"นิคมฯ ปิ่นทอง" นับหนึ่งไฟลิ่งเข้าตลาดฯ - Forbes Thailand

"นิคมฯ ปิ่นทอง" นับหนึ่งไฟลิ่งเข้าตลาดฯ

"นิคมฯ ปิ่นทอง" เดินหน้าแต่งตัวเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ชูแนวคิดพัฒนาโครงการ Eco Industrial Town ต่อยอดพัฒนาโครงการสู่ SMART CITY พร้อมพัฒนาโครงการนิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง 6 และโครงการ Logistics Park รับนโยบายภาครัฐเร่งผลักดันอุตสาหกรรม S-Curve ในพื้นที่ EEC

พีระ ปัทมวรกุลชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปิ่นทอง อินดัสเตรียล ปาร์ค จำกัด (มหาชน) หรือ PIN เปิดเผยความคืบหน้าการเสนอขายหุ้นแก่ประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) ของบริษัทจำนวนไม่เกิน 290 ล้านหุ้น หรือคิดเป็นไม่เกินร้อยละ 25 ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดของบริษัท และนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในหมวดพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ โดยล่าสุดบริษัทอยู่ระหว่างการรออนุมัติไฟลิ่ง จากสำนักงาน ก.ล.ต. ซึ่งคาดการณ์เสนอขายหุ้นไอพีโอหลังได้รับการอนุมัติจากสำนักงาน กลต.ในปลายปีนี้ ขณะที่พีระ มีความมั่นใจในประสบการณ์ความเชี่ยวชาญดำเนินธุรกิจพัฒนาและบริหารอสังหาริมทรัพย์ของบริษัทมานานกว่า 25 ปี โดยมุ่งพัฒนาโครงการนิคมอุตสาหกรรม พร้อมระบบสาธารณูปโภคและสิ่งอำนวยความสะดวกในพื้นที่พาณิชยกรรม ภายใต้การดำเนินงานร่วมกันระหว่างบริษัทและการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) (นิคมอุตสาหกรรมร่วมดำเนินงาน) รวมถึงเป็นผู้พัฒนาอาคารโรงงานและคลังสินค้าให้เช่าและเพื่อขายสำหรับผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมบนพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม และพื้นที่โลจิสติกส์ (Logistics Park) ทั้งยังลงทุนในกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ปิ่นทอง อินดัสเตรียล ปาร์ค (PPF) และเป็นผู้บริหารอสังหาริมทรัพย์ของ PPF นอกจากนั้น บริษัทยังเป็นหนึ่งในผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมรายใหญ่ในจังหวัดชลบุรีและระยองที่มีความโดดเด่นในด้านทำเลที่ตั้งของโครงการที่อยู่ในทำเลยุทธศาสตร์ด้านการลงทุนของประเทศในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ใกล้กับท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งเป็นท่าเรือน้ำลึกหลักในการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ และอยู่บนถนนสายหลักที่เชื่อมต่อสนามบินสุวรรณภูมิและสนามบินอู่ตะเภา โดยบริษัทยังได้รับการรับรองการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมภายใต้มาตรฐานสากล หรือ ISO14001 และ รางวัล Eco-Excellence จากการใช้แนวคิดพัฒนาโครงการนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Eco Industrial Town) ในปัจจุบันบริษัทมีนิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง และโครงการ Logistics Park ที่เปิดดำเนินการแล้วรวม 6 โครงการ ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง โครงการ 1 (PIN1) นิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง (แหลมฉบัง) (PIN2) นิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง โครงการ 3 (PIN3) นิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง โครงการ 4 (PIN4) นิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง โครงการ 5 (PIN5) และโครงการ Logistics Park จำนวน 1 โครงการ ได้แก่ โครงการปิ่นทองแลนด์ (PL) โดยมีพื้นที่ที่พัฒนาแล้วกว่า 7,500 ไร่ “เรามีเป้าหมายมุ่งพัฒนานิคมอุตสาหกรรมให้เติบโตอย่างมั่นคงและก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคมและความเป็นอยู่ของชุมชนอย่างยั่งยืน โดยมีแผนต่อยอดพัฒนานิคมอุตสาหกรรมปิ่นทองไปสู่เมืองอุตสาหกรรมอัจฉริยะ หรือ SMART CITY โดยนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้บริหารจัดการเมืองนิคมอุตสาหกรรมให้มีประสิทธิภาพสูงสุด รวมถึงแผนพัฒนาโครงการใหม่ๆ เพิ่มเติม รองรับการขยายขยายฐานลูกค้าไปยังกลุ่มอุตสาหกรรม S-Curve เสริมสร้างความยั่งยืนให้แก่การดำเนินงานของบริษัทฯ ต่อไป” พีระกล่าว ขณะที่ สุรัช พัฒนวงศ์ยืนยง ประธานเจ้าหน้าที่สายงานปฎิบัติการ บมจ.ปิ่นทอง อินดัสเตรียล ปาร์ค กล่าวว่า บริษัทจะนำประสบการณ์ความเชี่ยวชาญการดำเนินธุรกิจพัฒนานิคมอุตสาหกรรม เพื่อพัฒนาโครงการใหม่จำนวน 2 โครงการที่ตั้งอยู่ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ประกอบด้วย โครงการนิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง 6 (PIN6) พื้นที่ประมาณ 1,322 ไร่ ที่จังหวัดระยอง ภายใต้แนวคิด Eco Industrial Town ตั้งอยู่ใกล้กับท่าเรือน้ำลึกมาบตาพุด และสนามบินอู่ตะเภา เพื่อขยายฐานลูกค้ากลุ่มอุตสาหกรรมสมัยใหม่ (S-Curve) โดยคาดการณ์เปิดขายพื้นที่ในเฟสแรกในโครงการนิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง 6 ได้ภายในไตรมาส 4 ปีนี้ ส่วนโครงการ Logistics Park แห่งใหม่ บริษัทได้พัฒนาที่ดินและสร้างอาคารโรงงานและคลังสินค้าให้เช่าบนพื้นที่ของโครงการที่ประกอบด้วยเขตปลอดอากร (Free Zone) และเขตทั่วไป (General Zone) คาดว่าจะเริ่มพัฒนาโครงการได้ภายในปลายปีนี้ ซึ่งผลักดันโครงสร้างรายได้ประจำและสม่ำเสมอ (Recurring Income) เพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่มีสัดส่วนรายได้ประมาณร้อยละ 20-30 ของรายได้รวม เพื่อรองรับความต้องการของลูกค้าที่ต้องการเช่าโรงงานหรือคลังสินค้า และการให้บริการสาธารณูปโภคต่างๆ ด้าน พิมล เลิศทรัพย์อนันต์ ประธานเจ้าหน้าที่สายงานบัญชีและการเงิน PIN กล่าวว่า ภาพรวมรายได้จากการขายและการบริการในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (2561-2563) อยู่ที่ 888.88 ล้านบาท 789.28 ล้านบาท และ 1.06 พันล้านบาท ตามลำดับ ขณะที่กำไรสุทธิทำได้ 216.43 ล้านบาท 223.70 ล้านบาท และ 403.89 ล้านบาท โดยปัจจัยการเติบโตที่ดีในปีที่ผ่านมาเกิดจากการขายที่ดินที่พัฒนาแล้วในโครงการ PIN3, PIN4 และ PIN5 มากขึ้น ทั้งยังสามารถเพิ่มสัดส่วนของรายได้ประจำและสม่ำเสมอ (Recurring Income) ซึ่งมาจากรายได้การให้เช่าและให้บริการเพิ่มขึ้นรวมถึงบริหารควบคุมค่าใช้จ่ายได้มีประสิทธิภาพ โดยรายได้จากการขายที่ดินสำหรับงวด 6 เดือนแรกของปีนี้อยู่ที่ 205.50 ล้านบาทหรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 12 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนจากจำนวนที่ดินที่ขายได้เพิ่มขึ้น และกำไรสุทธิ 99.31 ล้านบาทหรือเติบโตขึ้นร้อยละ 79 เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 55.57 ล้านบาท สำหรับ ประเสริฐ ตันตยาวิทย์ กรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวาณิชธนกิจ บมจ.หลักทรัพย์ เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) ที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย กล่าวว่า บริษัทมีจุดเด่นสำคัญในเรื่องทำเลที่ตั้งนิคมอุตสาหกรรมทั้งหมด ซึ่งอยู่ในทำเลยุทธศาสตร์ด้านการลงทุนของประเทศ ในพื้นที่ EEC และโอกาสเติบโตจากโครงการใหม่ เช่น โครงการ Logistics Park โครงการปิ่นทอง 6 และโครงการสาธารณูปโภคที่สนับสนุนการประกอบธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม ทั้งโครงการท่าเรือแหลมฉบังและท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด การพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน จึงทำให้พื้นที่นิคมอุตสาหกรรมของ PIN ได้รับประโยชน์จากเม็ดเงินลงทุนใหม่ๆ ของนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทยในระยะยาว ขณะที่กลุ่มเป้าหมายหลักของลูกค้าจะอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรม S-Curve เพื่อผลักดันประเทศไทยก้าวสู่เศรษฐกิจ 4.0 ประกอบกับจุดเด่นด้านแนวคิดการพัฒนาโครงการนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Eco Industrial Town) และแผนมุ่งยกระดับโครงการนิคมอุตสาหกรรมไปสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะ หรือ Smart City เพื่อเป็นฐานการผลิตที่สำคัญในไทยและภูมิภาค รวมถึงบริการที่ครบวงจรของบริษัท เช่น โรงงานและคลังสินค้าให้เช่า การให้บริการ One-stop service และบริการหลังการขาย ส่งผลให้ผลการดำเนินงานของบริษัทสามารถเติบโตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน นอกจากนั้น ธนัท วงษ์ชูแก้ว กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.หลักทรัพย์ กรุงศรี ในฐานะผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย กล่าวว่า PIN จัดเป็นหุ้นของกิจการที่อยู่ในช่วงเติบโต (Growth Stock) และมีนโยบายการจ่ายเงินปันผลในอัตราไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 ของกำไรสุทธิของงบการเงินเฉพาะกิจการภายหลังจากหักภาษีเงินได้นิติบุคคลและเงินทุนสำรองตามกฎหมายและทุนสำรองอื่นตามที่กำหนดไว้ในกฎหมาย โดยเงินที่ได้จากการระดมทุนจะช่วยเสริมความแข็งแกร่งการดำเนินงานจากแผนการลงทุนโครงการ Logistics Park แห่งใหม่ เพื่อรองรับการลงทุนของผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมและเพิ่มสัดส่วนรายได้ประจำ (Recurring Income) ส่วนที่เหลือนำไปชำระคืนเงินกู้และเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินงานต่อไป ส่งผลให้บริษัทมีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง และเพิ่มศักยภาพในการสร้างการเติบโตของรายได้อย่างมั่นคงต่อเนื่อง อ่านเพิ่มเติม: ธุรกิจฟื้นตัว! บสย. ค้ำทะลุ 2 แสนล้านบาท
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine