ทำไมเนสท์เล่ถึงออกมาประกาศว่าไม่สามารถรับคำสั่งซื้อผลิตภัณฑ์เนสกาแฟจากร้านค้าปลีกต่างๆ ได้ Forbes Thailand สรุปให้ฟังใน 10 ข้อ
1.ย้อนกลับไปเมื่อสามสิบกว่าปีก่อน เนสท์เล่ ซึ่งเป็นเจ้าของแบรนด์เนสกาแฟ ทำสัญญาจัดตั้งบริษัทร่วมทุนชื่อ บริษัท ควอลิตี้ คอฟฟี่ โปรดักท์ส จำกัด (QCP) ซึ่งเป็นบริษัทที่ร่วมทุนแบบ 50/50 ระหว่างเนสท์เล่และตระกูลมหากิจศิริ ซึ่งมีคุณประยุทธ มหากิจศิริ เป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้น
2.บริษัท QCP มีหน้าที่ผลิตสินค้าเนสกาแฟ โดยเนสท์เล่มีอำนาจในการบริหารงาน การผลิต การจัดจำหน่าย รวมทั้งการทำการตลาดผลิตภัณฑ์เนสกาแฟ โดยเทคโนโลยีที่เป็นทรัพย์สินทางปัญญาของเนสท์เล่ ทั้งนี้ สัญญามีอายุตั้งแต่ปี พ.ศ.2533 จนถึง พ.ศ.2567 ซึ่งเนสท์เล่บอกว่า การยุติสัญญาดังกล่าวมีผลสมบูรณ์ทางกฎหมายโดยคำตัดสินของศาลอนุญาโตตุลาการสากล โดยมีผลเป็นการเลิกสัญญาตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ.2567
3.แต่หลังจากสัญญายุติ ผู้ถือหุ้นของ QCP ทั้งสองฝ่ายไม่สามารถตกลงเรื่องการดำเนินงานในอนาคตของบริษัทฯ ได้ ต่อมาในช่วงเดือนมีนาคม – เมษายน 2568 นายเฉลิมชัย มหากิจศิริ ได้ฟ้องร้องต่อศาลแพ่งมีนบุรีเพื่อดำเนินคดีแพ่งกับบริษัทในเครือเนสท์เล่ และกรรมการ
4.เรื่องดำเนินมาถึงวันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2568 ศาลแพ่งมีนบุรี ได้ออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ห้ามมิให้เนสท์เล่ ดำเนินการผลิต ว่าจ้างผลิต จำหน่าย และนำเข้าผลิตภัณฑ์กาแฟสำเร็จรูป โดยใช้เครื่องหมายการค้า Nescafé ในประเทศไทย ซึ่งเนสท์เล่ก็เคารพต่อกฎหมายและปฏิบัติตามคำสั่งศาล แม้จะยังไม่มีโอกาสเสนอข้อเท็จจริงต่อศาล
5.ผลจากคำสั่งศาล ทำให้ เนสท์เล่ ออกหนังสือแจ้งลูกค้า ซึ่งก็คือผู้ประกอบการร้านค้าปลีกต่างๆ ทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 4 เมษายน พ.ศ.2568 ให้รับทราบถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และแจ้งว่าบริษัทฯ จะไม่สามารถรับคำสั่งซื้อผลิตภัณฑ์เนสกาแฟจากร้านค้าเหล่านี้ได้ โดยมีผลทันที จนกว่าจะมีการแจ้งให้ทราบภายหลัง แต่ระหว่างนี้ร้านค้าไหนที่โปรดักต์เนสกาแฟสต็อกไว้อยู่ ก็สามารถขายได้ตามปกติ
6.สิ่งที่เนสท์เล่กังวลคือ เรื่องนี้อาจกระทบต่อรายได้ของผู้ประกอบการรายย่อย ร้านกาแฟขนาดเล็ก ร้านกาแฟรถเข็น ที่ปกติใช้ผลิตภัณฑ์เนสกาแฟ กลุ่มนี้อาจเผชิญกับสถานการณ์ไม่มีเนสกาแฟจำหน่าย ทำให้ต้องปรับเปลี่ยนสูตรการชง เปลี่ยนวัตถุดิบ รสชาติเปลี่ยน และกระทบไปจนถึงรายได้ประจำวัน
7.นอกจากนี้ยังทำให้พนักงานของลูกค้าและคู่ค้าซัพพลายเออร์ในห่วงโซ่ของเนสกาแฟที่เคยสามารถจัดส่งวัตถุดิบต่างๆ ให้กับเนสกาแฟแต่ต้องหยุดชะงักลง
8.ผลกระทบยังส่งไปถึงเกษตรกรไทยผู้เพาะปลูกกาแฟ และเกษตรกรโคนมไทย จะไม่สามารถจำหน่ายผลผลิตเพื่อเป็นวัตดุดิบให้เนสกาแฟ เนื่องจากคำสั่งศาลห้ามผลิต และว่าจ้างผลิต เนสกาแฟในประเทศไทย โดยในทุกๆปี เนสกาแฟรับซื้อเมล็ดกาแฟดิบพันธุ์โรบัสต้าในปริมาณมากกว่าครึ่งหนึ่งของผลผลิตทั้งหมดที่ปลูกได้ประเทศไทย
9.นอกจากนี้ยังมีผลกระทบต่อผู้บริโภค โดยผู้บริโภคจำนวนหลายล้านคนในประเทศไทยและผู้บริโภคในตลาดส่งออกของเนสกาแฟจะไม่มีผลิตภัณฑ์เนสกาแฟดื่ม
10.เนสท์เล่บอกว่า จะดำเนินการอย่างเต็มที่ในการแก้ไขสถานการณ์นี้ และกำลังดำเนินการยื่นคำร้องคัดค้านเพื่อขอให้เพิกถอนคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวดังกล่าวต่อศาล พร้อมยื่นข้อมูลที่ครบถ้วนแก่ศาลแพ่งมีนบุรีเพื่อการพิจารณาคำร้อง
ภาพ: เพจเฟซบุ๊ก Nestle
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : ‘เนสท์เล่’ ห่วงรายย่อยขาดรายได้ ไม่มี ‘เนสกาแฟ’ ขาย หลังศาลห้ามผลิต-จ้างผลิต-ขาย-นำเข้า สินค้าแบรนด์ Nescafe ในไทย
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine