ประเทศกำลังพัฒนาอย่างเช่น บราซิล อินเดีย และแอฟริกาใต้ต่างก็แสดงจุดยืนที่ชัดเจนว่าต้องการที่จะเติบโตเป็นหนึ่งใน มหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลก โดยรัฐบาลของประเทศตุรกีถึงขั้นประกาศเป้าหมายที่ชัดเจนว่าจะผลักดันให้ เศรษฐกิจของประเทศขยับขึ้นไปติดอันดับ 1 ใน 10 เศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลกภายในปี 2023 จากปัจจุบันซึ่งอยู่ในอันดับที่ 18
เรียบเรียงโดย พิษณุ พรหมจรรยา
ประเทศกำลังพัฒนาอย่างเช่น บราซิล อินเดีย และแอฟริกาใต้ต่างก็แสดงจุดยืนที่ชัดเจนว่าต้องการที่จะเติบโตเป็นหนึ่งใน มหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลก โดยรัฐบาลของประเทศตุรกีถึงขั้นประกาศเป้าหมายที่ชัดเจนว่าจะผลักดันให้ เศรษฐกิจของประเทศขยับขึ้นไปติดอันดับ 1 ใน 10 เศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลกภายในปี 2023 จากปัจจุบันซึ่งอยู่ในอันดับที่ 18 แต่สิ่งที่ประเทศเหล่านี้มองข้ามไปก็คือสิ่งที่สำคัญต่อการสร้างความยิ่งใหญ่ให้กับระบบเศรษฐกิจ นั่นก็คือ เสถียรภาพของค่าเงิน ทั้งนักลงทุนและผู้ประกอบการต่างก็ต้องการค่าเงินที่นิ่งและไว้วางใจได้
ประเทศจีนเริ่มซึมซาบความจริงข้อนี้ได้ตั้งแต่ต้นทศวรรษที่ 1990 และในปี 1994 ก็ผูกค่าเงินหยวนเอาไว้กับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ แบบเดียวกันกับที่ค่าเงินดอลลาร์ฮ่องกงทำในทศวรรษก่อนหน้านั้น ซึ่งการทำเช่นนี้ส่งผลให้การค้าและเศรษฐกิจของจีนเติบโตอย่างมาก
บรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาของ IMF และหน่วยงานอื่นต่างก็บอกกับประเทศกำลังพัฒนาว่าการลดค่าเงินจะช่วยให้เศรษฐกิจของประเทศเหล่านั้นเติบโตได้จากการทำให้ราคาสินค้าส่งออกถูกลง และราคาสินค้านำเข้าแพงขึ้น ซึ่งเป็นเหมือนความเชื่อที่งมงายของนักวิชาการสายพาณิชย์นิยมซึ่งหล่อหลอมความเชื่อของชาวยุโรปส่วนใหญ่ในช่วงศตวรรษที่ 15-17 ให้หลงเชื่อว่าอำนาจของชาติมาจากการสะสมเงินและทอง แต่ในปัจจุบันโมหะจริตในลักษณะนี้เปลี่ยนมาอยู่ในรูปของความเชื่อว่าประเทศต้องเกินดุลย์การค้า แต่ทั้งนี้และทั้งนั้นการลดค่าเงินส่งผลเสียต่อทั้งการลงทุนในประเทศและ การลงทุนจากต่างประเทศ เพราะแค่การลงทุนอย่างเดียวก็เสี่ยงมากพออยู่แล้ว ถ้ายังต้องแบกความเสี่ยงจากการผันผวนของค่าเงินซึ่งจะกระทบกับกระแสรายได้ในอนาคตเข้าไปอีก ก็ทำให้คนรู้สึกว่าความเสี่ยงมากจนไม่คุ้มค่าที่จะเข้าไปลงทุน จริงๆ แล้วเงินมันเป็นเพียงแค่ตัวกลางที่เราใช้ในการซื้อขายและลงทุนเท่านั้น ถ้าไม่ยอมรับความจริงข้อนี้ก็จะมีปัญหาแล้ว เงินเป็นเพียงแค่ตัววัดมูลค่าเหมือนกับนาฬิกาที่บอกเวลา หรือตาชั่งที่วัดน้ำหนัก
เหล่าประเทศที่อยากจะเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจต้องเข้าใจว่าเศรษฐกิจที่มีระบบการเงินที่แข็งแรงมักจะเติบโตได้ดีกว่าประเทศที่ระบบการเงินไร้เสถียรภาพ ตัวอย่างที่พิสูจน์ความจริงข้อนี้ได้อย่างชัดเจนก็คือประเทศอังกฤษในศตวรรษที่ 16 แม้ว่าอังกฤษจะมีรัฐบาลที่เป็นตัวแทนของประชาชนและเข้มแข็ง (สำหรับยุคนั้น) มีกรรมสิทธิ์ในที่ดิน และมีนวัตกรรมในด้านต่างๆ (อุตสาหกรรมสิ่งทอและการต่อเรือล้ำหน้ากว่าประเทศอื่นในยุโรป ในขณะที่เกษตรกรในอังกฤษมีผลิตภาพสูงกว่าเกษตกรในฝรั่งเศสถึงสามเท่า) แต่อังกฤษก็ยังนับเป็นประเทศมหาอำนาจชั้นรอง แต่ต่อมาเมื่อประเทศอังกฤษรับเอาแนวคิดเรื่องระบบการเงินที่มีเสถียรภาพมาใช้และผูกค่าเงินปอนด์ไว้กับมาตรฐานทองคำ อังกฤษก็สามารถขยายอาณาจักรเครือจักรภพออกไปทั่วโลก และกลายมาเป็นต้นกำเนิดของการปฏิวัติอุตสาหกรรม เงินทุนในประเทศอังกฤษเบ่งบานราวดอกเห็ด ซึ่งไม่เพียงแต่จะช่วยหนุนการเติบโตของประเทศอังกฤษซึ่งกลายมาเป็นเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลกเท่านั้น แต่ยังมีส่วนช่วยพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ในโลก รวมถึงสหรัฐฯ ด้วย
ภายในเวลาแค่ไม่กี่ปีหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ประเทศแพ้สงครามอย่างญี่ปุ่นและเยอรมนีก็ผูกค่าเงินไว้กับสกุลดอลลาร์ซึ่งมีทองคำหนุนหลังอยู่ และเมื่อบวกเข้ากับการลดภาษีอย่างต่อเนื่อง ก็ทำให้ประเทศทั้งสองสามารถพลิกฟื้นกลับมาเป็นประเทศที่ร่ำรวยและกลายมาเป็นเศรษฐกิจชั้นนำของโลกได้อีกครั้ง
แล้วถ้าอย่างนั้นประเทศที่อยากจะเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจต้องทำยังไง? ก็ต้องเริ่มจากการผูกค่าเงินไว้กับสกุลดอลลาร์หรือยูโร ในช่วงทศวรรษที่ 1990 ประเทศในคาบสมุทรบอลข่านอย่าง ลิทัวเนีย ลัตเวีย หรือ เอสโตเนีย ต่างก็ผูกค่าเงินไว้กับดอลลาร์ หรือมาร์กเยอรมัน โดยทั้ง ลิทัวเนีย และลัตเวีย ต่างก็ใช้ระบบคณะกรรมการค่าเงิน ซึ่งกำหนดให้ค่าเงินของตัวเองมีค่าเงินสกุลที่มีเสถียรภาพหนุนหลังเกือบ 100% และต่อมาประเทศทั้งสามก็ปรับมาใช้เงินสกุลยูโร และทำให้เศรษฐกิจของทั้งสามประเทศเฟื่องฟู
การเปลี่ยนมาใช้ระบบคณะกรรมการค่าเงินจะส่งผลดีต่อประเทศอย่างยูเครน ในขณะที่การผูกค่าเงินไว้กับดอลลาร์หรือยูโรก็จะส่งผลดีต่อค่าเงินรูปีของอินเดีย ซึ่งในอีกไม่กี่ปีอินเดียอาจจะพร้อมที่จะนำมาตรฐานทองคำมาใช้กับค่าเงิน ซึ่งภายในชั่วอายุคนเดียวอาจจะทำให้เศรษฐกิจของอินเดียแซงหน้าเจ้าอาณานิคมอย่างอังกฤษหรือแม้แต่จีนก็เป็นได้
Steve Forbes
คลิ๊กอ่านบทความจากผู้นำได้ที่ Forbes Thailand ฉบับ September 2015 ได้ในรูปแบบ E-Magazine