มายด์แชร์ (ประเทศไทย) เผยอินฟลูเอนเซอร์ มาร์เก็ตติ้งมาแรง คาดทั่วโลกใช้งบประมาณกว่า 4.5 แสนล้านบาท ขณะที่ 76% กำลังซื้อของคนไทยได้อิทธิพลจากอินฟลูเอนเซอร์ ชี้ 5 กลุ่มมาแรง ชิงเม็ดเงินโซเชี่ยล มีเดียกว่า 2 พันล้านบาทปีนี้
บริษัท มายด์แชร์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยผลวิจัยล่าสุดเกี่ยวกับ Influencer Marketing ที่ยังคงมีแนวโน้มเติบโตสูง จากการเข้าถึงเทคโนโลยีที่ง่ายมากขึ้น และกลายเป็นความฝันของเด็กรุ่นใหม่ที่ต้องการเป็นผู้ผลิตคอนเทนต์มืออาชีพ สอดรับกับพฤติกรรมของยุคโควิดระบาด ทำให้คนต้องอยู่บ้านมากขึ้น และมองหาความบันเทิงแบบเฉพาะเจาะจงตามความต้องการที่หลากหลายของแต่ละบุคคล พัสสน สวัสดิเกียรติ ผู้อำนวยการการวางแผนและพัฒนาธุรกิจ มายด์แชร์ (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า ตลาดอินฟลูเอนเซอร์ทั่วโลกมีแนวโน้มขยายตัวสูง โดยปีที่แล้วมีมูลค่า 9,700 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 3 แสนล้านบาท ในปีนี้คาดว่าจะเพิ่มเป็น 13,800 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 4.5 แสนล้านบาท โดยนักการตลาดมากกว่า 60% ตั้งใจที่จะจัดสรรงบประมาณเพิ่มสำหรับการทำ Influencer Marketing สำหรับประเทศไทย ในปี 2564 คาดว่าการใช้งบประมาณในโซเชี่ยลมีเดียจะมีมูลค่า 2,113 ล้านบาท โดยร้อยละ 9.1 จะเป็นงบ Influencer Marketing เพิ่มจากปีก่อนที่มีสัดส่วนร้อยละ 8.9 จากการสำรวจพบว่าร้อยละ 70 ของผู้บริโภคชาวไทยมีการติดตามอินฟลูเอนเซอร์ 1 คน โดยสัดส่วนของผู้หญิงจะมากกว่าผู้ชาย ที่สำคัญร้อยละ 76 ของกำลังซื้อเกิดจากอิทธิพลของอินฟลูเอนเซอร์ โดยร้อยละ 44 ระบุว่าพวกเขาจะซื้อสินค้าแม้จะไม่มีการโปรโมต และร้อยละ 53 บอกว่าเขาซื้อสินค้าเพราะชื่นชอบและเชื่อมั่นในตัวอินฟลูเอนเซอร์ 5 กลุ่มอินฟลูเอนเซอร์มาแรง พัสสน กล่าวว่า สำหรับ 5 กลุ่มอินฟลูเอนเซอร์มาแรง ได้แก่ 1.อินฟลูเอนเซอร์นิชมาร์เก็ต (Niche/Specialties) หรือกลุ่มผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน กลุ่มนี้แบรนด์ใช้มากขึ้น เพราะเป็นกลุ่มที่มีความสนใจเฉพาะเจาะจง มีส่วนร่วมสูง มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เข้าถึงง่ายและสามารถต่อรองได้ 2.อินฟลูเอนเซอร์ผู้บริหาร (Executive Influencers) หรือนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จ กลุ่มนี้มีความใกล้ชิดผู้บริโภคมากขึ้น หลังจากมีพอดแคสต์ คลับเฮ้าส์ เป็นกลุ่มที่สร้างความเชื่อมั่น น่าเชื่อถือให้กับแบรนด์ได้ดี 3.อินฟลูเอนเซอร์ด้านความเสมอภาค ความหลากหลาย และการรวมกลุ่ม (Inclusive Influencers) กลุ่มนี้เกิดจากสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป และเกิดกว้างมากขึ้น เปิดรับคนที่มีความแตกต่างหลากหลาย ซึ่งแบรนด์แฟชั่น และผลิตภัณฑ์ความงามใช้กลุ่มนี้มาก 4.อินฟลูเอนเซอร์ต่างชาติ (Cross-border Influencers) เกิดปรากฎการณ์ที่เซเลเบรตี้ชาวเอเชียถูกผลักให้เป็นที่ยอมรับในระดับโลก ซึ่งเกิดขึ้นจากความบันเทิงรูปแบบใหม่ เช่น เน็ตฟลิกซ์ รวมถึงแบรนด์ลักซัวรี่ได้หันมาใช้เซเลเบรตี้ชาวเอเชียมากขึ้น ในช่วงการระบาดของโควิด-19 5.อินฟลูเอนเซอร์เสมือนจริง (Virtual Influencers) เกิดจากการเกิดขึ้นของโลกเสมือนจริง Metaverse ทำให้เกิดการสร้างคาแรกเตอร์ให้มีตัวตนขึ้นมา โดยแบรนด์ในวงการแฟชั่น และเทคโนโลยีนิยมใช้ ล่าสุด “ไอลีน” ได้เข้าเป็นสมาชิกของ AIS ข้อดีของอินฟลูเอนเซอร์เสมือนจริง แบรนด์สามารถควบคุม ออกแบบได้ตามต้องการ ข้อเสียคือขาดความสมจริง ซึ่งเป็นความท้าทายของแบรนด์ในการเลือกใช้เพื่อให้เข้าถึงผู้บริโภค “นักการตลาดในประเทศไทย นิยมใช้อินฟลูเอนเซอร์นิชมาร์เก็ต เพราะเกิดขึ้นมานาน และเติบโตควบคู่กับสือดิจิทัล สามารถเข้าหาคนได้หลากหลายกลุ่ม ในราคาที่เอื้อมถึงได้ เป็นโอกาสให้แบรนด์เข้ามามีส่วนร่วมได้ และตรงกลุ่มเป้าหมาย ขณะที่กลุ่มอินฟลูเอนเซอร์ผู้บริหารมีแนวโน้มใช้มากขึ้น เพราะสามารถสร้างความน่าเชื่อถือให้กับสินค้าและบริการ กลุ่มที่นิยมใช้ได้แก่ อสังหาริมทรัพย์และธนาคาร เป็นต้น” พัสสน กล่าว ปัจจุบัน วิวัฒนาการและรูปแบบการใช้อินฟลูเอนเซอร์ ช่วยสร้างการมีส่วนร่วมระหว่างแบรนด์และผู้บริโภคผ่านทางคอนเทนต์ในรูปแบบวิดีโอต่างๆ ที่ถูกพัฒนาขึ้นตามเทคโนโลยี และอุปกรณ์ที่คอนเทนต์ครีเอเตอร์สามารถเข้าถึงได้ง่าย รวมทั้งอินฟลูเอนเซอร์ยังมีส่วนในการร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์ (Co - Creation) ได้อีกด้วย การใช้อินฟลูเอนเซอร์ให้ปัง ต้องเรียล พิชญา อุทัยเจริญพงษ์ ผู้อำนวยการ Content+ มายด์แชร์ (ประเทศไทย) กล่าวว่า การทำ Influencer Marketing ให้ประสบความสำเร็จ ต้องเลือกใช้อินฟูลเอนเซอร์ในแบบที่เขาเป็น โดยเริ่มจากรู้จักผู้บริโภคก่อนว่าเป็นใคร เหมาะกับอินฟูลเอนเซอร์แบบไหน และใช้อินฟลูเอนเซอร์ต้องจริงให้มากที่สุด เพราะถึงแม้จะเป็นการโฆษณา แต่ถ้ามีความจริง และสามารถเข้ากับแบรนด์ได้ จะได้รับการยอมรับจากผู้บริโภค นอกจากนี้ การเลือกใช้อินฟลูเอนเซอร์ที่ดี จะต้องมีความรับผิดชอบกับสิ่งที่พูด สิ่งที่สื่อสารมากขึ้น โดยนักการตลาดต้องใช้ครีเอทีฟช่วยในการสื่อสารระหว่างอินฟลูเอนเซอร์ไปสู่ผู้บริโภค รวมทั้งใช้บิ๊ก ดาต้า และเทคโนโลยีเข้ามาช่วย เพื่อให้การสื่อสารแม่นยำและมีประสิทธิภาพมากขึ้น “แบรนด์ควรเลือกใช้อินฟลูเอนเซอร์ที่มีแนวความคิดและไลฟ์สไตล์ที่สอดคล้องกับความเชื่อของแบรนด์ ซึ่งจะทำให้ได้คอนเทนต์ที่มีความจริงใจต่อผู้บริโภค และแบรนด์ควรให้อิสระต่ออินฟลูเอนเซอร์ในการสร้างสรรค์คอนเทนต์” พิชญาระบุ สำหรับข้อควรระวังในการใช้อินฟลูเอนเซอร์ ต้องเลือกอินฟลูเอนเซอร์ให้เหมาะกับแบรนด์ ทั้งบุคลิก ผู้ติดตาม เรื่องเล่า และสิ่งที่แบรนด์จะนำเสนอ ต้องสอดคล้องกับเรื่องที่เขาเชื่อ ตัวตนที่เขาเป็น ต้องพิจารณาว่าอินฟลูเอนเซอร์มีทัศนคติต่อเรื่องต่างๆ อย่างไร ต้องมีการเคารพในเงื่อนไขการสื่อสารระหว่างแบรนด์กับอินฟลูเอนเซอร์ รวมถึงการรับงานจากคู่แข่งของแบรนด์นั้นๆ หรือไม่ อ่านเพิ่มเติม: บลูบิค เร่งขยายทีมรับเทรนด์ดิจิทัล มุ่งผงาดที่ปรึกษาระดับภูมิภาคไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine