‘ไทวัสดุ’ ในเครือ CRC จุดพลุรายได้ปี 66 ทะลุ 4 หมื่นล้าน วางเป้า 5 ปีกวาดรายได้ 7 หมื่นล้าน - Forbes Thailand

‘ไทวัสดุ’ ในเครือ CRC จุดพลุรายได้ปี 66 ทะลุ 4 หมื่นล้าน วางเป้า 5 ปีกวาดรายได้ 7 หมื่นล้าน

บริษัท ซีอาร์ซี ไทวัสดุ จำกัด ในเครือเซ็นทรัล รีเทล ผู้ดำเนินธุรกิจค้าปลีกวัสดุก่อสร้างและสินค้าตกแต่งบ้าน ภายใต้แบรนด์ไทวัสดุ และบีเอ็นบี โฮม เผยความสำเร็จจากปี 2566 ยอดขายทะลุเป้ากว่า 40,000 ล้านบาท ด้วยงบลงทุนรวม 7,000 ล้านบาท


    สุทธิสาร จิราธิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีอาร์ซี ไทวัสดุ จำกัด ในเครือเซ็นทรัล รีเทล กล่าวว่า ปี 2566 นับเป็นปีแห่งความสำเร็จของซีอาร์ซี ไทวัสดุ ที่มียอดขายรวมโตสูงสุด 40,000 ล้านบาท จากการดำเนินธุรกิจตลอด 14 ปีที่ผ่านมา ภายใต้งบลงทุนกว่า 7,000 ล้านบาท มีอัตราการเติบโตต่อปีที่ 11%

    โดยนอกจากความสำเร็จในเชิงรายได้แล้ว ยังได้มุ่งเร่งแผนการขยายสาขาไทวัสดุ และบีเอ็นบี โฮมทุกฟอร์แมตถึง 14 สาขา ภายในปีเดียว ถือว่าเป็นปรากฏการณ์การเติบโตที่สวนกระแสเศรษฐกิจ ทำให้ภาพรวมมีจำนวนสาขาถึง 90 แห่ง ครอบคลุม 47 จังหวัดทุกภูมิภาค

    ในภาพของการเติบโตของช่องทางการขายออนไลน์ตั้งแต่ปี 2563-2566 ที่ได้รับแรงผลักดันต้องปรับตัวจาก วิกฤต COVID 19 และ Digital Disruption ก่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภค จึงทำให้เร่งพัฒนาระบบ E-Commerce เพื่อขายสินค้าและให้บริการผ่านช่องทางออนไลน์เต็มรูปแบบทุกช่องทาง พัฒนาเพื่อสร้างประสบการณ์การช็อปปิ้งแบบไร้รอยต่อ ซึ่งมียอดขายพุ่งแตะระดับ 1,400 ล้านบาท ภายในเวลา 4 ปี อัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี (CAGR) ถึง 145% มีลูกค้าใหม่ที่ช็อปออนไลน์มากกว่า 5,000 คน/เดือน ครองใจลูกค้าเดิมให้มีการซื้อซ้ำถึง 60% และซื้อเฉลี่ย (basket size) สูงขึ้น 12%YoY

    โดยจำนวนลูกค้าในภาพรวมที่ซื้อทั้งหน้าร้านและออนไลน์ (Omnichannel Customers) เติบโตสูงขึ้น 46%YoY จากตัวเลขดังกล่าวช่วยการันตีได้ว่าในทุกช่องทางการขายสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน

    สุทธิสาร กล่าวเพิ่มเติมว่า จากความสำเร็จที่ผ่านมา ซีอาร์ซี ไทวัสดุ ได้ดำเนินธุรกิจและยึดมั่น Core value ในด้านของราคา และคุณภาพเป็นหลัก ภายใต้แนวคิด Low-Cost Business Model โดยมี 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่

    1) Adequate Staff การจัดจ้างพนักงานในจำนวนที่เหมาะสมกับขนาดของแต่ละพื้นที่สาขา และพัฒนาบุคลากรอย่างต่อเนื่อง

    2) No Fancy Decor การตกแต่งสาขาเรียบง่าย และการจัดวางดิสเพลย์ที่เน้นใช้งานได้จริง

    3) Big Volume Order การซื้อและจัดหาสินค้าที่เน้น Volume สูง เพื่อให้ได้ต้นทุนต่ำ แต่ยังคงคุณภาพที่ดีทำให้ลูกค้าได้ซื้อสินค้าในราคาที่คุ้มค่าและถูกกว่าที่อื่น

    นอกจากนี้ ยังได้มีการพัฒนาขีดความสามารถด้านปฏิบัติการ (In-House Operations) ด้วยความเชี่ยวชาญของบุคลากร เพื่อช่วยลดต้นทุนภายในองค์กร ไม่ว่าจะเป็นด้านการบริหารจัดการขนส่ง (Own Transport Fleet) ด้านการออกแบบ (Store Design) และการมีบุคลาการทางด้านไอที (IT Management) เพื่อพัฒนาซอฟต์แวร์ที่ใช้ภายในองค์กร ทำให้ลดการพึ่งพาจากหน่วยงานภายนอก ส่งผลดีต่อลูกค้าที่สามารถเลือกซื้อสินค้าได้ในราคาย่อมเยา

    ในส่วนของการยกระดับประสบการณ์ช็อปให้ตรงใจลูกค้า Customer Oriented Category Development ด้วยการเพิ่มไลน์สินค้า และบริการเฉพาะทางให้ตอบโจทย์ทุกไลฟ์สไตล์เรื่องงานช่างและเรื่องบ้านได้อย่างสมบูรณ์มากขึ้น ตรงตามกระแส อาทิ Solar World กลุ่มสินค้าโซลาร์เซลล์ที่ครบครันในทุกฟังก์ชันคุณภาพมาตรฐาน Tier 1 พร้อมแพ็คเกจติดตั้ง

    โซนเฟอร์นิเจอร์โฉมใหม่แบรนด์ CALINA ที่ยกระดับความหลากหลายสำหรับทุกห้องภายในบ้าน เน้นคอนเซ็ปต์ DIY Wardrobe ที่มีบริการออกแบบ 3D ให้ลงตัวตามพื้นที่และงบประมาณ

    Bike Shop โซนจักรยานเพื่อทุกคนในครอบครัวที่รักการออกกำลังกาย Consumer Electrics แผนกสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าแบรนด์ชั้นนำ Line up Range ครบทุกขนาดและฟังก์ชั่น บนพื้นที่ดิสเพลย์กว่า 1,000 ตร.ม. และ Construction Showroom ที่ไทวัสดุเป็นเจ้าแรกในวงการที่จัดทำห้อง Construction Showroom เพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ในการเลือกซื้อสินค้าโครงสร้างขนาดใหญ่ให้เป็นเรื่องง่าย โดยได้รวบรวมสินค้าจริงกว่า 5,000 รายการ จัดดิสเพลย์ตัวอย่างวัสดุ ข้อมูลสินค้าเชิงลึก และโซลูชั่นต่างๆ ในพื้นที่กว่า 450 ตร.ม.

    รวมถึงการพัฒนาช่องทาง Omnichannel ยังถือเป็นหัวใจหลัก เพื่อให้การเลือกซื้อและจับจ่ายสินค้าได้หลากหลายตอกย้ำการเป็นตัวจริงเรื่อง O2O (Online-to-Offline) ผสานทั้งจุดแข็งของออฟไลน์ และความสะดวกสบายของออนไลน์ไว้ด้วยกัน


    สำหรับทิศทางสร้างการเติบโตของไทวัสดุในปี 2567 นี้ ยังคงขับเคลื่อนการปูพรมขยายสาขาทุกภูมิภาคทั่วไทย (Ambitious Expansion) ภายใต้แบรนด์แบรนด์ไทวัสดุ และบีเอ็นบี โฮม ตั้งเป้าขยายทุกโมเดล ทั้ง Red Format รูปแบบมาตรฐาน, Hybrid Format (White Format) และ Blue Format ขนาดเล็ก เจาะกลุ่มผู้รับเหมารายย่อย รวมทั้งสิ้น 103 แห่ง บนพื้นที่ขายรวมกว่า 1,400,000 ตร.ม.

    ทั้งนี้ แผน 5 ปี (2567-2571) ได้มุ่งเป้าหมายตอกย้ำความเป็นผู้นำอันดับ 1 ในธุรกิจค้าปลีกวัสดุก่อสร้างและสินค้าตกแต่งบ้านอย่างครบวงจร “No.1 Omnichannel DIY Home Retailer ตั้งเป้าส่วนแบ่งการตลาดด้วยยอดขาย 70,000 ล้านบาท และอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี (CAGR) อยู่ที่ 12% เหนือการเติบโตของตลาดในภาพรวม โดยมี 3 กลยุทธ์สำคัญที่จะช่วยนำไทวัสดุเดินหน้าสู่ความสำเร็จได้อย่างยั่งยืน 3 เรื่องหลักๆ คือ

    1) Hybrid Format (White Format) เมื่อปี 2564 ได้สร้างปรากฏการณ์ครั้งสำคัญของวงการธุรกิจค้าปลีก ในการผู้นำรายแรกเปิดตัว New Store Model รูปแบบ Hybrid Format (White Format) โดยผนึกจุดแข็งของแบรนด์ไทวัสดุ และบีเอ็นบี โฮม ให้เป็นศูนย์รวมสินค้าวัสดุก่อสร้าง อุปกรณ์งานช่าง เครื่องใช้ไฟฟ้า สินค้าเพื่อบ้าน ของตกแต่ง และซ่อมแซมบ้าน สามารถตอบโจทย์ทุกกลุ่มลูกค้าทั้งผู้รับเหมา ช่าง และเจ้าของบ้าน

    ด้วยพื้นที่กว่า 20,000 ตร.ม. รวบรวมสินค้ามากถึง 50,000 รายการ และยังเป็นกุญแจสำคัญในการเพิ่มยอดขายได้ถึง 30% โดย ณ สิ้นปี 2567 จะมีสาขารวมทั้งสิ้น 16 สาขา ได้แก่ ศรีสมาน, บางแสน, รังสิต คลอง 4, ภูเก็ต ฉลอง, เมืองเอก, สมุทรปราการ, เชียงใหม่ สันทราย, บางใหญ่ ,นครอินทร์, อุดรธานี กุดสระ, พระราม 3 , บางนา, บางบัวทอง, สุขาภิบาล 3, ภูเก็ต และขอนแก่น

    2) Outperforming Online Shopping ยกระดับการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อช่วยให้การช็อปปิ้งออนไลน์ไม่มีสะดุด โดยเฉพาะการพัฒนาฟีเจอร์ (Feature) ที่มีความเป็น Unique only at Thaiwatsadu ที่เดียวเท่านั้นผ่านเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชั่น ไม่ว่าจะเป็น การอัพเดตราคาเหล็กออนไลน์รายวัน สั่งซื้อได้ทันที, ลูกค้าและผู้รับเหมาสามารถเลือกซื้อสีผสมทาอาคารกว่า 20,000 เฉดสีได้ด้วยตัวเอง, โปรแกรมสำเร็จรูปที่ช่วยให้การคำนวนผ้าม่านสั่งตัดเป็นเรื่องง่าย พร้อมมีบริการติดตั้ง

    ทั้งนี้ จากการเสริมความแข็งแกร่งด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล คาดว่าจะช่วยเพิ่มยอดขายในช่องทางออนไลน์ได้ไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านบาท ภายในปี 2571

    3) Supply Chain Movement เป็นผู้นำเจ้าแรกในวงการธุรกิจค้าปลีกวัสดุก่อสร้าง เปิดตัวการใช้รถบรรทุกพ่วงแม่ลูกพลังงานไฟฟ้า (EV Truck) เข้ามาใช้ในการขนส่งสินค้า รองรับการเติบโตของธุรกิจ โดยในปี 2567 จะเพิ่มจำนวนรวม 80 คัน คิดเป็น 32% จากรถขนส่งทุกประเภททั้งหมด ขนส่งสินค้าได้มากกว่า 700,000 พาเลท ช่วยลดการปล่อยก๊าซ CO2 ถึง 7,000 ตัน ทั้งนี้ แม้ว่าต้นทุนราคารถพ่วง EV Truck จะสูงกว่ารถบรรทุกดีเซล แต่ในระยะยาวจะสามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายเชื้อเพลิง และการดูแลเครื่องยนต์ลดลงได้ถึง 16% ต่อปี



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : 'เซ็นทรัล รีเทล' เผยไตรมาส 1/67 รายได้ 67,255 ล้านบาท โต 6% กำไรฯ พุ่ง 14% เดินหน้าธุรกิจเวียดนาม

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine