แบรนด์ “เจ้าสัว” หรือ CHAO เตรียมเสนอขาย IPO ใน SET เผย ก.ล.ต. นับหนึ่ง Filing แล้ว - Forbes Thailand

แบรนด์ “เจ้าสัว” หรือ CHAO เตรียมเสนอขาย IPO ใน SET เผย ก.ล.ต. นับหนึ่ง Filing แล้ว

บมจ. เจ้าสัว ฟู้ดส์ อินดัสทรี หรือ CHAO เจ้าของแบรนด์ขนมขบเคี้ยวและผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเนื้อสัตว์ ที่หลายคนคุ้นเคย เตรียมเสนอขาย IPO จำนวนไม่เกิน 87.7 ล้านหุ้น เข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ล่าสุดทาง สำนักงาน ก.ล.ต. นับหนึ่ง Filing แล้ว


    ทั้งนี้ CHAO ได้ยื่นแบบคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์และแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ (Filing) เพื่อเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้กับประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ล่าสุด สำนักงาน ก.ล.ต. ได้นับหนึ่ง Filing แล้ว โดยมีรายละเอียด ได้แก่

    - บริษัทฯ จะเสนอขายหุ้น IPO จำนวนไม่เกิน 87.7 ล้านหุ้น

    - มูลค่าที่ตราไว้ (Par) หุ้นละ 1 บาท คิดเป็นสัดส่วนไม่เกิน 29.2% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทฯ

    - มีแผนนำเงินจากการระดมทุน ส่วนหนึ่งใช้พัฒนาระบบอัตโนมัติและการปรับปรุงระบบควบคุมคุณภาพ ขยายกำลังการผลิต การก่อสร้างโรงงานโฮลซัมแห่งที่ 2 การลงทุนเพื่อการประหยัดพลังงานและรักษาสิ่งแวดล้อม และการปรับปรุงระบบความปลอดภัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน รวมทั้งใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนและการดำเนินการต่างๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อกิจการ และใช้ชำระคืนเงินกู้ยืมให้แก่สถาบันการเงิน

    นางสาวณภัทร โมรินทร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจ้าสัว ฟู้ดส์ อินดัสทรีจำกัด (มหาชน) หรือ CHAO เปิดเผยว่า บริษัทฯ เป็นผู้ผลิตขนมขบเคี้ยวและผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเนื้อสัตว์ ภายใต้แบรนด์ “เจ้าสัว” และแบรนด์ “โฮลซัม (Wholesome)” ทั้งนี้ข้อมูลจาก Frost & Sullivan ในปี 2565 พบว่าทางบริษัทฯ เป็นผู้นำในตลาดข้าวตัง และตลาดขนมขบเคี้ยวแปรรูปจากเนื้อหมู (Pork Snack) โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดเป็นอันดับ 1 ที่ 78.5% และ 57.2% ตามลำดับ

    ทั้งนี้ มองว่าทางบริษัทมีจุดแข็ง 7 ด้าน ได้แก่

    1) การเป็นผู้นำในธุรกิจผลิตและจำหน่ายขนมขบเคี้ยวไทยรูปแบบใหม่ (Modern Thai Snack) ที่มุ่งเน้นการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ รสชาติอร่อย และนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่มีความหลากหลาย

    2) แบรนด์ “เจ้าสัว” ที่เป็นที่รู้จักและได้รับความนิยมสูง

    3) มีเครือข่ายช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าที่หลากหลาย ทั้งในและต่างประเทศ เช่น ช่องทางกลุ่มร้านค้าปลีกและค้าส่งสมัยใหม่ (Modern Trade) มีจำนวนกว่า 23,000 แห่งทั่วไทยโดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี (CAGR) สูงถึง 26.2% ระหว่างปี 2563-2566

    4) เข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภค และพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ อยู่เสมอ เช่น ผลิตภัณฑ์ขนมขบเคี้ยวแปรรูปจากเนื้อหมู ซึ่งรวมถึงหมูแท่ง ยอดขายในช่วงปี 2564-2566 มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี (CAGR) 35.3%

    5) สามารถทำกำไรที่ดีเมื่อเทียบกับคู่แข่งในอุตสาหกรรม

    6) การบริหารสินค้าคงคลังได้อย่างมีประสิทธิภาพ

    7) ผู้บริหารที่มีวิสัยทัศน์ ประสบการณ์ และความเชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมมาอย่างยาวนานกว่า 60 ปี




เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : ก.ล.ต. ประกาศปรับ 3 หลักเกณฑ์ ICO governance เพื่อผู้ถือโทเคนดิจิทัล เริ่มบังคับใช้ 16 เม.ย. นี้

​ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine