เมกาบางนา เผยความคืบหน้าการดำเนินโครงการด้านพลังงาน และการเพิ่มพื้นที่สีเขียวที่ดำเนินการมาตลอด 8 ปี โดยใช้งบประมาณไปแล้วกว่า 1 พันล้านบาท สานต่อภารกิจการพัฒนาองค์กรควบคู่การดำเนินธุรกิจศูนย์การค้าที่สร้างคุณค่าและเป็นหนึ่งเดียวกับสังคม ตอกย้ำแนวคิด “The Great Meeting Place”
ปพิตชญา สุวรรณดี กรรมการผู้จัดการ ศูนย์การค้า เมกาบางนา เปิดเผยว่า การทำธุรกิจแบบยั่งยืน พร้อมดูแลชุมชนและสิ่งแวดล้อมคือความท้าทายในการทำงานของเรา นอกจากการลงมือทำด้วยตัวเองแล้ว เรายังต้องอาศัยความร่วมมือจากชุมชนโดยรอบ ซึ่งเมกาบางนาเองก็มีความตั้งใจที่จะเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน และพัฒนาธุรกิจไปพร้อมๆ กัน ซึ่งแนวทางการดำเนินธุรกิจแบบยั่งยืนนี้
นับเป็นส่วนสำคัญของกลยุทธ์ที่เมกาบางนายึดถือมาตลอด 8 ปี ตั้งแต่เริ่มให้บริการคือการให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจแบบรอบด้าน ทั้งธุรกิจแกนหลัก (Core Business) นั่นคือการพัฒนาศูนย์การค้า คัดสรรผู้เช่า (Tenant Mix) ที่มีศักยภาพและตอบโจทย์ของลูกค้าเมกาบางนา และพัฒนาทรัพยากรที่องค์กรมีอยู่ให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด
ซึ่งถือเป็นหัวใจหลักของการทำงาน รวมถึงการทำงานร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจและผู้เช่าร้านค้าภายในศูนย์การค้า เพื่อนำไปสู่การส่งมอบประสบการณ์ในการช้อปปิ้งที่ตอบโจทย์ลูกค้า ไปพร้อมๆ กับการขับเคลื่อนนโยบายด้านความยั่งยืน ที่ทางศูนย์ฯ ได้ดำเนินการควบคู่ไปด้วยกัน”
ทุ่มงบพันล้าน สำหรับนโยบาย Sustainability Project
ศูนย์การค้าเมกาบางนา มีวิสัยทัศน์และแนวทางการพัฒนาธุรกิจ ควบคู่ไปกับการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยได้เดินหน้านโยบายสนับสนุนการดำเนินธุรกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง
“ตัวอย่างโครงการที่เราทำ อาทิ ในปี 2556 เมกาบางนาได้สั่งห้ามการใช้สารเคมีในการทำความเย็นภายในอาคารทั้งหมด ทั้งนี้ เพื่อลดความเสี่ยงด้านสุขภาพและเพิ่มความปลอดภัยให้กับเจ้าหน้าที่รวมทั้งส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อม หรือการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์เกือบ 4,000 แผงเต็มพื้นที่ 8,000ตารางเมตรบนหลังคา ซึ่งสามารถผลิตไฟฟ้าประมาณ 1.43 ล้านกิโลวัตต์ต่อปี เทียบเท่ากับการใช้ไฟฟ้าใน 200 ครัวเรือน
โดยสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 7.16 แสนกิโลกรัมต่อปี และยังรวมถึงอีกหนึ่งโครงการสำคัญในปี 2558 โดยเมกาบางนาได้ลงนามในสัญญาร่วมกับบริษัท เทรน (ประเทศไทย) จำกัด พัฒนาประสิทธิภาพและลดการใช้พลังงานไฟฟ้าของระบบปรับอากาศได้มากกว่า 20%” ปพิตชญา กล่าวเพิ่มเติม
และในปี 2560 ได้ริเริ่มโครงการก่อสร้าง โรงบำบัดน้ำเสียแห่งใหม่ที่ได้มาตรฐานระดับสากลโดยเลือกใช้เทคโนโลยีเมมเบรน ซึ่งเป็นเทคโนโลยีเดียวกับเครื่องกรองน้ำดื่มในการบำบัดน้ำเสียโดยไม่ใช้สารเคมี น้ำที่ผ่านไส้กรองเมมเบรน ที่สามารถนำมาใช้หมุนเวียนในกิจกรรมดูแลรักษาต้นไม้ งานทำความสะอาดและระบายความร้อนของระบบปรับอากาศภายในศูนย์ฯ ซึ่งช่วยลดการใช้น้ำประปาได้มากกว่าปีละกว่า 1 แสนหน่วย
โดยเมกาบางนามีความตั้งใจที่จะทำโรงบำบัดนี้ให้เป็นแหล่งการเรียนรู้โดยจะออกแบบติดตั้งผนังกระจกใสให้นักเรียนและผู้สนใจเข้ามาดูงานโดยเดินในพื้นที่ที่กำหนดได้อีกด้วย
และตั้งแต่ปี 2561 จนถึงปัจจุบัน เมกาบางนาได้ทยอยเปลี่ยนหลอดไฟส่องสว่างในอาคารและป้ายโฆษณาให้เป็นแอลอีดี รวมถึงในพื้นที่ส่วนกลาง ร้านค้าบางส่วน ซึ่งดำเนินการได้ประมาณร้อยละ 95
นอกจากการพัฒนาและดูแลสิ่งแวดล้อมจากโครงการต่างๆ ที่ได้ดำเนินการมาแล้ว การจัดการด้านพลังงานที่ปฏิบัติอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ส่งผลให้ศูนย์การค้าเมกาบางนา สามารถลดการใช้พลังงานไฟฟ้าในส่วนของระบบปรับอากาศ ระบบแสงสว่าง และส่วนกลางของอาคารลงได้ มากกว่า 15 ล้านหน่วย คิดเป็นเงินกว่า 50 ล้านบาทต่อปี
นอกจากนี้ เมกาบางนายังส่งเสริมให้พนักงานทุกคน มีส่วนในการเข้าร่วมกิจกรรมด้านพลังงาน เพื่อสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์พลังงาน รวมไปถึงการส่งเสริมให้ความรู้ ความเข้าใจ ให้กับพนักงานและผู้เช่า พร้อมช่วยเหลือผู้เช่าเรื่องการตรวจสภาพเครื่องจักรกับร้านค้าผู้เช่าภายในศูนย์ฯ ด้วย
โจทย์ใหญ่ พัฒนาและเพิ่มความสะดวกสบายเพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีกว่าให้กับลูกค้า
เมกาบางนา ยังเดินหน้าอย่างต่อเนื่องในการก่อสร้างอาคารจอดรถจำนวน 8 ชั้นแห่งใหม่ เพิ่มที่จอดรถมากกว่า 2,000 คัน ภายใต้งบประมาณกว่า 1 พันล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะพร้อมเปิดให้บริการในต้นปี 2564 ซึ่งจะทำให้ศูนย์การค้าเมกาบางนาจะมีที่จอดรถรวมกว่า 12,000 คันเพื่อรองรับลูกค้าที่เพิ่มมากขึ้น และเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าที่จะเข้ามาใช้บริการอีกด้วย
นอกจากนี้ ด้วยแนวคิดที่คำนึงถึงความปลอดภัยของการเดินทางสำหรับผู้มาใช้บริการ และบรรเทาปัญหาเรื่องการจราจร ที่นับเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่สร้างมลภาวะเป็นพิษในอากาศและทำให้เกิดภาวะโลกร้อนอันเนื่องมาจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงจากรถยนต์ที่จะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ไปในบรรยากาศ
ทางศูนย์การค้า จึงได้สนับสนุนงบประมาณให้กรมทางหลวงฯ เพื่อจัดสร้างสะพานกลับรถ ในเขตทางหลวงหมายเลข 34 ถนนบางนา – ตราด กม.7 โดยหากสะพานกลับรถดังกล่าวเปิดใช้แล้ว คาดว่าจะช่วยย่นระยะเวลาเดินทางได้มากถึง 10 นาที
ปพิตชญา กล่าวเพิ่มเติมว่า “นอกจากพื้นที่จอดรถที่เพิ่มขึ้น เรายังเติมเต็มพื้นที่สีเขียวให้ชุมชนในโครงการส่วนต่อขยายโซนต่างๆ ที่เราทำ อาทิ เมกา ฟู้ดวอล์ค ที่เปิดให้บริการเมื่อปี 2560 ที่ผ่านมา ออกแบบเป็นอาคาร 3 ชั้น บนพื้นที่กว่า 20,000 ตารางเมตร ภายใต้บรรยากาศแบบกึ่งเอาท์ดอร์ ด้วยสถาปัตยกรรมที่ได้แนวคิดสุนทรีย์ของ ‘หุบเขา’ (Valley)
ในส่วนของ “เมกา พาร์ค” สวนสาธารณะสำหรับการพักผ่อนหย่อนใจบนพื้นที่กว่า 7 ไร่ มอบเป็นพื้นที่สีเขียวและปอดแห่งใหม่ของผู้คนในย่านบางนา เพื่อเติมเต็มประสบการณ์การใช้ชีวิตในทุกไลฟ์สไตล์ที่ครบวงจรให้กับทุกคนในครอบครัว
“ทั้งหมดของความตั้งใจและความพยายามที่เรากล่าวมานั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของกลยุทธ์การสร้างมีทติ้งเพลสของศูนย์การค้าเมกาบางนา ที่ให้ความสำคัญไม่ใช่แค่การส่งมอบประสบการณ์ที่ดีที่สุดให้กับลูกค้าของพวกเรา
แต่ยังรวมไปถึงการดูแลสิ่งแวดล้อมทั้งภายในพื้นที่ของเราเองและพื้นที่โดยรอบของชุมชนแห่งนี้ เราเชื่อว่าทุกๆ เรื่องที่เราทำภายใต้แนวคิดการสร้างธุรกิจอย่างยั่งยืนนั้น เปรียบเสมือนพลังเล็กๆ ที่ตั้งใจจะพัฒนาสิ่งแวดล้อมของชุมชนแห่งนี้ให้ดีขึ้น
ดังนั้น ไม่ว่าจะอีกกี่ปีผ่านไป เราก็จะยังคงมุ่งมั่นในก้าวเล็กๆ นี้ของเรา เพราะถ้าสิ่งที่เราทำมันส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อม เราเชื่อว่ามันต้องเหมาะสมและส่งผลดีต่อการทำธุรกิจของเราเช่นกัน” ปพิตชญา กล่าวปิดท้าย
อ่านเพิ่มเติม: อัพเดต ทิศทางอสังหาฯ ดีหรือร้าย โค้งสุดท้ายปี 63ไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine