนิเวศที่เน้นเจาะกลุ่มเป้าหมายตามพฤติกรรมของผู้บริโภค 3 กลุ่ม
SHARGE
พีระภัทร ศิริจันทโรภาส กรรมการผู้จัดการ บริษัท ชาร์จ แมเนจเม้นท์ จำกัด
“พฤติกรรมของผู้ใช้รถยนต์จะเปลี่ยนไป โดยคนส่วนใหญ่จะชาร์จที่บ้านหรือกลุ่ม Night เรามองว่าน่าจะ 80% ของทั้งหมดเกิดขึ้นระหว่างการนอน ส่วน 15% เกิดขึ้นในจุดหมายปลายทางหรือกลุ่ม Day และสุดท้ายเป็นการเติมพลังงานระหว่างการเดินทางหรือ On the go” สำหรับกลุ่ม Night คือ กลุ่มผู้ใช้บริการชาร์จที่เน้นการชาร์จที่บ้าน ซึ่งกลุ่มนี้จะมีสัดส่วนสูงสุดหรือคิดเป็นร้อยละ 80 ของผู้ใช้รถ EV ทั้งหมด เพราะจากการศึกษาพฤติกรรมผู้ใช้งานรถ EV ในสหรัฐ จีน และยุโรปพบว่า ส่วนใหญ่จะนิยมชาร์จที่บ้านในเวลากลางคืน เพราะสะดวกและเหมาะกับไลฟ์สไตล์ประจำวันที่คนส่วนใหญ่จะจอดรถไว้บ้านในเวลากลางคืน รวมถึงการชาร์จตามบ้านมีต้นทุนค่าไฟฟ้าที่ถูกกว่า ส่วนกลุ่ม Day ได้แก่ กลุ่มผู้ใช้บริการชาร์จที่เน้นการชาร์จที่จุดหมายปลายทาง เช่น การชาร์จตามศูนย์การค้า แหล่งไลฟ์สไตล์ต่างๆ สถานศึกษา และอาคารสำนักงาน ซึ่งมีสัดส่วนที่ร้อยละ 15 และกลุ่ม On the go เป็นกลุ่มผู้ใช้บริการชาร์จที่เน้นการชาร์จที่ต้องการชาร์จตามสถานีชาร์จระหว่างการเดินทางข้ามจังหวัด หรือการท่องเที่ยว ซึ่งกลุ่มนี้จะมีสัดส่วนน้อยที่สุดคือร้อยละ 5 ของจำนวนผู้บริโภคทั้งหมด ด้านกลยุทธ์การเจาะกลุ่มลูกค้าเป้าหมายทั้ง 3 กลุ่ม SHARGE ได้จับมือกับพันธมิตรที่หลากหลายกลุ่มธุรกิจเพื่อให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าให้ตรงกับพฤติกรรมผู้บริโภคมากที่สุด รวมถึงจัดหาโซลูชันการชาร์จ EV ให้กับพันธมิตร โดยเริ่มจากกลุ่ม NIGHT ที่ได้ร่วมมือกับบริษัทผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำของไทย 5 ราย ในการติดตั้งอุปกรณ์ชาร์จให้กับโครงการที่อยู่อาศัยทุกประเภททั้งบ้านเดี่ยว ทาวน์โฮม และคอนโดมิเนียม ซึ่งปัจจุบันมีหัวชาร์จครอบคลุมการให้บริการมากกว่า 25,000 ครัวเรือน ส่วนกลยุทธ์การเจาะกลุ่มลูกค้ากลุ่ม DAY บริษัทได้จับมือกับศูนย์การค้าและค่ายรถยนต์ชั้นนำกว่า 7 ราย (ศูนย์การค้า 5 แห่ง ค่ายรถยนต์ 2 แห่ง) ในการติดตั้งหัวชาร์จที่ศูนย์การค้าและโชว์รูม ซึ่งล่าสุดได้ทำการติดตั้งหัวชาร์จที่เซ็นทรัล เอ็มบาสซี และเซ็นทรัล ชิดลม และดูแลงานด้านระบบการให้บริการการชาร์จแบบครบวงจรให้กับโชว์รูมรถยนต์ Porsche โดยภายในปีนี้จะติดตั้งเพิ่มอีก 10 แห่งในเขตพื้นที่กรุงเทพและหัวเมืองท่องเที่ยวชั้นนำ ซึ่งในจำนวนนี้เป็นหัวชาร์จแบบชาร์จเร็ว (Quick Charge) 8 แห่ง ขณะที่กลุ่ม ON THE GO ได้ร่วมมือกับพันธมิตรคือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ในการพัฒนาสถานีชาร์จและร่วมมือกับผู้ให้บริการด้านสถานีบริการน้ำมัน 1-2 ราย ในการปรับปรุงสถานีแบบเดิมให้กลายเป็นสถานีชาร์จรถ EV ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างเตรียมพร้อมสำหรับเปิดให้บริการ ครอบคลุมไปถึงหัวเมืองหลัก เช่น เชียงใหม่ เชียงราย ชลบุรี ระยอง อยุธยา และภูเก็ต “โฟกัสหลักๆ ของบริษัทแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ เรื่อง Charger  Location และ Software ในเรื่อง charger บริษัทเราเป็นตัวแทนจำหน่ายอุปกรณ์ของบริษัท ADB ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ได้รับมาตรฐานของโลก โดยคอนเซ็ปต์เราต้องการทำให้ชาร์จเจอร์เข้าถึงผู้คนได้ง่ายขึ้น ส่วนเรื่อง Location เรามองว่าสถานีชาร์จที่เป็นสถานีบริการต้องเข้าถึงได้ง่าย และสร้างความมั่นใจในการใช้ EV มากขึ้น สุดท้ายเรื่องซอฟท์แวร์ในการ connect ผู้ใช้ EV กับสถานที่” สำหรับหนึ่งในจุดแข็งที่สำคัญของบริษัทยังอยู่ที่การเป็นผู้ให้บริการ Total Solution ในด้าน LIFESTYLE CHARGING ECOSYSTEM เชื่อมโยงผู้ใช้บริการทั้งรูปแบบ NIGHT, DAY, ON-THE-GO ด้วยแอปพลิเคชัน SHARGE ที่พัฒนาขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ผู้ใช้งานอย่างครอบคลุมทุกพฤติกรรมการใช้งาน อำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้รถ EV ในการค้นหาและจองสถานีชาร์จพลังงานไฟฟ้าทั้งของชาร์จ และเครือข่ายพันธมิตรในแหล่งไลฟ์สไตล์ทั่วกรุงเทพ รวมทั้งยังสามารถจ่ายค่าไฟฟ้าผ่านแอปพลิเคชันได้เช่นกัน นอกจากนั้นบริษัทยังมีผู้ถือหุ้นที่เป็น Strategic Partner ซึ่งร่วมลงทุนและเป็นผู้จำหน่ายอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับ EV Charging ส่งผลให้สามารถควบคุมต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการเป็นผู้จำหน่ายอุปกรณ์ทีได้มาตรฐานยุโรป พร้อมทีมบริการหลังการขายมืออาชีพ ทั้งบริการติดตั้ง และซ่อมบำรุง ครอบคลุมทั่วประเทศ ตลอดจนมาตรฐานความปลอดภัยที่ถือเป็นเรื่องสำคัญสำหรับอุปกรณ์ชาร์จรถ EV ที่ต้องใช้ไฟฟ้าแรงสูง “อย่างไรก็ตาม เป้าหมายการเติบโตยอดขายของ SHARGE นั้น เป็นไปในทิศทางเดียวกับเป้าหมายของคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ ที่คาดว่าจะมีการใช้รถ EV รวมทุกประเภทในปี 2568 ที่ 1,055,000 คัน และชาร์จได้คาดการณ์ว่าเป้าหมายดังกล่าวจะสนับสนุนให้ตลาดอุปกรณ์ชาร์จรถ EV ขยายไปสู่มูลค่า 1.4 หมื่นล้านบาทในเวลาดังกล่าว นอกจากนี้ มองว่าการเตรียมการด้านโครงสร้างพื้นฐาน (Ecosystem) เพื่อส่งเสริมการใช้รถ EV เป็นสิ่งสำคัญและเร่งด่วนที่ภาครัฐและเอกชนจำเป็นต้องร่วมมือกันเพื่อสนับสนุนให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของภูมิภาคในอนาคตอันใกล้” อ่านเพิ่มเติม: CPL ตั้งโฮลดิ้งส์คอมปะนีหวังสร้าง New S-Curve
ไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine