ยาดมน้ำ “เซียงเพียว” และยาดม-ยาหม่อง “เป๊ปเปอร์มิ้นท์ ฟิลด์” เปลี่ยนผู้แทนจำหน่ายใหม่ ตั้งบริษัทไทย “ที.แมน ฟาร์มาซูติคอล” ขายแทนรายเดิม หวังเจาะทะลวงร้านขายยา มั่นใจความร่วมมือครั้งนี้ไม่ใช่แค่ 1+1 เท่ากับ 2 แต่เป็น 4 หรือ 5
“บมจ.ที.แมน ฟาร์มาซูติคอล” หรือ TMAN ผู้นำธุรกิจเวชภัณฑ์และเครื่องมือแพทย์ในประเทศไทยมากว่าครึ่งศตวรรษ ได้รับการแต่งตั้งจาก บริษัท เบอร์แทรม (1958) จำกัด ให้เป็นผู้จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ “เซียงเพียว” และ “เป๊ปเปอร์มิ้นท์ ฟิลด์” ครอบคลุมร้านขายยาและโมเดิร์นเทรดทั่วประเทศ ภายหลังจากสัญญากับ บริษัท ซิโน-แปซิฟิค เทรดดิ้ง (ไทยแลนด์) ผู้แทนจำหน่ายก่อนหน้าสิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2568 ที่ผ่านมา
แม้จะมีผู้เล่นในตลาดยาดมมูลค่ากว่า 4,000 ล้านบาทจำนวนมาก แต่สินค้าของ “เซียงเพียว” และ “เป๊ปเปอร์มิ้นท์ ฟิลด์” ก็ยังมีส่วนแบ่งในตลาด 40% และ 30% ในแต่ละเซ็กเมนต์ตามลำดับ เพราะจุดแข็งหลายอย่าง โดยเฉพาะแบรนด์เซียงเพียว ที่เป็นที่รู้จักมานานถึง 67 ปี และที่ “เซียงเพียว” และ “เป๊ปเปอร์มิ้นท์ ฟิลด์” ต่างจากแบรนด์อื่นชัดเจนก็คือ “กลิ่น” และ “Formula” ทำให้ยอดขายเติบโตได้ต่อเนื่อง
ยาดมน้ำหรือยาหม่องยังมีโอกาสเติบโตได้อีก ไม่เพียงความนิยมจากคนไทยแต่นักท่องเที่ยวต่างชาติรู้จักยาดมมากขึ้นใน 1-2 ปีที่ผ่านมา ทำให้ไม่ต้อง educate มากเหมือนแต่ก่อน อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคมีการ switch แบรนด์ง่ายขึ้น และบริษัทยังพบว่า เซียงเพียว ยังมีจุดอ่อนเพียงอย่างเดียวที่ต้องรีบ “กำจัด” คือ การเข้าถึงร้านขายยา ซึ่งกำลังเป็นช่องทางที่นิยมเลือกซื้อสินค้าประเภทนี้ในปัจจุบัน
สุวรรณา เอี่ยมพิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เบอร์แทรม (1958) จำกัด กล่าวว่า ภายหลังสัญญาการจัดจำหน่ายระหว่างบริษัทกับบริษัท ซิโน-แปซิฟิคฯ สิ้นสุดลง ประกอบกับความนิยมซื้อสินค้ายาหม่องน้ำและบาล์ม ในช่องทางร้านขายยาเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ บริษัทจึงได้แต่งตั้งให้ บมจ.ที.แมน ฟาร์มาซูติคอล” หรือ TMAN ซึ่งมีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์จัดจำหน่ายสินค้าเวชภัณฑ์และเครื่องมือแพทย์ในร้านขายยาและโมเดิร์นเทรดมากว่าครึ่งศตวรรษ เป็นผู้จำหน่าย “เซียงเพียว” และ “เป๊ปเปอร์มิ้นท์ ฟิลด์” ในเมืองไทยตั้งแต่วันที่ 4 กรกฎาคม 2568 เป็นต้นไป
“สินค้าเรามีคอนเซ็ปต์ดี การสื่อสารดี แต่ไปไม่ถึงร้านขายยา มีคนบอกว่าถ้าจะจับหนูจีน ต้องใช้แมวจีน ถ้าเราจะเอาสินค้าไปขายกับเภสัชกรคนไทยในร้านขายยาเมืองไทย เราต้องใช้ทีมจัดจำหน่ายที่มีบุคคลากรเป็นเภสัชกรคนไทย เพื่อจะได้เข้าใจสิ่งเดียวกัน รู้ว่าอะไรคือ core value ของสินค้านั้นๆ ไม่ใช่เพียงแค่เอาสินค้าไปส่งให้ร้านขายยาเท่านั้น ความร่วมมือกับ ที.แมน ครั้งนี้มีความสำคัญมาก ด้วย DNA วิธีคิดที่ตรงกัน ประสบการณ์และความสัมพันธ์กับร้านค้าในช่องทางต่างๆ สินค้าเราจะเข้าถึงร้านขายยาได้อย่างทะลุทะลวง และเร็วขึ้น ความร่วมมือครั้งนี้จะไม่ทำให้ 1+1 เท่ากับ 2 แต่จะเท่ากับ 4 หรือ 5” สุวรรณากล่าว
สุวรรณาบอกอีกว่า บริษัทฯ ให้ความสำคัญกับการกระจายสินค้ามาก และเลือกผู้แทนจำหน่ายสินค้าที่มีศักยภาพ เนื่องจากมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตของธุรกิจในยุคที่การแข่งขันรุนแรง พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และช่องทางการจัดจำหน่ายมีความหลากหลายมากขึ้น ประสบการณ์ของ TMAN ในทุกมิติ และการออกสินค้าใหม่ๆ เพื่อเข้าถึงลูกค้ากลุ่มใหม่และฐานลูกค้าเดิมในไตรมาสที่ 3 และไตรมาสที่ 4 จะผลักดันรายได้ของบริษัทเพิ่มขึ้นประมาณ 30% เป็น 1,200 ล้านบาทในสิ้นปีนี้ จากปกติที่จะเติบโตปีละ 10-20%
ทั้งนี้ ปัจจุบันรายได้ของบริษัท 55% มาจากการส่งออกไปตลาดหลักในเอเชีย อาทิ เวียดนามและกัมพูชา เป็นต้น และที่เหลืออีก 45% มาจากยอดขายในประเทศ
สุวรรณากล่าวต่อว่า TMAN จะไม่ใช่เพียงผู้กระจายสินค้าให้กับบริษัท แต่เป็นพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ที่ช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้ธุรกิจในระยะยาว โดยในอนาคตบริษัทฯ จะต่อยอดความร่วมมือกับ TMAN พัฒนาสินค้าประเภทใหม่ๆ หรือการ collaboration ที่นำจุดแข็งของทั้งสองแบรนด์มาผสานกันอย่างลงตัว พร้อมความร่วมมือด้านกิจกรรมตลาดและการส่งเสริมการขาย เพื่อมอบประสบการณ์ที่พิเศษยิ่งขึ้นให้กับผู้บริโภค

ประพล ฐานะโชติพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ที.แมน ฟาร์มาซูติคอล จำกัด (มหาชน) หรือ TMAN หนึ่งในผู้นำธุรกิจผลิต และจัดจำหน่ายเวชภัณฑ์ยาและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพในประเทศไทย เปิดเผยว่า บริษัทได้เริ่ม diversify ธุรกิจของ TMAN จากการเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าของบริษัทฯ และรับจ้างผลิตให้บริษัทต่างๆ มาเป็นผู้จัดจำหน่ายสินค้าให้บริษัทต่างๆ ใน 2-3 ปีที่ผ่านมา ผ่านช่องทางร้านขายยา โรงพยาบาล คลินิก modern and traditional trade ร้านขายของที่ระลึกกับนักท่องเที่ยว และช่องทางออนไลน์
ปัจจุบันมีสินค้าที่จัดจำหน่ายทั้งหมดประมาณ 800 รายการ ตั้งแต่ยาแผนปัจจุบัน ยาแผนโบราณ อาหารเสริม เครื่องสำอาง ส่วนใหญ่เป็นสินค้าของบริษัท ผลิตจากโรงงาน ที.แมน ฟาร์มาซูติคอล และโรงงาน เฮเว่น เฮิร์บ และที่เหลือเป็นสินค้าที่รับจัดจำหน่ายอีก 20 บริษัท
“การผนึกกำลังของ TMAN กับ BERTRAM ในรูปแบบ Distributor Synergy ภายใต้การนำจุดแข็งด้านเครือข่ายจัดจำหน่าย และการวางกลยุทธ์การขายของทั้งสองฝ่าย เป็นการเติมเต็มซึ่งกันและกัน เราจัดจำหน่ายสินค้าให้ BERTRAM และ BERTRAM ก็จะร่วมส่งเสริมการขายผลิตภัณฑ์โพรโพลิซ (Propoliz Series) เพื่อขยายฐานลูกค้านักท่องเที่ยวให้กับเราด้วย เป็นการสร้างโมเดลธุรกิจพันธมิตรที่นำพาทั้งสองฝ่ายไปสู่ความสำเร็จที่ยั่งยืนในอนาคต” ประพลกล่าว
สำหรับรายได้หลักของ TMAN ราว 96% อยู่ที่การจัดจำหน่ายสินค้าของบริษัทฯ ที่เหลืออีก 4% มาจากการรับจ้างผลิต และการรับจัดจำหน่ายอย่างละ 2% โดย TMAN เป็นผู้จัดจำหน่ายสินค้าเวชภัณฑ์และผลิตภัณฑ์สุขภาพมีบริการที่ครบวงจรให้คู่ค้า ตั้งแต่การขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ การจัดจำหน่าย การทำตลาด การวางบิล ตลอดจนการติดตามทวงหนี้ ฯลฯ
บริษัทมีแผนจะสร้างศูนย์กระจายสินค้าแห่งใหม่ที่คลอง 14 ในอีก 2-3 ปีข้างหน้า เพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจในอนาคต ส่วนรายได้ของธุรกิจจัดจำหน่ายสินค้าในปี 2568 จะเติบโตไม่ต่ำกว่า 10-15% จากปี 2567 ที่มีสัดส่วนรายได้อยู่ที่ 2.1% ของรายได้รวม
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : ศรีจันทร์ ผงาด 'สกินแคร์' เบอร์ 1 ของไทยมั่นใจปี 2025 ยอดขายแตะ 2,000 ล้าน
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine