‘ไทยเบฟ’ โชว์ 9 เดือนปี 67 รายได้ 217,055 ล้านบาท เติบโตเล็กน้อย 0.5% EBITDA พุ่ง 2.2% แรงหนุนสำคัญมาจากธุรกิจเบียร์ที่ EBITDA โตแรง 10.2% อานิสงส์ท่องเที่ยวกลับมาคึกคัก และอากาศร้อนทำคนดื่มเบียร์เพิ่ม ด้าน ‘ฐาปน’ มองมีเบียร์รายใหม่เข้ามาถือเป็นเรื่องดี แต่ย้ำชัด “ธุรกิจนี้ไม่ง่าย”
ฐาปน สิริวัฒนภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 ไทยเบฟมีรายได้จากการขายรวม 217,055 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษีเงินได้ ค่าเสื่อมราคา และค่าใช้จ่ายตัดบัญชี (EBITDA) 38,595 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.2% โดยได้รับแรงหนุนจากธุรกิจเบียร์และเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ซึ่งป็นผลจากการบริหารต้นทุนที่มีประสิทธิภาพ
“แม้ที่ผ่านมาจะมีความท้าทายด้านการดำเนินงานและต้นทุน ซึ่งเป็นผลมาจากความผันผวนของเศรษฐกิจมหภาคและปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ แต่เราสามารถก้าวข้ามอุปสรรคมาได้ด้วยรากฐานที่แข็งแกร่ง และการบริหารอัตรากำไรและความเสี่ยงอย่างมีวินัย
“เราบริหารต้นทุนอย่างใกล้ชิด แต่อย่างที่รู้กันว่าดอกเบี้ยปรับขึ้น ซึ่งเราก็ปรับตัวตาม อีกส่วนหนึ่งคือวินัยทางการเงิน เราวางสัดส่วนหนี้ต่อทุนได้อย่างเหมาะสม ปีนี้เราสร้างความท้าทายให้ตัวเอง รายได้ไม่ได้เติบโตสูงมากนัก แต่กำไรเติบโตดี ส่วนทิศทางอนาคตทุกคนก็มองในแง่ที่สดใสมากขึ้น” ฐาปนกล่าว
ฐาปน กล่าวต่ออีกว่า สำหรับแผนสร้างการเติบโตในอนาคต ไทยเบฟยังคงมุ่งมั่นมุ่งมั่นที่จะ “สร้างสรรค์และแบ่งปันคุณค่าจากการเติบโต” ตามพันธกิจขององค์กร โดยต่อยอดความสำเร็จจากแผน PASSION 2025 ด้วยการเดินหน้าขับเคลื่อนการเติบโตที่ยั่งยืนสู่ PASSION 2030 ซึ่งเป็นแผนการดำเนินงานของกลุ่มเพื่อมุ่งสู่การสู่เติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วงห้าปีข้างหน้า
“สำหรับ PASSION 2030 เราตั้งเป้าหลักๆ ไปที่ Reach Competitively และ Digital for Growth คือเราต้องมีขีดความสามารถเรื่องนี้ เพื่อเตรียมพร้อมรองรับการแข่งขันในอนาคต”
Digital for Growth – ดิจิทัลเพื่อขับเคลื่อนการเติบโต
กลุ่มมีความตั้งใจที่จะขยายการนำเทคโนโลยีและระบบดิจิทัลมาใช้ รวมถึงประยุกต์ใช้ระบบขายอัตโนมัติ (sales automation) เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขัน เพิ่มความรวดเร็วและประสิทธิภาพของกระบวนการผลิต การดำเนินงาน รวมถึงการกระจายสินค้า นอกจากนี้ ยังมีแผนที่จะพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ตอบโจทย์ต่อความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปของลูกค้า อีกทั้งเตรียมพร้อมสำหรับการเติบโตในอนาคต
ในเดือนกันยายน 2567 ไทยเบฟได้รับเสียงอนุมัติจากผู้ถือหุ้นในที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ในการทำธุรกรรมแลกหุ้นระหว่างบริษัท อินเตอร์เบฟ อินเวสท์เม้นท์ ลิมิเต็ด (“IBIL”) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ไทยเบฟถือหุ้นโดยอ้อมทั้งหมด และบริษัท ทีซีซี แอสเซ็ทส์ ลิมิเต็ด (“TCCAL”) โดย IBIL จะทำการโอนหุ้นที่ถืออยู่ในบริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ลิมิเต็ด (“FPL”) ทั้งหมดร้อยละ 28.78 ให้แก่ TCCAL และ TCCAL จะโอนหุ้นที่ถืออยู่ในบริษัท เฟรเซอร์ แอนด์ นีฟ, ลิมิเต็ด (“F&N”) ร้อยละ 41.30 ให้แก่ IBIL
ธุรกรรมดังกล่าวส่งผลให้ IBIL มีสัดส่วนการถือหุ้นใน F&N เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 69.61 โดยกลุ่มจะมุ่งเน้นการรวมธุรกิจและการดำเนินงานของ F&N เข้ากับไทยเบฟ ซึ่งจะเสริมแกร่งศักยภาพในการแข่งขันของกลุ่มในธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์และผลิตภัณฑ์นม พร้อมทั้งสร้างประโยชน์จากการผนึกกำลังร่วมกัน และเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้และขยายตลาดของกลุ่มให้หลากหลายยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ ไทยเบฟยังประกาศงบการลงทุนสำหรับปีงบประมาณ 2568 ไว้ที่ 18,000 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นการลงทุนในธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ 9,500 ล้านบาท ซึ่งจะนำไปใช้ลงทุนธุรกิจฟาร์มโคนมในประเทศมาเลเซีย 8,000 ล้านบาท ขณะที่ธุรกิจเบียร์ตั้งเป้างบลงทุนไว้ที่ 3,000 ล้านบาท ธุรกิจสุรา 2,500 ล้านบาท และธุรกิจอาหาร 1,300 ล้านบาท
เศรษฐกิจชะลอทำ ‘ธุรกิจสุรา’ รายได้ลด
ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 ธุรกิจสุรามีรายได้จากการขาย 92,788 ล้านบาท ลดลงเล็กน้อย 0.9% จากปีที่แล้ว และมี EBITDA ลดลง 1.3% สาเหตุหลักมาจากปริมาณขายรวมที่ลดลง 2.7% เนื่องจากการชะลอตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศไทย
อย่างไรก็ดี การชะลอตัวในประเทศไทยถูกชดเชยได้บางส่วนจากธุรกิจในประเทศเมียนมาที่ยังคงเติบโตอย่างแข็งแกร่ง และมีผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นจากปีก่อน ทั้งรายได้จากการขายและ EBITDA
ประภากร ทองเทพไพโรจน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่และผู้บริหารสูงสุดปฏิบัติการต่างประเทศ ผู้บริหารสูงสุด กลุ่มธุรกิจสุรา และผู้บริหารสูงสุด การเงินและบัญชีกลุ่ม กล่าวว่า “ยอดขายที่ลดลงดังกล่าวส่วนหนึ่งมาจากสุราสีในไทยที่มีการบริโภคช้าลงจากภาพรวมกำลังซื้อและเศรษฐกิจในประเทศ ขณะที่ภาคท่องเที่ยวแม้จะเริ่มฟื้นจากการที่นักท่องเที่ยวเริ่มกลับมา แต่กลุ่มนี้ไม่ค่อยดื่มสุรา แต่ดื่มเบียร์ ทำให้ธุรกิจเบียร์โตมากกว่า ทั้งนี้ต้องรอดูว่าแผนกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลจะช่วยได้มากน้อยแค่ไหนในอีก 6 เดือนข้างหน้า
“สำหรับทิศทางของเรา ยังคงเดินหน้าเสริมสร้างตราสินค้าหลักของเราในไทยอย่างรวงข้าว หงส์ทอง แสงโสม และเบลนด์ 285 ให้แข็งแกร่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งสร้างการมีส่วนร่วมกับผู้บริโภคอย่างสม่ำเสมอ โดยหนึ่งในเป้าหมายสำคัญของไทยเบฟคือการทำให้สุราพรีเมียมของไทยเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก ด้วยการมุ่งเน้นนำเสนอสุราที่มีคุณภาพระดับสากลผ่านตราสินค้าหลักอย่าง แสงโสม แม่โขง พระยา รัม และรวงข้าว สยาม แซฟไฟร์
“และเพื่อตอกย้ำความมุ่งมั่นดังกล่าว ไทยเบฟได้ขยายกลุ่มผลิตภัณฑ์สุราระดับพรีเมียมผ่านการเปิดตัว PRAKAAN (ปราการ) ผลิตภัณฑ์ซิงเกิลมอลต์วิสกี้ระดับพรีเมียมแบรนด์แรกของประเทศไทยในเดือนกันยายน 2567 ซึ่งจะเข้ามาเสริมทัพกลุ่มตราสินค้าหลักในการขับเคลื่อนสุราระดับพรีเมียมของไทยสู่เวทีระดับโลก” ประภากรกล่าว
สำหรับตลาดต่างประเทศ ไทยเบฟเสริมสร้างศักยภาพในการแข่งขันด้วยกลุ่มผลิตภัณฑ์ระดับพรีเมียมที่หลากหลาย ทั้งวิสกี้จากสกอตแลนด์ คอนญักจากฝรั่งเศส วิสกี้จากนิวซีแลนด์ ซิงเกิล มอลต์ วิสกี้ และรัมระดับพรีเมียมจากไทย นอกจากนี้ ยังมีแผนที่จะลงทุนเพิ่มเติมเพื่อขยายกำลังการผลิตในนิวซีแลนด์ ส่วนในประเทศเมียนมา แกรนด์ รอยัล วิสกี้ ยังคงมีผลการดำเนินงานแข็งแกร่งและยังครองตำแหน่งวิสกี้อันดับหนึ่งในประเทศไว้ได้แม้จะมีความท้าทายในตลาดอย่างต่อเนื่อง
EBITDA เบียร์โตแรง-ฐาปนชี้เรื่องปกติที่มีรายใหม่เข้ามา
สำหรับธุรกิจเบียร์ ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 มี EBITDA เติบโตอย่างน่าพอใจที่ 10.2% ตามรายได้ที่เพิ่มขึ้น 0.6% เป็น 93,793 ล้านบาท ผลจากการลงทุนในตราสินค้าและกิจกรรมทางการตลาดที่มีประสิทธิภาพ ประกอบกับต้นทุนวัตถุดิบและบรรจุภัณฑ์ที่ลดลง และการผลิตมีที่ประสิทธิภาพมากขึ้น แม้ปริมาณขายรวมจะลดลง 2.9% ก็ตาม
ฐาปน กล่าวถึงภาพรวมตลาดเบียร์เมืองไทยที่มีรายใหม่เข้ามาเล่นในตลาดมากขึ้นว่า “ตลาดเบียร์ในไทย จริงๆ แล้วผู้ประกอบการรายใหม่ๆ ที่เข้ามา ผมได้ไปคุย พี่ๆ เขาก็บอกว่าไม่ง่าย เขาบอกว่ากลุ่มใหญ่ๆ ทำอะไรก็ขอทำด้วย
“ธุรกิจเป็นเรื่องปกติที่มีรายใหม่เข้ามา แต่ถามว่าเขาสามารถที่จะสร้างจุดยืนของเขาได้ชัดเจน แล้วจะเดินต่ออย่างไร ต้องบอกว่าเบียร์ตัวใหม่ของเขาในท้องตลาดอาจจะมีไปป์ไลน์ แล้วมีการกระจายสินที่ดี เขาสามารถผลักดันสินค้าลงไปในท้องตลาดได้ แต่คงต้องบอกว่าการบริโภคนั้นอาจยังไม่ตอบสนอง อย่างที่รู้กันว่าธุรกิจเบียร์ไม่ใช่โป้งเดียวแล้วจะติดลมบน ต้องบอกว่าเวฟแรกของเขายังไม่ได้ penetration แล้วได้ซิงเกิลมาร์เก็ตแชร์ได้
“ตลาดเบียร์โดยรวม ถ้าสำหรับผม จริงๆ แล้วเป็นเรื่องดีที่ผู้ประกอบการใหม่ๆ สนใจตลาดเบียร์ โดยเฉพาะผู้ประกอบการชาวไทย แต่ถึงอย่างนั้นตลาดเบียร์ในไทยไม่ใช่ง่าย ผมรับแบรนด์จากฟิลิปปินส์มาเมื่อ 18 ปีก่อน ก็ยังชิงมาร์เก็ตแชร์ 1 ดิจิตไม่ได้” ฐาปนกล่าว
ด้าน ไมเคิล ไชน์ ผู้บริหารสูงสุด กลุ่มธุรกิจเบียร์ กล่าวว่า “ธุรกิจเบียร์ของเราในประเทศไทยมีปริมาณขายที่เติบโตขึ้นอย่างน่าพอใจ โดยเฉพาะในช่วงกลางปี 2567 จากการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและสภาพอากาศที่ร้อนขึ้น ซึ่งส่งผลให้มีการบริโภคเพิ่มขึ้น
ส่วนธุรกิจในเวียดนามยังคงเผชิญความท้าทายจากการบริโภคที่ลดลงจากสภาวะเศรษฐกิจมหภาคและการบังคับใช้กฤษฎีกาฉบับที่ 100 อย่างเข้มงวด ซึ่งกำหนดบทลงโทษที่รุนแรงสำหรับผู้กระทำผิดข้อหาเมาแล้วขับ
อย่างไรก็ดี การเสริมแกร่งของธุรกิจในเมียนมาจากการรวมธุรกิจ F&N เข้ามาเป็นบริษัทย่อย รวมถึงการขยายสู่ตลาดกัมพูชา นับเป็นโอกาสดีที่จะช่วยสร้างการเติบโตให้แก่ธุรกิจเบียร์ของเรา”
กัมพูชาเป็นตลาดเบียร์ที่เติบโตเร็วที่สุดและใหญ่เป็นอันดับสี่ของอาเซียนเมื่อวัดจากปริมาณขาย โดยมีปริมาณการบริโภครวมต่อปีประมาณ 10 ล้านเฮกโตลิตร ดังนั้น เราจึงเล็งเห็นโอสาสและได้เริ่มก่อสร้างโรงงานผลิตเบียร์ในกัมพูชา ซึ่งคาดว่าจะเสร็จสิ้นในช่วงต้นปี 2569 และมีกำลังการผลิตเริ่มต้นที่ 50 ล้านลิตรเมื่อเปิดดำเนินการ
ไมเคิลยังกล่าวว่า “เรายังคงเห็นโอกาสในการเติบโตและมุ่งมั่นดำเนินกลยุทธ์ในตลาดหลักของเรา แต่ในขณะเดียวกันก็ยังระมัดระวังถึงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ โดยคาดว่าธุรกิจเบียร์ของเราจะสามารถเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ รวมทั้งมีผลการดำเนินงานที่ดียิ่งขึ้นอย่างยั่งยืนในอนาคต
สำหรับธุรกิจเบียร์ ในประเทศไทย ‘ทรงวิทย์ ศรีธรรม’ ผู้บริหารสูงสุด สายธุรกิจเบียร์ประเทศไทย กล่าวว่า “เรายังคงมุ่งเน้นการผลักดันตราสินค้าหลักของเราอย่างเบียร์ช้างสู่การเป็นอันดับหนึ่งในตลาดประเทศไทย โดยกำหนดกลยุทธ์สำคัญ 6 ประการ เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานตลอดห่วงโซ่คุณค่าของเรา”
โดยกลยุทธ์หลัก 6 ประการ ประกอบด้วย
1.เสริมแกร่งความเป็นผู้นำ (Strengthen Leadership) ด้วยการเพิ่มสัดส่วนพื้นที่บนชั้นวางสินค้าในร้านค้าอย่างยั่งยืน เพิ่มการมีส่วนร่วมกับผู้บริโภค และสร้างความตื่นเต้นผ่านแพลตฟอร์มและช่องทางที่หลากหลาย
2.ยกระดับกลุ่มผลิตภัณฑ์ (Portfolio Premiumization) ผ่านการพัฒนาตราสินค้าแมสพรีเมียมอย่างต่อเนื่อง
3.พัฒนาความเป็นเลิศด้านการดำเนินงาน (Operational Excellence) จากการบริหารจัดการต้นทุนที่ดีขึ้น มีเป้าหมาย
4.ใช้เทคโนโลยีเพื่อการเปลี่ยนแปลง (Technological Transformation) โดยนำเทคโนโลยีมาใช้ในทุกด้านของการดำเนินงานและกระบวนการทำงาน
5.การลงทุนด้านทรัพยากรบุคคล (People Investment) โดยมุ่งเน้นสามสิ่งสำคัญ ได้แก่ การสร้างโอกาสให้แก่พนักงานมากยิ่งขึ้น การพัฒนาทักษะใหม่ และการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของพนักงาน
6.ส่งเสริมความยั่งยืน (Sustainability) โดยมุ่งเน้นการใช้พลังงานสะอาด อีกทั้งยังยึดมั่นในการใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ส่วนธุรกิจเบียร์ ประเทศเวียดนาม ‘เลสเตอร์ ตัน เต็ก ชวน’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของซาเบโก้ กล่าวว่า “Bia Saigon ยังคงเป็นตราสินค้าเบียร์อันดับหนึ่งในเวียดนาม โดยเรายังคงเดินหน้าเสริมความแข็งแกร่งของตำแหน่งผู้นำผ่านการขยายเครือข่ายการกระจายสินค้า โดยเฉพาะในพื้นที่นอกเมืองสำคัญต่างๆ
“ซาเบโก้ยังคงดำเนินกิจกรรมทางการตลาดและส่งเสริมการขายของทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่องทั่วประเทศ พร้อมทั้งมุ่งเน้นการเพิ่มขีดความสามารถของเครือข่ายตัวแทนจำหน่ายให้แข็งแกร่งขึ้น เพื่อใช้ประโยชน์จากเครือข่ายที่ครอบคลุมของบริษัทในการสร้างช่องทางจัดจำหน่ายใหม่ๆ”
ทั้งนี้ ในเดือนสิงหาคม 2567 ซาเบโก้เปิดตัวเบียร์ 333 Pilsner ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ของกลุ่มตราสินค้าเบียร์ 333 โดย 333 Pilsner มีความโดดเด่นจากเบียร์ชนิดอื่นด้วยรสชาติที่เบาและนุ่มนวล ซึ่งเป็นที่ชื่นชอบของกลุ่มผู้บริโภคเบียร์รุ่นใหม่ในเวียดนาม
‘นอนแอล’ รายได้พุ่ง 4.9%
ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 ธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ของกลุ่มมีรายได้จากการขาย 15,553 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ตามปริมาณขายเพิ่มขึ้น 5.3% โดยมีปัจจัยหลักมาจากกิจกรรมส่งเสริมตราสินค้าที่ประสบความสำเร็จ ประกอบกับการขยายการกระจายสินค้าให้กว้างขวาง โดยมี EBITDA 1,817 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.5% จากประสิทธิภาพการผลิตที่สูงขึ้นและต้นทุนบรรจุภัณฑ์ที่ลดลง แม้จะมีการลงทุนในตราสินค้าและกิจกรรมทางการตลาดเพิ่มขึ้นก็ตาม
โฆษิต สุขสิงห์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่และผู้บริหารสูงสุดปฏิบัติการประเทศไทย ผู้บริหารสูงสุด กลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ และผู้บริหารสูงสุด กลุ่มงานดิจิทัลและเทคโนโลยี กล่าวว่า “เราได้ดำเนินการตามกลยุทธ์ที่สำคัญเพื่อรวมธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ของทั้งกลุ่มให้เป็นหนึ่งเดียว ผ่านการนำหุ้นของโออิชิออกจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และอยู่ระหว่างขั้นตอนการนำหุ้นของเสริมสุขออกจากตลาด รวมถึงการเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นใน F&N ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ ผ่านสัญญาการแลกเปลี่ยนหุ้นกับ TCCAL
“เมื่อทุกอย่างเสร็จสิ้น เรามั่นใจว่าไทยเบฟจะได้รับประโยชน์จากต้นทุนต่อหน่วยที่ลดลงจากขนาดการผลิตที่ใหญ่ขึ้น (Economies of Scale) อีกทั้งยังทำให้การดำเนินงานด้านห่วงโซ่อุปทานและการขนส่งสินค้ามีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น”
ธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ยังคงดำเนินการภายใต้แนวคิด “เติบโตอย่างยั่งยืน มุ่งสู่อนาคตยุคดิจิทัล” โดยมุ่งเน้นกลยุทธ์หลัก 3 ประการ ได้แก่ ตราสินค้าและการเข้าถึง ความเป็นเลิศด้านการผลิตและห่วงโซ่อุปทาน และความยั่งยืน
โดยในกลยุทธ์ตราสินค้าและการเข้าถึง (Brand & Reach) กลุ่มมุ่งเสริมความแข็งแกร่งของตราสินค้าเพื่อให้ตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคใหม่ โดยนำเสนอตราสินค้าเครื่องดื่มที่หลากหลายเพื่อรองรับความต้องการและความชื่นชอบของผู้บริโภคกลุ่มต่างๆ ที่กำลังเปลี่ยนไป
กลุ่มเสริมแกร่งตราสินค้าชาเขียวโออิชิ ด้วยการนำเสนอความเป็นญี่ปุ่นของตราสินค้า และดำเนินกลยุทธ์เพื่อครองใจกลุ่มคนรุ่นใหม่ผ่านแคมเปญร่วมกับโปเกม่อน อีกทั้งยังเดินหน้าตอบโจทย์กระแสใส่ใจสุขภาพที่มีแนวโน้มเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ด้วยการเปิดตัวโออิชิ กรีนที ชาเขียวกลิ่นข้าวโพดฮอกไกโด สูตรไม่มีน้ำตาล ซึ่งผสานรสชาติชาเขียวที่สดชื่นเข้ากับกลิ่นหอมอันเป็นเอกลักษณ์ของข้าวโพดญี่ปุ่น
ในส่วนของคริสตัลได้ตอกย้ำสถานะผู้นำอันดับหนึ่งของตลาดน้ำดื่มในประเทศไทย ด้วยการเดินหน้าสร้างความเชื่อมโยงกับผู้บริโภคอยู่เสมอ โดยชูจุดยืนในฐานะน้ำดื่มคุณภาพสูง ที่นอกจากจะมีประโยชน์ต่อสุขภาพกายแล้ว ยังส่งผลดีต่อสุขภาพจิตใจและอารมณ์ด้วยเช่นกัน
สำหรับเครื่องดื่มอัดลมเอส ได้ยกระดับตราสินค้าผ่านการพลิกโฉมครั้งใหญ่ภายใต้แคมเปญ “เอส เกิดมาซ่า... กล้าเป็นตัวเอง” เพื่อดึงดูดกลุ่มผู้บริโภค Gen Z ด้วยแนวคิดที่ว่าชาว Gen Z ทุกคนเกิดมาซ่าในแบบของตัวเองและเอสพร้อมสนับสนุนคนรุ่นใหม่ให้ทำในสิ่งที่ชอบ
ธุรกิจอาหารกวาดรายได้ 1.5 หมื่นล้าน
ธุรกิจอาหารมีรายได้จากการขาย 15,022 ล้านบาท ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 เพิ่มขึ้น 5.1% เทียบจากปีก่อน ผลจากการขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ EBITDA ลดลง 0.6% เป็น 1,438 ล้านบาทเนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบและค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้น
โสภณ ราชรักษา ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด กลุ่มงานทรัพยากรบุคคลและสมรรถนะองค์กร ผู้บริหารสูงสุด สายธุรกิจอาหารประเทศไทย และผู้บริหารสูงสุด สายธุรกิจโลจิสติกส์ กล่าวว่า “เราสามารถเพิ่มการมองเห็นและการเข้าถึงแบรนด์อาหารของเรา และเพิ่มจำนวนคนนั่งทานในร้านผ่านการขยายสาขาใหม่ด้วยรูปแบบร้านที่ต่างกันไปในทำเลยุทธศาสตร์ต่างๆ ทั่วประเทศ ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี
“ในขณะเดียวกัน การนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้และการผนึกกำลังร่วมกับกลุ่มไทยเบฟ ทำให้เราสามารถพัฒนาประสิทธิภาพการดำเนินงาน รวมถึงการบริหารห่วงโซ่อุปทานได้ดียิ่งขึ้น และช่วยบรรเทาผลกระทบจากค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่สูงได้บางส่วน”
โสภณ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับปีหน้าธุรกิจอาหารเตรียมลงทุนขยายสาขาเพิ่มทั้งหมด 69 ร้านค้า เป็นเคเอฟซี 45 ร้าน ส่วนโออิชิเราเตรียมลงทุน 200 ล้านบาท เพื่อเข้าไปปรับปรุงร้านให้ตอบรับกับผู้บริโภคมากขึ้น
นอกจากนี้ ปีหน้าอาจจะเห็นการปิดร้านในบางโลเคชั่นที่อาจจะเก่าแก่เกินไป แต่จะมีการหาโลเคชั่นที่เหมาะสม
โดยสำหรับเป้าหมายในปี 2030 เราตั้งเป้าขยายร้านเพิ่มเป็น 1,200 ร้าน จากปัจจุบันอยู่ที่ 888 ร้าน
“ธุรกิจฟู้ดในไทยช่วงนี้ยังท้าทาย แม้ว่าจะดูดีในมุมที่ว่านักท่องเที่ยวกลับมา และคนออกมากินข้าวนอกบ้าน แต่ยังคงท้าทายในเรื่องของต้นทุน โดยเฉพาะค่าแรงที่มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเป็น 400 บาท ซึ่งพนักงานเรามีทั้งหมด 14,000 คน ต้นทุนเงินเกือน 8-9% ทำให้เราอาจต้องคิดหากลยุทธ์เข้ามาช่วยปรับตัว ปีหน้าก็ถือว่าเป็นปีที่ค่อนข้างท้าทาย” โสภณ กล่าว
โสภณยังกล่าวอีกว่า สำหรับเงินดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท ที่ทยอยแจกออกมาแล้วนั้น ยังไม่เห็นผลถึงผลกระทบต่อการเติบโตในธุรกิจอาหารของกลุ่ม มองว่าน่าจะส่งผลดีกับธุรกิจเครื่องดื่มมากกว่า
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : เปิดแผน 1.5 หมื่นล้านของ CPN สร้าง ‘เซ็นทรัล กระบี่’ พร้อมพลิกโฉมใหญ่ 4 ศูนย์ ‘บางนา-ปิ่นเกล้า-แจ้งวัฒนะ-เชียงใหม่ แอร์พอร์ต’
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine