โซไซตี้ พาส ลุยซื้อกิจการในไทย-อาเซียน - Forbes Thailand

โซไซตี้ พาส ลุยซื้อกิจการในไทย-อาเซียน

โซไซตี้ พาส บริษัทเทคโนโลยีสัญชาติสิงคโปร์ เตรียมงบกว่า 50 ล้านเหรียญสหรัฐ ไล่ซื้อกิจการในไทยและอาเซียน ประเดิมซื้อธอทฟูล มีเดีย ประเทศไทย รุกหนักธุรกิจอีคอมเมิร์ซ โซเชี่ยล คอมเมิร์ซ คาดปี 2025 มูลค่าตลาดพุ่ง 6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ

บริษัท โซไซตี้ พาส อินคอร์ปอเรท (“Society Pass” หรือ “SoPa”) บริษัทเทคโนโลยี สัญชาติสิงคโปร์ที่จดทะเบียนในตลาดแนสแดค ประเทศสหรัฐอเมริกา ประกาศรุกตลาดอีคอมเมิร์ซ โซเชี่ยลคอมเมิร์ซในไทยและอาเซียน ด้วยการเข้าซื้อกิจการ ซึ่งเป็นแนวทางหลักที่จะทำให้ขยายธุรกิจได้อย่างรวดเร็ว เดนนิส เหวิน ผู้ก่อตั้ง ประธาน และซีอีโอ โซไซตี้ พาส (SoPa) กล่าวว่า โซไซตี้ พาส เป็นบริษัทเทคโนโลยี สัญชาติสิงคโปร์ เป็นหนึ่งใน 6 แพลตฟอร์มจากเอเชียที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แนสแดค ประเทศสหรัฐอเมริกา ปัจจุบัน โซไซตี้ พาส ขยายธุรกิจ 5 ประเทศในอาเซียน ได้แก่ สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และไทย โดยวางกลยุทธ์หลักในการขยายธุรกิจด้วยการเข้าซื้อกิจการบริษัทเทคโนโลยีดาวรุ่งในประเทศต่าง ๆ โดยปีนี้คาดว่าจะใช้งบประมาณกว่า 50 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 1,800 ล้านบาท) ในการซื้อกิจการ สำหรับการซื้อกิจการของโซไซตี้ พาสจะให้ความสำคัญในธุรกิจ 7 ด้านด้วยกัน ได้แก่ Loyalty Business ธุรกิจขายสินค้า ไลฟ์สไตล์ อาหารและเครื่องดื่ม โทรคมนาคม ดิจิทัล มีเดีย และ ท่องเที่ยว เพื่อสร้างระบบนิเวศให้กับธุรกิจหลักของโซไซตี้ พาส คือการให้บริการแพลตฟอร์มลอยัลตี้ พอยท์ ที่จะเชื่อมต่อระหว่างผู้บริโภคและผู้ขายสินค้าออนไลน์ ล่าสุดได้เข้าซื้อกิจการธอทฟูล มีเดีย กรุ๊ป ประเทศไทย แพลตฟอร์มที่ให้บริการวิดีโอที่เน้นตลาดโซเชี่ยลคอมเมิร์ซ ที่มีวิดีโออัพโหลดมากกว่า 675,000 วิดีโอ ยอดวิวมากกว่า 80,000 ล้านวิว มีช่องยูทูบ 263 ช่อง และมีผู้สมัครกว่า 85 ล้านคน “การเข้าซื้อกิจการครั้งนี้ ถือเป็นการรุกตลาดในไทยเป็นครั้งแรกของ SoPa เพื่อสร้างการเติบโตในระบบนิเวศของ SoPa ให้เพิ่มมากขึ้นภายใต้การผสานรวมกับบริษัทเทคโนโลยี หวังขยายตลาดสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งในเวียดนาม ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย” สำหรับธอทฟูล มีเดีย กรุ๊ป มีสำนักงานใหญ๋ในประเทศไทย และยังดำเนินการในสหรัฐอเมริกา เวียดนาม และฟิลิปปินส์ ในปี 2564 มีรายได้ถึง 5.8 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทยประมาณ 208.8 ล้านบาท การเข้าซื้อกิจการธอทฟูล มีเดีย กรุ๊ปในครั้งนี้จะทำให้บริษัทมีรายได้และฐานลูกค้าเพิ่มขึ้นทันที  

- ตั้งเป้าซื้อ 15 กิจการในปีนี้ -

เดนนิส กล่าวว่า ในวิกฤตเป็นโอกาส ในช่วงเศรษฐกิจไม่ดี ทำให้บริษัทมีโอกาสเข้าซื้อกิจการได้ในราคาที่เหมาะสม ขณะเดียวกันเป็นโอกาสในการขยายธุรกิจได้อย่างรวดเร็ว เพื่อรองรับแนวโน้มการเติบโตของธุรกิจอีคอมเมิร์ซ โซเชี่ยลคอมเมิร์ซที่ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในประเทศไทยปัจจุบันมูลค่าการขยายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์อยู่ที่ประมาณ 30,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และคาดว่าในปี 2025 จะมีมูลค่าสูงถึง 60,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้ ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา โซไซตี้ พาส ได้ซื้อกิจการไปแล้ว 7 บริษัท คาดว่าในสิ้นปีนี้จะซื้อกิจการรวม 12 - 15 บริษัท ภายใต้งบประมาณ 50 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยในประเทศไทยคาดว่าจะใช้งบประมาณราว 15 - 20 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยในปี 2023 - 2024 บริษัทได้ตั้งงบประมาณไว้มากกว่านี้เพื่อซื้อกิจการอีกหลายแห่ง ซึ่งเงินส่วนหนึ่งที่ใช้ในการซื้อกิจการมาจากการระดมทุนในตลาดแนสแดค หรือเป็นการแลกหุ้นระหว่างบริษัท ล่าสุดอยู่ระหว่างพูดคุยกับผู้ให้บริการอีวอลเล็ตรายใหญ่เพื่อขยายธุรกิจร่วมกันในอาเซียน “ในทุกวิกฤตมีโอกาส ในช่วงที่คนอื่นไม่ลงทุน เรามองเป็นโอกาสที่จะขยายการลงทุน โดยเน้นลงทุนอย่างระมัดระวัง เน้นการคัดเลือกบริษัทอย่างรอบคอบที่สุด สภาพตลาดในภาวะปัจจุบัน แม้จะอยู่ในช่วงที่ต้องระมัดระวัง แต่ต่อให้มีวิกฤต คนยังซื้อของผ่านอินเทอร์เน็ต โซเชียลมีเดีย เมื่อเศรษฐกิจฟื้น เราจะได้รับผลประโยชน์จากการลงทุนครั้งนี้” เดนนิสกล่าว แนวทางในการทำธุรกิจของ โซไซตี้ พาส คือการมุ่งสร้างระบบนิเวศของลอยัลตี้ โปรแกรม ทำให้ผู้บริโภคและคู่ค้าของบริษัทได้ประโยชน์จากทุก ๆ บริษัทที่โซไซตี้ พาสเข้าซื้อกิจการ ดังนั้นการเติบโตจึงมาจากสองส่วน คือรายได้จากบริษัทที่เข้าซื้อกิจการ และรายได้จากค่าธรรมเนียมลอยัลตี้ พอยท์ ในอัตราร้อยละ 1.5 ที่ลูกค้าและคู่ค้าของเรานำไปใช้หรือให้บริการ และด้วยกลยุทธ์นี้จะทำให้ โซไซตี้ พาส มีกำไรที่สูงกว่า และมีอัตราการเติบโตอย่างยั่งยืน เมื่อเทียบกับแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซรายใหญ่ ที่เน้นทุ่มงบลงทุนด้านการตลาดอย่างมหาศาล แต่ได้ผลกำไรน้อย สำหรับผลการดำเนินงานของโซไซตี้ พาสในปีนี้ คาดว่าจะมีรายได้ 10 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยสัดส่วนร้อยละ 40 มาจากกิจการในประเทศไทย ขณะที่ปี 2023 คาดว่าจะมีรายได้ 25 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยสัดส่วนจากประเทศอยู่ที่ร้อยละ 33 เนื่องจากบริษัทจะขยายธุรกิจในอินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ซึ่งคาดว่าจะเติบโตสูงเช่นเดียวกัน   อ่านเพิ่มเติม: 

ไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine