รู้จัก ‘เจ้าสัว’ จากของฝากโคราช สู่แบรนด์ ‘ขนมขบเคี้ยว’ ที่เตรียม IPO - Forbes Thailand

รู้จัก ‘เจ้าสัว’ จากของฝากโคราช สู่แบรนด์ ‘ขนมขบเคี้ยว’ ที่เตรียม IPO

ช่วงนี้มีข่าวคราวแบรนด์ธุรกิจในแวดวงอาหารหลายรายเตรียมตัวเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ประกาศวางเป้าเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้กับประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) และหนึ่งในนั้นก็คือ ‘เจ้าสัว’ แบรนด์ที่หลายคนคุ้นชื่อจากโปรดักต์แสนอร่อยอย่าง ‘ข้าวตัง’ รวมถึง ‘หมูแผ่น’ เป็นต้น


    แล้วเส้นทางของเจ้าสัวเป็นไปเป็นมาอย่างไร Forbes Thailand ชวนอ่านกันในบทความนี้

    จุดเริ่มต้นของแบรนด์เจ้าสัวมาจากผู้ก่อตั้ง เพิ่ม โมรินทร์ (แซ่เตีย) ที่เดิมเปิดร้านขายของชำในย่านคลองเตย ก่อนจะย้ายถิ่นฐานไปอยู่จังหวัดนครราชสีมา ที่ซึ่งเขายึดอาชีพขายอาหารแปรรูปจากเนื้อหมู เช่น กุนเชียง หมูแผ่น หมูหยอง เพราะเล็งเห็นโอกาสจากความนิยมเลี้ยงหมูจำนวนมากและมีราคาสูงบนพื้นที่ทำเลทองที่เปรียบเสมือนประตูเชื่อมต่อระหว่างกรุงเทพฯ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

    นำมาสู่การก่อตั้งธุรกิจในปี 2501 ในชื่อกิจการว่า เตียหงี่เฮียง (เจ้าสัว)

    ด้วยรสชาติอร่อยถูกปากจนเป็นที่ร่ำลือ สินค้าของเตียหงี่เฮียงจึงกลายเป็น ‘ของฝาก’ ที่ใครแวะเวียนผ่านมาโคราชก็เป็นต้องซื้อไปฝากคนอื่น หรือมีคนขอฝากซื้อ ทำให้เจ้าสัวเดินหน้าธุรกิจด้วยกลยุทธ์การเป็นของฝากประจำจังหวัด กระจายสินค้าขายตามแหล่งท่องเที่ยวในโคราช เช่น อนุสาวรีย์ท่านท้าวสุรนารี (ย่าโม) ในปี 2516

    และได้มีการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า “สามดาว ขวานคู่” ภายใต้สโลแกน “เตียหงี่เฮียง สุดยอดของฝากจากโคราช รับประทานเองก็ถูกปาก เป็นของฝากก็ถูกใจ” ในปี 2520

    จนกระทั่งถึงจุดเปลี่ยนสำคัญในยุคทายาทรุ่น 2 นำโดย ธนภัทร โมรินทร์ ซึ่งสามารถแตกไลน์ผลิตภัณฑ์อาหารควบคู่กับกลยุทธ์ธุรกิจสร้างการเติบโตในตลาดของฝากสำหรับนักท่องเที่ยว ด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าวตังหน้าหมูหยองแบรนด์เจ้าสัวในปี 2531 โดยเป็นใบเบิกทางสร้างชื่อ “เจ้าสัว” ให้ได้รับการยอมรับและจดจำได้ง่าย ทำให้บริษัททยอยเปลี่ยนชื่อแบรนด์สินค้าจาก “เตียหงี่เฮียง” มาเป็นแบรนด์ “เจ้าสัว” ทั้งหมด

    รวมถึงสร้างศูนย์ขายของฝากที่ใหญ่ที่สุดในโคราช หรือเรียกว่า “ศูนย์เจ้าสัว” ด้วยเนื้อที่กว่า 25 ไร่ บริเวณริมถนนมิตรภาพ ก่อนจะเพิ่มจำนวนศูนย์ในกรุงเทพฯ และเปิดช็อปขายสินค้าตัวเองตามปั๊มน้ำมัน ปตท. ทั่วประเทศ แถมพาตัวเองเข้าไปวางขายในซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านสะดวกซื้อ

    จนปี 2563 เจ้าสัวมีสาขาทั้งหมดกว่า 15 สาขา และมีช็อปในปั๊ม ปตท. มากกว่า 90 แห่ง แถมยังเปิดขายผ่านช่องทางออนไลน์อีกด้วย

    และที่สร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ คือการปรับ Brand Positioning ของตัวเองในปี 2564 ทรานส์ฟอร์มจากของฝาก เข้าสู่การเป็นแบรนด์ขนมขบเคี้ยว ภายใต้การนำทัพของรุ่น 3 อย่าง “ณภัทร โมรินทร์” ซึ่งเป็นบุตรสาวของธนภัทร

    “พื้นฐานสำคัญที่ทุกคนต้องการไม่ว่าจะยุคสมัยไหนคือ การได้กินดีอยู่ดี และเพราะเราต้องการให้ทุกคนได้กินดีอยู่ดี สืบสานสิ่งที่ครอบครัวเชื่อมั่นมาโดยตลอด จึงได้ปรับกลยุทธ์จากการเป็นร้านของฝากจากโคราชที่เข้าถึงกลุ่มคนจำนวนไม่มากนักมาทำการตลาดระดับ mass พร้อมกระจายสินค้าเข้าสู่ซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านสะดวกซื้อทั่วประเทศ เพื่อเข้าถึงกลุ่มคนในวงกว้างให้ได้

    “กินดี-กินของดี ของอร่อย และได้อยู่ดี ที่ไม่ว่าแต่ละวันจะวุ่นวายแค่ไหน ไม่มีเวลาปรุงอาหารแค่ไหน ก็ยังสามารถหาซื้อได้ง่าย พวกหมูหยอง กุนเชียง ก็นำมาทำเป็นเมนูอาหารได้ง่ายๆ หรือของทานเล่นอย่างข้าวตัง หมูแผ่น หมูแท่ง ที่อร่อยและมีประโยชน์จากโปรตีน ที่สำคัญคือ อบกรอบ ไม่ทอด จึงดีต่อสุขภาพ” ณภัทร โมรินทร์ ให้สัมภาษณ์กับ Forbes Thailand ในฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2565

    และในปีนี้ เจ้าสัวได้กำลังก้าวเข้าสู่จังหวะสำคัญ คือการจดทะเบียนเป็น บมจ. เจ้าสัว ฟู้ดส์ อินดัสทรี หรือ CHAO และเตรียมเสนอขาย IPO จำนวนไม่เกิน 87.7 ล้านหุ้น เข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) โดยล่าสุดทางสำนักงาน ก.ล.ต. นับหนึ่ง Filing แล้ว

    โดยเป้าหมายของการ IPO ครั้งนี้คือมีแผนนำเงินจากการระดมทุนส่วนหนึ่งใช้พัฒนาระบบอัตโนมัติและการปรับปรุงระบบควบคุมคุณภาพ ขยายกำลังการผลิต การก่อสร้างโรงงานโฮลซัมแห่งที่ 2 การลงทุนเพื่อการประหยัดพลังงานและรักษาสิ่งแวดล้อม และการปรับปรุงระบบความปลอดภัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน รวมทั้งใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนและการดำเนินการต่างๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อกิจการ และใช้ชำระคืนเงินกู้ยืมให้แก่สถาบันการเงิน




เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : แบรนด์ “เจ้าสัว” หรือ CHAO เตรียมเสนอขาย IPO ใน SET เผย ก.ล.ต. นับหนึ่ง Filing แล้ว

​ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine