ไทยคือประเทศแรกที่ ‘กูลิโกะ’ ตั้งโรงงานนอกญี่ปุ่น ปีนี้ครบ 55 ปีแล้ว ลุยออกสินค้าใหม่ 8-10 รายการ - Forbes Thailand

ไทยคือประเทศแรกที่ ‘กูลิโกะ’ ตั้งโรงงานนอกญี่ปุ่น ปีนี้ครบ 55 ปีแล้ว ลุยออกสินค้าใหม่ 8-10 รายการ

รู้หรือไม่ว่า ‘กูลิโกะ’ เจ้าของแบรนด์ขนมที่หลายคนคุ้นเคย เช่น ป๊อกกี้, โคลอน, แอลฟี่ ฯลฯ เป็นบริษัทญี่ปุ่นที่ขยายการลงทุนมาตั้งโรงงานในไทยครบ 55 ปีแล้ว และไม่ใช่แค่รองรับการสร้างเติบโตในไทย แต่โรงงานกูลิโกะภายใต้ชื่อบริษัทว่า “บริษัท ไทยกูลิโกะ จำกัด” ยังถือเป็นฐานที่มั่นในการสร้างการเติบโตของกูลิโกะในอาเซียน


    กลุ่มบริษัทกูลิโกะ เป็นบริษัทอาหารระดับโลกที่มีประวัติยาวนานกว่าศตวรรษ นับตั้งแต่เปิดตัว Glico Nutritious Candy ในปี 2465 กูลิโกะก็ขยายมาสู่ธุรกิจขนมหวาน ไอศกรีม ผลิตภัณฑ์จากนม ส่วนผสมอาหาร และอาหารแปรรูป โดยมีการเปิดตัวแบรนด์ดังอย่าง Pocky (ป๊อกกี้) เป็นครั้งแรกในปี 2509

    แน่นอนว่าในญี่ปุ่นนั้น บริษัทจากโอซาก้ารายนี้ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม และการขยายไปตลาดต่างประเทศก็เป็นโอกาสที่จะสร้างการเติบโตในต่างแดน ในปี 2513 กูลิโกะเลือกมาลงทุนตั้งโรงงานในไทยเป็นแห่งแรก

    บริษัท ไทยกูลิโกะ จำกัด กลายเป็นผู้เล่นหลักในตลาดบิสกิตของไทยมานานกว่า 50 ปี โดยปัจจุบันมีโรงงาน 2 แห่งด้วยกัน คือ โรงงานแรกเรียกว่าโรงงานรังสิต อยู่ที่ อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี หลังจากนั้นในปี 1992 ได้ขยายมาอยู่ที่โรงงานบางกะดี อ.บางกะดี จ.ปทุมธานี ซึ่งที่นี่นั้นมีพื้นที่กว่า 58,000 ตารางเมตร มีโรงงานด้วยกัน 2 โรง โดยสินค้าที่ผลิตจากไทยนั้นยังส่งออกไปขายในหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็น อาเซียน จีน ออสเตรเลีย หรือแม้แต่สหรัฐอเมริกา

โรงงานบางกะดีของไทยกูลิโกะ


    ส่วนกลุ่มสินค้าของกูลิโกะที่ปัจจุบันวางขายในไทย แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มหลัก คือ 1.กลุ่มผลิตภัณฑ์ขนม ได้แก่ ป๊อกกี้, พีจอย, เพรทซ์, ไจแอนท์ คาปุลิโกะ, โคลอน, ทีนนี่, แอลฟี่ และ 2.กลุ่มผลิตภัณฑ์ Health & Wellness ได้แก่เครื่องดื่มนมอัลมอนด์แบรนด์ ‘อัลมอนด์ โคกะ’ ซึ่งปัจจุบันโปรดักต์นี้ไทยกูลิโกะว่าจ้างให้ บริษัท มาลี จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ผลิตให้ โดยมีไทยกูลิโกะดูแลและควบคุมการผลิตให้อยู่ในมาตรฐาน

    ถามว่า ไทย เป็นตลาดสำคัญขนาดไหนของกูลิโกะ?

    เฉลิมพงษ์ ดรงค์สุวรรณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยกูลิโกะ จำกัด บอกว่า ในปี 2567 ที่ผ่านมา กลุ่มบริษัทกูลิโกะ ซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์โตเกียว มีรายได้รวมอยู่ที่ประมาณ 331,000 ล้านเยน โดยยอดขายหลัก 80% อยู่ที่ญี่ปุ่น แม้ไม่สามารถเปิดเผยรายได้ในไทยได้ แต่ไทยคืออันดับต้นๆ ที่ญี่ปุ่นให้ความสำคัญ เพราะอยู่มานาน และเมื่อเทียบกับประชากรแล้ว ไทยก็ไม่แพ้ตลาดไหนในโลก

    นอกจากนี้ ไทยยังเป็น 1 ใน 3 ประเทศที่มี R&D Center เป็นของตัวเอง รวมถึงเป็นหนึ่งในฐานการผลิตเพื่อส่งออกที่สำคัญด้วย โดยปัจจุบันรายได้ของไทยกูลิโกะเกือบครึ่งหนึ่งเป็นรายได้ที่มาจากการส่งออก

    “ตลอด 55 ปีที่ผ่านมา ไทยกูลิโกะได้ยืนหยัดเป็นหนึ่งในแบรนด์ที่อยู่ในใจผู้บริโภค และยังเป็นแรงผลักดันสำคัญของตลาดบิสกิตและขนมหวานในประเทศไทย ด้วยความมุ่งมั่นพัฒนาสินค้าและแบรนด์อย่างต่อเนื่อง ในวาระครบรอบ 55 ปีในปี 2568 นี้ บริษัทจึงเตรียมเดินหน้าขับเคลื่อนความสุขของผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง ภายใต้กลยุทธ์ ‘5 New’ เพื่อสร้างมิติใหม่ของประสบการณ์การบริโภค ตอบโจทย์ผู้บริโภครุ่นใหม่ รวมถึงตลาดบิสกิตในประเทศไทยที่มีมูลค่ากว่า 17,471 ล้านบาท (ที่มา: Nielsen Full year 2024)

เฉลิมพงษ์ ดรงค์สุวรรณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยกูลิโกะ จำกัด


    เฉลิมพงษ์ บอกอีกว่า ตลาดบิสกิตในประเทศไทยปีที่ผ่านมาเติบโตประมาณ 9.8% โดยในตลาดบิสกิตแบ่งขนมออกเป็น 3 ประเภท คือ แคร็กเกอร์ มูลค่าราว 7,000 ล้านบาท ปีที่แล้วเติบโต 7.5%, คุกกี้ มูลค่าตลาด 4,900 ล้านบาท ปีที่แล้วโต 13% และสุดท้ายคือเวเฟอร์ มูลค่าตลาดราว 5,500 ล้านบาท ปีที่แล้วเติบโตประมาณ 7-8%

    “สำหรับโปรดักต์ของกูลิโกะส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มแคร็กเกอร์ โดยป๊อกกี้สามารถสร้างยอดขายได้มากที่สุด ส่วนปีนี้ต้องจับตาดูว่าเศรษฐกิจและ GDP ไทยจะเป็นอย่างไร เพราะแม้ว่าขนมจะเป็นสิ่งที่ยังไงคนก็รับประทาน แต่ตลาดบิสกิตก็ขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจประเทศด้วยส่วนหนึ่ง” เฉลิมพงษ์กล่าว


    เขายังกล่าวถึงความท้าทายของบริษัท ซึ่งหลักๆ มาจากเรื่องปัจจัยต้นทุนการผลิตที่พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น โกโก้ ซึ่งไทยกูลิโกะพยายามควบคุมต้นทุนให้เหมาะสมผ่านกลยุทธ์ต่างๆ เพื่อไม่ให้เกิดการผลักภาระไปให้ผู้บริโภค

    นอกจากนี้ยังมีความท้าทายในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา ที่จำนวนนักท่องเที่ยวเข้าไทยไม่ได้มากอย่างที่ประเมินไว้ แม้จะมีมาเลเซียและสิงคโปร์ที่เข้ามาเยอะ แต่จีนก็หายไปส่วนหนึ่ง ทำให้ต้องพยายามชดเชยด้วยนักท่องเที่ยวกลุ่มอื่นๆ พยายามปรับรสชาติที่วางขายให้เหมาะกับนักท่องเที่ยวชาตินั้นๆ

    สำหรับกลยุทธ์ 5 New ที่จะใช้ขับเคลื่อนธุรกิจของไทยกูลิโกะในปีนี้ ประกอบด้วย

    1. New R&D เดินหน้าวิจัยและพัฒนาสินค้าใหม่โดยยืนบนพื้นฐานความต้องการของผู้บริโภค (Customer-Based R&D)

    2. New Innovation สรรค์สร้างนวัตกรรมผ่านสินค้าและการทำการตลาด โดยเตรียมออกผลิตภัณฑ์ใหม่อีกราว 8-10 รายการในปีนี้ ผ่านสินค้า 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่ม Premium Range และกลุ่ม Thai Taste สะท้อนรสนิยมและเอกลักษณ์ความเป็นไทย ตอบโจทย์ทั้งตลาดในประเทศ ตลาดนักท่องเที่ยวที่ต้องการซื้อเป็นของฝาก ตลอดจนกลุ่มคนรุ่นใหม่

    3. New Market ขยายฐานลูกค้าจากกลุ่ม B2C สู่การบุกตลาด B2B มากยิ่งขึ้น ด้วยการจำหน่ายผลิตภัณฑ์นมอัลมอนด์ โคกะ รสชาติต่างๆ ไปยังร้านคาเฟ่และคอฟฟี่เชน ที่มีสินค้าอาหารและเครื่องดื่มที่ต้องใช้นมอัลมอนด์เป็นส่วนผสม รวมถึงพิจารณาออกผลิตภัณฑ์ใหม่ภายใต้กลุ่มสินค้าเพื่อสุขภาพ พร้อมทั้งจัด Event Marketing ดึงดารา-เซเลบฯ จัดกิจกรรมที่สอดคล้องกับคนรุ่นใหม่

    4. New ESG Drive ขับเคลื่อนด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) ของบริษัทด้วยกิจกรรมใหม่ๆ ด้าน ESG อย่างต่อเนื่อง อาทิ การติดตั้งโซลาร์เซลล์ที่โรงงานผลิตหลักของบริษัท คือโรงงานบางกะดี ปริมาณ 2.8 เมกะวัตต์พีก (MWp) ต่อวัน ซึ่งติดตั้งเสร็จสิ้นและเริ่มดำเนินงานเต็มรูปแบบตั้งแต่ ก.พ.ที่ผ่านมา คาดว่าจะลดปริมาณคาร์บอนได้อย่างน้อย 1,700 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี

    5. New Partner & Collaboration เดินหน้าจับมือพันธมิตรใหม่ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อร่วมสร้างประสบการณ์การบริโภคที่แตกต่าง

    เฉลิมพงษ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา ในปี 2568 บริษัทได้ขับเคลื่อนกลยุทธ์ 5 New ไปแล้วหลายด้าน อาทิ การจับมือ Butterbear ทำสินค้าพรีเมียมที่ระลึก การใส่ใจสุขภาพของผู้บริโภค ทั้งการเพิ่มสารอาหารและลดโซเดียมในผลิตภัณฑ์ขนม การออกผลิตภัณฑ์ Limited Edition อย่าง Pocky Rose รวมถึงการจัด Event Marketing อย่างต่อเนื่อง


    โดยหลังจากนี้ ยังมีผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่วิจัยและพัฒนาเสร็จสิ้นแล้ว เตรียมปล่อยออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง อาทิ Pretz รสแกงเขียวหวานไก่ ซึ่งคาดว่าจะวางจำหน่ายในเดือนพฤษภาคมนี้

    สำหรับเป้าหมายการดำเนินธุรกิจในปี 2568 บริษัทตั้งเป้าว่าจะเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจ Overseas ของบริษัท เอซากิ กูลิโกะ (บริษัทแม่กูลิโกะในญี่ปุ่น) ให้ขับเคลื่อนสู่เป้าหมาย 91,000 ล้านเยน หรือเติบโตประมาณ 10% เมื่อเทียบกับปี 2567



ภาพ: ไทยกูลิโกะ

ออกแบบภาพปกโดย: ธัญวดี นิรุตติศาสตร์



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : 137 Degrees จับมือ Butterbear ผสานพลัง ‘สุขภาพ’ และ ‘ความสุข’ มุ่งเป็น Lifestyle Health Brand ของคนรุ่นใหม่

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine