‘ไพศาล อ่าวสถาพร’ เปิดแผน ลุยธุรกิจอาหารเครือไทยเบฟฯ หลังปรับโครงสร้างใหญ่ในรอบ 20 ปี - Forbes Thailand

‘ไพศาล อ่าวสถาพร’ เปิดแผน ลุยธุรกิจอาหารเครือไทยเบฟฯ หลังปรับโครงสร้างใหญ่ในรอบ 20 ปี

‘ไพศาล อ่าวสถาพร’ เปิดแผนลุยธุรกิจอาหารใต้เงาไทยเบฟฯ หลังปรับโครงสร้างใหญ่ครั้งแรกในรอบ 20 ปี เดินหน้าสร้างแบรนด์ทวงบัลลังก์โออิชิคืน พร้อมเติมพอร์ตอีก 2-3 แบรนด์ใหม่เอาใจคนติดแกลม หวังเติบโตยอดขายสองหลักต่อปี และเข้าถึงลูกค้าอย่างสมบูรณ์แบบและยั่งยืน


    เมื่อต้นปีนี้กลุ่มบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ ได้ปรับโครงสร้างการบริหารงานของธุรกิจในกลุ่มใหม่ ตามวัฒนธรรมองค์กรของกลุ่มไทยเบฟฯ ที่มักจะมี Job Rotation เสมอ เป็นการแลกเปลี่ยน learning และ knowledge ภายใน

    หัวใจของการจัดกระบวนท่าใหม่ในธุรกิจอาหารซึ่งทำรายได้ให้กับกลุ่มไทยเบฟฯกว่า 20,000 ล้านบาทต่อปี คือ การดึง “ไพศาล อ่าวสถาพร” ซึ่งมีประสบการณ์ในธุรกิจอาหารตะวันตก อาหารไทย อาหารญี่ปุ่น แพคฟู้ดส์ (อาหารบรรจุ) และธุรกิจผลิตอาหารในโรงงาน จากบริษัทใหญ่ๆ ระดับประเทศและระดับโลกร่วม 40 ปี มาดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการอาวุโส ผู้บริหารสูงสุด สายธุรกิจอาหาร ประเทศไทย เพื่อดูแลภาพรวมธุรกิจอาหารในไทยที่มีอยู่ทั้งหมด 28 แบรนด์ในพอร์ต อาทิ เคเอฟซี, โออิชิ, เรดล็อบสเตอร์, Vantage Point, บ้านสุริยาศัย เป็นต้น ซึ่งรวมแล้วมีพนักงานอีกกว่า 30,000 คน


    แม้ขณะนี้ธุรกิจอาหารเป็นธุรกิจน้องเล็กสุดของกลุ่มไทยเบฟฯ แต่โอกาสมีมหาศาล จากรายงานของศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าธุรกิจนี้จะเติบโต 5-7 เปอร์เซ็นต์ในปีนี้ หรือมีมูลค่าสูงกว่า 700,000 ล้านบาท ใหญ่กว่าเบียร์ประมาณ 3 เท่าตัว

    ความเคลื่อนไหวเรื่องโครงสร้างบริหารใหม่ ถือเป็นครั้งแรกของธุรกิจอาหารในรอบทศวรรษ ภายหลังจากที่ไทยเบฟฯ ได้ขยายแบรนด์อาหารทั้งจีน ไทย ตะวันตกและเบเกอรี่เข้ามาในพอร์ตอาหารมากขึ้น และรวมธุรกิจ KFC เข้ามาอยู่ในเครือในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จากนี้ไปแม่ทัพที่กุมบังเหียนธุรกิจอาหารจะมีเพียง 1 คนเช่นเดียวกับธุรกิจเหล้า เบียร์ และเครื่องดื่มนอนแอลกอฮอล์

    “ไม่เคยรู้ตัวมาก่อนล่วงหน้าเลยแม้แต่วันเดียวว่าจะต้องมาดูแลตรงนี้ งานสิ่งแรกที่ผมทำในวันแรกในตำแหน่งล่าสุดคือ การรวมศูนย์บริหารของธุรกิจอาหาร หน่วยงานสนับสนุนทั้งหมด อาทิ โลจิสติกส์ การจัดซื้อ และหน่วยงานสนับสนุนต่างๆ ของแต่ละบริษัทมาไว้ภายใต้ One Team ภายใต้วิสัยทัศน์ One Foods Group: One Food-One Team-One Goal” ไพศาล บอก

ไพศาล อ่าวสถาพร


    นอกจากแม่ทัพอย่างไพศาลแล้ว ยังมีกรรมการผู้จัดการอีก 3 คน คือ ศสัย ตังเตชะหิรัญ ดูแลการบริหารของ บริษัท โออิชิ โฮลดิ้ง จำกัด ร้านอาหารญี่ปุ่นโออิชิ ขณะที่ อรณัฐร์ ผกาภรณ์รัตน์ ดูแลบริษัท เดอะ คิวเอสอาร์ ออฟ เอเชีย (QSA) ซึ่งได้สิทธิ์ขยายแบรนด์เคเอฟซีในไทย และ ธารินทร์ รินธนาเลิศ บริหารงานบริษัท ฟู้ด ออฟ เอเชีย (FAO) ดูแลแบรนด์อาหารที่ไม่ใช่ญี่ปุ่นและเคเอฟซี

    “นอกจากการจัดการหลังบ้านแล้ว เราจะเร่งสร้างแบรนด์ เพื่อทวงบัลลังก์ของโออิชิคืนมา ยอมรับว่าเราเผลอหลับและไม่ได้เคลื่อนไหวกิจกรรมการตลาดมาหลายปี แต่เชื่อว่าแคมเปญใหม่ที่จะออกหลังสงกรานต์นี้จะปลุกความคึกคักให้โออิชิอีกครั้ง” ไพศาลกล่าว

    ไพศาลบอกว่า การขับเคลื่อนธุรกิจอาหารให้เติบโตเป็นตัวเลข 2 หลักได้นั้นจะต้องประกอบด้วย 4 กลยุทธ์ กลยุทธ์แรก ได้แก่ การขยายสาขา เพิ่มจุดให้บริการในพื้นที่ใหม่ๆ และพัฒนารูปแบบร้านให้หลากหลาย สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภค

    โดยบริษัทเตรียมงบลงทุนประมาณ 1,000 ล้าน เพื่อขยายสาขาเคเอฟซีเพิ่มขึ้นอีก 35-40 แห่ง และแบรนด์อื่นๆ ไม่รวมแบรนด์ใหม่ ทำให้จำนวนสาขาของร้านอาหารทั้งหมดจะเพิ่มเป็น 888 สาขาทั่วประเทศในปีนี้ จากปัจจุบันมีสาขาทั้งหมด 847 สาขา ได้แก่ เคเอฟซี 500 สาขา เครือโออิชิ 284 สาขา และภายใต้ FOA อีก 63 สาขา

    “การขยายธุรกิจในปัจจุบันเราไม่ได้มองแค่การเปิดสาขาเพิ่ม แต่ต้องมองในมิติของการขยายศักยภาพ มีการนำเทคโนโลยีและข้อมูลมาใช้เป็นเครื่องมือสำคัญเพื่อยกระดับประสบการณ์ของลูกค้า ควบคู่ไปกับการบริหารต้นทุนและห่วงโซ่อุปทานอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้เราเติบโตอย่างยั่งยืน” ไพศาลกล่าว

    เนื่องจากแบรนด์เคเอฟซี โออิชิ และแบรนด์จาก FOA อยู่ในตลาดมาราว 40 ปี 25 ปีและ 10 ปีตามลำดับ บริษัทจึงได้ลงทุนกว่า 400 ล้านบาท เปิดร้านแฟล็กชิปสโตร์ของเคเอฟซีและโออิชิ พร้อมเปิดตัว 3 แบรนด์ใหม่ได้แก่ สโมสร, เลิศเหลา และ ช้าง แคนวาส ซึ่งอยู่ภายใต้การบริหารของ FOA พร้อมโชว์เคสแบรนด์ร้านอาหารอื่นๆ ในเครือไทยเบฟฯ ไว้ในที่เดียวกันถึง 15 แบรนด์ ที่ “วัน แบงค็อก”


    สำหรับ “สโมสร” เป็นร้านอาหารไทยร่วมสมัย ที่มีรสชาติและบรรยากาศแบบไทย ๆ สำหรับกลุ่มลูกค้าเมือง และผู้บริโภครุ่นใหม่ที่มองหาไลฟ์สไตล์ในแบบ Modern Thai Society ขณะที่ “เลิศเหลา” เป็นร้านเกาเหลาหม้อไฟระดับพรีเมียมที่โดดเด่นในด้านวัตถุดิบ รสชาติ และน้ำซุปสูตรเฉพาะจากสมุนไพร 26 ชนิด ตอบโจทย์คนรักเนื้อ และผู้ที่ชื่นชอบอาหารแนว comfort food แบบมีคลาส

    แม้เครือไทยเบฟฯ จะมีร้านอาหารที่หลากหลาย สามารถตอบโจทย์ลูกค้าได้ทุกเซ็กเมนต์ ตั้งแต่ street food ไปจนถึง fine dining แต่บริษัทยังมีแผนจะเพิ่มร้านอาหารใหม่อีก 2-3 แบรนด์ในพอร์ตปีนี้ เน้นเจาะตลาดแมส และชู product luxury ตอบสนองลูกค้าติดแกลม และผู้บริโภคยุคใหม่ที่ให้ความสำคัญกับรสนิยม ไลฟ์สไตล์ และประสบการณ์ที่แตกต่าง


    กลยุทธ์ที่ 2 คือการยกระดับประสบการณ์ให้ลูกค้า ด้วยการสร้างสรรค์เมนูใหม่ๆ และจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย เพื่อดึงดูดลูกค้าและกระตุ้นยอดขาย

    ส่วนอีก 2 กลยุทธ์คือ การพัฒนาศักยภาพพนักงานและนำเทคโนโลยีมาใช้ในการดำเนินงาน และมุ่งมั่นเพื่อความยั่งยืน ด้วยการลดปริมาณขยะอาหารและมีส่วนร่วมในกิจกรรมสร้างสรรค์สังคม

    การขับเคลื่อนกลุ่มธุรกิจอาหารของไทยเบฟในวันนี้ ไม่ได้เป็นเพียงการเดินเกมธุรกิจในมิติเดิม แต่คือการยกระดับทั้งแนวคิด โครงสร้าง และประสบการณ์ของผู้บริโภคให้ก้าวทันยุค เปลี่ยนผ่านจากการ “ขายอาหาร” ไปสู่การ “สร้างแบรนด์ที่มีชีวิต” ด้วยจุดแข็งด้านความหลากหลายของพอร์ตธุรกิจ ที่พร้อมจะก้าวขึ้นเป็น “กลุ่มธุรกิจอาหารชั้นนำของประเทศ” ที่สร้างความแตกต่างได้อย่างมีคุณค่า พร้อมขับเคลื่อนการเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืนในทุกมิติ



ภาพ: ไทยเบฟฯ



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : One Bangkok กำลังเป็นแหล่ง ‘กิน-ดื่ม’ ที่ใหม่ ค่าย ‘ช้าง’ ทุ่ม 200 ล้านเตรียมเปิด Chang Canvas ร้านอาหารและเบียร์สด เอาใจคอเบียร์กลางกรุง

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine