Deloitte เผยคนไทยนิยมรถไฟฟ้า BEV ลดลง ถ้าจะซื้อรถใหม่เน้น ‘ราคา’ มากกว่า ‘แบรนด์’ - Forbes Thailand

Deloitte เผยคนไทยนิยมรถไฟฟ้า BEV ลดลง ถ้าจะซื้อรถใหม่เน้น ‘ราคา’ มากกว่า ‘แบรนด์’

Deloitte เผยผลสำรวจ เมื่อต้องซื้อรถคันใหม่คนไทยเลือกจากปัจจัยราคา ถึง 47% และไม่เน้นแบรนด์ โดยปี 67 คนสนใจซื้อ BEV น้อยกว่าปีก่อน แต่หันไปทางรถไฮบริด (HEV) มากขึ้น ขณะที่ในภาพรวมคนไทยกังวลต่อรถไฟฟ้าลดลง และยอมรับการชาร์จไฟนอกบ้านมากขึ้น นอกจากนี้ 47% คนไทยสนใจเช่ารถใช้ รองจากเวียดนาม สิงคโปร์


    โชดก ปัญญาวรานันท์ Clients & Markets Manager ดีลอยท์ ประเทศไทย หรือ Deloitte เผยผลสำรวจ 2024 Global Automotive Consumer Study โดยสรุปว่า ช่วง 3 ปีที่มีการเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลพบเห็นความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในตลาดยานยนต์ในประเทศไทย พบว่า ผู้บริโภคในไทยส่วนใหญ่กว่า 32% ยังคงเลือกรถเครื่องยนต์สันดาปภายใน (ICE) เป็นอันดับ 1 แต่มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องจากปี 2565 ที่อยู่ 50% โดยเห็นความนิยมในรถยนต์ไฮบริด (HEV) เพิ่มขึ้นมาที่ 19% ขณะที่รถยนต์ไฟฟ้า (BEV) มีความนิยมที่ 20% 


    มงคล สมผล Automotive Sector Leader ดีลอยท์ ประเทศไทย แม้เทรนด์รถยนต์ไฟฟ้าจะขยายตัวขึ้น แต่หากเปรียบเทียบกับปี 2566 จะพบว่า ความนิยมรถยนต์ไฟฟ้า (BEV) ปีนี้อยู่ที่ 20% ลดลงจากปี 2566 ที่อยู่สูงถึง 31% ส่วนหนึ่งเพราะปีที่ผ่านมามีบริษัทรถยนต์เข้ามาแข่งขันจำนวนมากทำให้คนสนใจใน BEV เพิ่มขึ้น แต่ผู้บริโภคยังมองเรื่องค่าเสื่อมตัวรถเป็นหลัก รวมถึงผู้ที่อาศัยในคอนโดมิเนียมจะสนใจ HEV มากกว่าเพราะไม่สะดวกในการชาร์จไฟฟ้า BEV

    ทั้งนี้ แม้คนส่วนใหญ่จะให้เหตุผลว่า ตัดสินใจซื้อรถ BEV เพราะต้องการประหยัดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน และการลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงลดความกังวลกับสุขภาพของตนเองและคนในครอบครัว แต่หากพิจารณาจากความนิยมของรถประเภทต่างๆ ในตลาดรถมือสองจะพบว่า รถ BEV มีเพียง 9% เพราะคนยังกังวลเรื่องค่าเสื่อม และค่าใช้จ่ายที่อาจสูงกว่า เช่น ค่าแบตเตอรี่ ฯลฯ ทำให้คนยังพร้อมที่จะซื้อรถมือสองในกลุ่มรถยนต์สันดาปที่ยังมีสัดส่วน 54% และรถ HEV/PHEV ที่มีสัดส่วน 38%


    ขณะที่เหตุผลของคนยังเลือกใช้รถเครื่องยนต์สันดาปภายในหรือ ICE เพราะต้องการตัดความกังวลด้านระยะทางและการชาร์จ (78%) ตัดความกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายที่อาจเพิ่มเติม (67%) และต้องการความยืดหยุ่นในการบำรุงรักษา และการปรับแต่ง (52%) โดยเทรนด์ความนิยมของรถ ICE ยังสอดคล้องกับ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และจีน

    อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจ พบว่า คนไทยเปิดรับกับ BEV มากขึ้น เห็นได้จากความกังวลของคนไทยที่มีต่อ BEV ในปี 2567 เทียบกับปีก่อนปรับลดลงทุกมิติ ได้แก่

    - ความกังวลสถานีชาร์จสาธารณะไม่เพียงพอ ปรับลดจาก 48% เป็น 46%

    - ระยะทางในการขับ ปรับลดจาก 44% เป็น 39%

    ทั้งนี้ คนไทยยังปรับตัวกับเวลาในการชาร์จรถได้นานขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา โดยช่วงเวลาที่รับได้มากที่สุดขยับมาอยู่ที่เวลาประมาณ 21- 40 นาที ที่ 38% ขยับเพิ่มขึ้นจากปี 2566 ที่ 25% จากผลสำรวจยังพบว่า คนไทยนิยมชาร์จไฟฟ้าที่บ้านสัดส่วนลดลงมาสู่ระดับ 70% (จากปีก่อนที่ 82%) และเมื่อเลือกชาร์จไฟฟ้าในที่สาธารณะส่วนใหญ่จะใช้เวลาในร้านค้า ร้านกาแฟ หรือสิ่งอำนวยความสะดวกที่มีในสถานีบริการ โดยปัจจุบันสัดส่วนการชาร์จในที่สาธารณะของไทยอยู่ที่ 15 - 16 คันต่อ 1 จุดสถานีชาร์จ

    ขณะเดียวกัน ปี 2567 ด้านการตัดสินใจซื้อรถคันต่อไป พบว่า ปัจจัยด้านราคาเพิ่มขึ้นเป็น 47% จากปี 66 ที่อยู่ระดับ 18% ส่วนหนึ่งเป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจ แต่ผู้บริโภคยังให้ความสำคัญกับ คุณภาพตัวรถ (53%) คุณสมบัติต่างๆ ของรถ (53%) และสมรรถนะของรถ (51%) เป็นหลัก

    ทั้งนี้ ในปี 2567 พบว่าผู้บริโภคไทยกว่า 64% สนใจที่จะลองใช้แบรนด์ใหม่ๆ หากมีราคาและคุณสมบัติที่ต้องการ สะท้อนจากการให้ความสำคัญกับ ความคุ้นเคยในแบรนด์ลดลงเหลือ 31% และภาพลักษณ์ของแบรนด์ปรับลดเหลือ 34% พฤติกรรมนี้สอดคล้องกับแนวโน้มในมาเลเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์


    “คนไทยไม่ได้ยึดติดเรื่องแบรนด์เป็นหลัก ดังนั้นปัจจัยด้านราคาเลยมีผลมาก หากแบรนด์จีนทำราคาได้จูงใจ คนน่าจะสนใจแบรนด์จีนมากยิ่งขึ้น” มงคล กล่าว

    อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อสังเกตที่น่าสนใจว่า คนไทยรุ่นใหม่ (ช่วงอายุ 18 - 34 ปี) กว่า 47% สนใจบริการแบบสมัครสมาชิก (Vehicle Subscriptions) มากกว่าการเป็นเจ้าของรถ เพราะลดภาระเรื่องการซ่อมบำรุง ค่าประกันภัย ค่าจดทะเบียน และการขายต่อ ถือเป็นสัดส่วนที่สูงรองจาก เวียดนามและ สิงคโปร์



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย เผย ยอดรถ EV ส่วนบุคคลปี 2023 โต 690% อนาคตรถ EV ยังสดใส แม้ไฟแนนซ์คุมเข้มสินเชื่อ

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine