ทันทีที่มีข่าวผู้ติดเชื้อรายใหม่พร้อมกันในหลายพื้นที่ทั่วประเทศที่สืบเนื่องจากกรณี “Super Spreader” ล่าสุดที่ข้ามพรมแดนไทย-เมียนมาผ่านช่องทางธรรมชาติ โดยไม่ผ่านกระบวนการตรวจและกักตัวตามที่รัฐกำหนดนั้น เป็นเหตุให้คนไทยต้องกลับมาตื่นตัวติดตามสถานการณ์และเฝ้าระวังการติดเชื้อโควิด-19 กันอย่างใกล้ชิดอีกครั้ง โดยเฉพาะความคืบหน้าเรื่องการจัดหาและพัฒนา วัคซีนโควิด
ที่ในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติงบประมาณราว 6 พันล้าน เพื่อจัดหาวัคซีนจาก บริษัท แอสตร้า เซนเนก้า จำกัด ที่พัฒนาร่วมกับมหาวิทยาลัยอ๊อกซ์ฟอร์ด สหราชอาณาจักร จำนวน 26 ล้านโดส สามารถรองรับคนไทยได้ประมาณ 13 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 18 ของคนไทยทั้งประเทศที่มีอยู่ราว 70 ล้านคน จึงเกิดคำถามขึ้นว่าแล้วคนไทยอีก 57 ล้านคนที่เหลือจะยังมีสิทธิ์ได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิดหรือไม่ และยังต้องรออีกนานเท่าไหร่ประเทศไทยจึงจะข้ามผ่านสถานการณ์อันเลวร้ายนี้ไปได้สักที เมื่อวัคซีนเป็นคำตอบที่มวลมนุษยชาติต่างนับวันเฝ้าคอยให้ได้มา และนักวิจัยวัคซีนจากหลายบริษัทชั้นนำ ทั่วโลกก็กำลังมุ่งมั่นพัฒนาวัคซีนนั้นด้วยเทคโนโลยีที่แตกต่างหลากหลาย ซึ่งนับเป็นข่าวดีของคนไทยที่วันนี้เราเองก็มีนักวิจัยที่พัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 นี้ได้ด้วยเช่นกัน ล่าสุดจากการเปิดเผยของ บริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด สตาร์ทอัพสัญชาติไทยที่ได้รับการบ่มเพาะโดยศูนย์กลางนวัตกรรมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CU Innovation Hub) ได้พัฒนาวัคซีนโควิดจากใบพืช จนสำเร็จในระดับห้องปฏิบัติการและผ่านการทดสอบในสัตว์ทดลองทั้งหนูขาวและลิงแล้ว ได้แสดงความพร้อมที่จะผลิตเพื่อทดลองในมนุษย์ โดยได้รับความร่วมมือจากพันธมิตรอย่าง องค์การเภสัชกรรม และ บริษัท คินเจน ไบโอเทค จำกัด ผนึกกำลังกันเป็น “ทีมไทยแลนด์” และคาดว่าจะสามารถผลิตและทดสอบวัคซีนในมนุษย์ได้ในช่วงเดือนเมษายน-มิถุนายน 2564 ซึ่งหากทำสำเร็จ นี่จะเป็นวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่ผลิตได้เองตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำบนแผ่นดินไทย ช่วยลดการพึ่งพาการนำเข้าวัคซีนจากต่างประเทศ และเป็นความหวังใหม่ของคนไทยอีกนับล้านที่ไม่จำเป็นต้องรอ Q&A สองผู้ก่อตั้ง “ใบยา ไฟโตฟาร์ม” ถาม: บริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด คือใคร ตอบ: บริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด เป็นบริษัทสตาร์ตอัพที่ก่อตั้งโดยนักวิจัยจากคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้แก่ รศ. ดร. วรัญญู พูลเจริญ และ ผศ. ภญ. ดร. สุธีรา เตชคุณวุฒิ และถูกบ่มเพาะโดยศูนย์กลางนวัตกรรมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CU Innovation Hub) มุ่งเน้นการสร้างความมั่งคงทางด้านสุขภาพให้กับประเทศด้วยเทคโนโลยีทางชีวภาพ โดยใช้ใบพืชเป็นตัวกลางในการผลิตสารชีววัตถุที่สามารถนำไปใช้ผลิตเครื่องสำอาง ยา และวัคซีนได้ แห่งแรกในประเทศไทย ถาม: เทคโนโลยีของ ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด คืออะไร ตอบ: ใบยา ไฟโตฟาร์ม วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีทางชีวภาพ “Baiyapharming (ใบยาฟาร์มมิง) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีการผลิตสารชีวโมเลกุลโดยใช้ใบพืชชนิด N. benthamiana ที่มีงานวิจัยสนับสนุนในการใช้เป็นตัวกลางของการผลิตที่สามารถผลิตได้รวดเร็ว และขยายขนาดการผลิตได้ง่าย ถาม: วัคซีนของ ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด แตกต่างกับวัคซีนอื่น ๆ อย่างไร ตอบ: วัคซีนของบริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด นั้นแตกต่างจากที่อื่นคือ เป็นวัคซีนชนิดโปรตีนที่ผลิตจากใบพืชที่แรกและที่เดียวในประเทศไทย โดยนำส่วนหนึ่งของไวรัสมาเป็นต้นแบบ และนำมาผ่านกระบวนการส่งสารพันธุกรรมเข้าไปในพืช ทำให้พืชสร้างโปรตีนที่เป็นชิ้นส่วนของไวรัสได้ และสกัดนำโปรตีนนั้นออกมาเพื่อทำเป็นวัคซีนต่อไป ซึ่งใบยา ไฟโตฟาร์ม สามารถผลิตวัคซีนนี้ได้ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำภายในประเทศไทย ถาม: บริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด เริ่มพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ตั้งแต่เมื่อไหร่ ปัจจุบันก้าวหน้าถึงขั้นไหน ตอบ: เริ่มวิจัยพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2563 ที่ผ่านมา และได้ทดสอบวัคซีนต้นแบบตัวแรกที่มีชื่อว่า “Baiya SARS-CoV-2 Vax 1” ในสัตว์ทดลองทั้ง 2 ชนิด ได้แก่ หนูขาวและลิง ซึ่งประสบความสำเร็จในขั้นการทดสอบในสัตว์ทดลองแล้ว พบว่าสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันในหนูขาวและลิงได้เป็นที่น่าพึงพอใจและแสดงให้เห็นถึง Neutralizing Antibody ต่อไวรัสได้ พร้อมเข้าสู่การทดสอบในมนุษย์ต่อไปในปี พ.ศ 2564 ถาม: วัคซีนของ ใบยา ไฟโตฟาร์ม ต้องฉีดกี่เข็ม ตอบ: ฉีด 2 เข็มฉีดห่างกันเป็นระยะเวลา 21 วัน ถาม: วัคซีนจากใบยา ไฟโตฟาร์ม เก็บได้นานเท่าไหร่ ตอบ: จากผลการศึกษาขณะนี้ พบว่าวัคซีนโควิด-19 จากใบยา ไฟโตฟาร์ม สามารถเก็บไว้ได้ในระยะเวลา 1 เดือน ในอุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส ซึ่งจะมีการเก็บเพื่อศึกษาความคงตัวและวัดผลต่อไป ถาม: คาดการณ์ว่าวัคซีนโควิด-19 ของบริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด จะพร้อมใช้เมื่อไหร่ ? ตอบ: คาดว่าจะสามารถผลิตให้กับประชาชนได้เร็วที่สุดในปลายปี พ.ศ. 2564 ถาม:วัคซีนโควิด-19 ของบริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม ถ้าผลิตเสร็จแล้วจะขายในราคาเท่าไหร่ ตอบ: ขณะนี้วัคซีนโควิด-19 จากบริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัดนั้น ยังไม่ได้ประกาศราคาที่แน่นอน แต่เรามุ่งเน้นให้คนไทยสามารถเข้าถึงวัคซีนได้โดยคาดการณ์ว่าราคาของวัคซีนต่อเข็มจะมีราคาประมาณ 500 บาท ถาม:กำลังการผลิตต่อเดือนของวัคซีนโควิด-19 ของบริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม เป็นเท่าไหร่ ? ตอบ: ขณะนี้ บริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด คาดการณ์ความสามารถผลิตวัคซีนไว้ประมาณ 1 ล้านโดสต่อเดือน และคาดว่าจะขยายกำลังการผลิตไปเป็น 2-5 ล้านโดสในอนาคต โดยคาดว่าจะสามารถดำเนินการผลิตวัคซีนรอบแรกได้ภายในปลายปี พ.ศ. 2564 ถาม: วัคซีนโควิด-19 ของบริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม สามารถฉีดวัคซีนได้ทุกคนหรือไม่? ตอบ: วัคซีนโควิด-19 ของ Baiya เป็นวัคซีนประเภทโปรตีนซึ่งโดยส่วนใหญ่เป็นวัคซีนที่มีความปลอดภัยในการฉีดให้กับประชากรกลุ่มต่าง ๆ เช่น ผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ ผู้สูงอายุ หรือสตรีมีครรภ์ อย่างไรก็ตามจำเป็นจะต้องทำการศึกษาต่อไปในอนาคตอาจเกิดผลเสียมากกว่าผลดีแต่ยังจะต้องศึกษาถึงความปลอดภัยและประสิทธิภาพเพิ่มเติมในกลุ่มประชากรเหล่านี้เพิ่มเติมต่อไป ถาม: แผนการดำเนินการต่อไปบริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด คืออะไร ตอบ: บริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด วางแผนจะทำการทดสอบวัคซีนในมนุษย์ ในปี 2564 ซึ่งขั้นแรกจำเป็นต้องจัดเตรียมสถานที่ผลิตให้ตรงตามมาตรฐานตามที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยากำหนด และร่วมมือกับองค์กรที่เชี่ยวชาญในการผลิตวัคซีนในประเทศ ได้แก่ องค์การเภสัชกรรม บริษัท คินเจน ไบโอเทค จำกัด เพื่อที่ร่วมมือกันผลิตวัคซีนที่จะนำมาใช้ทดสอบในมนุษย์ และผลิตให้กับประชาชนทั่วไปได้ โดยได้วางแผนเตรียมผลิตวัคซีนสำหรับการทดสอบในมนุษย์ทุกระยะ คาดว่าจะเสร็จสิ้นภายในปี 2564 และสามารถผลิตวัคซีนใช้ได้จริง ภายในปี 2565 อ่านเพิ่มเติม: โอกาสธุรกิจไทยหลัง ศูนย์กลาง Health and Wellnessไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine