จากกระแสดราม่าของธุรกิจแฟรนไชส์ 'Subway' ในประเทศไทยที่หลายคนกำลังพูดถึงอยู่ในขณะนี้ Forbes Thailand จะพาย้อนรอยไปดูต้นกำเนิดของแบรนด์แซนด์วิชแท่งยาวขนาดใหญ่ที่สร้างความแตกต่างจากแบรนด์อื่นด้วยรูปทรงที่ดูคล้ายกับเรือดำน้ำ ซึ่งนั่นคือที่มาของชื่อแบรนด์ Pete's Super Submarines ในยุคแรกช่วงบุกเบิกก่อนที่จะมีการเปลี่ยนมาเป็นชื่อ Subway ในภายหลังจนกลายเป็นแบรนด์ดังระดับโลกนั่นเอง
ประวัติความเป็นมาอันยาวนานหลายทศวรรษของธุรกิจแฟรนไชส์ แซนด์วิชแบรนด์ดังอย่าง Subway ที่มีการขยายสาขาไปมากมายหลายแห่งในเกือบทั่วทุกมุมโลก มีจุดเริ่มต้นขึ้นในเดือนสิงหาคม ปี 1965 เมื่อ Fred DeLuca เด็กชายชาวอิตาลี วัย 17 ปี ที่กำลังเรียนอยู่ชั้นมัธยมปลาย ในเมืองบริดจ์พอร์ต รัฐคอนเนตทิคัต สหรัฐอเมริกา มีความทะเยอทะยานอยากที่จะเข้าเรียนต่อในโรงเรียนแพทย์ แต่ด้วยเงินทุนของครอบครัวที่มีอยู่อย่างจำกัด เขาจึงได้รับการช่วยเหลือจาก Dr. Peter Buck นักฟิสิกส์นิวเคลียร์ ซึ่งเป็นเพื่อนของพ่อแม่ ด้วยการสนับสนุนเงินทุนจำนวน 1,000 เหรียญสหรัฐ จากการกู้ยืมมา พร้อมไอเดียในการทำธุรกิจเปิดร้านขายแซนด์วิชแท่งยาวที่มีรูปทรงคล้ายเรือดำน้ำ และนั่นจึงเป็นที่มาของชื่อแบรนด์ 'Pete's Super Submarines' ในช่วงแรกที่เริ่มต้นบุกเบิกธุรกิจ
ด้วยคอนเซ็ปต์แนวคิดในการบริการเสิร์ฟแซนด์วิชแท่งยาวให้แก่ลูกค้าโดยสามารถเลือกชนิดและขนาดของขนมปัง พร้อมทั้งเลือกใส่เนื้อสัตว์และผักหลากหลายชนิดได้ตามใจชอบ และเลือกผสมซอสได้ตามใจต้องการ ถือเป็นความแปลกใหม่และแตกต่างเป็นอย่างมากหากเทียบกับแบรนด์ร้านอาหาร Fast Food ทั่วไปในยุคนั้น ทั้ง Fred และ Peter ต่างต้องช่วยกันทำงานอย่างหนักเพื่อทำให้ธุรกิจของตนเองเป็นที่รู้จักและดึงดูดใจลูกค้า แต่ทว่าก็กระแสตอบรับจากกลุ่มลูกค้าในช่วงแรกก็ยังไม่ค่อยดีมากนักอันเป็นผลมาจากจุดอ่อนด้านทำเลที่ตั้งหรือ location ของร้านที่อยู่ในตำแหน่งไม่ค่อยดี
ถัดมาในปี 1968 Fred และ Peter ได้ตัดสินใจเปลี่ยนชื่อใหม่ให้สั้นลงเป็น 'Subway' แต่ยังคงตอกย้ำความเป็นเอกลักษณ์ของสินค้าและบริการที่วางไว้อย่างชัดเจนตั้งแต่เริ่มต้น ด้วยการนำเทคโนโลยีนวัตกรรมของเครื่องปิ้งขนมปังมาทำให้แซนด์วิชมีความร้อน กรอบนอก นุ่มใน ซึ่งแตกต่างจากแซนด์วิชแบบเย็นธรรมดาทั่วไป การเปลี่ยนชื่อแบรนด์ในครั้งนี้ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของธุรกิจเพราะช่วยกระตุ้นให้ลูกค้ากลุ่มเป้าหมายสามารถจดจำแบรนด์ได้เป็นอย่างดี อีกทั้งคำว่า 'Subway' ยังทำให้หลายๆ คนนึกถึงการเดินทางจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่งได้อย่างรวดเร็ว ถือเป็นแนวคิดที่สอดคล้องกับคอนเซ็ปต์แบรนด์ที่ทำธุรกิจ Fast Food อาหารจานด่วนอีกด้วย
เมื่อธุรกิจเริ่มขยายการเติบโตได้ดี Subway ก็เริ่มเปิดขายระบบแฟรนไชส์ให้แก่เหล่าผู้ที่สนใจอยากมีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าของธุรกิจแซนด์วิช โดย แฟรนไชส์ของ Subway แห่งแรกได้เปิดดำเนินการขึ้นในปี 1974 ณ เมืองวอลลิงฟอร์ด รัฐคอนเนตทิคัต หลังจากนั้นธุรกิจแฟรนไชส์แบรนด์นี้ก็กลายเป็นหนึ่งในแฟรนไชส์ที่เติบโตเร็วที่สุดในสหรัฐอเมริกา
ต่อมาในปี 1984 นี่คือยุคที่ Subway เริ่มขยายธุรกิจออกไปปักหมุดยังต่างประเทศ โดยสาขาแรกของ Subway ที่ตั้งอยู่นอกพื้นที่สหรัฐอเมริกา ก็คือประเทศบาห์เรน หลังจากนั้นธุรกิจแฟรนไชส์ของแซนด์วิช Subway ก็ได้ขยายตัวไปในหลากหลายประเทศทั่วโลก และจากแผนการขยายตัวในระดับสากล ทางบริษัทยังได้ตระหนักถึงความจำเป็นในการตอบโจทย์ผู้บริโภคในแต่ละประเทศด้วยการปรับเมนูหรือวัตถุดิบที่ใส่ลงไปในแซนด์วิชให้เข้ากับรสนิยมความชอบของผู้คนในแต่ละท้องถิ่น ยกตัวอย่างเช่น ในประเทศอินเดีย Subway ได้แนะนำตัวเลือกอาหารมังสวิรัติหลากหลายประเภทเพื่อเอาใจกลุ่มคนที่กินมังสวิรัติเป็นหลัก ขณะที่ประเทศญี่ปุ่น ก็มีการนำเสนอเมนูแซนด์วิชซูชิปลาดิบ เป็นต้น
ยุคทองของ Subway ตลอดช่วงทศวรรษในปี 1980-1990 ธุรกิจมีการขยายสาขาเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก โดยในปี 1994 Subway มีจำนวนสาขาทั้งสิ้น 10,000 สขาทั่วโลก ถัดมาในปี 2004 มีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 25,000 สาขา และในปี 2015 ก็มีการขยายตัวในระดับพีคสุดถึง 44,000 สาขาทั่วโลก
ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไปส่งผลกระทบต่อเนื่องให้พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย ประกอบกับผู้บริโภคมีทางเลือกจากร้านอาหารใหม่ๆ หลากหลายสไตล์ให้เลือกมากขึ้นกว่าเดิม เหล่าบรรดาธุรกิจแฟรนไชส์ซึ่งเป็นสาขาของ Subway ที่เคยผุดขึ้นทั่วเมืองราวกับดอกเห็ดก็เริ่มทยอยลดลงมาเรื่อยๆ จนเหลืออยู่แค่ราวๆ 36,000 สาขาทั่วโลกในปี 2024 ถือเป็นตัวเลขที่ลดลงอย่างมากเมื่อเทียบกับจำนวนสาขาที่เคยมีมากที่สุดในปี 2015
แต่ทั้งนี้ จากข้อมูลของ ScrapeHero บริษัทรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลสัญชาติอเมริกัน ในปี 2023 ยังได้ระบุด้วยว่า Subway คือเชนฟาสต์ฟู้ดแบรนด์ดังที่มีจำนวนสาขามากที่สุดในสหรัฐฯ ถึง 20,603 สาขา กระจายอยู่ 53 เมืองทั่วประเทศ ส่วนในระดับโลก Subway มีจำนวนสาขารวมทั้งสิ้น 36,592 สาขา ถือเป็นแบรนด์ฟาสต์ฟู้ดที่มีสาขามากที่สุดทั่วโลกในอันดับ 2 รองจากอันดับ 1 อย่าง Mcdonald ที่มีสาขาทั้งหมดราวๆ 38,000 สาขา
สำหรับประเทศไทย Subway ได้เริ่มเข้ามาปักหมุดขยายตลาดนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 และยังมีการเปลี่ยนมือของบริษัทที่ได้รับสิทธิในการบริหารจัดการแฟรนไชส์อยู่หลายครั้ง โดยในปี 2546 'บริษัท ฟู้ด ฟอร์เวิร์ด จำกัด' ถือเป็นบริษัทที่ได้รับสิทธิแฟรนไชส์รายแรก (แต่ไม่ไช่รายเดียวที่ได้รับสิทธิ) ได้ทำการปักหมุดเปิดสาขาในย่านสีลม
ต่อมาในปี 2565 'บริษัท อะเบาท์ แพสชั่น กรุ๊ป' ได้กลายมาเป็นผู้ถือสิทธิแฟรนไชส์ Subway ในประเทศไทย
และล่าสุดในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2567 ที่ผ่านมา ทาง Subway ได้ประกาศแต่งตั้งให้ 'บริษัท โกลัค จำกัด' ซึ่งถือเป็นบริษัทย่อยของ บมจ.พีทีจี เอ็นเนอยี หรือ PTG คือ เจ้าของ Master Franchise และบริหารจัดการร้านอาหารภายใต้ชื่อและเครื่องหมายการค้า 'Subway' ในประเทศไทยแต่เพียงผู้เดียว ด้วยเงินลงทุนซื้อสิทธิแฟรนไชส์กว่า 35 ล้านบาท หลังจากนั้นจึงได้เกิดกระแสดราม่าจากผู้ประกอบการบางรายที่ถูกยกเลิกสิทธิ์แฟรนไชส์ไปแล้วแต่ยังฝ่าฝืนจำหน่ายแซนด์วิชให้แก่ผู้บริโภคในแบบที่ไม่ได้คุณภาพตามมาตรฐาน
เครดิตภาพ : Subway.com
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : “อาหารไทย” ฮิต! คว้าอันดับ 1 อาหารขายดีบน foodpanda แซงไก่ทอด-เบอร์เกอร์-ชานม-พิซซ่า
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine