ไทยยูเนียน TU โชว์ยอดขายไตรมาส 3 ปี 2563 เติบโต 9.3% จากปีก่อนอยู่ที่ 3.48 หมื่นล้านบาท และกำไรสุทธิทะยาน 49.7% มากกว่า 2 พันล้านบาทรับพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนสู่เทรนด์รับประทานอาหารสุขภาพที่บ้าน
ธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เปิดเผยผลการดำเนินงานในไตรมาสที่ 3 ของปี 2563 ว่า ยอดขายมีการเติบโตอยู่ที่ 3.48 หมื่นล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.3 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยกำไรสุทธิพุ่งสูงทะลุระดับ 2 พันล้านอยู่ที่ 2.06 พันล้านบาท สูงขึ้นกว่าปีก่อนหน้าถึงร้อยละ 49.7 สำหรับยอดขายที่เพิ่มขึ้นแบ่งเป็นธุรกิจอาหารทะเลแปรรูปบรรจุกระป๋องมียอดขาย 1.63 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.4 ธุรกิจอาหารแช่แข็งและธุรกิจที่เกี่ยวข้องมียอดขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.7 อยู่ที่ 1.34 หมื่นล้านบาท และธุรกิจผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยงและผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่ามียอดขายเพิ่มขึ้นร้ยอละ 12 อยู่ที่ 5.16 พันล้านบาท “ผลประกอบการของไทยยูเนี่ยนในไตรมาสที่ผ่านมาเป็นผลจากกลยุทธ์ทางธุรกิจในการพัฒนาการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ประกอบกับความต้องการของผู้บริโภคที่ปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์การแพร่ระบาดในปัจจุบัน” ธีรพงศ์กล่าวถึงความเชื่อมั่นในคุณภาพของผลิตภัณฑ์ไทยยูเนี่ยนที่ใส่ใจในสุขภาพและคุณค่าทางโภชนาการที่ทำให้ผลการดำเนินงานในไตรมาส 3 ของบริษัทเติบโตอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ยังส่งผลให้ผู้บริโภคปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และเทรนด์การรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพมากขึ้น และทำอาหารทานที่บ้าน โดยมีการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์และอาหารที่เก็บได้ยาวนาน รวมไปถึงอาหารสัตว์เลี้ยง เนื่องจากผู้คนทั่วโลกใช้เวลาอยู่กับบ้านและครอบครัวมากขึ้น ทั้งยังให้ความใส่ใจกับสัตว์เลี้ยงในบ้าน เช่น สุนัขและแมว มากขึ้น ขณะเดียวกันในช่วงหลายปีที่ผ่านมาบริษัทยังให้ความสำคัญกับการลงทุนทั้งในธุรกิจหลักและธุรกิจที่มีอัตราการทำกำไรสูง เช่น ธุรกิจส่วนประกอบอาหาร หรือ ingredients และเทคโนโลยีนวัตกรรมอาหาร เช่น การลงทุนล่าสุดในช่วงไตรมาส 3 ที่จับมือกับฟู้ดเทคสตาร์ทอัพ 4 บริษัท โดย 3 บริษัทดังกล่าวมาจากโครงการสเปซ-เอฟที่ไทยยูเนี่ยนได้ร่วมก่อตั้งขึ้นในปี 2562 “สถานการณ์โควิด-19 นั้น ยังเป็นสิ่งที่ทุกธุรกิจต้องเผชิญ ซึ่งไทยยูเนี่ยนเองได้มีมาตรการต่างๆ และทำงานอย่างหนักเพื่อที่จะผลิตสินค้าได้อย่างต่อเนื่องเพื่อสนองความต้องการของลูกค้าของเราทั่วโลก โดยไทยยูเนี่ยนรู้สึกยินดีที่ผู้บริโภคยังคงเชื่อมั่นและให้การตอบรับแบรนด์ต่างๆ ของเราที่มีอยู่ทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง” สำหรับบริษัทสตาร์ทอัพที่ไทยยูเนี่ยนได้ร่วมลงทุนได้แก่ มันนา ฟู้ดส์ ที่พัฒนาโปรตีนทางเลือก ส่วน อัลเคมี ฟู้ดเทค มุ่งเน้นในด้านอาหารสำหรับผู้ป่วย และ ไฮโดรนีโอ เป็นบริษัทที่นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการบริหารจัดการฟาร์มเลี้ยงสัตว์น้ำ ขณะที่ บริษัท วิสไวร์ส นิวโปรตีน เป็นผู้นำในการลงทุนในโปรตีนทางเลือก “วิสัยทัศน์ของไทยยูเนี่ยนคือร่วมสร้างระบบนิเวศน์สตาร์ทอัพเทคโนโลยีและนวัตกรรมอาหาร ไทยยูเนี่ยนเองได้มีการเริ่มทำตลาดผลิตภัณฑ์อาหารทะเลที่ผลิตจากโปรตีนจากพืชในประเทศไทย เนื่องจากผู้บริโภคมีความต้องการโปรตีนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและยั่งยืนมากขึ้น” ธีรพงศ์ย้ำถึงความสำคัญของตลาดโปรตีนทางเลือกที่ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นในประเทศไทย แต่เป็นตลาดที่มีแนวโน้มการเติบโตสูงในระดับโลก ด้วยขนาด 1.28 หมื่นล้านเหรียญฯในโลก และมีแนวโน้มว่าจะเติบโตในช่วงระหว่าง ปี 2562-2568 ถึง 6.8% เฉลี่ยต่อปี ภายใต้วิสัยทัศน์และนวัตกรรมของไทยยูเนี่ยนที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทำให้บริษัทได้รับการยอมรับในระดับสากล ไม่ว่าจะเป็นการที่ประธานเจ้าหน้าที่บริหารได้รับการจัดอันดับโดยนิตยสาร Intrafish ในฐานะผู้ทรงอิทธิพลอันดับ 1 ในอุตสาหกรรมอาหารทะเลโลก ได้รับรางว้ล SDG Impact Award จากเวที Responsible Business Award 2020 ด้วยโครงการต่างๆ ที่ริเริ่มเพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ขององค์การสหประชาชาติ (UN SDGs) และล่าสุดไทยยูเนี่ยนยังได้รับการคัดเลือกให้ติดอันดับดัชนี FTSE4Good Emerging Index เป็นปีที่ 5 ติดต่อกัน “เรายังคงดำเนินธุรกิจโดยรักษาระดับกระแสเงินสด พิจารณาโอกาสต่างๆ ที่เข้ามา และบริหารจัดการสายการผลิตของเราโดยเน้นย้ำเรื่องสุขภาพและความปลอดภัยเป็นสำคัญ เพื่อที่จะสามารถผลิตสินค้าคุณภาพให้กับผู้บริโภคทั่วโลกได้อย่างต่อเนื่อง” อ่านเพิ่มเติม: ความเสี่ยงการลงทุน บนโค้งสุดท้ายปลายปี 2563ไม่พลาดบทความด้านกลยุทธ์องค์กรและธุรกิจ ติดตามเราได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine และ ทวิตเตอร์ Forbes Thailand