JWD ตอกย้ำการดำเนินงานที่แข็งแกร่ง แม้มีปัจจัยลบจาก COVID-19 ทำรายได้รวมไตรมาส 1/2563 อยู่ที่ 966.1 ล้านบาท เติบโต 7.7% และกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 4.8% จากธุรกิจหลายส่วนที่ยังขยายตัวได้ดีและการบริหารค่าใช้จ่ายที่มีประสิทธิภาพ
ดร.เอกพงษ์ ตั้งศรีสงวน ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน บริษัท เจดับเบิ้ลยูดี อินโฟโลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ JWD ผู้ให้บริการโลจิสติกส์และซัพพลายเชนระดับอาเซียน เปิดเผยผลการดำเนินงานไตรมาส 1/2563 ว่า แม้มีสถานการณ์ที่ไม่ปกติในทั่วโลกจากการระบาดของโรคโควิด-19 แต่บริษัทยังดำเนินธุรกิจส่วนใหญ่ได้ตามปกติ โดยมีบางส่วนที่สร้างการเติบโตได้ทั้งรายได้และผลกำไร
โดยมีรายได้รวมทั้งสิ้น 966.1 ล้านบาท เติบโต 7.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้รวม 896.8 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 93.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 89.2 ล้านบาท
ทั้งนี้ หากแบ่งสัดส่วนรายได้ตามธุรกิจ พบว่า ธุรกิจโลจิสติกส์และซัพพลายเชนมีสัดส่วน 76.4% ธุรกิจซัพพลานเชนอาหารมีสัดส่วน 20.7% และธุรกิจอื่นๆ 3%
ปัจจัยหลักสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนผลประกอบการในไตรมาสนี้ คือ ธุรกิจ Cold Chain ซึ่งเกี่ยวกับคลังสินค้าห้องเย็นและการขนส่งแบบควบคุมอุณหภูมิ ที่ได้รับความต้องการเพิ่มขึ้นสูงมาก โดยมีรายได้ 188.4 ล้านบาท เติบโต 20.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากสามารถเพิ่มปริมาณสินค้าที่รับจัดเก็บให้แก่ลูกค้ารายเดิมและขยายกลุ่มลูกค้ารายใหม่ ส่งผลให้มีอัตราการใช้พื้นที่เฉลี่ยสูงถึง 80%
นอกจากนี้ยังมาจากธุรกิจคลังสินค้าทั่วไปที่มีรายได้ 104.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 25.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวทำให้ลูกค้าใช้ระยะเวลาจัดเก็บสินค้าในคลังนานขึ้น
ส่วนธุรกิจรับฝากและบริหารยานยนต์มีรายได้รวม 124.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากได้งานจากลูกค้ารายใหม่ อย่างไรก็ตาม งานบริการขนส่งรถยนต์นั้นเป็นส่วนที่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากบริษัทรถยนต์ยอดขายลดลงและหยุดการผลิต ทำให้ปริมาณงานในเดือนเมษายนที่ผ่านมาชะลอตัวตามภาพรวมอุตสาหกรรม แต่คาดว่าจะค่อยๆ ฟื้นตัวดีขึ้นหากสถานการณ์ COVID-19 ในหลายประเทศเริ่มคลี่คลาย
อีกธุรกิจที่ได้รับผลกระทบในเชิงลบคือธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสินค้าอันตราย เนื่องจากซัพพลายเชนจากจีนได้รับผลกระทบ แต่เชื่อว่าหากสถานการณ์กลับมาเป็นปกติ ก็จะสามารถฟื้นคืนได้ในไม่ช้า
ขณะที่ธุรกิจ Self-Storage หรือห้องเก็บของส่วนตัวให้เช่า มีรายได้ 5.7 ล้านบาท เติบโตกว่า 120% จากการขยายตัวของธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ นอกจากนี้ยังได้รับส่วนแบ่งกำไรตามสัดส่วนการลงทุนจากธุรกิจในต่างประเทศจำนวน 25.1 ล้านบาท
“ในไตรมาสแรกเรียกได้ว่าเราเติบโตในระดับที่น่าพอใจ เนื่องจากเรามีการเตรียมตัวรับมือมากมาย เพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง โดยมีการทำแผนรักษาเงินสด, ขอพักชำระหนี้กับธนาคาร, วางแผนหาเงินกู้สำรอง และบริหารจัดการค่าใช้จ่าย ทั้งตัวเราเองได้กระจายพอร์ตให้ครอบคลุมทุกบริการ, กลุ่มลูกค้า, กลุ่มอุตสาหกรรม และขยายธุรกิจไปยังประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียน เช่น กัมพูชา เวียดนาม ฯลฯ ทำให้เรามีจุดแข็งที่จะรับมือกับสถานการณ์นี้ได้” ดร.เอกพงษ์ กล่าว
ด้าน ชวนินทร์ บัณฑิตกฤษดา ประธานกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร JWD กล่าวว่า สำหรับในปีนี้เนื่องจากสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ที่ยังไม่แน่นอนและคาดเดาได้ยาก ทำให้เราตั้งเป้าหมายไว้ 2 รูปแบบ คือ หากสถานการณ์ดีขึ้น อย่างดีที่สุดเราตั้งเป้าหมายรายได้ทั้งปีลดลงจากปีก่อน 10% และในกรณีที่เลวร้ายที่สุด คาดว่ารายได้ทั้งปีจะลดลงไม่ต่ำกว่า 30%
“สำหรับปัจจัยอย่างสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ที่ล่าสุดเหมือนจะรุนแรงขึ้นมาอีกครั้ง มองว่าสงครามการค้าคงยืดเยื้อต่อไปอีก ซึ่งอาจส่งผลดีกับเราก็ได้ เนื่องจากปี 2562 ที่เกิดสงครามการค้า ทำให้เราได้รับผลกระทบเชิงบวกเนื่องจากลูกค้าในจีนที่ต้องส่งออกสินค้าไปประเทศอื่น ได้ย้ายฐานการผลิตมายังกัมพูชาซึ่งเป็นฐานใหญ่ของเรา ทำให้เราได้รับอานิสงส์”
ชวนินทร์ กล่าวอีกว่า ส่วนแผนการเข้าซื้อกิจการที่เราเคยพิจารณาไว้นั้น เนื่องจากหลายธุรกิจที่เราสนใจได้รับผลกระทบจากวิกฤตครั้งนี้ ทำให้เราต้องชะลอแผนออกไปก่อน โดยขอพิจารณาอีก 2-3 ไตรมาสว่ามีโอกาสมากน้อยเพียงใด
“ในปีนี้เรายังขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะ B2C ที่ได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้ประกอบธุรกิจขายสินค้าออนไลน์เข้ามาเช่าพื้นที่เพิ่มขึ้น โดยเราวางแผนสร้าง Self Storage ในแบรนด์ Store It! มากขึ้น นอกจากนี้ ในด้าน B2B ก็ยังมีการสร้างคลังห้องเย็นเพิ่มที่มหาชัย และนำเสนอบริการใหม่ เช่น Cold Chain Express Delivery หรือบริการขนส่งควบคุมอุณหภูมิแบบด่วน เรียกว่าตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างครอบคลุม”
ชวนินทร์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ภาพต่อจากนี้ของ JWD คงมุ่งไปที่การประคองตัว ด้วยการควบคุมค่าใช้จ่าย และสร้างผลกำไรให้ได้มากที่สุด โดยวางเป้าขยายสัดส่วนการขนส่งให้มากขึ้นจาก 10% ในปัจจุบัน ขยายการเติบโตของ B2C ให้เพิ่มขึ้นจาก 10% ในปัจจุบันเป็น 20-30% ใน 3 ปีนี้ มองหาวิธีสร้างรายได้โดยไม่ต้องลงทุน หรือลงทุนแล้วต้องไม่ติดลบเป็นเวลานาน
รวมถึงนำโมเดลความสำเร็จในธุรกิจ B2B ในประเทศไทย ขยายไปสู่ภูมิภาคอาเซียน บนเป้าหมายที่ต้องการเป็นผู้นำด้านโซลูชั่นโลจิสติกส์ครบวงจรในภูมิภาค
ไม่พลาดบทความด้านธุรกิจ ติดตามได้ที่ Facebook: Forbes Thailand Magazine