วัฒนธรรมอาหารญี่ปุ่นยังรุ่ง เจโทร เผยผลสำรวจปี 2565 พบร้านเปิดใหม่เกือบ 1,000 แห่ง สูงสุดนับตั้งแต่สำรวจในประเทศไทย ต่างจังหวัดขยายตัวสูง ชี้คนรุ่นใหม่รับวัฒนธรรมอาหารญี่ปุ่นตั้งแต่เด็ก ชี้แนวโน้มยังเติบโตต่อเนื่อง และมีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น
องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร กรุงเทพฯ) เปิดเผยผลสำรวจร้านอาหารญี่ปุ่นในประเทศไทย ประจำปี 2565 พบมีจำนวน 5,325 ร้าน เพิ่มขึ้น 955 ร้านจากปีที่แล้ว หรือคิดเป็นร้อยละ 21.9 โดยมีจำนวนเพิ่มมากที่สุดตั้งแต่เริ่มการสำรวจร้านอาหารญี่ปุ่นในประเทศไทยเมื่อปี 2550
โดยมีจำนวนเพิ่มขึ้นทั้งในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และต่างจังหวัด โดยเฉพาะจำนวนร้านอาหารในปริมณฑล 5 จังหวัด (นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร) มีจำนวนร้านอาหารญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นร้อยละ 25.2 และต่างจังหวัดร้อยละ 28.5
ในปี 2565 มีจำนวนร้านอาหารญี่ปุ่นเปิดใหม่ 1,404 ร้าน โดยเฉพาะประเภทร้านซูชิเพิ่มขึ้น 448 ร้าน ภัตตาคารอาหารญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น 263 ร้าน และร้านราเมงเพิ่มขึ้น 185 ร้าน
ขณะที่มีร้านที่ปิดกิจการชั่วคราวจากสถานการณ์แพร่ระบาดของ โควิด-19 จำนวน 231 ร้าน และบางร้านได้กลับมาเปิดให้บริการและบางร้านปิดกิจการถาวร ทำให้จำนวนร้านที่ปิดกิจการชั่วคราว ลดลงเหลือ 105 ร้าน
โดยร้านอาหารญี่ปุ่นถือว่ามีความสำคัญสำหรับการเผยแพร่วัฒนธรรมอาหารของญี่ปุ่นสู่ทั่วโลก และเป็นปัจจัยสำคัญในการผลักดันการส่งออกสินค้าเกษตร ป่าไม้ ประมง และอาหารของประเทศญี่ปุ่น
“รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้ทราบว่ามีร้านอาหารญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นทั่วประเทศไทยทำให้ผู้บริโภคชาวไทยมีโอกาสได้รับประทานอาหารญี่ปุ่นเพิ่มมากขึ้น หวังว่าการที่มีร้านอาหารญี่ปุ่นเพิ่มมากขึ้นจะทำให้มีจำนวนคนที่ชื่นชอบอาหารญี่ปุ่นเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ยอดขายของร้านอาหารญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น และทำให้ปริมาณการนำเข้าวัตถุดิบสินค้าอาหารญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นมากตามไปด้วย” จุน คุโรดะ ประธานเจโทร กรุงเทพฯ กล่าว
คนรุ่นใหม่บริโภคอาหารญี่ปุ่นตั้งแต่เด็ก
ผู้เกี่ยวข้องกับธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่น ให้ความเห็นว่า ในประเทศไทยมีอาหารญี่ปุ่นขายมานานกว่า 30 ปี คนรุ่นใหม่จำนวนมากคุ้นเคยกับอาหารญี่ปุ่นมาตั้งแต่สมัยเด็กๆ คาดการณ์ว่าในอนาคต ร้านอาหารญี่ปุ่นในพื้นที่ต่างจังหวัดจะแพร่หลายและได้รับความนิยมมากขึ้น และจะมีการนำเสนออาหารญี่ปุ่นให้กับผู้บริโภคคนไทยในรูปแบบ และระดับราคาที่หลากหลายมมากขึ้นจะทำให้ผู้บริโภคเข้าถึงอาหารญี่ปุ่นในรูปแบบต่างๆ ได้หลากหลายยิ่งขึ้นเช่นกัน
ทั้งนี้ จากการสัมภาษณ์ผู้เกี่ยวข้องกับธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นหลายรายได้ให้ความเห็นว่า ยอดขายของร้านอาหารญี่ปุ่นฟื้นตัวขึ้นร้อยละ 70-90 เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2562 ซึ่งเป็นช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโควิด
โดยสาเหตุที่ยังไม่ฟื้นตัวจนสู่ภาวะปกติได้นั้น เนื่องจากราคาวัตถุดิบที่พุ่งสูงขึ้น การชะลอตัวในการฟื้นตัวด้านต่างๆ เช่น การรับประทานอาหารร่วมกัน การจัดงานเลี้ยง รวมถึงการชะลอตัวในการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ
นอกจากนี้บางรายมีความเห็นว่า การสั่งอาหารแบบ Food delivery ที่นิยมขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงของการแพร่ระบาดของโควิดจะยังคงมีการใช้บริการต่อไปแม้ว่าการขยายตัวของการใช้บริการจะชะลอตัวลง
คุโรดะ กล่าวว่า เจโทรฯ มุ่งมั่นที่จะดำเนินโครงการต่างๆ เพื่อส่งเสริมให้อาหารญี่ปุ่นได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางต่อไป และส่งเสริมการนำเข้าสินค้าเกษตรและอาหารจากญี่ปุ่นมายังประเทศไทยให้มีมากขึ้น โดยจัดแคมเปญ “Made in JAPAN วัตถุดิบญี่ปุ่นแท้ ส่งต่อความรัก ด้วยความอร่อย” ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2565 ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 มีจุดประสงค์เพื่อประชาสัมพันธ์เสน่ห์ของสินค้าอาหารนำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น ร่วมกับร้านอาหาร 236 ร้านทั่วประเทศไทย ซึ่งมี 86 ร้านอยู่ในต่างจังหวัด
“แคมเปญประชาสัมพันธ์ที่จัดขึ้นสอดคล้องกับการสำรวจร้านอาหารญี่ปุ่นในประเทศไทยที่พบว่ามีร้านอาหารญี่ปุ่นกรุงเทพฯ ได้จัดกิจกรรมในต่างจังหวัดเพิ่มมากขึ้น วัตถุดิบหลักในแคมเปญนี้ คือ เนื้อวัว อาหารทะเล และวัตถุดิบอาหารที่คนไทยยังไม่ค่อยรู้จัก เช่น เนื้อหมูจากประเทศญี่ปุ่น ปลาบุริ ปลาซันมะ เป็นต้น”
นอกจากนี้ เจโทร กรุงเทพฯ ยังได้จัดกิจกรรมส่งเสริมการเจรจาธุกิจระหว่างผู้ประกอบการไทยและผู้ประกอบการญี่ปุ่นมาโดยตลอด เช่น การจัดบูธ JAPAN PAVILION ภายในงาน THAIFEX 2022 ซึ่งเป็นนิทรรศการสินค้าอาหารที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีมูลค่าประมาณการซื้อขายสูงถึง 1,900 ล้านเยน หรือประมาณ 493 ล้านบาท
และการจัดงาน JETRO Online Business Matching & Exhibition of Japanese Food Products 2022 โดยมีมูลค่าการซื้อขาย 800 ล้านเยน หรือ ประมาณ 207 ล้านบาท
อ่านเพิ่มเติม: “วีรชัย มั่นสินธร” ฝ่าวิกฤตหนี้ 1,000 ล้าน เตรียมนำ TIPAK เข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine