โรงพยาบาลนครธนเปิดแผนรื้อใหญ่ลงทุนศูนย์โรคเฉพาะทางจับเทรนด์ตลาด เชื่อปี 2560 เติบโต 12% สวนกระแสปัจจัยลบตลาดลูกค้าตะวันออกกลางลด-เศรษฐกิจซบเซา มองโอกาสบุกเปิดบูธงานอีเวนท์ดึงคนไข้เมียนมาเพิ่ม
นพ.วิโรจน์ ตระการวิจิตร ผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์
โรงพยาบาลนครธน เปิดเผยว่า ปีนี้นครธนได้ลงทุนปรับปรุงและพัฒนาโรงพยาบาลมูลค่าการลงทุน 150 ล้านบาท เพื่อยกระดับแผนกของโรงพยาบาลให้เป็นศูนย์โรคเฉพาะทาง มีการปรับปรุงพื้นที่ จัดซื้อเครื่องมือใหม่ และเพิ่มบุคลากรทางการแพทย์
นำร่องเปิดบริการ 2 ศูนย์แรกคือ
ศูนย์ระบบทางเดินอาหารและตับ มีเครื่องมือใหม่คือ FibroScan สำหรับตรวจอวัยวะตับ และ
ศูนย์กระดูกและข้อ ที่รองรับแนวโน้มสังคมผู้สูงอายุและผู้บาดเจ็บจากการออกกำลังกาย
รวมถึงยังลงทุนจัดซื้อ
เครื่องตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) ที่มีความทันสมัย ผลการตรวจชัดเจน ลดเวลาการตรวจลงได้ 20 นาที และสามารถทำการตรวจ MRI ในบางกรณีโดยไม่ต้องฉีดสีให้กับคนไข้ได้ ซึ่งเครื่อง MRI เครื่องใหม่นี้จะทำให้การวินิจฉัยโรคของนครธนแม่นยำยิ่งขึ้น
และในปีนี้อยู่ระหว่างวางแผนปรับปรุงเพิ่มอีก 2 ศูนย์ คือ ศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู และ ศูนย์ระบบประสาทและสมอง ซึ่งยังไม่สรุปงบการลงทุน
โดย
นพ.วิโรจน์ กล่าวว่า
โรงพยาบาลนครธนต้องการจะปรับจากโรงพยาบาลรูปแบบเดิมที่เน้นการตรวจโรคทั่วไป เป็นโรงพยาบาลรวมศูนย์โรคเฉพาะทาง สามารถตรวจวินิจฉัยและรักษาได้เบ็ดเสร็จภายในแห่งเดียว เพื่อเป็นผู้นำโรงพยาบาลเอกชนของย่านพระราม 2
“แต่เดิมเราก่อตั้งโรงพยาบาลด้วยขนาด 500 เตียง แต่จำนวนเตียงลงทะเบียนปัจจุบันมี 150 เตียง เนื่องจากพบว่าการแพทย์ที่พัฒนาทำให้ผู้ป่วยมีระยะเวลานอนโรงพยาบาลน้อยลง สามารถผ่าตัดแบบวันเดียวกลับโดยไม่ต้องพักฟื้นได้ แต่ต้องการความแม่นยำและความเชี่ยวชาญเฉพาะทางเพิ่มขึ้น จึงต้องเพิ่มศูนย์ตรวจเฉพาะโรคและพื้นที่สำหรับผู้ป่วยนอก (OPD) ทดแทนตามแนวโน้มของตลาด” นพ.วิโรจน์กล่าว
ซึ่งจะทำให้นครธนมีค่าใช้จ่ายต่อคนที่สูงขึ้นจากศักยภาพตรวจวินิจฉัยโรคอันซับซ้อน และด้วยชุมชนในพื้นที่ถนนพระราม 2 เจริญเติบโตขึ้นมาก ทำให้มีจำนวนผู้ป่วยเข้ารักษาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
นพ.วิโรจน์จึง
คาดว่าปี 2560 รายได้ของรพ.นครธนจะเติบโตได้ 12% เป็น 1,500 ล้านบาท จากรายได้ปี 2559 ที่ 1,300 ล้านบาท สวนทางกับภาพรวมธุรกิจโรงพยาบาลไทย ที่ได้รับผลกระทบจากลูกค้าชาวตะวันออกกลางที่ลดจำนวนลงและสภาพเศรษฐกิจไทยที่ยังซบเซา
โอกาสดึงลูกค้าเมียนมา
นพ.วิโรจน์กล่าวต่อว่า สำหรับแนวโน้มลูกค้าชาวต่างชาติซึ่งนิยมเข้ามารักษาโรคในไทย (Medical Tourism) ปัจจุบันนครธนมีสัดส่วนลูกค้าชาวต่างชาติประมาณ 5% ส่วนใหญ่เป็นพนักงานที่เข้ามาทำงานและอาศัยอยู่ในไทย (expat) ย่านนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น ชาวจีน เมียนมา ซึ่งนครธนได้จัดหาล่ามทั้งสองภาษาไว้รองรับแล้ว
และเชื่อว่าจะสามารถผลักดันสัดส่วนนี้ให้เพิ่มเป็น 10% ภายใน 5 ปี ตามการเติบโตของแหล่งอุตสาหกรรม และจะเริ่มกระตุ้นตลาดเน้นชาวเมียนมาเป็นหลัก โดยเตรียมเข้าร่วมออกบูธในงาน Health Fair ที่เมือง Yangon
แผนเฟสสองเปิดหน่วย Home Health Care
นอกจากนี้ หลังจากการปรับตัวเป็นศูนย์โรคเฉพาะทางในเฟสแรกแล้ว นพ.วิโรจน์มองว่ารพ.นครธนอาจปรับในเฟสสอง นำที่ดินด้านหลังโรงพยาบาลปรับพื้นที่ใหม่เป็น
Home Health Care หรือ ศูนย์การดูแลสุขภาพผู้ป่วยที่บ้าน เพื่อรองรับคนไข้ที่มีความต้องการการดูแลต่อเนื่องที่บ้าน ช่วยจัดการด้านสิ่งแวดล้อม ความสะดวกของคนไข้ และความสะอาดของที่พักฟื้น
“ตอนนี้เรามีทีมที่ช่วยเหลือส่วนนี้อยู่แล้วในการให้คำแนะนำผู้ดูแลคนไข้ก่อนที่เขาจะกลับไปพักฟื้นที่บ้าน แต่อนาคตจะเป็นเชิงธุรกิจมากขึ้น ซึ่งแปลว่าเราต้องมีทีมบุคลากรเพิ่มชุดใหญ่ เช่น พยาบาล เจ้าหน้าที่ รถพยาบาล เพื่อไปดูแลคนไข้ได้ถึงบ้าน” นพ.วิโรจน์กล่าวปิดท้าย