บีอีซี เวิลด์ ผู้บริหารสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 นำโดย “สุรินทร์ กฤตยาพงศ์พันธุ์” กรรมการผู้อำนวยการสายธุรกิจโทรทัศน์ นำทัพคอนเทนต์ บุกตลาดต่างประเทศ หนุนซอฟต์พาวเวอร์ไทย ดังไกลต่างแดน ทั้งประเทศเพื่อนบ้าน เอเชีย ละตินอเมริกา ยุโรป และแอฟริกา
หลังการกลับมาบริหารสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 อีกครั้ง “สุรินทร์ กฤตยาพงศ์พันธุ์” กรรมการผู้อำนวยการสายธุรกิจโทรทัศน์ บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) ได้วางกลยุทธ์ให้กับช่อง 3 ในการเป็น Single Content Multiple Platforms เพื่อกระจายรายได้ไปสู่ธุรกิจใหม่ๆ
ต่อยอดการดำเนินธุรกิจไปสู่ธุรกิจเพลง ธุรกิจภาพยนตร์ พร้อมกับการขยายตลาดไปในกลุ่มประเทศที่น่าสนใจ ผ่านธุรกิจการขายลิขสิทธิ์ละครไปยังตลาดต่างประเทศหรือ Global Content Licensing ทั้งประเทศเพื่อนบ้าน เอเชีย ละตินอเมริกา ยุโรป และล่าสุดแอฟริกา ครอบคลุมกว่า 40 ประเทศ
“ปี 2565 นับเป็นปีแห่งความสำเร็จของ BEC World ในการจำหน่ายลิขสิทธิ์ละครไปยังต่างประเทศ โดยล่าสุดสามารถเจาะตลาดใหม่ นำละครไทยไปเผยแพร่ยังภูมิภาคแอฟริกาเป็นครั้งแรก ผ่านทาง StarTimes แพลตฟอร์มวีดีโอสตรีมมิ่งชั้นนำ ที่สามารถับชมกว่า 40 ประเทศในภูมิภาคแอฟริกา เช่น ไนจีเรีย แอฟริกาใต้ แทนซาเนีย เคนยา กานา เป็นต้น นับเป็นความสำเร็จอีกก้าวหนึ่งของละครไทยที่สามารถไปไกลถึงภูมิภาคแอฟริกาเป็นครั้งแรก” สุรินทร์กล่าว
โดยแพลตฟอร์ม StarTimes ได้ซื้อลิขสิทธิ์ละครเรื่อง “คลื่นชีวิต” (Waves of Life) และ “สองเสน่หา” (The Unidentical Twins) ไปเผยแพร่เป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน และ 8 ธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา
นอกจากนี้ BEC World ยังได้จำหน่ายลิขสิทธิ์ละครหลากหลายเรื่องจำนวน 2,300 ชั่วโมง ไปเผยแพร่ในแพลตฟอร์มและสถานีโทรทัศน์ทั้งในภูมิภาคเอเชียและในแอฟริกา ถือเป็นความสำเร็จอีกขั้นที่ละครช่อง 3 สามารถขยายวงกว้างจากตลาดเอเชียต่อยอดไปถึงแอฟริกาและจะขยายวงกว้างต่อไป
ขยายจีน เกาหลีใต้ อาเซียนเพิ่ม
สำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออก แพลตฟอร์มหลักๆ ในสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้เผยแพร่ละครเรื่อง “คือเธอ” (Bad Romeo) และ “เกมล่าทรชน” (Game of Outlaws) ทาง Tencent VDO และต่ออายุลิขสิทธิ์ละครเรื่อง “ลิขิตรัก” (The Crown Princess) “พราวมุก” (Praomook) เผยแพร่ทาง Mango TV “ปดิวรัดา” (The Loyal Wife) เผยแพร่ทาง iQIYI (อ้ายฉีอี้) และ “เกมเสน่หา” (Game of Affection) เผยแพร่ทาง Youku (โยวคู่)
ส่วนพันธมิตรทางธุรกิจอย่าง บริษัท Netopia ในเกาหลีใต้ ได้ซื้อแพ็คเกจลิขสิทธิ์ละครของช่อง 3 ต่อเป็นครั้งที่ 2 มากกว่า 150 ชั่วโมง นำไปเผยแพร่ถึง 3 ช่องในเครือ คือ Smile TV Plus, TVA (TV Asia Plus) และ WeeTV
ด้านสถานีโทรทัศน์ฟรีทีวีที่ใหญ่ที่สุดในฟิลิปปินส์ อย่าง GMA Network Inc. ได้ซื้อลิขสิทธิ์ละครถึง 256 ชั่วโมง อาทิ ละครเรื่อง ”กะรัตรัก” (Are We Alright?) “คือเธอ” (Bad Romeo) “เกมล่าทรชน” (Game of Outlaws) “รตีลวง” (LOVE and DECEPTION) “ตราบฟ้ามีตะวัน” (My Forever Sunshine) “พิศวาสฆาตเกมส์” (The Deadly Affair) “มนต์รักหนองผักกะแยง” (To Me, it”s Simply You) และล่าสุด “มัดหัวใจยัยซุปตาร์” (You Are My Makeup Artist) ไปออกอากาศ
รวมทั้ง บริการสตรีมมิ่งชั้นนำระดับโลก อย่าง Netflix ได้ซื้อลิขสิทธิ์ละครไปเผยแพร่ออกอากาศในวันเดียวกัน ทั้งอาเซียน ถึง 8 เรื่อง เช่น “คือเธอ” (Bad Romeo) “พิศวาสฆาตเกมส์” (The Deadly Affair) “คุณหมีปาฏิหาริย์” (The Miracle of Teddy Bear) “ลายกินรี” (The Kinnaree Conspiracy) “สายลับลิปกลอส” (Lipgloss Spy) “ซุปตาร์ 2550 (Suptar 2550) “รากแก้ว” (The Root) และ “มัดหัวใจยัยซุปตาร์”(You Are My Makeup Artist)
รวมทั้ง VIU เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้นำละครช่อง 3 ไปออกอากาศ ตั้งแต่ช่วงต้นปีจนถึงไตรมาสที่สามของปี 2022 ทั้งในประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย รวมถึง MediaCorp TV สถานีโทรทัศน์ที่มีเครือข่ายกว้างขวางที่สุดในสิงคโปร์ Media Prima (Ch 9 Media Sdn. Bhd.) ฟรีทีวีในมาเลเซีย ในกัมพูชา BEC World ยังคงความสัมพันธ์ต่อเนื่องยาวนานกับ PNN TV และ Viettel ของเวียดนาม
สุรินทร์ กล่าวว่า BEC World ได้สร้างฐานแฟนที่แข็งแรงในอเชียตะวันออกเฉียงใต้ผ่านแพลทฟอร์มและสถานีโทรทัศน์ฟรีทีวีในภูมิภาคต่างๆ และยังคงมุ่งมั่นที่จะขยายเครือข่ายในการจำหน่ายลิขสิทธิ์นอกประเทศไทย
ในขณะเดียวกันจะพัฒนาคอนเทนต์ละครให้ดึงดูดกลุ่มแฟนละครหลักในไทยและประเทศเพื่อนบ้าน CLMV (ลาว กัมพูชา เวียดนาม สหภาพเมียนมา) นอกเหนือจากเอเชียแล้ว ละตินอเมริกา และแอฟริกา จะเป็นตลาดที่แข็งแรงเป็นลำดับต่อไป และหวังว่าคอนเทนต์ละครไทยจะเป็นที่ยอมรับทั่วโลก
โบรกฯ คาดปี 2566 ฟื้นตัวโดดเด่น
บล.เอเซีย พลัส ประเมินผลการดำเนินงานไตรมาส 4 ปี 2565 ของ BEC มีแนวโน้มฟื้นตัวจากไตรมาสก่อน ขณะที่ รายได้เสริมจากธุรกิจ Digital Revenue และ Global Content Licensing (GCL) คาดว่าจะทรงตัวจากไตรมาสก่อน โดยในช่วงไตรมาส 4 BEC จะมีรายได้จากธุรกิจภาพยนตร์เรื่อง “บัวผันฟันยับ” ที่คาดว่าจะสามารถสร้างรายได้ราว 150-200 ล้านบาท เข้ามาช่วยประคองกำไร
ทั้งนี้ บล.เอเซีย พลัส ประเมินกำไรสุทธิ ในปี 2566 ของ BEC ไว้ที่ 831 ล้านบาท เติบโตขึ้นร้อยละ 27 จากปีก่อน มีปัจจัยสนับสนุนจากการคำนวณเรทติ้งใหม่มาใช้ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2566 ซึ่งจะทำให้ราคาขายโฆษณาของ BEC มีโอกาสปรับตัวขึ้นได้ เนื่องจาก BEC เป็นผู้ประกอบการโทรทัศน์ที่มีเรทติ้งสูงสุดอันดับ 1 ในกลุ่มผู้ชมพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑ
ขณะที่ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) ประเมินกำไรสุทธิปี 2566 ของ BEC ไว้ที่ 735 ล้านบาท เติบโตขึ้นร้อยละ 20 จากปีก่อน มีปัจจัยหนุนจากอุตสาหกรรมโฆษณาผ่านสื่อโทรทัศน์ มีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้นร้อยละ 7 จากปีก่อน ตามภาวะเศรษฐกิจที่ดีขึ้น และมีคอนเสิร์ตเข้ามาเสริม อีกทั้ง BEC ยังมีการปรับกลยุทธ์ เพิ่มสัดส่วนรายได้นอกจากโทรทัศน์มากขึ้น ทั้งดิจิทัลแพลตฟอร์ม และตลาดเพลง
นอกจากนี้ จะเริ่มเห็นผลบวกจากกลยุทธ์เพิ่มรายได้ใหม่ ด้วยการจับมือกับพันธมิตร อาทิ การรุกธุรกิจภาพยนตร์กับทาง MPIC ที่จะร่วมกันผลิตภาพยนตร์ โดยมีแผนจะสร้างอีก 3-4 เรื่อง รวมทั้งต่อยอดการบริหารศิลปินแบบเต็มรูปแบบ และสร้าง BEC Studio ที่จะช่วยให้สามารถผลิตคอนเทนต์ได้หลากหลายมากยิ่งขึ้น
อ่านเพิ่มเติม: ซอฟต์พาวเวอร์ อาหารญี่ปุ่น ยังรุ่ง ปี 65 เปิดใหม่เกือบพันร้านค้า
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine