เขาคือใคร? รู้จักกับเหล่านักธุรกิจ "shark ใหม่" จากรายการ Shark Tank Thailand ซีซั่น 4 - Forbes Thailand

เขาคือใคร? รู้จักกับเหล่านักธุรกิจ "shark ใหม่" จากรายการ Shark Tank Thailand ซีซั่น 4

ใครเป็นใครกันบ้าง? ForbesThailand ชวนมารู้จักกับประวัติคร่าวๆ ที่น่าสนใจของเหล่านักธุรกิจแต่ละคนที่จะคอยสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาเป็นกรรมการ หรือเรียกได้ว่า "Shark ใหม่" ในรายการ Shark Tank Thailand ซีซั่น 4 ล่าสุดนี้


    Shark Tank รายการเรียลลิตี้ด้านธุรกิจที่ได้รับความนิยมสูงเป็นอย่างมากทั้งในประเทศออสเตรเลียหรือสหรัฐอเมริกา ปัจจุบันมีผู้สนใจซื้อลิขสิทธิ์ Shark Tank จาก Sony Pictures Entertainment มาทำรายการในรูปแบบภาษาต่างๆ แล้วถึง 55 ประเทศทั่วโลก และไทยเองก็เป็น 1 ในนั้นด้วยเช่นกัน ซึ่งทาง บริษัท มีเดีย แท็งค์ จํากัด คือ ผู้ร่วมผลิตรายการ Shark Tank Thailand เพื่อออกอากาศผ่านทางโทรทัศน์ช่อง 7HD นับตั้งแต่ซีซั่น 1 ที่ออกอากาศในปี 2561, ซีซั่น 2 ออกอากาศในปี 2563, ซีซั่น 3 ออกอากาศในปี 2565 และในซีซั่น 4 ซึ่งเป็นซีซั่นล่าสุดนี้ เริ่มทำการออกอากาศไปตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคมปี 2566 ที่ผ่านมา 

    สำหรับเนื้อหาหลักของรายการจะเป็นการนำเสนอธุรกิจประเภทต่างๆ จากผู้ประกอบการ SME ที่มีธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เพื่อให้เหล่าบรรดานักธุรกิจชื่อดังที่ประสบความสำเร็จ จำนวน 5 คน ที่ร่วมรายการในแต่ละ Ep. กลายร่างมาเป็นนักล่าของการลงทุนในรูปแบบ "ฉลามเพชรฆาต" หรือเรียกด้วยคำจำกัดความง่ายๆ ได้ว่า "Shark นักลงทุน" โดยพวกเขาสามารถซักถามข้อมูลและแผนการดำเนินธุรกิจเพื่อให้เห็นถึงจุดแข็งและจุดอ่อนก่อนที่จะพิจารณาตัดสินใจว่าอยากจะร่วมทุนให้เงินสนับสนุนธุรกิจดังกล่าวเดินหน้าขยับขยายการเติบโตในอนาคตเพิ่มขึ้นหรือไม่ ซึ่งที่ผ่านมารายการนี้ นอกจากจะมีส่วนช่วยสนับสนุนธุรกิจ SME ใหม่ๆ ให้เติบโตขึ้นได้อย่างแข็งแกร่งมากมายแล้ว ยังมีส่วนช่วยให้เหล่าบรรดา "Shark นักลงทุน" ในรายการต่างเป็นที่รู้จักและถูกพูดถึงมากขึ้นกว่าเดิมในกระแสโซเชียลอีกด้วย 


"Shark นักลงทุน" หน้าเก่า ที่ร่วมโชว์ในรายการซีซั่น 1-3 ก่อนหน้านี้ ได้แก่ 



“เต้-ภูริต ภิรมย์ภักดี” 

กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บุญรอด เทรดดิ้ง จำกัด


"กึ้ง-เฉลิมชัย มหากิจศิริ" 

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TTA และผู้ก่อตั้งบริษัท โฟร์ วัน วัน เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด



“กฤษณ์ ศรีชวาลา” 

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ฟิโก้ กรุ๊ป และ ฟิโก้ คอร์ปอเรชั่น จำกัด



“ประพล มิลินทจินดา” 

ประธาน คอมมูนิตี้มอลล์ พิเพิล พาร์ค อ่อนนุช



“หมู-ณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์” 

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อุ๊คบี จำกัด ผู้บริหารกองทุน 500 TukTuks



“จิง-ชนาพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ” 

รองประธานกรรมการอาวุโส กลุ่มบริษัท ไทยซัมมิทฯ



“ท๊อป-จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา” 

ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด



ด้าน "Shark นักลงทุน" หน้าใหม่ ที่จะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาเสริมทัพ ให้เงินสนับสนุนธุรกิจในซีซั่น 4 ได้แก่


    “หนึ่ง-สุริยน ศรีอรทัยกุล” กรรมการผู้จัดการ กลุ่มบริษัท บิวตี้ เจมส์ จำกัด ถือเป็นนักธุรกิจและเซเลปคนดังที่รู้จักกันดีในแวดวงสังคมและแฟชั่นและยังคว่ำหวอดประสบความสำเร็จอยู่ในวงการจิวเวลรี่มายาวนาน เขาคือทายาทรุ่น 3 ของอาณาจักรธุรกิจค้าเครื่องประดับอัญมณี เพชรแท้ แบรนด์ดังอย่าง "บิวตี้ เจมส์"


    “เนย-สริศราว์ ลิ่วเฉลิมวงศ์” ซีอีโอ บริษัท โกลบอล ไพร์ม คอร์ปอเรชั่น จำกัด นักธุรกิจสาวสวยดีกรีเจ้าของบริษัทฟินเทคสัญชาติไทย ที่ให้บริการระบบรับชำระเงินออนไลน์ทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการรับชำระเงินด้วย Credit Card, QR Code Bill Payment, Mobile Banking, WeChatPay, Alipay หรือ E-wallet ต่างๆ ครอบคลุมตั้งแต่ กลุ่มธุรกิจบริการ สินค้าอุปโภค บริโภค และธุรกิจอาหาร ในระดับร้านค้ารายย่อย บน Social Commerce, และ E-commerce ต่อเนื่องไปถึงองค์กรขนาดใหญ่ โดยธุรกิจ GB Prime Pay ของเนยใช้เวลาเพียง 6 ปี ก็สามารถก้าวขึ้นแท่นมาเป็นผู้เล่นรายหลักในตลาด E-payment ไดัอย่างสวยงาม แม้ในตลาดจะมีผู้เล่นหลายรายแข่งขันกันอย่างดุเดือดก็ตาม และที่สำคัญไปกว่านั้น เธอยังสามารถปิดดีลใหญ่ได้ด้วยการควบรวมกิจการกับบริษัทยูนิคอร์นระดับโลก



    “ต้น-เดิมพัน อยู่วิทยา” ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร แรพพิด กรุ๊ป เห็นนามสกุลของนักธุรกิจหนุ่มสายฟินเทคที่ฟังดูแล้วคุ้นหู โดยต้นบอกว่าเมื่อพ่อแม่เลิกกันเขาก็กลับมาใช้นามสกุลของคุณแม่ตามเดิม ซึ่งธุรกิจของเขาไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจเครื่องดื่มชูกำลังแบรนด์ยักษ์ใหญ่ของตระกูล "อยู่วิทยา" แต่อย่างใด เขาคือผู้พัฒนานวัตกรรมและปฏิวัติบริการทางการเงินสำหรับอุตสาหกรรมรถยนต์มือสองครบวงจรแห่งแรกในประเทศไทย โดยเหตุผลหลักของการปลุกปั้นธุรกิจนี้เป็นผลจากการคลุกคลีกับธุรกิจของครอบครัวอย่างวงการรถยนต์เต็นท์มือสองมานาน จึงมองเห็นโอกาสในการนำเทคโนโลยีนวัตกรรมต่างๆ เข้ามาตอบโจทย์ธุรกิจว่ามีปัญหาตรงไหนบ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการให้บริการทางด้านการเงินที่ยังมีช่องว่างอีกมากมาย


    “นิชิตา ชาห์” ผู้บริหารกลุ่ม จีพี กรุ๊ป  นักธุรกิจหญิงเชื้อสายอินเดียที่เคยมีรายชื่อติดอยู่ในอันดับมหาเศรษฐีของไทย เธอคือทายาทรุ่นที่ 3 ของบริษัทขนส่งทางทะเลที่มีประวัติความเป็นมาอันยาวนาน ถึง 150 ปี และยังเป็นลูกสาวคนโตแห่งอาณาจักรของครอบครัวซึ่งทำธุรกิจหลากหลายนับตั้งแต่เดินเรือ ยา อาหารเสริม ก่อสร้าง พลังงาน เหมืองแร่ เคมีภัณฑ์ อะลูมิเนียม โรงแรม ส่งออกสินค้าเกษตร นายหน้าประกันภัย ต่อเนื่องไปจนถึงซอฟต์แวร์และเครื่องบินเจ็ตส่วนตัว ปัจจุบันเธอยังเจริญรอยตามวิสัยทัศน์ของผู้เป็นพ่อ นั่นก็คือการเข้าไปลงทุนกับกลุ่มธุรกิจสตาร์ทอัพใหม่ๆ ที่มีความน่าสนใจ



    “กระทิง-เรืองโรจน์ พูนผล” ประธานกลุ่มบริษัท กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป นักธุรกิจหนุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีและยังมากประสบการณ์หลังจากคลุกคลีอยู่ในซิลิคอน แวลลีย์ ในการเพาะบ่ม startup ผู้ประกอบการรายเล็กให้กลายเป็นเมล็ดพันธุ์ของธุรกิจที่เติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง และจากประสบการณ์ต่างๆ ที่ผ่านมา ก็น่าจะทำให้เขาสามารถพิจารณาผลักดันผู้ประกอบการ SME ไทยที่ผ่านเข้ามาในรายการนี้ได้เป็นอย่างดี


 

   “สิทธิ-สิทธิ ศรีชวาลา” ทายาทหรือลูกชายคนเดียวของ "กฤษน์ ศรีชวาลา" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ฟิโก้ กรุ๊ป และ ฟิโก้ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ซึ่งเป็นเจ้าของอาณาจักรอสังหาริมทรัพย์ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ แม้สิทธิจะอายุยังน้อยแต่ด้วยประสบการณ์ที่คอยติดสอยห้อยตามคุณพ่อไปดูแลธุรกิจต่างๆ อยู่เป็นประจำโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงสถานการณ์โควิด-19 จึงทำให้เขาซึมซับและเข้าใจในวิถีการบริหารธุรกิจของคุณพ่อภายใต้บริษัท ฟิโก้ กรุ๊ป มากยิ่งขึ้น ทั้งในส่วนของโรงแรม อสังหาริมทรัพย์ในการปล่อยเช่าตึกหรืออาคารต่างๆ รวมถึงร้านอาหารและบาร์ เป็นต้น

 

   “ยุ้ย-กันธิชา ฉิมศิริ” นักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และเจ้าของธุรกิจด้านความงาม โดยเธอมีความสนใจและเชี่ยวชาญในเรื่องของการเป็นนักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ นักบริหารพอร์ทหุ้น รวมถึงการเป็นนักสะสมรถยนต์ โดยเก็บสะสมตั้งแต่รถโบราณ รถ Used car และรถยนต์ซูเปอร์คาร์ 



    รวมถึง “กร-กรวิชญ์ ณรงคนานุกูล” กรรมการบริษัท/กรรมการบริหาร TPCS public company limited นักธุรกิจที่เชี่ยวชาญพร้อมให้บริการธุรกิจด้านสินทรัพย์ดิจิทัลอีคอมเมิร์ซ

 

   อย่างไรก็ตาม Shark Tank Thailand ซีซั่น 4 จะมีความแตกต่างจาก 3 ซีซั่นที่ผ่านมา เพราะรูปแบบรายการจะมีความเข้มข้นมากขึ้น โดยไฮไลท์พิเศษที่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในรายการ ก็คือ เหรียญ Golden Ticket ที่จะมอบให้กับ “ชาร์ค” ทุกท่านได้ครอบครองคนละ 1 เหรียญ ซึ่ง Golden Ticket จะมีหน้าที่ทำการบล็อกผู้ประกอบการ กรณี “ชาร์ค” ใช้เหรียญชนกัน หลังจากนั้นก็จะเริ่มทำการ Bid ซึ่งก็คือการประมูล โดยมูลค่าในการประมูลเริ่มต้นสตาร์ทที่ 50,000 บาท และจะขยับเพิ่มขึ้นทีละ 50,000 บาท เรื่อยๆ จนกว่าการประมูลจะสิ้นสุดลง ถือเป็นการแย่งชิงผู้ประกอบการธุรกิจที่น่าสนใจกันอย่างดุเดือด ที่ช่วยสร้างสีสัน ความสนุกสนาน ครบทุกอรรถรส และจากการจัดทำรายการในซีซั่น 4 ครั้งนี้ มีการคาดหวังด้วยว่าจะสามารถดึงเงินลงทุนสนับสนุนผู้ประกอบธุรกิจได้มากกว่า 500 ล้านบาท ในการผลักดันให้ธุรกิจของบริษัทนั้นๆ เติบโตได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ 



​​เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : ชวนดูหนังอย่าง “มหาเศรษฐีโลก” เมื่อภาพยนตร์ให้คุณมากกว่าแค่ความบันเทิง

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine

Forbes Thailand ใช้คุ้กกี้บนเว็บไซต์นี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานของท่าน ท่านตกลงใช้งานคุ้กกี้เพื่อใช้งานเว็บไซต์ต่อไปนโยบายความเป็นส่วนตัวและนโยบายความการใช้คุกกี้