ทำตลาดยากขึ้น-ขาดทุนสะสม สาเหตุ Subaru-Suzuki หยุดผลิตในไทย - Forbes Thailand

ทำตลาดยากขึ้น-ขาดทุนสะสม สาเหตุ Subaru-Suzuki หยุดผลิตในไทย

Krungthai Compass วิเคราะห์สาเหตุ Subaru-Suzuki หยุดผลิตในไทย เป็นผลมาจากการทำตลาดยากขึ้น ไม่ปรับตัวไปพลังงานทางเลือกตามความสนใจผู้บริโภค ยอดขายลด ขาดทุนสะสม


    ในช่วงเดือนที่ผ่านมา วงการยานยนต์ไทยมีเรื่องให้น่าตกใจอยู่ไม่น้อย จากการประกาศหยุดสายการผลิตในไทยของ 2 ค่ายรถยนต์ Subaru และ Suzuki

    เริ่มต้นเมื่อ 29 พ.ค. 2567 บริษัท ทีซี ซูบารุ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้จำหน่ายรถยนต์ Subaru ได้เปิดเผยว่าจะหยุดสายการผลิตโรงงานในไทยสิ้นปี 2567 เนื่องจากบริษัทต้องเผชิญกับปัญหาสภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจและธุรกิจที่เปลี่ยนไป ทำให้รถยนต์ที่ผลิตออกมาไม่สามารถขายได้ในราคาที่เหมาะสม จึงเลือกที่จะปรับแผนไปนำเข้ารถจากญี่ปุ่นแบบทั้งคัน (CBU) เป็นการทดแทน

    ผ่านไปสัปดาห์นิดๆ ก็มีข่าวสะเทือนอีกครั้ง เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. 2567 บริษัท ซูซูกิ มอเตอร์ (ประเทศไทย) ได้เปิดเผยว่าจะหยุดสายการผลิตที่โรงงานไทยช่วงสิ้นปี 2568 โดย Suzuki จะนำเข้ารถยนต์จากอาเซียน ญี่ปุ่น อินเดีย มาทำตลาดในไทยแทน และยืนยันจะให้บริการหลังการขายต่อไป

    ในบทความนี้ Krungthai COMPASS อยากชวนผู้อ่านมาร่วมกันวิเคราะห์กันว่า ทำไมผู้ผลิตรถยนต์ทั้ง 2 ค่ายถึงตัดสินใจหยุดสายการผลิตในไทย พร้อมประเมินผลกระทบต่ออุตสาหกรรมรถยนต์ของไทยในแต่ละมิติว่าจะได้รับผลอย่างไรกันบ้าง


ทำไมทั้ง 2 ค่ายรถยนต์ ถึงหยุดสายการผลิต?

    Krungthai COMPASS มองว่าสาเหตุที่ทำให้ทั้ง Subaru และ Suzuki ตัดสินใจหยุดสายการผลิตในไทยมาจาก 1) การทำตลาดที่ยากขึ้นกว่าในอดีต ซึ่งเป็นปัจจัยที่นำมาสู่ 2) ปัญหาการขาดทุนที่สะสมอย่างต่อเนื่อง

    ยอดขายและส่วนแบ่งตลาดที่ปรับตัวลงต่อเนื่องสะท้อนให้เห็นถึง “การทำตลาดที่ยากขึ้นกว่าในอดีต” ข้อมูลในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา จะเห็นเทรนด์ได้ค่อนข้างชัดว่าค่ายรถยนต์ทั้ง 2 ราย มียอดขายในไทยที่อยู่ในขาลงอย่างต่อเนื่อง โดย Subaru มียอดขายในไทยที่ลดจาก 3,952 คัน (ส่วนแบ่งตลาด 0.4%) ในปี 2562 ลงมาอยู่ที่ 1,682-2,282 คัน (0.2%-0.3%)ในช่วงปี 2565-66

    ขณะที่ Suzuki ซึ่งเคยทำยอดขายสูงถึง 26,380 คัน คิดเป็นส่วนแบ่งตลาด 3.3% ในปี 2563 ก็ประสบปัญหายอดขายลดลงต่อเนื่องเช่นเดียวกันในรอบ 3 ปีหลัง โดยในปี 2566 Suzuki มียอดขายที่ 12,151 คัน ลดลง -39.5%YoY และมีส่วนแบ่งตลาดลดลงเหลือเพียง 1.6%


    การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของผู้บริโภคที่หันมาให้ความนิยมทั้งรถยนต์พลังงานทางเลือกทั้ง HEV หรือ EV เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ผู้ผลิตทั้ง 2 ค่ายไม่สามารถ Maintain ยอดขายและส่วนแบ่งตลาดได้เหมือนในอดีต

    เห็นได้จากผลการสำรวจเรื่อง Global Automotive Consumer Study ของ Deloitte ทั้งในปี 2566 และล่าสุดปี 2567 ที่ระบุว่าผู้บริโภคไทยให้ความสนใจรถยนต์สันดาปภายใน (ICE) ที่ลดลงต่อเนื่อง ซึ่งเมื่อหันกลับมามองโมเดลรถยนต์ที่ทั้ง Subaru และ Suzuki ใช้ทำตลาดในไทยนั้นพบว่าล้วนมีแต่รถยนต์ ICE แทบทั้งนั้น จึงไม่น่าแปลกใจนักที่ในระยะหลังทั้ง 2 ค่ายจะทำตลาดในไทยได้ค่อนข้างยาก

    เมื่อยอดขายลดลง แต่ต้นทุนและค่าใช้จ่ายปรับลงตามไม่ทัน ทำให้ใน 5 ปีหลัง (2562-66) ค่ายรถยนต์ทั้ง 2ต้องขาดทุนสะสมรวมกันถึง 3,781 ล้านบาท

    โดยสำหรับ Subaru พบว่า บริษัท ทีซี ซูบารุ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งทำหน้าที่ดูแลด้านการขาย และ บริษัท ตันจง ซูบารุ ออโตโมทีฟ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นโรงงานที่ดูแลด้านการผลิตมีผลการดำเนินงานในรอบ 5 ปีหลังสุดที่ขาดสุทธิสะสม -272 และ -1,757 ล้านบาท

    ด้าน Suzuki พบว่า บริษัท ซูซูกิ มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด มีผลขาดทุนสะสมในช่วงเดียวกัน -1,752 ล้านบาท


    โดยสรุปแล้ว เรามองว่าสาเหตุสำคัญที่ทำให้ทั้ง 2 ค่ายต้องหยุดสายการผลิตในไทยมีสาเหตุมาจากยอดขายและส่วนแบ่งตลาดที่ลดลงอย่างมีนัย ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการที่บริษัทไม่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่มีความต้องการรถยนต์ ICE น้อยลง และหันมานิยม HEV หรือ EV กันมากขึ้น ทำให้บริษัทมีปัญหาด้านผลการดำเนินงานจากผลขาดทุนสุทธิสะสมในรอบ 5 ปีหลังสุด


การหยุดสายผลิตของ Subaru และ Suzuki กับผลกระทบต่ออุตฯ ยานยนต์ไทย

    ในส่วนนี้เราได้ทำการวิเคราะห์ว่าจากการประกาศหยุดสายการผลิตของ 2 ค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นชื่อดังอย่าง Subaru และ Suzuki จะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ไทยอย่างไร โดยแบ่งเป็น 3 มิติ ได้แก่

    1) ยอดการผลิตรถยนต์ของไทย

    2) ธุรกิจตัวแทนจำหน่าย (ดีลเลอร์)

    3) ธุรกิจเต็นท์รถยนต์มือ 2


1.ผลกระทบต่อ “ยอดผลิตรถยนต์”

    1.1) แนวโน้มการผลิตรถยนต์ของไทยใน 1-2 ปีนี้เป็นอย่างไร?

    Krungthai COMPASS มีมุมมองต่อยอดการผลิตรถยนต์ไทยในปี 2567 ว่ามีโอกาสหดตัว -4.6%YoY มาอยู่ที่ 1.75 ล้านคัน ติดลบต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา

    โดยภาพรวมยอดการผลิตรถยนต์ของไทยที่ไม่สู้ดีนักในช่วงปี 2566-67 มีสาเหตุหลักมาจากยอดขายรถยนต์ในประเทศที่ถูกกดดันทั้งจาก 1) กำลังซื้อที่อ่อนแอจากเศรษฐกิจที่เติบโตในระดับต่ำ บวกกับ 2) ปัญหาหนี้เสียที่กดดันให้มาตรฐานการพิจารณาสินเชื่อมีความเข้มงวดขึ้น เห็นได้ชัดจากแนวโน้มยอดขายรถยนต์ในประเทศที่ลดลงต่อเนื่องจาก 8.5 แสนคันในปี 2565 มาอยู่ที่ 7.8 แสนคันในปี 2566 (-8.7%YoY) และคาดว่าจะลดลงอีกครั้งมาอยู่ที่ระดับ 6.3 แสนคันในปี 2567 (-18.8%YoY)


    ปัญหาการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างจากการเปลี่ยนผ่านสู่ยานยนต์ไฟฟ้าที่ทยอยเข้ามามีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ และได้ชิงส่วนแบ่งตลาดรถยนต์ที่ผลิตในไทย สะท้อนจากยอดจำหน่ายรถยนต์ BEV ในไทยที่ส่วนใหญ่นำเข้าจากจีน เริ่มมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนจาก 2% ของยอดจำหน่ายรถยนต์ทั้งหมดในปี 2565 ขึ้นมาอยู่ที่ 10% ในช่วงเดือน ม.ค.- เม.ย. 2567

    จาก 2 ปัจจัยกดดัน ทั้งยอดขายรถยนต์ในประเทศที่ชะลอลง และรถยนต์ BEV ที่เข้ามาตีตลาดในไทยมากขึ้นต่อเนื่อง ทำให้ยอดผลิตรถยนต์ของไทยมีแนวโน้มหดตัว จาก 1.83 ล้านคันในปีที่ผ่านมา เหลือ 1.75 ล้านคันในปี 2567 หรือหายไปราว 8 หมื่นคัน และกว่ายอดผลิตรถยนต์ของไทยจะกลับมาที่ระดับ 2 ล้านคันอีกครั้งอาจต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 2 ปี

    1.2) แล้วการหยุดสายการผลิตของ Subaru และ Suzuki กระทบการผลิตยานยนต์ไทยแค่ไหน?

    Krungthai COMPASS คาดว่าการหยุดสายผลิตรถยนต์ของทั้ง 2 ค่าย จะเป็น Downside Risk ที่ค่อนข้างจำกัดต่อยอดการผลิตรถยนต์ไทยโดยภาพรวมในปี 2568 จากการประเมินเบื้องต้น (Initial Assessment) คาดว่าการหยุดสายผลิตของทั้ง 2 ค่ายจะทำให้การผลิตโดยรวมในปี 2568 ลดลงราว 5,000-6,500 คัน จาก 1,800,000 คันในคาดการณ์เดิม เหลือ 1,793,500 คัน

    สำหรับการหยุดสายการผลิตของ Subaru คาดว่าอาจสร้าง Downside ต่อยอดการผลิตรถยนต์ของไทยไม่สูงนัก เนื่องจากโรงงาน Subaru ในไทยผลิตรุ่น Forester เพียงรุ่นเดียว และมีการผลิตเพียงปีละ 1,000-1,500 คัน ส่วนรุ่นอื่นๆ เช่น XV จะเป็นการนำเข้าจากต่างประเทศมาจำหน่าย ดังนั้นการหยุดสายการผลิตของ Subaru อาจไม่ส่งผลต่อภาพรวมการผลิตรถยนต์ไทยอย่างมีนัยสำคัญ

    ในกรณี Suzuki พบว่าอาจทำให้การผลิตรถยนต์ของไทยในปี 2568 หายไป 4,000-5,000 คัน โดย เรามีสมมติฐานว่า 1) ในระยะหลัง Suzuki จะมีการผลิตในไทยราวปีละ 8,000-10,000 คัน (ใกล้เคียงยอดผลิตในปี 2566 ที่ 7,579 คัน) และ 2) ประเมินว่าในปี 2568 Suzuki จะใช้ CAPU ครึ่งหนึ่งจากปัจจุบัน เพื่อเตรียมหยุดสายการผลิต ณ สิ้นปี


    แม้เหตุการณ์นี้จะกระทบภาพรวมยอดผลิตรถยนต์ของไทยไม่มาก แต่ยังต้องติดตามว่าเหตุการณ์นี้จะมีค่ายรถยนต์รายอื่นๆ ต้องปิดโรงงานผลิตรถยนต์ซ้ำรอยกับ Subaru และ Suzuki หรือไม่


2.ผลกระทบต่อ “ดีลเลอร์รถยนต์”

    การขายรถยนต์ถือเป็นรายได้หลักของดีลเลอร์คิดเป็นสัดส่วน 84% ของรายได้ทั้งหมดจึงมีความเสี่ยงที่รายได้ของดีลเลอร์ทั้ง 2 ค่ายรถยนต์อาจถูกกดดันหากการนำเข้าไม่ตอบโจทย์ผู้บริโภค

    โดยสัดส่วนรายได้ที่รองลงมา ได้แก่ การซ่อมบำรุงราว 12% และรายได้อื่นๆ 4% ซึ่งจากสัดส่วนดังกล่าวKrungthai COMPASS มองว่าเป็นความท้าทายอย่างมากของดีลเลอร์ Subaru และ Suzuki ว่าการหยุดสายการผลิตและหันมานำเข้านั้นจะกระทบกับดีมานด์และความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่มีต่อทั้ง 2 ค่ายรถยนต์มากน้อยแค่ไหน?

    นอกจากผลด้านรายได้แล้ว ยังมีผลกระทบด้านต้นทุนด้วยเช่นกัน เนื่องจากโครงสร้างต้นทุนที่มีสัดส่วน FixedCost ถึง 15-20%


    การทำกำไรของดีลเลอร์จึงอาจมีปัญหาได้หากรายได้จากการขายรถยนต์นั้นปรับตัวลงรุนแรง โดยต้นทุนธุรกิจดีลเลอร์สามารถแบ่งได้ 2 แบบ คือ 1) ต้นทุนผันแปร (Variable Cost) ที่เปลี่ยนแปลงตามยอดขายรถยนต์ ซึ่งมีสัดส่วน 80-85% จากต้นทุนรวม และ 2) ต้นทุนคงที่ (Fixed Cost) ที่ไม่เปลี่ยนแปลงตามยอดขายรถยนต์ อาทิ ต้นทุนซื้ออะไหล่และวัสดุสิ้นเปลืองสำหรับการบำรุงรักษารถยนต์ เงินเดือนพนักงาน หรือค่าเช่าสถานที่ ซึ่งมีสัดส่วน 15-20%

    ตัวเลือกของดีลเลอร์อาจเป็นไปได้ทั้งการดำเนินการเป็นตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ให้ทั้ง 2 ค่ายต่อไป หรือ Diversify ไปเป็นดีลเลอร์ให้กับยานยนต์ค่ายอื่นๆ


3.ผลกระทบต่อ “เต็นท์รถมือ 2”

    อีกประเด็นที่ต้องติดตาม คือ “เต็นท์รถยนต์มือ 2” จะได้รับผลกระทบแค่ไหนจากการหยุดสายการผลิตของ Subaru และ Suzuki โดยเฉพาะเมื่อผู้ผลิตปรับราคามือ 1 ลงเพื่อเร่งระบายสต็อก เนื่องจากมีเต็นท์จำนวนไม่น้อยที่รับซื้อรถยนต์ Subaru และ Suzuki มือ 2 ไว้ก่อนแล้ว การที่ผู้ผลิตปรับลดราคามือ 1 ลงก็จะยิ่งกดดันให้เต็นท์รถต้องปรับราคาลงเพื่อระบายของออกซึ่งอาจนำไปสู่กำไรที่แย่ลงก็ย่อมได้

    ปัจจุบันคาดว่าเต็นท์รถยนต์มือ 2 โดยเฉลี่ยจะมีสัดส่วนของรถ Subaru 0.5% และ Suzuki 2.8% จากทุกยี่ห้อ เปรียบเทียบให้เห็นภาพคือถ้าเต็นท์รถมีรถยนต์ในสต็อกอยู่ 1,000 คัน โดยเฉลี่ยจะมีรถยนต์ Subaru 5 คัน และ Suzuki 28 คัน


    โดยจาก 0.5% ที่เป็นรถยนต์ Subaru พบว่าเป็นโมเดลที่ผู้ผลิตเริ่มทำโปรโมชั่นลดราคาลงอย่าง XV และ Forester ในสัดส่วนมากสุดที่ 52% และ 29% ขณะที่ 2.8% ของรถยนต์ Suzuki พบว่า Swift มีสัดส่วนสูงสุด 41% ตามมาด้วย Ciaz 18% ส่วนรุ่นที่มีการทำโปรโมชั่นปรับราคาลงอยู่อย่าง Celerio มีสัดส่วนที่ 10%

    คำถามที่น่าสนใจ คือ “จะเกิดอะไรขึ้น หากเต็นท์รถยนต์จะต้องปรับลดราคาขาย Subaru และ Suzuki มือ 2 ของตนเองเพื่อสู้กับราคามือ 1 ที่ลดลงมา?” โดย Krungthai COMPASS ได้แบ่งการวิเคราะห์ผลกระทบต่อการทำกำไรของเต็นท์รถยนต์มือ 2 ออกเป็น 2 กรณี ประกอบด้วย

    #1: หากเต็นท์รถยนต์ลดราคาขาย Subaru และ Suzuki มือ 2 ลงเท่ากับราคามือ 1 คาดว่าจะทำให้อัตรากำไรขั้นต้นลดลง -0.7% ถึง -0.4% ในกรณีนี้หากเต็นท์รถยนต์มีการถือครองรถยนต์ทั้ง 2 ยี่ห้อในสัดส่วนรวมกันเท่ากับค่าเฉลี่ยประเทศที่ 3.3% (Baseline) การปรับราคาขายมือ 2 ลงจะทำให้ธุรกิจเต็นท์รถมีอัตรากำไรขั้นต้นลดลง -0.4% จาก 13.3% มาอยู่ที่ 12.9%

    ทั้งนี้ หากเต็นท์รถมีสัดส่วนการถือครองที่ 6.5% หรือมากกว่าค่าเฉลี่ย 2 เท่า (MoreSevere) อัตรากำไรขั้นต้นจะมีแนวโน้มลดลงมากกว่าที่ -0.7% จาก 13.3% มาอยู่ที่ 12.6%


    #2: เต็นท์รถยนต์ลดราคาขาย Subaru และ Suzuki มือ 2 ลงมากกว่าราคามือ 1 ที่ปรับลงมาอีกเท่าตัว คาดว่าอัตรากำไรขั้นต้นจะลดลง -1.4% ถึง -0.7% ในกรณีนี้ตั้งสมมติฐานว่าความนิยมในรถยนต์ทั้ง 2 ยี่ห้อของผู้บริโภคถูกท้าทายอย่างมากจากการปิดสายการผลิต เต็นท์รถจึงต้องปรับลดราคามือ 2 อย่างมากเพื่อระบายสินค้า

    ในกรณีนี้หากเต็นท์รถยนต์มีการถือครองรถยนต์ทั้ง 2 ยี่ห้อในสัดส่วนรวมกันเท่ากับค่าเฉลี่ยประเทศที่ 3.3% (Baseline) การปรับราคาขายมือ 2 ลงจะทำให้ธุรกิจเต็นท์รถมีอัตรากำไรขั้นต้นลดลง -0.7% มาอยู่ที่ 12.6%

    แต่หากเต็นท์รถมีสัดส่วนการถือครองที่ 6.5% หรือสูงกว่าค่าเฉลี่ยราว 2 เท่า (MoreSevere) อัตรากำไรขั้นต้นลดลงมากกว่าที่ -1.4% มาอยู่ที่ 11.9%

    แม้การปรับลดราคามือ 2 ลงอาจทำให้เต็นท์รถมีอัตรากำไรขั้นต้นต่ำลงเพียง -1.4%ถึง -0.4% ซึ่งอาจดูไม่เยอะนักเมื่อเทียบกับอัตรากำไรขั้นต้นที่ 13.3%

    แต่อย่างไรก็ดี ต้องไม่ลืมว่าเต็นท์รถนั้นเป็นธุรกิจที่กำไรค่อนข้างบางสะท้อนจากอัตรากำไรสุทธิเฉลี่ยที่ 1.2% ดังนั้น หากเต็นท์รถรายใดไม่สามารถปรับค่าใช้จ่ายอื่นๆ ให้ลดลงได้ตามกำไรขั้นต้นที่หายไปก็อาจมีความเสี่ยงที่จะประสบปัญหาขาดทุนจากราคารถยนต์มือ 2 ที่ลดลงได้

    ประเด็นที่ต้องจับตา ในระยะถัดไป ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยอาจต้องเผชิญกับความท้าทายครั้งใหญ่ โดยเฉพาะการเข้ามาของรถยนต์ BEV ที่ทยอยแทนที่รถยนต์




เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : Deloitte เผยคนไทยนิยมรถไฟฟ้า BEV ลดลง ถ้าจะซื้อรถใหม่เน้น ‘ราคา’ มากกว่า ‘แบรนด์’

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine