ธุรกิจ ร้านอาหารญี่ปุ่นในประเทศไทยยังรุ่ง ปี 2564 มีจำนวน 4,370 ร้าน เพิ่มขึ้น 6.7% ต่างจังหวัดขยายตัวสูง แต่รายได้ผู้ประกอบการยังไม่ฟื้นจากผลกระทบโควิด–19 ฉุดธุรกิจท่องเที่ยว ร้านอาหาร ขณะที่มูลค่าส่งออกอาหารญี่ปุ่นมาไทยเพิ่ม ทั้งผลิตภัณฑ์ปลา เนื้อวัว ผลไม้
องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร กรุงเทพฯ) เปิดเผยผลการสำรวจร้านอาหารญี่ปุ่นในประเทศไทย ประจำปี 2564 พบว่า ในปี 2564 มีร้านอาหารญี่ปุ่นในประเทศไทยจำนวน 4,370 ร้าน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วร้อยละ 6.7 (ปี 2563 มี 4,094 ร้าน) จำนวนร้านอาหารญี่ปุ่นในต่างจังหวัดมี 2,297 ร้าน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วถึงร้อยละ 15.5 (ปี 2563 มี 1,989 ร้าน) ในขณะที่จำนวนร้านในกรุงเทพฯ ได้ลดลงร้อยละ 1.5 (ปี 2563 มี 2,105 ร้าน) ทำให้จำนวนร้านในต่างจังหวัดแซงหน้าจำนวนร้านในกรุงเทพฯ เป็นครั้งแรกของการสำรวจ สำหรับประเภทร้านที่เพิ่มขึ้นมากเป็นพิเศษคือร้าน Sushi โดยร้าน Sushi ที่เพิ่มสาขาในรูปแบบแฟรนไชส์ได้ผลักดันจำนวนร้านให้เพิ่มมากขึ้นต่อเนื่องจากปีที่แล้ว รองลงมาเป็นภัตตาคารอาหารญี่ปุ่น ซึ่งมีสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 50 ของประเภทร้านอาหารญี่ปุ่นในประเทศไทย นอกจากนี้ จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้มีจำนวนร้านปิดกิจการชั่วคราว 231 ร้าน เพิ่มจากปีที่แล้วที่มีการปิดชั่วคราว 70 ร้าน ทาเคทานิ อัทสึชิ ประธานเจโทร กรุงเทพฯ กล่าวว่า จำนวนร้านอาหารญี่ปุ่นในประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นทุกปี โดยจำนวนร้านของปี 2564 เพิ่มขึ้นถึง 6 เท่าเมื่อเทียบกับปี 2550 ซึ่งเป็นปีที่เริ่มทำการสำรวจ การบริโภคอาหารญี่ปุ่นของคนไทยมีความหลากหลายมากขึ้น ทั้งทานเป็นอาหารสำหรับมื้อพิเศษและอาหารในชีวิตประจำวัน ผู้เกี่ยวข้องกับธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นหลายท่านให้ความเห็นว่า ในอนาคตจะมีร้านอาหารที่มีการปรับให้เข้ากับรสนิยมและวัฒนธรรมการกินของคนไทยมากขึ้น และในขณะเดียวกันร้านอาหารที่เสิร์ฟอาหารเน้นความเป็นต้นตำรับอาหารญี่ปุ่นแบบแท้ๆ จะมีจำนวนเพิ่มขึ้นด้วย ราคาอาหารต่อหัวลดลง ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์ข้อมูลราคาอาหารเฉลี่ยต่อหัว พบว่า ระดับราคาอาหารเฉลี่ยต่อหัวที่มีจำนวนร้านมากที่สุด อยู่ที่ระดับราคา 101–250 บาท ตามด้วยระดับราคา 251–500 บาท ทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัด โดยสำหรับร้านเปิดใหม่จำนวนมากในต่างจังหวัดจะมีราคาต่อหัวต่ำอยู่ที่ 101–250 บาท และต่ำกว่า 100 บาท สะท้อนถึงกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ยังไม่ฟืนตัวจากสถานการณ์โควิด–19 ทาเคทานิ อัทสึชิ กล่าวว่า แม้ภาครัฐจะมีการผ่อนคลายให้เริ่มกลับมานั่งรับประทานอาหารภายในร้านอาหารได้ ทำให้จำนวนลูกค้าและรายได้ของร้านอาหารมีแนวโน้มฟื้นตัวตามมาตรการผ่อนคลายควบคุมร้านอาหารตามลำดับ แต่การฟื้นตัวยังไม่เต็มร้อย เมื่อเทียบกับก่อนโควิด-19 ระบาด จากการสัมภาษณ์ได้รับความเห็นจากผู้เกี่ยวข้องกับธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นว่า ร้านอาหารญี่ปุ่นกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ เช่น การขาดแคลนแรงงงานในอุตสาหกรรมร้านอาหาร การฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้ชีวิตของผู้บริโภคสืบเนื่องมาจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นต้น ขณะที่จากการสำรวจยอดขายของบริษัทเชนร้านอาหารญี่ปุ่นรายใหญ่ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ตั้งแต่ไตรมาส 1 – ไตรมาส 3 ของปีนี้ ลดลง 28 – 56 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ผลสำรวจของศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า มูลค่าของอุตสาหกรรมร้านอาหารโดยรวมในปี 2564 หดตัวลง 13.5 – 17.3 เปอร์เซ็นต์ จากปีก่อน คิดเป็นมูลค่ารวม 3.5 – 3.35 แสนล้านบาท “สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด–19 เป็นปัจจัยสำคัญที่สุดที่จะมีผลต่อการฟื้นตัวของธุรกิจร้านอาหารในประเทศไทย การระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยว ซึ่งเศรษฐกิจไทยเกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวค่อนข้างมาก ถ้าท่องเที่ยวกลับมา เศรษฐกิจไทยฟื้นตัว จะส่งผลต่อการฟื้นตัวของธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นด้วย” ประธานเจโทร กรุงเทพฯ กล่าว เดลิเวอรี่ – ส่งออกรุ่ง ทาเคทานิ อัทสึชิ กล่าวอีกว่า แนวโน้มการขยายตัวของธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นในประเทศไทย ยังคงขยายตัวต่อเนื่องจากการบริโภคอาหารญี่ปุ่นที่มีความหลากหลายมากขึ้น และกลุ่มผู้บริโภควัยรุ่นปัจจุบันรับประทานอาหารญี่ปุ่นตั้งแต่เด็กจนกลายเป็นอาหารในชีวิตประจำวัน ซึ่งเป็นการขยายตัวทั้งร้านอาหารญี่ปุ่นที่ปรับรสชาติให้เข้ากับวัฒนธรรมการกินของไทย และอาหารต้นตำรับก็ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ พฤติกรรมการสั่งอาหารเดลิเวอรี่ ยังมีแนวโน้มเติบโตเพิ่มขึ้น ทั้งในช่วงสถานการณ์โควิด และหลังจากนี้ บริการเดลิเวอรี่จะกลายเป็นกลยุทธ์สำคัญเพื่อเพิ่มช่องทางการขาย และรองรับความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดระลอกต่อไปที่อาจจะเกิดขึ้นอีกในอนาคต โดยข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า ในปี 2564 มูลค่าตลาดเดลิเวอรี่ เติบโตขึ้นร้อยละ 46.4 จากปีที่ผ่านมา รวมทั้งวัฒนธรรมอาหารของญี่ปุ่นที่ได้รับความนิยมมากขึ้นทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก ช่วยผลักดันการส่งออกสินค้าเกษตร ป่าไม้ ประมง และอาหารของประเทศญี่ปุ่น โดยปี 2019 ญี่ปุ่นส่งออกสินค้าเกษตร ประมง และอาหารของประเทศญี่ปุ่นมาไทย มูลค่า 39,500 ล้านเยน ปี 2020 มูลค่า 40,100 ล้านเยน และตั้งแต่เดือน ม.ค. - ต.ค. 2021 มีมูลค่า 36,700 ล้านเยน เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สินค้าหลัก ได้แก่ ปลา เนื้อวัว ผลไม้ เช่น องุ่น แอปเปิ้ล สตรอเบอร์รี่ เป็นต้น รวมถึงสาเก อ่านเพิ่มเติม: ตั้งรับ ปรับตัว และหาโอกาส กลยุทธ์สร้าง “ศักยภาพผู้ประกอบการไทย”ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine