เปิดแผน ‘ฤทธิ์ ธีระโกเมน’ แห่ง MK เตรียมดึงร้านอาหารญี่ปุ่นเข้าไทยปีนี้ ขยายพอร์ต เปิดร้านเพิ่ม ดันฝัน 1,000 สาขา - Forbes Thailand

เปิดแผน ‘ฤทธิ์ ธีระโกเมน’ แห่ง MK เตรียมดึงร้านอาหารญี่ปุ่นเข้าไทยปีนี้ ขยายพอร์ต เปิดร้านเพิ่ม ดันฝัน 1,000 สาขา

เปิดแผน “ฤทธิ์ ธีระโกเมน” ผู้สร้างตำนาน “เอ็มเคสุกี้” เมืองไทย จากแบรนด์เดี่ยวสู่มัลติแบรนด์ เตรียมต่อยอดขยายธุรกิจทั้งแนวตั้งและแนวนอน ดันฝัน 1,000 สาขา ก่อนส่งไม้ต่อทายาทอีก 2-3 ปี


    ร้านสุกี้เอ็มเคสาขาแรกเปิดขึ้นมาที่ชั้นล่างตรงหัวมุมศูนย์การค้าเซ็นทรัล ลาดพร้าว เมื่อ 38 ปีก่อน ด้วยเป้าหมายเพียงแค่จะมีร้านสุกี้ดีๆ สักร้าน ดูแลลูกค้าอย่างดีที่สุด เพื่อให้ลูกค้าพึงพอใจสูงสุดเท่านั้น

    แต่ทำไปทำมา จำนวนสาขาของเอ็มเคสุกี้ก็ได้ขยายไปถึง 100 สาขาในเวลาเพียงไม่กี่ปี และคำถามที่ผู้บริหารถูกถามตลอดเวลาว่า เอ็มเคสุกี้จะไปได้ถึงกี่ร้อยสาขา

    จากการเปิดตัวของแบรนด์อาหารใหม่ๆ โดยเฉพาะประเภทอาหารที่ลักษณะคล้ายเอ็มเคอย่างต่อเนื่อง หลายคนตั้งคำถามว่า สุกี้อย่างเอ็มเข้าสู่ยุคขาลงหรือยัง วันนี้ “ฤทธิ์ ธีระโกเมน” ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป จำกัด ในวัย 73 ปีกับประสบการณ์ทำเอ็มเคสุกี้มากว่า 4 ทศวรรษ มีคำตอบพร้อมแผนการต่อยอดการเติบโตของเอ็มเคอย่างชัดเจน

ฤทธิ์ ธีระโกเมน


    “เมื่อก่อนธุรกิจของเอ็มเค เป็นธุรกิจอาหารแบรนด์เดี่ยว และหันมาขยายเป็นมัลติแบรนด์ ที่ทำให้บริษัทเติบโตได้ต่อเนื่องในหลายปีที่ผ่านมา ตอนนี้เรามีอาหาร 3 แบรนด์ คือ เอ็มเค ยาโยอิ และแหลมเจริญ โควิดทำให้การโตในไทยลดลง จึงเป็นโอกาสให้เราได้คิดถึงการขยายตลาดต่างประเทศมากขึ้น เรากำลังจะนำแบรนด์ที่ 4 ที่ 5 ที่ 6 เข้ามาในพอร์ตของเราในปีนี้ มีทั้งแบรนด์ที่เราจะซื้อแฟรนไชส์เข้ามา และแบรนด์ที่เราจะร่วมลงทุนด้วย หรือแม้แต่ซื้อกิจการภายใต้งบ 200 ล้านบาท” ฤทธิ์ระบุ

    แบรนด์แรกที่จะเข้ามาในพอร์ตเดือนตุลาคมนี้ เป็นแบรนด์จากประเทศญี่ปุ่น ที่ทางกลุ่มเอ็มเคมีความคุ้นชินเป็นอย่างดี เพราะปัจจุบันมีสาขาเอ็มเคที่นั่นถึง 25 สาขาแล้ว

    “การเปิดแบรนด์ใหม่จากญี่ปุ่น จะทำให้ภาพของธุรกิจอาหารของเอ็มเควัยรุ่นขึ้นกว่าเดิม ด้วยทีมคนรุ่นใหม่ดูแล จะมีการ re-shape การตกแต่งร้าน ภาชนะที่ใช้และเมนู เราอยากให้สัดส่วนลูกค้าที่เป็นคนรุ่นใหม่เพิ่มขึ้นเป็น 1 ใน 3 ของพอร์ต จากปัจจุบันแค่ 20% ตอนนี้ลูกๆ ได้เข้ามาช่วยดูแลธุรกิจมา 10 ปีกว่าแล้ว ผมอายุ 73 ปีแล้ว อาจจะวางมืออีก 2 ปี แต่วางมือแบบ 100% หรือเปล่า ยังไม่ทราบเหมือนกัน” ฤทธิ์บอกพร้อมหัวเราะ

    “ขณะนี้เรามีร้านอาหารทั้งหมด 695 สาขา ในปีที่แล้ว เอ็มเค 450 สาขา ยาโยอิ 200 สาขา และแหลมเจริญ 45 สาขา ร้านอาหารในกลุ่มเอ็มเคมีศักยภาพที่จะไปถึง 1,000 สาขาตั้งแต่หลายปีมาแล้วถ้าเราไม่เจอโควิดเสียก่อน ธุรกิจร้านอาหารในไตรมาสแรกกำลังซื้อหดตัว แม้จะได้อานิสงส์จากนักท่องเที่ยวก็ตาม ทั้งนี้อาจเพราะหนี้ครัวเรือน

    ในครึ่งปีหลังไม่แน่ใจตลาดจะฟื้นตัวหรือไม่ เรารอการเบิกจ่ายใช้งบประมาณของรัฐ มาตรการบางอย่างอาจจะช่วยกระตุ้นได้ อย่างไรก็ตาม เรายังคงเดินหน้าขยายสาขาใหม่แบบ full plan ต่อไป”


    เขาบอกต่อว่า เอ็มเคจะกลับมาขยายสาขาใหม่อีก 15-20 สาขาในประเทศปีนี้ และจะเปิดสาขาแหลมเจริญในเมืองไทยอีก 10 สาขา ส่วนยาโยอิจะเปิดอีก 15 สาขา ทั้งหมดจะใช้เงินลงทุนราว 350-400 ล้านบาทปีนี้

    ส่วนต่างประเทศทางกลุ่มได้เริ่มเปิดร้านแหลมเจริญในมาเลเซีย 3 แห่งแล้ว และจะเปิดอีก 5 แห่งในปีหน้า คาดว่าจำนวนสาขาของแหลมเจริญในต่างประเทศน่าจะเปิดได้อีก 50 สาขาในอีก 3 ปีข้างหน้า

    ฤทธิ์บอกว่า โอกาสเปิดร้านซีฟู้ดแบบไทยๆ มีเยอะในมาเลเซียและประเทศอื่นๆ เพราะไม่มีใครเหมือนแหลมเจริญ ประเทศที่มีโอกาสขยายในอนาคต ได้แก่ ตะวันออกกลาง ญี่ปุ่น อเมริกา จีน ญี่ปุ่น และเกาหลี

    นอกจากเปิดสาขาใหม่ๆ แล้ว บริษัทยังลงทุนอีก 60-100 ล้านบาทสร้างโรงงานผลิตปลากะพงแช่แข็งในกรุงเทพฯ ภายหลังโรงงานปลากะพงเปิดดำเนินการในอีก 1 ปีข้างหน้า กำลังการผลิตจะเพิ่มจากวันละ 1,000-1,500 ตัว เป็น 15,000 ตัว รองรับการขยายตัวของธุรกิจ B2B ทั้งในประเทศและต่างประเทศ และการขยายสาขาใหม่ในอนาคต

    นอกจากนี้บริษัท เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป จำกัด ยังได้ขยายพอร์ตมาทำธุรกิจอาหารเภทอื่นๆ กว่า 30 รายการจำหน่ายในช่องทางร้านอาหารของตนเองและร้านค้าปลีกสมัยใหม่รวมทั้งที่เซเว่น อีเลฟเว่น คอนวีเนียนสโตร์ ภายใต้บริษัท มาร์ค วัน อินโนเวชั่น เซ็นเตอร์ จำกัด

    นอกจากอาหารขบเคี้ยว นม เครื่องปรุงรส ที่ถูกพัฒนาขึ้นภายใต้คอนเซ็ปต์ Healthy For You ซึ่งเป็นรากฐานการทำธุรกิจของบริษัทแล้ว เอ็มเคได้เพิ่มโอกาสการทานสินค้าในทุกๆ โอกาส ตั้งแต่ทานที่ร้าน ทานที่บ้าน และทานบนรถ ด้วยการวางตลาดน้ำจิ้มสุกี้เอ็มเคสู่ตลาด 4-5 เดือนที่ผ่านมา เป็นน้ำจิ้มสุกี้ที่ยูนีค ไม่มีใครเหมือน


    “น้ำจิ้มในตลาดมีเยอะมาก แต่ต่างคนต่างขาย เราเข้ามาในตลาดนี้เพราะกำไรดี เชื่อมั้ย?..ลูกค้าใช้ซอสเราจิ้มกับสินค้าสารพัดประเภท เราจะเริ่มส่งออกน้ำจิ้มสุกี้ไปยังซูเปอร์มาร์เก็ตในประเทศที่มีคนไทย และหวังว่าลูกค้าจะทานน้ำจิ้มสุกี้ของเรากับอะไรก็ได้เหมือนแมกกี้และคิโคแมน คาดว่ารายได้น้ำจิ้มสุกี้น่าจะได้ 300 ล้านปีนี้ และเพิ่มเท่าตัวเป็น 600 ล้านปีหน้าถ้าเริ่มส่งออก” ฤทธิ์กล่าว

    เขายังบอกอีกว่า รายได้เอ็มเคอยู่ที่ 16,000-17,000 ล้านบาท และตั้งเป้าเติบโต 10% ปีนี้ ซึ่งจะเป็นรายได้ที่มากกว่าที่เคยทำได้ในช่วงก่อนโควิด โดยรายได้ทั้งหมดส่วนใหญ่มาจากในประเทศ ส่วนต่างประเทศไม่รวมญี่ปุ่นยังน้อยกว่า 100 ล้านต่อปี

    เอ็มเคกรุ๊ปจะขยายตลาดส่งออกมากขึ้น ด้วยการออกบูธ “MK Group” ใน THAIFEX - Anuga Asia 2024 เป็นครั้งแรก นำเสนอความหลากหลายของธุรกิจในเครือ พร้อมกับโซลูชันด้านอาหารครบวงจร ตอบโจทย์ทุกความต้องการของธุรกิจทุกประเภท ครอบคลุมตั้งแต่ B2B ไปจนถึงการค้าปลีก และการส่งออก


    นับเป็นครั้งแรกที่ผู้มาร่วมงานจะได้สัมผัสกับหน่วยธุรกิจใหม่ของ MK Group โดยมีไฮไลต์ที่สำคัญอย่าง การเปิดรับคู่ค้าขยายแฟรนไชส์แบรนด์ร้านอาหารไทยสู่ต่างประเทศ ผลิตภัณฑ์นวัตกรรมเพื่อสุขภาพ บริการด้านโลจิสติกส์แบบครบวงจรสำหรับธุรกิจทุกประเภท ล้วนแสดงให้เห็นว่าธุรกิจของ MK Group ในวันนี้มีมากกว่าแค่ร้านอาหาร



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : เขย่าตลาดสมูทตี้เมืองไทย โอ้กะจู๋เปิดตัว ‘Oh! Juice’ สาขาแรกที่เซ็นทรัล ลาดพร้าว

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine