ในอดีตสัดส่วนรายได้ของหนังฮอลลีวูดในเมืองไทยจะอยู่ที่ 70-80 เปอร์เซ็นต์ แต่กระแสความนิยมหนังไทยเริ่มตีตื้นเข้าใกล้หนังฮอลลีวูดชัดขึ้นตั้งแต่ปี 2565 ที่สัดส่วนรายได้หนังไทยกับหนังฮอลลีวูดอยู่ที่ 35:60 และเพิ่มเป็น 44:50 ในปี 2023 ล่าสุดคือแซงหน้าเป็น 54:38 ในปีที่ผ่านมาเป็นครั้งแรก โดยภาพยนตร์ฮอลลีวูดขายบัตรได้ 12.4 ล้านใบ จากจำนวนบัตรทั้งสิ้น 36.7 ล้านใบ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าหนังไทยได้รับการยอมรับเป็น “TOLLYWOOD” (Thailand + Hollywood)
ในปี 2567 จากภาพยนตร์ไทยที่เข้าฉายในโรงทั้งหมด 54 เรื่อง พบว่าจำนวนภาพยนตร์ไทยที่ทำรายได้มากกว่า 100 ล้านบาทมีถึง 8 เรื่อง ได้แก่ ธี่หยด 2 ของ M STUDIO ทำรายได้ 815 ล้านบาท, หลานม่า ของ จีดีเอช 559 ทำรายได้ 339 ล้านบาท, พี่นาค 4 ของไฟว์สตาร์ ทำรายได้ 178 ล้านบาท, อนงค์ ของ M STUDIO ทำรายได้ 150 ล้านบาท, วิมานหนาม ของจีดีเอช 559 ทำรายได้ 150 ล้านบาท, หอแต๋วแตกแหกสัปะหยด ของ M STUDIO ทำรายได้ 130 ล้านบาท, เทอม 3 ของ สหมงคลฟิล์ม ทำรายได้ 122 ล้านบาท และ วัยหนุ่ม 2544 ของ เนรมิตหนัง ฟิล์ม ทำรายได้ 122 ล้านบาท
ส่วนภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดที่ทำรายได้เกิน 100 ล้านบาท ในปี 2567 มีเพียง 4 เรื่อง คือ Dune : Part Two, Deadpool & Wolverine, Inside Out 2 และ Godzilla x Kong : The New Empire
สุรเชษฐ์ อัศวเรืองอนันต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร M STUDIO ให้เหตุผลที่หนังไทยได้รับความนิยมมากกว่าหนังฮอลลีวูด เพราะมีโรงภาพยนตร์เปิดตัวเพิ่มมากขึ้นและขยายไปยังอำเภอหลักๆ ในแต่ละจังหวัด คนไทยสามารถเข้าถึงหนังไทย และยังเปิดใจรับหนังไทยทุกแนว อีกส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะมีหนังฟอร์มยักษ์จากฮอลลีวูดเข้าฉายในตลาดน้อยกว่าปกติในปีที่ผ่านมา
นอกจากนี้คุณภาพหนังไทยสูงขึ้นเรื่อยๆ ทั้งคอนเทนต์ การผลิต ผู้สร้างใช้ความคิดสร้างสรรค์เต็มที่ และใส่ใจในรสนิยมของคนดู ทำให้หนังไทยไม่ได้โตเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังเติบโตอย่างต่อเนื่องในต่างประเทศ ครอบคลุมกว่า 30 ประเทศทั่วโลก ตั้งแต่ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ รัสเซีย สหรัฐอเมริกา แคนาดา บราซิล เปรู โบลิเวีย จนถึงคาซัคสถาน จากที่เดิมมีตลาดหลักอยู่เพียงในภาคพื้นตะวันออกเฉียงใต้เท่านั้น
“คลื่นความนิยมหนังไทยกำลังเริ่มเหมือนหนังเกาหลี เรากำลังเข้าสู่ leading content ในเอเชีย หนังไทยอยู่บน map ของตลาดคอนเทนต์โลกเรียบร้อยแล้ว ดูจากเวลาไปออกบูทต่างประเทศ บูทหนังไทยและหนังเกาหลีมี buyer จากทั่วโลกมาแวะมากที่สุด และมีต่างชาติรวมทั้งจีน ที่ให้ความสนใจมาร่วมมือกับ M STUDIO ผลิตหนังไทยออกสู่ตลาดโลก
“ในปีหน้าเรามั่นใจว่าจะมีการซื้อลิขสิทธิ์หนังไทยไปต่างประเทศมากขึ้น ส่วนในประเทศแม้ปีนี้จะมีหนังฟอร์มยักษ์จากฮอลลีวูดเข้าฉายมากกว่าปีก่อน แต่เราก็หวังว่าจะเป็นอีกปีที่หนังไทย จะมี historical recode อีกครั้ง เพราะธุรกิจภาพยนตร์ต่างจากธุรกิจอื่นๆ ถ้าภาพยนตร์ฮอลลีวูดดี ภาพยนตร์ไทยก็ดีไปด้วย” สุรเชษฐ์บอก
ในปี 2567 คาดว่าทั้งอุตสาหกรรม จะมีการสร้างหนังไทยทั้งหมด 70 เรื่อง เพิ่มจากปี 2565-2567 ที่มีหนังไทยออกสู่ตลาดที่ 42, 53 และ 54 เรื่องตามลำดับ
สุรเชษฐ์ กล่าวว่า ในปีนี้บริษัทได้เตรียมทุ่มงบประมาณ 1,000 ล้านบาท เดินหน้าร่วมทุนกับพันธมิตร ได้แก่ ช่อง 3, Workpoint, Mono Group, Kantana, Karman Line Studio และ Plan B สร้างสรรค์ผลงานภาพยนตร์ไทยอีกกว่า 20 เรื่อง อาทิ ธี่หยด 3, นาคี 3 ผลงานการกำกับของ ออฟ-พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง, อนงค์ 2 ของ เอส-คมกฤษ ตรีวิมล พร้อมนักแสดงนำ จี๋ สุทธิรักษ์ และ โบ เมลดา
มือปืน ผลงานมาสเตอร์พีซกับการมาร่วมค่ายของ พุฒิพงศ์ นาคทอง, A Million ways to love การทำงานร่วมกันระหว่าง บอย โกสิยพงษ์ และ ปิยะกานต์ บุตรประเสริฐ ที่เคยสร้างความประทับใจมาแล้วจากภาพยนตร์ ลอง ลีฟ เลิฟว์!, The Stone พระแท้ คนเก๊ ผลงานการกำกับภาพยนตร์เรื่องแรกของ เป้-อารักษ์ อมรศุภศิริ, สุสานคนเป็น การกลับมาสู่จอภาพยนตร์อีกครั้งของ นุ่น-วรนุช ภิรมย์ภักดี โดยทีมงานสร้างซีรีส์เรื่องสืบสันดาน
นอกจากนี้ยังมี อีเรียมซิ่ง 2, เหมรย 2, ป่าช้าผีแขก, สาปเมือง, Ghost Board, Ring a Bell, Exchange และภาพยนตร์โดย พชร์ อานนท์ หมู่บ้านโคกะโหลก, หอแต๋วแตก แหกหัวกับไส้, นางฟ้าขาแดนซ์ ระเบียบวาทะศิลป์ เป็นต้น
ทั้งนี้ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา M STUDIO ผลิตหนังไทยมากเป็นอันดับหนึ่งถึง 11 เรื่อง โดยปี 2566 ผลิตหนังไทยรวม 4 เรื่อง ได้แก่ เสือเผ่น, อาตมาฟ้าผ่า, ลอง ลีฟ เลิฟว์! และ ธี่หยด และปี 2567 ผลิตหนังไทยรวม 7 เรื่อง ได้แก่ หอแต๋วแตกแหกสัปะหยด, อนงค์, มานะแมน, ศึกค้างคาวกินกล้วย, วัยเป้ง, ธี่หยด 2 และคุณชายน์ เมื่อรวมกับหนังที่รับจัดจำหน่ายด้วยแล้ว ทำรายได้รวมของ M STUDIO อยู่ที่ 1,322 ล้านบาท บริษัทคาดว่าธุรกิจภาพยนตร์ของ M STUDIO จะเติบโต 30-40 เปอร์เซ็นต์ในปีนี้
“M STUDIO จะไม่หยุดพัฒนาเพื่อสร้างการเติบโตให้กับอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยจากจุดที่อยู่ในช่วงเริ่มต้นของความสำเร็จ ให้เติบโตอย่างยั่งยืน อยากทำให้คนไทยไม่ปฏิเสธหนังไทย และมีโอกาสส่งออกไปต่างประเทศมากขึ้น เราอยากให้รัฐบาลช่วยสนับสนุนผู้สร้างหนังไทยทั้งขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ อย่างเท่าเทียม เริ่มจากการสนับสนุนการทำตลาดในระยะสั้น การเข้าถึงแหล่งเงินทุน ในระยะกลาง เพื่อดึงรายใหม่ๆ เข้าสู่อุตสาหกรรม และระยะยาวอยากให้รัฐสนับสนุนการศึกษา สนับสนุนนิสิต นักศึกษาที่อยากจะเข้ามาในอุตสาหกรรมนี้ เพื่อให้มีความเข้าใจเรื่อง commercial art และผลิตคอนเทนต์ได้แข็งแรงเหมือนประเทศอื่นๆ” สุรเชษฐ์กล่าวทิ้งท้าย
Image by rawpixel.com on Freepik
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : ‘หลานม่า’ หนังไทยเรื่องแรก เข้ารอบออสการ์ 15 เรื่องสุดท้าย สาขาภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยม
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine