ผลสำรวจ SCB EIC Residential real estate survey 2566 พบว่า ที่อยู่อาศัยประเภทบ้านเดี่ยวสร้างเองได้รับความสนใจจากผู้ตอบแบบสอบถาม เนื่องจากมีที่ดินเป็นของตนเอง ซึ่งส่วนใหญ่ตั้งงบประมาณสร้างบ้านไม่เกิน 3 ล้านบาท อย่างไรก็ดี ปัจจัยเศรษฐกิจส่งผลต่อการตัดสินใจเลื่อนการสร้างบ้านออกไป สำหรับราคาวัสดุก่อสร้างที่ยังอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้ผู้บริโภคเลือกปรับรูปแบบวัสดุตกแต่งหรือการออกแบบเพื่อคุมงบประมาณ ขณะที่ยังคงการเลือกใช้วัสดุสำหรับงานโครงสร้างไว้ตามเดิม
ผู้ที่สนใจบ้านเดี่ยวสร้างเองส่วนใหญ่ตั้งงบประมาณสร้างบ้านไม่เกิน 3 ล้านบาท ทั้งในทำเลต่างจังหวัด และปริมณฑล ขณะที่ทำเลในกรุงเทพฯ มีสัดส่วนผู้ที่ตั้งงบประมาณสูงกว่า 3 ล้านบาท มากกว่าต่างจังหวัด และปริมณฑล
ปัจจัยทางเศรษฐกิจ ทั้งค่าครองชีพที่ยังอยู่ในระดับสูง ภาระหนี้ครัวเรือน และอัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มปรับสูงขึ้น เป็นแรงกดดันสำคัญต่อการตัดสินใจเลื่อนการสร้างบ้านออกไป โดยเฉพาะกลุ่ม Gen Y และ Gen Z ซึ่งได้รับผลกระทบมากกว่ากลุ่มอื่น เนื่องจากเป็นกลุ่มที่อยู่ระหว่างการสร้างตัว และรายได้ยังไม่สูงมากนัก
ผู้รับเหมาก่อสร้างแต่ละกลุ่มได้รับความสนใจจากผู้สร้างบ้านในระดับราคาบ้านที่ต่างกัน โดยผู้รับเหมาที่รับทั้งงาน โครงสร้างและตกแต่งได้รับความนิยมในกลุ่มบ้านราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท บริษัทรับสร้างบ้านขนาดใหญ่ได้รับความสนใจในกลุ่มบ้านราคา 3-10 ล้านบาท และผู้รับเหมาที่เชี่ยวชาญเฉพาะด้านได้รับความสนใจในกลุ่มบ้านราคามากกว่า 10 ล้านบาท
ผู้สร้างบ้านเองทุกกลุ่มให้ความสำคัญกับราคา และความน่าเชื่อถือของผู้รับเหมาเป็นหลัก ทั้งนี้การแนะนำผู้รับเหมาจากบุคคลใกล้ชิดยังคงเป็นช่องทางที่ได้รับความนิยมสูงสุดในทุกช่วงอายุ ขณะที่การค้นหาผู้รับเหมาก่อสร้างผ่านช่องทางออนไลน์ได้รับความสนใจจาก Gen Y และ Gen Z มากกว่ากลุ่มอื่น
สำหรับการเลือกซื้อวัสดุก่อสร้าง ผู้บริโภคส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับคุณภาพของผลิตภัณฑ์เป็นหลัก ทั้งวัสดุก่อสร้างสำหรับงานโครงสร้างและงานตกแต่ง ขณะที่ส่วนใหญ่มีส่วนร่วมในการเลือกซื้อวัสดุก่อสร้างสำหรับงานตกแต่ง โดยร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ที่มีสาขาทั่วประเทศเป็นช่องทางการเลือกซื้อหลัก เนื่องจากความหลากหลายของสินค้า
แนวโน้มราคาวัสดุก่อสร้างที่ยังอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้ผู้ที่มีแผนสร้างบ้านปรับตัวในการเลือกซื้อวัสดุก่อสร้างแต่ละชนิดที่แตกต่างกัน โดยส่วนใหญ่เลือกปรับรูปแบบวัสดุตกแต่งหรือการออกแบบเพื่อคุมงบประมาณไว้ตามเดิม ขณะที่ยังคงการเลือกใช้วัสดุสำหรับงานโครงสร้างไว้ตามเดิม โดยปรับเพิ่มงบประมาณ
วัสดุก่อสร้างตามเมกะเทรนด์ต่างๆ เช่น การประหยัดพลังงาน การใส่ใจสุขภาพ และเทรนด์รักษ์โลก ได้รับความสนใจจากผู้ที่มีแผนสร้างบ้านเอง โดยส่วนใหญ่ยอมจ่ายเงินเพิ่มขึ้นราว 1-5% ขณะที่การติดตั้งโซลาร์เซลล์พร้อมกับสร้างบ้านได้รับความสนใจจากผู้สร้างบ้านราคาสูงกว่า 5 ล้านบาท สำหรับการสร้างบ้านโครงสร้างสำเร็จรูป (Prefab และ Modular) ได้รับความสนใจจากกลุ่มที่ตั้งงบก่อสร้างไม่เกิน 3 ล้านบาท รวมถึงการต่อเติมบ้านในอนาคต
SCB EIC มองว่า ผู้ประกอบการใน Supply chain ตลาดรับสร้างบ้านควรมีการปรับกลยุทธ์ให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภค รวมถึงเมกะเทรนด์ต่างๆ โดยมีแนวทางดังนี้
การปรับกลยุทธ์ของผู้รับเหมาก่อสร้างให้สอดคล้องตามความต้องการของกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย อาทิ ผู้รับเหมาก่อสร้างรายกลางและเล็ก จะต้องให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการต้นทุนเป็นหลัก ซึ่งสอดคล้องกับกลุ่มลูกค้าที่ให้ความสำคัญกับการควบคุมค่าใช้จ่าย ขณะที่ผู้รับเหมาก่อสร้างรายใหญ่ควรเน้นกลยุทธ์ทำการตลาดในพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑล และหัวเมืองท่องเที่ยว ควบคู่กับการนำเสนอบริการใหม่ๆ เพิ่มเติม ตามความต้องการของกลุ่มลูกค้าที่มองหาบริการที่ครบวงจร
ร้านค้าปลีกวัสดุก่อสร้างควรปรับกลยุทธ์ในการเพิ่มความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ตกแต่ง ทั้งรูปแบบ และระดับราคา เพื่อให้สามารถตอบโจทย์ลูกค้าได้ในทุกกลุ่มที่มีความยืดหยุ่นในการปรับรูปแบบ และวัสดุก่อสร้างสำหรับงานตกแต่ง โดยผู้ประกอบการค้าปลีกขนาดเล็กในท้องถิ่นควรให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการต้นทุนควบคู่ไปด้วย
การพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ของผู้ผลิตวัสดุก่อสร้างเพื่อรองรับเมกะเทรนด์ เช่น บ้านประหยัดพลังงาน ความใส่ใจสุขภาพ วัสดุก่อสร้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จะช่วยเพิ่มโอกาสในการสร้างฐานลูกค้า รวมถึงช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับแบรนด์ด้วย
การให้ความสำคัญกับการสร้างการรับรู้และความเข้าใจ ของประโยชน์และการบำรุงรักษาบ้านแบบโครงสร้างสำเร็จรูป (Prefab และ Modular) เป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการในการขยายตลาดการก่อสร้าง และต่อเติมบ้านรูปแบบดังกล่าวในอนาคตมากขึ้น
การสร้างความร่วมมือระหว่างผู้รับเหมาก่อสร้าง และผู้ประกอบธุรกิจรับติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ เพื่อนำเสนอการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ พร้อมกับการสร้างบ้าน จะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคได้มากขึ้น
อ่านเพิ่มเติม :
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine