"ความเสี่ยงการลงทุน" บนโค้งสุดท้ายปลายปี 2563 คงหนีไม่พ้นจาก เหตุการณ์สำคัญด้านเศรษฐกิจและการเมืองล่าสุดที่หลายคนกำลังจับตาอย่าง การเจรจาถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร (Brexit) และการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ทำให้ตลาดมีแนวโน้มที่จะเกิดความผันผวน
เส้นทางการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจสำหรับหลายๆ ประเทศในโลกอาจยังดูไม่แน่นอน หากพิจารณาจากการที่รัฐบาลบางประเทศสามารถรับมือกับโควิด-19 ได้ ในขณะที่หลายประเทศยังไม่สามารถรับมือได้ รูปแบบการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจึงเป็นในลักษณะ K-Shaped Recovery ที่มีทั้งกลุ่มประเทศที่ฟื้นตัวกลับมาได้เร็วและกลุ่มประเทศที่ยังไม่ฟื้นตัวหรือแย่ลง เหมือนกับตัวอักษร “K” ที่มีทั้งเส้นทแยงขึ้นและทแยงลง สำหรับในเอเชีย ประเทศจีนและเวียดนาม นับเป็นสองประเทศที่เศรษฐกิจเริ่มฟื้นกลับมา ในขณะที่ประเทศอื่นๆ ของโลกยังคงต้องดิ้นรนภายใต้มาตรการปิดเมืองเพื่อยับยั้งการแพร่เชื้อของโควิด-19 สำหรับเศรษฐกิจจีนเริ่มฟื้นกลับมาในแนวบวกตั้งแต่ไตรมาสที่สองของปี 2563 เวียดนามเป็นอีกหนึ่งประเทศที่สามารถรับมือกับไวรัสได้ตั้งแต่ในระยะเริ่มต้น แม้จะมีรายงานข่าวการแพร่ระบาดรอบสองในเมืองดานังตอนกลางเมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา จะเห็นได้จากการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ของเวียดนามในไตรมาสที่สองของปี 2563 กลับเป็นไปในทิศทางบวก ในขณะที่การเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ของประเทศในอาเซียนลดลงร้อยละ 10.4 เมื่อเทียบช่วงเวลาเดียวกันในปีที่แล้ว สองเหตุการณ์สำคัญที่จะต้องจับตามองในโค้งสุดท้ายของปี 2563 คือ – การเจรจาถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปของ สหราชอาณาจักร (Brexit) และการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในวันที่ 3 พฤศจิกายนนี้ มีความเป็นไปได้ว่าการเจรจาด้านข้อตกลงทางการค้าระหว่างสหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรปจะยังไม่ได้ข้อสรุป หลังจากที่รัฐบาลสหราชอาณาจักรออกร่างกฎหมายภายใน (Internal Market Bill) ที่อนุญาตให้รัฐบาลยกเลิกข้อตกลงบางส่วนของข้อตกลง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการถอนตัวของสหราชอาณาจักรกับสหภาพยุโรป (Brexit) แต่ผลกระทบนั้นค่อนข้างจำกัดอยู่ในสหราชอาณาจักรกับสหภาพยุโรป สำหรับการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ แน่นอนว่าจะส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจโลก ชัยชนะของไบเดน อาจทำให้อุตสาหกรรมพลังงานสะอาดกลายเป็นอุตสาหกรรมที่โดดเด่น ในขณะที่ชัยชนะของทรัมป์อาจหมายถึงการลดภาษีสำหรับบริษัทอเมริกันที่มีการย้ายฐานการผลิตกลับประเทศ แม้ว่าตลาดทั่วโลกจะยังคงให้ความสำคัญกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการพัฒนาวัคซีน แต่ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯก็ส่งผลกระทบต่อนักลงทุน สิ่งนี้สามารถเห็นได้ในแผนภูมิด้านบน โดยที่ Volatility Index (VIX) แสดงให้เห็นว่าความผันผวนที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นในเดือนพฤศจิกายน แม้จะยังมีความผันผวนแต่เราก็ยังแนะนำให้ลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดยการสร้างสมดุลของพอร์ตการลงทุน และกระจายการลงทุนไปยังหลากหลายสินทรัพย์เพื่อลดความผันผวนของพอร์ตการลงทุน โดยอาจพิจารณาเพิ่มตราสารหนี้ระยะสั้น สำหรับท่านที่รับความเสี่ยงได้หรือสามารถลงทุนระยะยาวได้ อาจพิจารณาการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมหรือประเทศที่มีระดับมูลค่าที่น่าสนใจ และเป็นธีมการลงทุนที่มีการเติบโตแบบ Megatrend เช่น ประเทศจีน, กลุ่มสุขภาพทั่วโลก และ ESG เป็นต้น ยุทธชัย เตยะราชกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บุคคลธนกิจ ธนาคารยูโอบี จำกัด (มหาชน) (ธนาคารยูโอบี (ไทย))ไม่พลาดบทความด้านกลยุทธ์องค์กรและธุรกิจ ติดตามเราได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine และ ทวิตเตอร์ Forbes Thailand