วันนี้ ครบรอบ 82 ปี ของการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย
เช้ามืดของวันที่ 24 มิถุนายน 2475 นายทหารและข้าราชการพลเรือนจำนวนหนึ่งในนาม “คณะราษฎร” เข้ายึดสถานที่สำคัญทางราชการ และควบคุมตัวบุคคลสำคัญในรัฐบาล หนึ่งในผู้นำก่อการปีนขึ้นไปบนหลังคารถหุ้มเกราะคันหนึ่งที่จอดอยู่ที่ลานพระบรมรูปทรงม้าแล้วอ่านประกาศคณะราษฎร แถลงการณ์ถึงจุดจบของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และสถาปนารัฐภายใต้รัฐธรรมนูญขึ้นแทน
22 พฤษภาคม 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นำโดย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก “เข้าควบคุมอำนาจในการปกครองประเทศ” ฉีกรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2550
82 ปี ผ่านไป ข้ออ้างที่นำมาใช้การทำรัฐประหารในรอบ 13 ครั้ง ที่ผ่านมา (ไม่นับ 2475 ที่เป็น “ปฏิวัติ” เปลี่ยนแปลงการปกครอง) หนีไม่พ้นเรื่องการทุจริต-ฉ้อราษฎรบังหลวงของรัฐบาล หรือไม่ก็อ้างความแตกแยกของประชาชน
24 มิถุนายน 2557 สถาบันกรรมการบริษัทไทย ซึ่งเป็นองค์กรที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาความเป็นมืออาชีพของกรรมการบริษัท และส่งเสริมให้เกิดการกำกับดูแลกิจการที่ดีในประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2542 ได้จัดงานสัมมนาระดับชาติประจำปี ครั้งที่ 3 ว่าด้วยเรื่อง การพัฒนาระดับการกำกับดูแลกิจการที่ดี เพื่อความก้าวหน้าของประเทศไทย (Improving Corporate Governance: Key to Advancing Thailand) ณ โรงแรมหรูแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ โดยมีผู้บริหารสูงสุดในภาคเอกชนชั้นนำมาร่วมกล่าวสุนทรพจน์ ให้ผู้บริหารภาครัฐและเอกชนนับร้อยรับฟัง
จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา ประธานกรรมการ บมจ. ปูนซีเมนต์ไทย กล่าวระหว่างปาฐกถาเรียกร้องให้ทุกภาคส่วนช่วยกันทำให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากการเป็นประเทศที่เผชิญกับความวุ่นวายดังช่วงก่อนการรัฐประหาร
“ก่อน 22 พฤษภา...ทุกคนคิดว่าไทยกำลังเป็น failing state ผมคิดว่ามาวันนี้ 1 เดือนให้หลัง เราจะไม่ยอม เราจะพยายามสุดความสามารถไม่ให้กลับไปเป็น failing state หรือ failed state ตอนนี้ ทุกคนกำลังช่วยกันคนละไม้คนละมือ ไม่ให้เป็น failing state,” จิรายุกล่าวในปาฐกถา
จิรายุ ผู้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ตั้งแต่ปี 2530 กล่าวอีกว่า บริษัทต่างๆ ควรคิดเชิงกลยุทธมากขึ้นในการช่วยกันพัฒนาสังคมให้ยั่งยืนมากกว่าการแค่บริจาคเงินสร้างภาพ ต้องร่วมกันสร้างการกำกับกิจการที่ดี หลักบรรษัทภิบาล ร่วมแก้ปัญหาคอรัปชั่นในองค์กร และระบบราชการเพื่อความยั่งยืนของประเทศ
เขาทิ้งท้ายสุนทรพจน์ ด้วยการอัญเชิญกระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
“ในบ้านเมืองนั้น มีทั้งคนดีและคนไม่ดี ไม่มีใครจะทำให้คนทุกคนเป็นคนดีได้ทั้งหมด การทำให้บ้านเมืองมีความปรกติสุขเรียบร้อยจึงมิใช่การทำให้ทุกคนเป็นคนดี หากแต่อยู่ที่การส่งเสริมคนดี ให้คนดีได้ปกครองบ้านเมือง และควบคุมคนไม่ดีไม่ให้มีอำนาจ ไม่ให้ก่อความเดือดร้อนวุ่นวายได้”
“ในบ้านเมืองนั้น มีทั้งคนดีและคนไม่ดี ไม่มีใครจะทำให้คนทุกคนเป็นคนดีได้ทั้งหมด การทำให้บ้านเมืองมีความปรกติสุขเรียบร้อยจึงมิใช่การทำให้ทุกคนเป็นคนดี หากแต่อยู่ที่การส่งเสริมคนดี ให้คนดีได้ปกครองบ้านเมือง และควบคุมคนไม่ดีไม่ให้มีอำนาจ ไม่ให้ก่อความเดือดร้อนวุ่นวายได้”
งานสัมมนาด้านบรรษัทภิบาลนี้ เกิดขึ้นไม่ถึง 24 ชั่วโมง หลังสหภาพยุโรปหรือ EU แถลงการณ์ประณามการเข้ายึดอำนาจการบริหารราชการแผ่นดินของไทยโดย คสช. รวมถึงการตัดความช่วยเหลือเเเละระงับความร่วมมือทางการไว้ทั้งหมด จนกว่าคณะรัฐประหารจะคืนอำนาจให้ประชาชนและมีการเลือกตั้ง
ในเรื่องนี้ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจสมัยรัฐบาลของทักษิณ ชินวัตร และที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของ คมช. ได้กล่าวตอนหนึ่งว่า เหตุการณ 22 พฤษภาคมคือจุดเปลี่ยนของประเทศ ประวัติศาสตร์จะเป็นผู้ตัดสินว่าถูกหรือผิด เขาไม่แปลกใจที่เห็นปฏิกริยาจากโลกตะวันตกต่อการรัฐประหาร
“สิ่งที่ดีที่สุด คือ ความมุ่งมั่น ตั้งใจแก้ปัญหาบ้านเมือง ทำให้ประเทศดีขึ้น ให้ผลงานพูดแทนทุกสิ่ง ให้ความตั้งใจคนไทยพูดแทน ... ผมเชื่อว่าประเทศทั้งหลาย จะหันมาหาเราอย่างแน่นอน”