ตลาด ‘ลักชัวรีแฟชั่น’ เมืองไทยผงาด เตรียมโค่นแชมป์สิงคโปร์ครั้งแรก แบรนด์หรูแห่เปิดช็อปเพิ่ม ห้างขยายพื้นที่ - Forbes Thailand

ตลาด ‘ลักชัวรีแฟชั่น’ เมืองไทยผงาด เตรียมโค่นแชมป์สิงคโปร์ครั้งแรก แบรนด์หรูแห่เปิดช็อปเพิ่ม ห้างขยายพื้นที่

ตลาดลักชัวรีแฟชั่นในไทยกำลังจะแซงสิงคโปร์ครั้งแรกปีนี้ แบรนด์ดังระดับโลกและยักษ์ใหญ่ค้าปลีกไทย ทุ่มทุนมโหฬารปรับโฉม-รีโลเคทแบรนด์-ขยายพื้นที่ รับแบรนด์ใหม่เข้าไทยต่อเนื่องอีกกว่า 50 แบรนด์ ‘เซ็นทรัล เอ็มบาสซี’ เตรียมจัดแบรนด์มิกซ์ก่อนเปิดเฟสใหม่ปี 2029 ส่วน ‘ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค’ และ ‘วัน แบงค็อก’ ซุ่มเงียบคุยแบรนด์ หนุนถนนสายแฟชั่นไทยเทียบชั้น Ginza Japan และ Orchard Singapore


    ประเทศไทยได้กลายเป็นผู้เล่นสำคัญของตลาดสินค้าลักชัวรีในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มา 2-3 ปี หลังยอดขายหลายแบรนด์โตติดท็อปห้าของโลกในช่วงโควิด ดึงให้กว่า 50 แบรนด์ อาทิ “Loro Piana” แบรนด์แฟชั่นเรียบหรูจากอิตาลี “Casablanca” และ Louis Vuitton Men Boutique รวมถึงคาร์เทียร์ ช็อป เข้ามาเปิดบูติคช็อปในปีที่ผ่านมา

    แบรนด์อีกครึ่งร้อยทั้งแบรนด์เดิมและแบรนด์ใหม่ ยังเปิดช็อปในไทยอย่างต่อเนื่องปีนี้ ตั้งแต่ Fendi Men Boutique จนถึง AMI แบรนด์แฟชั่นจากฝรั่งเศส ที่เลือกเปิดร้านที่ศูนย์การค้า ดิ เอ็มโพเรียม เป็นสาขาแรกในภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ตั้งแต่ต้นปีนี้

    และที่ตอกย้ำความสำคัญของตลาดลักชัวรีไทยมากที่สุด คือการทุ่มงบกว่า 100 ล้าน เปิด “LV The Place Louis Vuitton” ที่เกษรอัมรินทร์ ที่มาครบทั้งรีเทล คาเฟ่ และนิทรรศการ เป็นแห่งที่ 3 ของโลก


    และในอีกไม่นาน Dior ก็กำลังจะเปิดแฟล็กชิปสโตร์คอนเซ็ปต์ล่าสุด บริเวณลานมรกตด้านข้างเซ็นทรัล ชิดลม

บริเวณลานมรกตด้านข้างเซ็นทรัล ชิดลม ที่กำลังสร้างแฟล็กชิปสโตร์ของ Dior


    ไม่เพียงเท่านั้น ยังมี Prada ที่เตรียมเปิดช็อปขนาด 600 ตารางเมตรในต่างจังหวัดเป็นครั้งแรกในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้

ช็อปขนาดใหญ่ของ Prada ที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัล ภูเก็ต ฟลอเรสต้า


    ขณะที่ห้างสรรพสินค้าและศูนย์การค้าต่างๆ อาทิ เซ็นทรัล เอ็มบาสซี กำลัง Relocate ช็อปต่างๆ เซ็นทรัล ฟลอเรสต้า ภูเก็ต และไอคอนสยาม ก็กำลังเพิ่มพื้นที่ Luxury Zone อีกเท่าตัวในปีนี้และอีก 2 ปีข้างหน้าตามลำดับ โดยที่ไอคอนสยามนั้น จะมีร้านลักชัวรีที่เปิดสโตร์ในแบบ Duplex และเป็นบูติคแห่งแรกในเมืองไทยด้วย

    การขยายพื้นที่และแบรนด์ จะผลักดันให้มูลค่าตลาดสินค้าลักชัวรีในเมืองไทยสูงถึง 4,800-4,900 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในสิ้นปีนี้ จากเดิมที่มูลค่าตลาดเคยอยู่ที่ 3,200 ล้านเหรียญในปี 2564 และ 4,200 ล้านเหรียญในปี 2565


    อิศเรศ จิราธิวัฒน์ Head of Leasing-Fashion and Luxury Partner Management บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เหตุผลที่แบรนด์ดังๆ ยังทยอยมาเปิดช็อปในเมืองไทย เพราะค้าปลีกในภาพรวมของไทยยังพัฒนาและเติบโตได้อีก ทำให้ธุรกิจของแฟชั่นลักชัวรีเติบโตตามไปด้วย

    ตลาดลักชัวรีในไทยเพิ่งจะบูมไม่ถึง 20 ปี มีการเติบโตก้าวกระโดดใน 10 ปีที่ผ่านมา และจะเติบโตได้อีกเมื่อพิจารณาจากจำนวนประชากรที่มีกว่า 70 ล้านคน กับมูลค่าสินค้าลักชัวรีที่ 1.6 แสนล้านบาท เทียบกับจำนวนประชากรของสิงคโปร์ที่มีน้อยกว่าไทยหลายเท่า แต่มีมูลค่าตลาดสูงถึง 1.4 แสนล้านบาท

อิศเรศ จิราธิวัฒน์


    “ตอนที่เราเปิดเซ็นทรัล ภูเก็ต ฟลอเรสต้า เมื่อ 4-5 ปีก่อน กว่าจะเชิญลักชัวรีแบรนด์มาเปิดร้าน ยากมาก ทุกคนคิดว่าภูเก็ตเป็นเกาะ ใครจะซื้อของพวกนี้ จาก 4-5 แบรนด์ในปีเริ่มต้น วันนี้เรามีแบรนด์ดังมาเปิดด้วย 14 แบรนด์แล้ว และมี Waiting List อีก 15 แบรนด์ พื้นที่ซึ่งเคยต้องการเพียง 300-400 ตารางเมตรในช่วงแรก ตอนนี้เกือบทุกแบรนด์มาขอเพิ่มพื้นที่เท่าตัว

    “3 แบรนด์ที่แรกตกลงเรียบร้อยแล้ว และอีก 3 แบรนด์กำลังเจรจา เราคาดว่าจะขยายพื้นที่ลักชัวรีเพิ่มขึ้นในเฟสใหม่ในอนาคตอันใกล้” อิศเรศกล่าว และว่า การเติบโตของอินฟราสตรัคเจอร์ต่างๆ ในภูเก็ต ตั้งแต่สนามบิน โรงแรมหรู จนถึงวิลล่าหรูอย่างต่อเนื่อง จะดึงคนมีกำลังซื้อเข้ามาภูเก็ตเพิ่มขึ้น และเพิ่มความน่าสนใจเข้ามาลงทุนของแบรนด์ใหม่ๆ อีกหลายแบรนด์ รวมทั้งจากกลุ่ม LVMH ด้วย

โซนลักชัวรีของเซ็นทรัล ภูเก็ต ฟลอเรสต้า


    อิศเรศเล่าว่า “การที่ลูกค้ากลับมา ทั้งที่สามารถเดินทางไปช้อปปิ้งต่างประเทศได้สะดวกสบาย เป็นเพราะทั้งศูนย์การค้าและแบรนด์มีการทำงานใกล้ชิดและแชร์ข้อมูลของลูกค้า เพื่อทำอีเวนต์ที่เหมาะสมกับลูกค้ามากขึ้น มีการสื่อสารเพื่อให้ลูกค้ารู้ว่าเขามีความสำคัญกับเครือข่ายเรา และการดูแลด้วยเซอร์วิสในแบบที่ไม่ใช่การลดแลกแจกแถม เราเชื่อว่าลูกค้าจะยังซื้อสินค้าลักชัวรีแบรนด์ในไทย แม้ยังมีช่องว่างราคาอีก 15-20 เปอร์เซ็นต์กับการซื้อในต่างประเทศก็ตาม”


‘พีพี กรุ๊ป’ เตรียมปรับโฉม Longchamp, Tory Burch และ MCM ที่ดิ เอ็มควอเทียร์ ปีหน้า

    สลิล สุญาณเศรษฐกร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไอไอคอมบายนด์ (ไทยแลนด์) จำกัด ผู้จัดจำหน่ายแบรนด์แว่น Gentle Monster จากเกาหลี และเป็นบริษัทภายใต้ ‘พีพี กรุ๊ป’ ซึ่งเป็นตัวแทนทำตลาดให้แบรนด์ดังอย่าง Longchamp, Tory Burch และ MCM กล่าวว่า พีพี กรุ๊ป มีแผนเพิ่มแบรนด์ใหม่อย่างน้อย 1 แบรนด์ เข้าพอร์ตของกรุ๊ปในแต่ละปี และเริ่มขยายพอร์ตจากลักชัวรีโปรดักต์มายังอาหาร เครื่องดื่ม และเทคโนโลยีมากขึ้น เพื่อจับกลุ่มกำลังซื้อสูงใหม่ๆ นอกเหนือจากแฟชั่นลักชัวรี


สลิล สุญาณเศรษฐกร


    พร้อมกันนี้ยังมีการขยายธุรกิจผ่านโมเดลร่วมทุน เพื่อร่วมกันทำตลาดกับเจ้าของแบรนด์มากขึ้น ลดความเสี่ยงที่เจ้าของแบรนด์จะเข้ามาทำตลาดเอง และเพิ่มโอกาสการขาย บริหารสต๊อกง่ายขึ้น มีสินค้าตอบสนองลูกค้าได้ทันเวลา

    โมเดลร่วมทุนได้เริ่มครั้งแรกเมื่อปีที่แล้วกับแบรนด์ Gentle Monster จากเกาหลี และเปิดช็อปที่ดิ เอ็มควอเทียร์ เมื่อปีที่ผ่านมา

    “ตอนที่กลุ่มเราเริ่มนำ MCM แบรนด์เครื่องหนังจากเยอรมนีเข้ามาทำตลาดในไทยเมื่อ 10 ปีก่อน ตลาดลักชัวรีไทยยังค่อนข้างเล็ก ไม่ได้เป็นที่จับตามองเหมือนขณะนี้ เจ้าของแบรนด์จะมองตลาดจีนและยุโรปมากกว่า แต่ไม่กี่ปีมานี้ตลาดในไทยโตเร็วมาก เมื่อหมดสัญญาจัดจำหน่ายลักชัวรีแบรนด์ดังๆ หลายแบรนด์ที่เห็นโอกาสตลาด ได้ตัดสินใจมาเปิดร้านเอง” สลิล ระบุ

    ดังนั้นกลุ่มพีพีจึงหาสินค้าใหม่นอกจากเหนือจากแฟชั่นลักชัวรี มาทำสินค้าที่ราคาจับต้องได้ และได้ฐานลูกค้ากลุ่มใหม่มากขึ้น เช่น Gentle Monster ที่มีระดับราคา 3,000-10,000 บาท โดยบริษัทมีแผนเปิดสาขา Gentle Monster ในไทยทั้งหมด 4 แห่ง เป็นกรุงเทพฯ 3 แห่ง และภูเก็ต 1 แห่งในอนาคต


    “Gentle Monster ต้องการใช้ไทยเป็นฮับในภูมิภาคนี้ ลูกค้าทั้งไทย-เทศไม่ต้องเดินทางไปซื้อถึงเกาหลี เพราะมีส่วนต่างราคาแค่ 500-900 บาทเท่านั้น” สลิลกล่าว

    พีพีกรุ๊ปได้เปิดช็อป AMI แบรนด์เสื้อผ้าจากฝรั่งเศส ที่ดิ เอ็มโพเรียม ต้นปีนี้ และจะมีการเปิดป๊อปอัพสโตร์ที่เอ็มดิสทริกในครึ่งปีหลัง

    นอกจากนี้ บริษัทได้เปิดแฟล็กชิปสโตร์ของ Palm Angels แบรนด์เสื้อยืดวัยรุ่นจากอิตาลี ที่เซ็นทรัล เอ็มบาสซี ขนาดพื้นที่ 200 ตารางเมตร ใหญ่สุดในภาคพื้นนี้

    “สินค้าลักชัวรีในไทยยังโตได้อีกมหาศาล ไตรมาสแรกสินค้าในเครือทุกแบรนด์โตเฉลี่ย 20% แม้สถานการณ์โควิดกลับสู่ภาวะปกติ ลูกค้ายังตอบรับดี โดยเฉพาะลูกค้า VVIP ที่ยังซื้อสินค้าจากพอร์ตของเราอย่างเสมอต้นเสมอปลาย” สลิลกล่าว

    กลุ่มพีพีจะใช้งบ 10-25 ล้านต่อช็อปเพื่อรีโนเวต เริ่มที่ช็อป MCM ที่ดิ เอ็มควอเทียร์ ในปีหน้า ทำให้ร้านดูทันสมัย เป็น more digital store ส่วนช็อป Longchamp และ Tory Burch จะปรับให้เป็นมากกว่าร้านที่โชว์เคสสินค้า ทำให้ลูกค้าได้ store experience และอยู่ในร้านได้นานขึ้น

    ปัจจุบันรายได้ประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ของพีพี กรุ๊ป มาจาก 3 แบรนด์หลัก คือ Longchamp, Tory Burch และ MCM


‘แปซิฟิกา’ เตรียมเปิดอีก 2-3 แบรนด์

    “ตลาดลักชัวรีแฟชั่นเมืองไทยน่าจะแซงสิงค์โปร์ได้ปีนี้ ไทยเป็นประเทศที่แบรนด์ดังๆ สนใจเข้ามาลงทุนมากขึ้น หลายแบรนด์ที่ไม่เคยคิดจะมาลงทุนในไทยก็เริ่มเข้ามาสำรวจและดูศักยภาพของตลาด หลายแบรนด์ที่ก่อนหน้านี้จำหน่ายผ่านบริษัทตัวแทนจำหน่าย ก็ได้เข้ามาเปิดบริษัทขายสินค้าของตัวเองแล้วตอนนี้” จรณเมธ มิ่งเมือง ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ กลุ่มบริษัท แปซิฟิกา ผู้แทนจำหน่ายแบรนด์ Coach, Kenneth Cole, MaxMara, Furla, Camper, Ked และ Tag Heuer กล่าว

    โดยยอดขายของแปซิฟิกาในปี 2565 โตเป็นตัวเลขสองหลัก และเกิน 2,000 ล้านบาทเป็นครั้งแรกในปี 2564 ซึ่งเติบโตกว่า 60% จากปี 2563

    “เราทำ customer engagement หนักมากในช่วงโควิด มีทั้งกิจกรรม out of home และกิจกรรมในห้าง ขณะที่คนอื่นไม่ทำ เราเลยได้ brand awareness ดีมาก แม้ปีนี้เศรษฐกิจจะฟื้นตัวจากช่วงโควิดแล้ว เรายังคงทำ customer engagement ต่อเนื่อง ไม่เน้นลดราคาเพราะจะทำให้ตลาดเสีย” จรณเมธ ระบุ


    ทั้งนี้ ปีที่แล้วแปซิฟิกาเปิดสาขาใหม่ของแบรนด์ต่างๆ ไปทั้งหมด 10 แห่ง และมีแผนจะเปิดอีก 15 แห่งปีนี้ ในครึ่งปีแรกเปิดไปแล้ว 7-8 แห่ง และอีก 3 แห่งจะเปิดที่ภูเก็ต และที่เซ็นทรัล เฟสติวัล พัทยา ในเดือนตุลาคมนี้

    จรณเมธเล่าว่า เขาได้รับการติดต่อจากเจ้าของแบรนด์ประมาณ 10 แบรนด์ เพื่อให้แปซิฟิกาเป็นผู้จัดจำหน่ายสินค้าในเมืองไทย ซึ่งบริษัทให้ความสนใจเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าในทุก price point หากคุยแล้วพบว่าสินค้ามีคุณภาพ และเจ้าของสินค้ามีแบรนด์ไดเรคชั่นตรงกัน บริษัทจะนำเข้ามาจำหน่ายเพิ่มขึ้น โดยในปีนี้คาดว่าจะนำเข้าแบรนด์ใหม่มาเสริมพอร์ตอีก 2-3 แบรนด์


‘ยัสปาล’ เล็งเพิ่มแบรนด์แฟชั่นเสื้อผ้าและรองเท้ากีฬา เสริมพอร์ต

    พอล เดวิด ฮาว์ลีย์ ประธานเจ้าหน้าที่กลุ่มธุรกิจ ยัสปาล กรุ๊ป หรือ บริษัท ยัสปาล จำกัด (มหาชน) บอกว่า ปัจจุบันประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางการค้าปลีกแฟชั่นของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นจุดหมายปลายทางหลักสำหรับนักท่องเที่ยวกลุ่มลักชัวรี ส่งผลให้เจ้าของแบรนด์แฟชั่นชั้นนำต่างๆ ทั่วโลกให้ความสนใจในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น และส่งผลดีให้ยัสปาล กรุ๊ป สามารถโน้มน้าวเจ้าของแบรนด์ต่างๆ ทั่วโลกได้ รวมถึงมีเจ้าของแบรนด์ต่างๆ เข้ามาติดต่อเพื่อหาโอกาสทางธุรกิจร่วมกันอย่างต่อเนื่อง

    ยัสปาล กรุ๊ป ได้รับสิทธิ์การเป็นตัวแทนจำหน่ายสำหรับแบรนด์ลักชัวรีหลายแบรนด์ เช่น Diesel, Fred Perry และ Melissa ยัสปาล กรุ๊ป มีการพิจารณาการนำเข้าแบรนด์ชั้นนำต่างๆ จากทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง เพื่อเติมเต็มพอร์ตโฟลิโอให้ครอบคลุม Positioning ต่างๆ และสามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้มากยิ่งขึ้น โดยเน้นแบรนด์ในเซ็กเมนต์ที่เติบโตสูง เช่น ด้านแฟชั่นเสื้อผ้ารองเท้ากีฬา เป็นต้น

    “ทางเจ้าของแบรนด์มองว่าไทยเป็นศูนย์กลางที่ดีในการวางจำหน่ายสินค้าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ลูกค้าคนไทยก็มีความรู้เกี่ยวกับแฟชั่นระดับสากลเป็นอย่างดี และมีความสนใจในเทรนด์สินค้าลักชัวรี นอกจากนี้ กรุงเทพฯ ยังเป็นหมุดหมายสำคัญที่มีนักท่องเที่ยวที่มีการใช้จ่ายสูงในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาเที่ยวจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นจีน ตะวันออกกลาง และอินเดีย” เขากล่าว

    พอล เดวิด ฮาว์ลีย์ บอกอีกว่า จากในสถานการณ์ปัจจุบันที่ตลาดสินค้าลักชัวรีในจีนมีการชะลอตัว จึงทำให้เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้รับความสนใจมากยิ่งขึ้น เนื่องจากเป็นตลาดที่แนวโน้มการเติบโตมากขึ้น โดยมีกรุงเทพฯ เป็นเมืองหลวงแห่งแฟชั่นของภูมิภาค แม้ยอดการใช้จ่ายจะน้อยกว่าในตลาดอิ่มตัวในบางประเทศ แต่ตลาดสินค้ากลุ่มลักชัวรีของไทยก็มีการเติบโตทั้งในด้านยอดการจับจ่ายใช้สอย และจำนวนลูกค้า


Central นำเข้า 25 แบรนด์ปีนี้

    ทางด้าน ‘ณัฐธีรา บุญศรี’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล ในเครือเซ็นทรัล รีเทล กล่าวว่า ปัจจุบันเซ็นทรัลนำเข้าแบรนด์มาทำตลาดทั้งหมด 50 แบรนด์ ครอบคลุมทุกหมวดหมู่สินค้า ทุกกลุ่มกำลังซื้อและระดับราคา ตั้งแต่ affordable luxury, bridge และ mainstream

ณัฐธีรา บุญศรี


    “เราไม่เคยหยุดพัฒนาและเฟ้นหาแบรนด์ใหม่ แบรนด์ดี และแบรนด์ที่กำลังจะเป็นกระแส เพื่อสร้างความแตกต่าง และทำให้ห้างเซ็นทรัลเป็น destination สำหรับลูกค้าทุกกลุ่ม” ณัฐธีราย้ำ

    แบรนด์อิมพอร์ตที่เซ็นทรัลโฟกัส จะเป็นกลุ่มสินค้าแฟชั่น อาทิ Maje, Sandro และ Vivienne Westwood ส่วนกลุ่มแบรนด์แฟชั่นและแอคเซสเซอร์รีจากเกาหลี เช่น Mardi Mercredi, Samo Ondoh และ ARCHIVÉPKE และแบรนด์รองเท้าลักชัวรีชั้นนำ จะอยู่ที่โซน Luxe Galerie ชั้น 1 ของเซ็นทรัลชิดลม นอกจากนี้ยังมีกลุ่มบิวตี้ เช่น Officine Universalle Buly และ Augustinus Bader


    ณัฐธีรากล่าวว่า เซ็นทรัลได้นำเข้าแบรนด์ใหม่ถึง 25 แบรนด์ มาทำตลาดในปี 2024 โดยมีแบรนด์ไฮไลต์ ได้แก่ แบรนด์รองเท้าลักชัวรีจากอิตาลี อย่าง MACH & MACH และ The Attico ที่เปิด Shop in Shop แห่งแรกและเอ็กซ์คลูซีฟเฉพาะที่ห้างเซ็นทรัล ชิดลม รวมถึง Isabel, Marni, Naked Wolf, และ Versace Jean Couture เป็นต้น

    “Brand principle มองว่าไทยมีโอกาสเติบโตสูง และไดนามิกด้วย คนไทยมีความสนใจในแฟชั่นอย่างมาก และประเทศไทยยังเป็นประเทศที่เป็นเดสติเนชันอันดับต้นๆ ในการท่องเที่ยว ทั้งยังเป็นแหล่งคอมมูนิตี้แห่งการกิน ดื่ม ช้อป อีกทั้งยังมีการเติบโตทางเศรษฐกิจ ธุรกิจระดับโลกจึงเลือกที่จะลงทุนในไทย ในช่วงที่ผ่านมามีแบรนด์สนใจเข้ามาในไทยมากขึ้นในทุกๆ ปี ทุกประเภทสินค้า” ณัฐธีรากล่าว

    “แม้ว่าลูกค้าบางกลุ่มอาจจะซื้อของที่ต่างประเทศ แต่ก็ยังมีลูกค้ากลุ่มใหญ่ที่ยังช้อปปิ้งในประเทศไทย เพราะสินค้าในห้างเซ็นทรัลเป็นสินค้า Authentic ถูกคัดสรรมาให้แตกต่างจากที่อื่น และตรงความต้องการของคนไทยและนักท่องเที่ยว เราพยายามตั้งราคาให้ได้ใกล้เคียงกับต่างประเทศ และมีบริการหลังการขายที่ดี”

    “ปฏิเสธได้ยากว่าความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างลูกค้าและพนักขายมีผลต่อการตัดสินใจช้อป การที่เรามีพนักงานที่รู้ใจลูกค้า เปรียบเสมือนผู้ช่วยส่วนตัว ที่คอยเสนอสินค้ารุ่นใหม่ รุ่นลิมิเต็ดเอดิชัน โปรโมชั่นต่างๆ ทำให้ลูกค้าประทับใจและอยากสนับสนุนต่อเนื่อง” ณัฐธีรากล่าวทิ้งท้าย



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : ‘ภูเก็ต’ กำลังเป็นเมืองลักชู แบรนด์หรูลุยขยายพื้นที่-เปิดช็อปเพิ่ม ‘เซ็นทรัล ภูเก็ต’ เตรียมขยายโซนหรูเพิ่ม 4 เท่าในปี 2026

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine