ไทยยูเนี่ยนประกาศกลยุทธ์เพื่อมุ่งสู่ปี 2573 เสริมแกร่งธุรกิจ ปักธงรายได้ 2.45 แสนล้านบาท (7 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ) ตั้งเป้าลดต้นทุนปีละ 2,625 ล้านบาท นำเงินส่วนหนึ่งมาขยายการเติบโต คาดเพิ่มผลกำไรสองเท่าในหกปี
ปี 2566 ที่ผ่านมาเรียกได้ว่าเป็นปีที่สุดแสนท้าทายของ ‘บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)’ หรือ TU หลังรายงานผลขาดทุนสุทธิกว่า 13,933 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจากเศรษฐกิจโลกที่เจอกับปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ อัตราเงินเฟ้อ อัตราแลกเปลี่ยน ต้นทุนวัตถุกิบและค่าแรงที่เพิ่มสูงขึ้น ไปจนถึงประเด็นการรับรู้ส่วนแบ่งขาดทุนของ ‘เรด ล็อบสเตอร์’ ที่นำมาสู่การถอนการลงทุนในเวลาต่อมา
แต่ถึงอย่างนั้น TU ก็ยังคงรักษาสถานะและความแข็งแกร่งไว้ได้แม้จะยังประสบกับปัจจัยท้าทายมากมาย สะท้อนจากตัวเลขรายได้ 9 เดือนแรกของปี 2567 ที่อยู่ที่ 104,211 ล้านบาท และมีผลกำไรสุทธิ 3,771 ล้านบาท
ล่าสุดไทยยูเนี่ยนยังจัดแถลงข่าวยิ่งใหญ่ถึง ‘กลยุทธ์เพื่อมุ่งสู่ปี 2573’ ที่เรียกได้ว่าเป็นโร้ดแม็ปใหม่เพื่อสร้างการเติบโตครั้งสำคัญ โดยตั้งเป้าหมายทำยอดขายสุทธิเพิ่มขึ้นเป็น 2.45 แสนล้านบาท (7 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ) ภายในปี 2573 จาก 1.36 แสนล้านบาท (3.9 พันล้านเหรียญ) ในปี 2567
และมีกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษีเงินได้ ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) เพิ่มขึ้น 100% จากประมาณ 14,000 ล้านบาท (400 ล้านเหรียญ) เป็น 24,500 - 28,000 ล้านบาท (700-800 ล้านเหรียญ) ภายในหกปีข้างหน้า เพื่อก้าวสู่การเป็นผู้นำระดับโลกในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและโภชนาการเพื่อสุขภาพจากท้องทะเล
ธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “โลกทุกวันนี้เผชิญกับการเปลี่ยนแปลงอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ตั้งแต่ผลกระทบจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ภาวะเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ไปจนถึงความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทุกความท้าทายนำมาซึ่งโอกาส การเติบโตในโลกยุคใหม่ ไม่ใช่แค่การปรับตัว แต่เราต้องก้าวพ้นกระแสแห่งความผันผวนนี้ เพื่อสร้างโอกาสให้กับตัวเอง
“เรามีความมุ่งมั่นที่จะบรรลุเป้าหมายยอดขาย 2.45 แสนล้านบาท (7 พันล้านเหรียญ) และเพิ่ม EBITDA เป็นสองเท่าภายในปี 2573 เพื่อก้าวสู่การเป็นผู้นำระดับโลกในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและโภชนาการเพื่อสุขภาพจากท้องทะเล ที่สอดคล้องกับเป้าหมายการมีสุขภาพที่ดีและท้องทะเลที่อุดมสมบูรณ์ของไทยยูเนี่ยน”
สำหรับกลยุทธ์เพื่อมุ่งสู่ปี 2573 ของไทยยูเนี่ยนแบ่งออกเป็น 3 แกนหลัก โดยมุ่งเน้นกลุ่มธุรกิจที่สำคัญเพื่อผลักดันการเติบโตของรายได้ กำไรขั้นต้น และ EBITDA โดยการเสริมสร้างความสามารถทางการแข่งขันของธุรกิจเดิม และธุรกิจใหม่ รวมถึงการควบรวมกิจการ เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว ซึ่ง 3 แกนหลักนี้ ประกอบด้วย:
-เสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจหลัก: ได้แก่ อาหารทะเลแปรรูป อาหารแช่เย็น และอาหารสัตว์ เพื่อสร้างกระแสเงินสดที่จำเป็นสำหรับการขยายธุรกิจไปสู่ธุรกิจที่มีศักยภาพการเติบโตใหม่ๆ
-สร้างคลื่นลูกใหม่ของการเติบโต: มุ่งเน้นกลุ่มธุรกิจที่เติบโตเร็ว เช่น อาหารสัตว์เลี้ยง อาหารแช่แข็ง อาหารพร้อมทาน และอินกรีเดียนท์ ซึ่งไทยยูเนี่ยนเชื่อว่าจะยังคงขับเคลื่อนการเติบโตของผลกำไรได้อย่างต่อเนื่อง
-การเปิดน่านน้ำใหม่: มุ่งเน้นการแสวงหาไอเดียและเทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่น ลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และโปรตีนทางเลือก เพื่อขับเคลื่อนการเติบโตของไทยยูเนี่ยนในอนาคต
พอล เฮอร์โฮลซ์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายกลยุทธ์และทรานส์ฟอร์เมชั่น บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เสริมว่า “กลยุทธ์เพื่อมุ่งสู่ปี 2573 ที่ประกอบด้วย 3 แกนหลัก เป็นปัจจัยสำคัญที่จะเร่งสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว ด้วยโอกาสการเติบโตทั้งจากธุรกิจในปัจจุบัน และธุรกิจใหม่ๆ รวมถึงการควบรวมกิจการ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายสู่ความสำเร็จในอีกหกปีข้างหน้า เราต้องวางรากฐานที่แข็งแกร่ง โดยจะดำเนินงานผ่าน 2 โปรเจกต์ทรานส์ฟอร์เมชั่น ที่มีแผนงานที่ชัดเจนเพื่อสนับสนุนกลยุทธ์ดังกล่าว และผลักดันให้ความมุ่งมั่นของเราประสบความสำเร็จ”
ไทยยูเนี่ยนได้กำหนดแนวทางการปฏิบัติสำคัญ 6 ประการที่จะเป็นรากฐานและเตรียมองค์กรให้พร้อมตามกลยุทธ์เพื่อมุ่งสู่ปี 2573 ประกอบด้วย การปรับโครงสร้างองค์กรและการพัฒนาบุคลากร การมุ่งเน้นการลดต้นทุน การเพิ่มประสิทธิภาพเครือข่ายการผลิตและการจัดซื้อเชิงกลยุทธ์ การยกระดับขีดความสามารถทางดิจิทัล การใช้ประโยชน์จากนวัตกรรม และการเสริมสร้างความสามารถทางการแข่งขันจากความเป็นผู้นำด้านความยั่งยืน
โปรเจกต์ทรานส์ฟอร์เมชั่น ภายใต้กลยุทธ์เพื่อมุ่งสู่ปี 2573 ประกอบด้วย โปรเจกต์โซนาร์ (Project Sonar) ซึ่งเป็นโครงการทรานส์ฟอร์เมชั่นของกลุ่มบริษัท มุ่งวางรากฐานที่แข็งแกร่งสำหรับการเติบโตในระยะยาว และโปรเจกต์เทลวินด์ (Project Tailwind) ซึ่งมุ่งเน้นที่การเร่งการเติบโตในกลุ่มธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงเป็นหลัก ทั้งสองโปรเจกต์จะดำเนินการควบคู่ และสอดคล้องกันเพื่อสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายของกลยุทธ์เพื่อมุ่งสู่ปี 2573 และส่งเสริมการรวมแผนงานเป็นหนึ่งเดียวกันในอนาคต
ด้วยการดำเนินโปรเจกต์โซนาร์ ไทยยูเนี่ยนตั้งเป้าที่จะลดต้นทุนเฉลี่ยต่อปีได้ 2,625 ล้านบาท (75 ล้านเหรียญ) ตั้งแต่ปี 2569 เป็นต้นไป ทั้งนี้ ประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ของเงินส่วนนี้จะถูกนำกลับมาลงทุนเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งและขยายธุรกิจต่อไป
โปรเจกต์โซนาร์มีเป้าหมายที่จะสร้างรูปแบบการดำเนินงานที่แข็งแกร่งสอดคล้องกับกลยุทธ์เพื่อมุ่งสู่ปี 2573 สร้างขีดความสามารถด้านการจัดซื้อและเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมถึงยกระดับขีดความสามารถทางดิจิทัลเพื่อสนับสนุนการเติบโตทางธุรกิจ และเตรียมพร้อมสำหรับการเดินหน้าโครงการดิจิทัลทรานส์ฟอร์มเมชั่นอย่างเต็มรูปแบบ
ส่วนโปรเจกต์เทลวินด์ (Tailwind) เป็นแผนการทรานส์ฟอร์มเมชั่นของกลุ่มธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยกำหนดเป้าหมายที่จะเพิ่มกำไรจากการดำเนินงาน (Operating Profit) ประมาณ 1,750 ล้านบาท (50 ล้านเหรียญ) ต่อปี สำหรับธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงตั้งแต่ปี 2570 เป็นต้นไป ซึ่งกุญแจสู่สำเร็จ คือ ความเชี่ยวชาญทางธุรกิจและความเข้าใจอย่างลึกซึ้งต่อตลาด รู้ลึก รู้จริงถึงความต้องการของลูกค้า ควบคู่กับการสร้างขีดความสามารถใหม่ๆ เพิ่มประสิทธิภาพด้านการจัดซื้อและกระบวนการผลิต
ในขณะที่โปรเจกต์เทลวินด์จะมุ่งเน้นไปที่การเร่งขับเคลื่อนการเติบโตจากการเพิ่มขีดความสามารถของธุรกิจในปัจจุบัน บริษัท ไอ-เทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) จะมุ่งสร้างการเติบโตจากการควบรวมกิจการ โดยมีเป้าหมายที่จะเพิ่มรายได้สามเท่าอยู่ที่ประมาณ 52,500 ล้านบาท (1.5 พันล้านเหรียญ) ภายในปี 2573
ขณะนี้ ไทยยูเนี่ยนได้เริ่มต้นดำเนินการต่างๆ เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายตามกลยุทธ์เพื่อมุ่งสู่ปี 2573 รวมถึงโครงการทรานส์ฟอร์มเมชั่นทั้งสองโครงการ โดยมีการดำเนินการสำคัญๆ เช่น การจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมแห่งใหม่ในประเทศเนเธอร์แลนด์ การเพิ่มการลงทุนด้านการส่งเสริมการตลาดเพื่อคงความเป็นผู้นำแบรนด์อาหารทะเลแปรรูปชั้นนำของโลกหลากหลายแบรนด์ของกลุ่มบริษัทอย่างต่อเนื่อง การเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานด้านการผลิต การขยายทีมและยกระดับขีดความสามารถทางดิจิทัลของกลุ่มบริษัททั่วโลก เป็นต้น
“เราอยู่ในช่วงเวลาที่ดีมาก เนื่องจากเราได้เตรียมพร้อมองค์กรของเราตั้งแต่ปีที่แล้วจนถึงปีนี้ แน่นอนว่าสถานการณ์ของโลกยังมีความไม่แน่นอนสูง อย่างไรก็ดี การปรับตัวของเราไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการบริหารจัดการต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ การวางกลยุทธ์การขายที่ดีเยี่ยม การปรับปรุงขีดความสามารถในการดำเนินงาน ก็น่าจะช่วยให้เราคว้าโอกาสที่น่าจะเกิดขึ้นในอนาคตได้” ธีรพงศ์ กล่าวทิ้งท้าย
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : “ไทยยูเนี่ยน” เดินหน้าถอนการลงทุนใน “เรด ล็อบสเตอร์”
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine