“วีรชัย มั่นสินธร” ฝ่าวิกฤตหนี้ 1,000 ล้าน เตรียมนำ TIPAK เข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ - Forbes Thailand

“วีรชัย มั่นสินธร” ฝ่าวิกฤตหนี้ 1,000 ล้าน เตรียมนำ TIPAK เข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์

เส้นทางชีวิตของ “วีรชัย มั่นสินธร” ที่ต้องเผชิญวิกฤตหลายต่อหลายครั้ง จนเป็นหนี้ติดลบกว่าพันล้าน ในช่วงต้มยำกุ้ง สู้กัดฟันทำธุรกิจอย่างไม่ย่อท้อ ยึดหลักความซื่อสัตย์ต่อลูกค้า คู่ค้าและพนักงาน ใช้เวลากว่า 10 ปีชำระหนี้หมด พร้อมกับผลประกอบการที่เติบโตสู่ 3 พันล้านบาทในปีที่ผ่านมา และพร้อมก้าวสู่การเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์


    จากจุดเริ่มต้นการทำธุรกิจกล่องกระดาษ ที่ตึกแถว ย่านถนนเสือป่า จนขยายกิจการเติบโตเป็นบริษัท อุตสาหกรรมไทยบรรจุภัณฑ์ จำกัด (มหาชน) โดยมีรายได้ในปี 2565 ที่ผ่านมาราว 3 พันล้านบาท “วีรชัย มั่นสินธร” กรรมการผู้จัดการใหญ่ ต้องผ่านวิกฤตครั้งแล้วครั้งเล่า ด้วยความเป็นคนไม่ยอมแพ้ และมุ่งมั่นทำธุรกิจอย่างซื่อสัตย์ เที่ยงตรง ทำให้เขาสามารถก้าวข้ามอุปสรรคทั้งปวง แม้ต้องใช้เวลานานในการสร้างธุรกิจให้มั่นคง

    วีรชัย เล่าว่า วิกฤตครั้งแรกช่วงปี 2523 พี่ชายยังดูแลธุรกิจเป็นหลัก ส่วนตัวยังเรียนอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่น ตอนนั้นบริษัทเป็นหนี้สถาบันการเงินอยู่ประมาณ 13 ล้านบาท พี่ชายจึงเรียกตัวกลับมาช่วยธุรกิจด่วน ซึ่งก่อนกลับมาได้เห็นเทคโนโลยีการผลิตกล่องกระดาษของประเทศญี่ปุ่นที่มีความทันสมัย จึงได้คุยกับพาร์ตเนอร์ และนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาปรับใช้ในประเทศไทย พร้อมกับเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่

    “ตอนกลับมาต้องทำเองทุกอย่างทั้งเป็นผู้จัดการโรงงาน ดูแลฝ่ายผลิต ฝ่ายขาย ขณะที่คุยกับแบงก์ไปด้วย เพื่อขอผ่อนผันชำระหนี้ ใช้เวลาประมาณ 3-4 รายได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็น 100 ล้าน และ 200 ล้านในปี 2529 ก็เริ่มขยายโรงงานแห่งใหม่ที่มหาชัย โดยมีนักลงทุนจากญี่ปุ่นมาร่วมลงทุน สมัยนายกฯ ชาติชาย (ชุณหะวัณ) เรากู้เงินมาลงทุนประมาณ 20 ล้านเหรียญสหรัฐฯ”


ใช้เวลา 10 ปี เคลียร์หนี้ 1,000 ล้าน


วีรชัย ไม่รู้เลยว่าจะเจอกับวิกฤตระลอกใหม่ เพราะยุคนายกฯชาติชาย เศรษฐกิจเติบโตดีมาก จนถูกเรียกว่า “ยุคโชติช่วงชัชวาลย์” บริษัท อุตสาหกรรมไทยบรรจุภัณฑ์ เติบโตอย่างต่อเนื่อง มียอดขายราว 800 ล้านบาท และเตรียมจดทะเบียนเข้าเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ประมาณปี 2538 แต่พอประกาศลอยตัวค่าเงินบาท หนี้ซึ่งเป็นเงินกู้จากต่างประเทศเพิ่มเป็นเท่าตัว จากหนี้ประมาณ 500 ล้านบาท เพิ่มเป็น 1,000 ล้านบาท

    “วิกฤตต้มยำกุ้ง ถือเป็นบทพิสูจน์ตัวเองอีกครั้ง และเราแสดงความตั้งใจจริงในการชำระหนี้ ไม่มีการปลดพนักงานออกแม้แต่คนเดียว โดยยึดหลักความซื่อสัตย์ เที่ยงตรง ซึ่งยังคงเป็นนโยบายของบริษัทมาจนทุกวันนี้ เราใช้เวลาประมาณ 10 ปีในการชำระหนี้กับเจ้าหนี้ โดยจ่ายคืนหนี้ตรงทุกครั้ง ทำให้เจ้าหนี้เห็นใจ” วีรชัยกล่าว

    วีรชัย ยึดหลัก “ความซื่อตรง” ในการบริหารงาน ทั้งซื่อตรงต่อลูกค้า คู่ค้า และพนักงาน อย่างธนาคาร ซึ่งเป็นทั้งเจ้าหนี้และคู่ค้า บริษัทยึดหลักความซื่อตรงจ่ายดอกเบี้ยตรงเวลาทุกครั้ง ทำให้เจ้าหนี้เห็นใจ

    ขณะที่พนักงานกว่า 300 คน ไม่มีการปลดออกแม้แต้คนเดียว ดูแลกันเหมือนครอบครัว ยกตัวอย่างพนักงานคนแรก รหัส 001 บริษัทดูแลจนตายจากกัน ทุกวันนี้ หากพนักงานมีอายุครบ 60 ปี หากต้องการทำงานต่อ บริษัทจะให้โอกาสได้ทำ โดยผ่านกระบวนการคัดเลือกคนที่เหมาะสม

    วีรชัย กล่าวว่า วันนี้ ธุรกิจของอุตสาหกรรมไทยบรรจุภัณฑ์เติบโตอย่างต่อเนื่องแม้จะไม่หวือหวา โดยปีที่ผ่านมา มีรายได้ 3 พันล้านบาท เติบโตประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ มีลูกค้าประมาณ 500-600 ราย โดยแนวทางในการทำธุรกิจต้องวางแผนจัดการสต็อกสินค้า เพราะราคาเยื่อกระดาษซึ่งเป็นวัตถุดิบมีความผันผวน

    นอกจากนี้ ได้นำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วยในการบริหารจัดการมากขึ้น ช่วยวิเคราะห์ข้อมูล ทำให้ธุรกิจปรับตัวได้เร็ว


มองวิกฤตเป็นโอกาส


ด้วยแนวคิดในการมองวิกฤตเป็นโอกาส ทำให้ วีรชัย นำพาองค์กรเติบโตมาได้อย่างต่อเนื่อง แม้ธุรกิจกล่องกระดาษจะมองว่าเป็นธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยีต่ำ (โลว์เทค) แต่ถือว่ายังมีความจำเป็น

    อย่างในช่วงการระบาดของโควิด-19 ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ และเดลิเวอรีที่เติบโต ทำให้กล่องกระดาษมีความต้องการใช้มากขึ้น และในปี 2566 ที่หลายฝ่ายคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ภาวะชะลอตัว แต่วีรชัยยังมองเป็นโอกาสในหลายๆ ด้าน

    “ด้านแรกสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน ทำให้มีการโยกย้ายฐานผลิต ซึ่งมองว่าเป็นโอกาสของประเทศไทย ที่มีความพร้อมในการเป็นฐานผลิตที่สำคัญในภูมิภาค

    ด้านที่สองสงครามรัสเซียและยูเครน ทำให้เกิดการขาดแคลนอาหาร ซึ่งในมุมนี้ไทยมีความได้เปรียบในการเป็นครัวของโลก และด้านที่สาม เทรนด์ของธุรกิจสุขภาพและความงามที่เติบโต ถือเป็นโอกาสของธุรกิจเช่นเดียวกัน” วีรชัยกล่าว

    ปัจจุบัน ตลาดบรรจุภัณฑ์ในกลุ่มอาหารและเวชภัณฑ์ เติบโตอย่างต่อเนื่อง วีรชัย จึงมองโอกาสในการเข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์อีกครั้ง เพื่อมองหาพาร์ตเนอร์ที่จะมาขยายธุรกิจร่วมกัน รวมถึงการมองหาพันธมิตรนอกตลาดที่จะเข้ามาช่วยเสริมศักยภาพทางธุรกิจซึ่งกันและกัน

    “ธุรกิจกล่องกระดาษ เป็นธุรกิจที่ยั่งยืน เพราะสามารถรีไซเคิลได้ 100% กล่องกระดาษยังมีความสำคัญกับหลายธุรกิจ ยังไม่เห็นว่าจะมีอะไรมาทดแทนกล่องกระดาษได้ ทำให้เรามีโอกาสเติบโตอย่างยั่งยืน อย่างน้อยก็อีก 10 ปีข้างหน้า”



    ปัจจุบัน วีรชัย ในวัย 66 ปี ค่อยๆ ขยับตัวออกจากธุรกิจ แต่ยังคงอยู่ในฐานะที่ปรึกษา เพื่อเปิดทางให้ลูกชายเข้ามาบริหารต่อ ส่วนตัวเองจะไปทงานด้านสังคมมากขึ้น

    โดยขณะนี้นั่งเป็นประธานสถาบันความร่วมมือไทย-จีน นำความรู้ความสามารถที่มีมาส่งต่อให้กับคนไทยที่อยากไปค้าขายในจีน ด้วยการจัดคอร์สฝีกอบรมให้โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย

    ซึ่งคอร์สแรกจัดอบรมผู้ประกอบการไปแล้วกว่า 300 คน และมีแผนที่จะเดินหน้าต่อเนื่อง เพื่อถ่ายทอดประสบการณ์และความรู้ในธุรกิจให้กับคนรุ่นใหม่ เตรียมพร้อมคนรุ่นใหม่เพื่อเข้าสู่เวทีการแข่งขันในโลกอนาคต

    “การทำงานเพื่อสังคม เป็นสิ่งที่เราจะเริ่มต้นอย่างจริงจังในวัย 66 ปี ซึ่งก่อนหน้านี้ ได้ทำมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ทำงานบริษัท ในช่วงน้ำท่วมไปลงพื้นที่ นำส้วมกระดาษไปมอบให้ผู้ประสบภัย

    หรือช่วงโควิดได้สนับสนุน กลุ่ม อสม. (กลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน) มอบเตียงสนามให้ผู้ประสบภัย สิ่งเหล่านี้เเป็นสิ่งที่ทำแล้ว สร้างความสุขทางใจ จากนี้จะเดินหน้าขยายไปเรื่อยๆ เพื่อคืนให้สังคม” วีรชัยกล่าวทิ้งท้าย


อ่านเพิ่มเติม: “เศรษฐพล บุตรโท” เดินเครื่อง “มอนท์เอซัวร์” มิกซ์ยูสซูเปอร์ไฮเอนด์บนเกาะภูเก็ต



ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine