“เดอะ คอฟฟี่ คลับ” ไม่ขาดทุนแล้ว พลิกสู่กำไรครั้งแรกในรอบ 5 ปี เตรียมลุยไซส์เล็ก ดันฐานคนไทยเพิ่ม - Forbes Thailand

“เดอะ คอฟฟี่ คลับ” ไม่ขาดทุนแล้ว พลิกสู่กำไรครั้งแรกในรอบ 5 ปี เตรียมลุยไซส์เล็ก ดันฐานคนไทยเพิ่ม

“เดอะ คอฟฟี่ คลับ” ภายใต้ “ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป” ทำกำไรครั้งแรกรอบ 5 ปี เปลี่ยนจากขาดทุน 100 ล้านในปี 2564 ตั้งเป้าสู่กำไรหลายสิบล้านปีนี้ เผยเตรียมลุยไซส์เล็ก บุกออฟฟิศ บ้าน ตรอก ซอย ถึงคอนโด ดันฐานคนไทย-ฝรั่ง ครึ่ง-ครึ่ง ลดเสี่ยงระยะยาว


    นงชนก สถานานนท์ ผู้จัดการทั่วไป เดอะ คอฟฟี่ คลับ ภายใต้การดำเนินการของบริษัท เดอะ ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ธุรกิจของเดอะ คอฟฟี่ คลับ ได้กลับมาทำกำไรเป็นครั้งแรกในปีที่ผ่านมา หลังจากขาดทุนต่อเนื่องจาก 100 ล้านบาทในปี 2564 และลดเหลือขาดทุน 30 ล้านบาทในปี 2565 และเริ่มทำกำไรได้ 1 ล้านบาทเป็นครั้งแรกในปีที่ผ่านมา

    การกลับมาทำกำไรในรอบ 5 ปีเพราะบริษัทปรับกลยุทธ์มาขยายฐานลูกค้าคนไทยมากขึ้น จากเดิมที่ 70% ของลูกค้าเป็นต่างชาติ

    นอกจากนี้ การกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ และการกลับมาเปิดสาขาที่ปิดไปในช่วงโควิดถึง 40 สาขา จากที่มีทั้งหมด 70 สาขา รวมถึงการเน้นเมนูอาหารเช้าและกาแฟ การทำ local store marketing และการกลับมาเปิดสาขาใหม่ๆ อีก 5 สาขาในปีที่ผ่านมา คือ สาขาโบ๊ท ลากูน สาขาโอลด์ทาวน์ สาขาพาร์ค สีลม สาขาสเตย์บริดจ์ ทองหล่อ และเดอะปาร์ค ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผลประกอบการของเดอะ คอฟฟี่ คลับ ฟื้นกลับมาได้


    เพื่อให้ธุรกิจของเดอะ คอฟฟี่ คลับ เติบโตต่อเนื่องและมีความเสี่ยงน้อยที่สุด นงชนกได้ประกาศโรดแมปที่จะเดินในอีก 3 ปีข้างหน้า เพื่อเข้าถึงคนไทยมากขึ้น เติบโตธุรกิจแบบมีกำไร ยอดขายมั่นคง และยอดขายสม่ำเสมอทั้งปี ไม่ได้ขึ้นอยู่กับฤดูกาลท่องเที่ยวเท่านั้น

    หลังจากใช้เวลาทำพื้นฐานธุรกิจใน 2-3 ปีที่ผ่านมา ปีนี้เดอะ คอฟฟี่ คลับ จะกลับมาขยายธุรกิจเชิงรุกในทุกๆ ด้าน โดยมีแผนเปิด 5 สาขาใหม่ปีนี้ รวมการลงทุน 30 ล้านบาท แต่เน้นขยายสาขาเล็ก 4 สาขา และอีก 1 สาขาเป็นสาขาใหญ่

    ทั้งนี้ ร้านไซส์เล็กจะใช้พื้นที่ 70-100 ตารางเมตร เปิดตามคอมมูนิตี้มอลล์ มีที่นั่ง 30 ที่ ลงทุนสาขาละ 3-5 ล้านบาท เปิดตามสำนักงาน คอนโดมิเนียมใกล้บ้าน หรือแม้แต่ตรอกหรือซอยที่มีความหนาแน่นของลูกค้าเพียงพอ โดยสาขาเล็กจะเน้นเครื่องดื่มทั้งกาแฟ, non-coffee, อาหาร, grab &go, เคเทอริ่ง และ take away ราคาเริ่มตั้งแต่ 70 บาท

    ส่วนสาขาใหญ่จะใช้พื้นที่ประมาณ 180-200 ตารางเมตร ลงทุน 8-10 ล้านบาท มีที่นั่ง 80 เปิดตามแหล่งท่องเที่ยว อาทิ ภูเก็ต พัทยา ตามแผนการลงทุนจะทำให้เดอะ คอฟฟี่ คลับ มีสาขารวมทั้งสิ้น 45 สาขา แบ่งเป็นในไทย 44 สาขา และ 1 สาขาในลาว

    “การเปิดสาขาขนาดเล็ก ทำให้มีโอกาสเปิดร้านได้มากขึ้น เพราะลงทุนไม่สูง ขยายสาขาได้มากขึ้น และแบรนด์เข้าถึงคนไทยมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่น คนวัยคนทำงาน ตลอดจนครอบครัว และกลายเป็นลูกค้าประจำ เราเชื่อว่าเดอะ คอฟฟี่ คลับ ยังเติบโตได้ ถ้าเราทำให้สาขาของเราเข้าถึงลูกค้าได้ง่ายขึ้น

    “การเปิดร้านเดอะ คอฟฟี่ คลับ ขนาดเล็ก เป็นการตอกย้ำการเป็น Neighborhood Café สำหรับลูกค้า นอกจากจะทำให้เราได้คุยกับลูกค้าใกล้ชิด และมีลูกค้าเฉพาะเจาะจงแล้ว ยังจะช่วยเพิ่มสัดส่วนลูกค้าคนไทยเป็น 50% ภายใน 5 ปี จาก 35% ในปีก่อน” นงชนกกล่าว

    เธอยังระบุอีกว่า ร้านเดอะ คอฟฟี่ คลับ ขนาดเล็กจะขายเครื่องดื่ม 60% ซึ่งเป็นเมนูกาแฟ 70% และอีก 40% จะเป็นอาหาร โดยมีเมนูอาหารที่ขายดีและลูกค้าทานประจำประมาณ 40 เมนู

    ล่าสุด บริษัทได้เปิดตัวเมนูอาหารและเครื่องดื่มใหม่ อาทิ สลัดอะโวคาโดกุ้ง และเมนูครัวซองกุ้ง ซอสฮันนี่มัสตาร์ดมายองเนส และเมนูเครื่องดื่ม ประกอบด้วย โมฮิโต้ ม็อกเมล เฟรปเป้ และพาฟโลวา เฟรปเป้


    ด้วยแผนตลาดทั้งหมด บริษัทคาดว่ารายได้ของเดอะ คอฟฟี่ คลับ จะเติบโตประมาณ 10% เป็นกว่า 800 ล้านบาท และกำไรเติบหลายสิบเท่าในปีนี้ จากที่เริ่มทำกำไรครั้งแรก 1 ล้านบาทในปีที่ผ่านมา

    ทั้งนี้ ในปี 2566 ที่ผ่านมา เดอะ คอฟฟี่ คลับ มีรายได้กว่า 700 ล้านบาท เติบโต 32% จากปี 2565 โดย เดอะ คอฟฟี่ คลับ นั้นเปิดตัวในไทยมา 14 ปี ในช่วงแรกเน้นต่างชาติ 90% แบรนด์จึงยังไม่เป็นที่รู้จักของคนไทย

    แต่หลังจากการระบาดของโควิด ทำให้บริษัทปรับกลยุทธ์มาเน้นคนไทยมากขึ้น นำเสนอเมนูที่ราคาเข้าถึงคนไทยมากขึ้น พร้อมจับมือกับพันธมิตรหลากหลายวงการ อาทิ มือถือ บัตรเครดิต เพื่อขยายฐานลูกค้าที่กว้างขวางยิ่งขึ้น จนถึงปัจจุบันมีฐานลูกค้าคนไทยกว่า 190,000 คน และตั้งเป้าเพิ่มเป็น 250,000 คนในสิ้นปีนี้



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : NITORI (นิโตริ) ปักหมุดไอคอน สาขาที่ 5 ยกชั้นเทียบชินจูกุทำรายได้สูงสุดในโลก

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine