‘ค้าปลีกภูธร’ ยังสู้ต่อ ปรับโฉมร้าน-เปิดตลาดนัดเพิ่ม จนถึงขยายสาขาไปจังหวัดอื่น - Forbes Thailand

‘ค้าปลีกภูธร’ ยังสู้ต่อ ปรับโฉมร้าน-เปิดตลาดนัดเพิ่ม จนถึงขยายสาขาไปจังหวัดอื่น

ศูนย์การค้า-ซูเปอร์มาร์เก็ตภูธรยังสู้ต่อ ‘ยูดี ทาวน์’ จากอุดรธานี ย้ายโซน-ปรับโฉมร้านเดิม-เพิ่มร้านค้าใหม่เพียบ ‘สหไทย การ์เด้น พลาซ่า’ จากสุราษฎร์ธานี เตรียมเปิดตลาดนัดดึงลูกค้าเพิ่ม ‘สหแสงชัยซุปเปอร์สโตร์’ จากพิจิตร จ่อปักหมุดพิษณุโลก-สุโขทัย ‘ธนพิริยะ’ เชียงรายเตรียมลุยจังหวัดใหม่ ส่วน ‘TMK ซูเปอร์มาร์เก็ต’ กาญจนบุรี ซุ่มศึกษาโมเดลใหม่


    แม้จะเห็นภาพการโยนผ้าอำลาธุรกิจต่อเนื่องของค้าปลีกท้องถิ่นตั้งแต่ ‘ท็อปแลนด์’ พิษณุโลก ‘เจริญศรีพลาซ่า’ อุดรธานี ‘คลังพลาซ่า’ นครราชสีมา ห้างตันตราภัณฑ์, ห้าง ส.การค้า กาดสวนแก้ว และห้างสีสวน ในเชียงใหม่ เพราะหมดแรงต่อกรกับค้าปลีกส่วนกลางที่เข้ามาพร้อมทุนที่หนากว่า มีระบบการจัดการที่ทันสมัยกว่า

    แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังมีห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า และซูเปอร์มาร์เก็ตท้องถิ่นอีกหลายแห่ง ที่ยังอยู่รอดได้แม้จะมีค้าปลีกแบรนด์ใหม่จากส่วนกลางหรือแบรนด์เดิมที่มีสาขาอยู่แล้วแต่มาเปิดสาขาที่ 2, 3, 4 เพิ่มขึ้นในจังหวัดต่างๆ เป็นระยะก็ตาม

    สหแสงชัย ซุปเปอร์สโตร์, ธนพิริยะ, ศูนย์การค้ายูดี ทาวน์, สหไทย การ์เด้น พลาซ่า และ TMK ซูเปอร์สโตร์ คือตัวอย่างของธุรกิจค้าปลีกท้องถิ่นที่ก้าวข้ามอุปสรรคจนธุรกิจสามารถส่งไม้ต่อมาถึงเจน 2 และเจน 3 และยังคงมีความเคลื่อนไหวในตลาดจนถึงปัจจุบัน


‘สหแสงชัย’ จากพิจิตรสู่พิษณุโลกถึงสุโขทัย 20 สาขาใน 3 จังหวัดไม่ไกลเกินเอื้อม

    จาตุรนต์ เหลืองสว่าง กรรมการผู้จัดการ สหแสงชัย ซุปเปอร์สโตร์ พิจิตร เข้ามาช่วยบริหารธุรกิจครอบครัวโดยบังเอิญ เพราะคุณพ่อผู้ก่อตั้งกิจการเสียชีวิตลง ขณะที่พี่ชายของจาตุรนต์ยังคงต้องทำหน้าที่รักษาคนไข้ และน้องสาวคนเล็กยังเรียนหนังสืออยู่ต่างประเทศ

    หลังจากเข้ามาสานต่อธุรกิจพร้อมคุณแม่ได้เพียง 2 ปี จาตุรนต์คุยกับคุณแม่ว่า เขาอยากทำค้าปลีกต่อในแบบฉบับตัวเอง เปลี่ยนรูปแบบธุรกิจของร้านสหแสงชัยจากร้านค้าโชห่วยมาเป็นค้าปลีกสมัยใหม่ เพราะคิดว่าน่าจะสร้างกำไรได้ดีกว่า

    “การได้มาทำงานร่วมกับแม่ ได้เห็นว่าท่านเก่งมาก แต่เก่งแค่ไหน ธุรกิจของเราก็คงจะต้องสูญพันธุ์วันหนึ่ง หากยังทำธุรกิจแบบเดิมๆ ในยุคที่โลกการค้าเปลี่ยนไป” จาตุรนต์บอก

จาตุรนต์ เหลืองสว่าง กรรมการผู้จัดการ สหแสงชัย ซุปเปอร์สโตร์ พิจิตร


    ด้วยลูกตื๊อที่มาพร้อมเหตุผลเพียงพอ ในที่สุดจาตุรนต์ก็เปิดร้าน “สหแสงชัย ซุปเปอร์สโตร์” ในขนาดพื้นที่ 1,000 ตารางเมตรได้ ใช้เงินลงทุนก่อสร้างรวมทั้งสต๊อกสินค้าไปทั้งสิ้น 40 ล้านบาท

    “เปิดร้านวันแรก ขายไม่ดี จนแม่ต้องเอากำไรจากขายส่งมาช่วยพยุงธุรกิจขายปลีก ก่อนจะเปิดร้านมีคู่แข่ง heavy weight รายเดียวคือโลตัส แต่หลังจากที่ร้านเราเปิด แม็คโครก็มาเปิดอีกราย อุปสรรคเยอะไปหมด แต่ผมก็ยังสนุกกับการทำร้าน” จาตุรนต์เล่าพร้อมหัวเราะ

    เขาสู้ในวิถีที่ไม่ซับซ้อนเข้าใจง่าย จัดรถแห่วิ่งโปรโมทร้าน นำสินค้าจำเป็นในครัวเรือนอย่างข้าวสาร น้ำมัน น้ำตาล มาจัดโปรโมชั่นราคาพิเศษ เดินแจกใบปลิวในตลาดสดทุกวัน ประสบการณ์ด้าน data analysis สมัยทำงานที่ทอมสันป์รอยเตอร์ส ถูกนำมาใช้ที่ร้าน ทำให้ยอดขายที่เคยทำได้วันละ 20,000-30,000 บาทในช่วงเริ่มต้นธุรกิจ เพิ่มสูงขึ้นถึง 500,000 บาทต่อวันในเวลาต่อมา

    “ผมเจอทั้งอุปสรรคและความสำเร็จคละๆ กันไปตลอดการเข้ามาทำธุรกิจ ผมเรียนรู้จากสิ่งที่ทำผิดในอดีต และลงรายละเอียดให้มากขึ้น วันนี้เราจัดเรียงสินค้าสาขาใหม่ๆ ทำได้ดีกว่าสาขาเก่าๆ รู้ว่าลูกค้าอยากได้สินค้าอะไร ซื้อสินค้าอะไรคู่กับสินค้าอะไร” จาตุรนต์เล่า

    ปัจจุบันสหแสงชัยมีสาขาทั้งหมด 5 แห่ง โดย 4 แห่งอยู่ในพิจิตรบ้านเกิด และอีก 1 แห่งเปิดอย่างเป็นทางการที่พิษณุโลกติดกับแม็คโครในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เพราะ 10 ปีที่เข้ามาทำธุรกิจของที่บ้าน จาตุรนต์ได้เรียนรู้ว่า ธุรกิจของสหแสงชัยไม่ได้แข่งกับแม็คโครโดยตรง ลูกค้ามีเหตุผลในการซื้อสินค้าค่อนข้างต่างกัน นอกจากนี้ การเลือกเปิดประกบติดกับแม็คโคร ทำให้สหแสงชัยได้ consumer appeal มากขึ้นในเวลาอันรวดเร็ว ปัจจุบันสหแสงชัยที่พิษณุโลกแห่งนี้ ทำรายได้สูงถึงวันละ 5 แสนบาท

    ในวันที่ 15 กันยายน 2567 สหแสงชัยได้เปิดสาขาที่ 2 ที่ตลาดไทยเจริญ อำเภอวัดโบสถ์ จังหวัดพิษณุโลก บนพื้นที่ขนาด 450 ตารางเมตร ใช้เงินลงทุน 5 ล้านบาท ทำให้สิ้นปีนี้สหแสงชัยจะมีสาขารวมทั้งสิ้น 6 แห่ง

    เนื่องจากพิจิตรเป็นจังหวัดเล็ก จาตุรนต์จึงจะเปิดสาขาใหม่ๆ ที่จังหวัดพิษณุโลกมากขึ้น สาขาที่ 7 จะเปิดที่อำเภอวังทองในครึ่งปีแรกของปีหน้า และสุโขทัยก็เป็นจังหวัดเป้าหมายที่สหแสงชัยจะขยายกิจการเข้าไปในอนาคต จาตุรนต์ตั้งเป้าว่าจะเปิดสาขาของสหแสงชัยให้ได้ 20 แห่งใน 3 จังหวัดในอนาคต

    “เรื่องความยั่งยืนในโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ผมไม่เชื่อเรื่องคำว่าตลอดไป เพราะโลกที่เปลี่ยนเร็ว เรามองภาพไกลๆ ไม่ได้ เราต้องเปลี่ยนตัวเราให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลง ตามกระแสโลกทัน เช่น การนำ AI มาใช้ประโยชน์บ่อยๆ จนกลายเป็นเรื่องปกติ” จาตุรนต์กล่าว

    หากมองย้อนกลับไปเมื่อสิบปีที่แล้ว จาตุรนต์มองว่าเขาประสบความสำเร็จแล้วในวันนี้ เขาไม่ได้ใช้ยอดขายเป็นเกณฑ์วัด แต่การได้ทำในสิ่งที่อยากทำและสามารถทำให้ธุรกิจอยู่รอดได้ เป็นสิ่งบอกความสำเร็จ จาตุรนต์บอกว่าหลังจากนี้เขาจะทำธุรกิจด้วยความสนุก ไม่มีความกดดัน กลยุทธ์หลายอย่างอาจต้องเปลี่ยนตามกระแสโลก ส่วนความสำเร็จที่สหแสงชัยจะไม่เปลี่ยนเลยก็คือ ความซื่อสัตย์ จริงใจ ที่ลูกค้าสัมผัสได้

    “ผมไม่เคยคิดแข่งกับใคร ในทุกๆ วันของพรุ่งนี้ ผมต้องทำให้สหแสงชัยดีกว่าวันนี้ หรือในเดือนต่อไปต้องดีกว่าเดือนที่ผ่านมา และตัวของผมเองที่ต้องทำให้ตัวเองวันนี้ดีกว่าตัวเองในอดีตให้ได้” จาตุรนต์บอกทิ้งท้าย


‘สหไทย การ์เด้น พลาซ่า สุราษฎร์ธานี’ เตรียมสร้างตลาดนัด แม็กเน็ตใหม่ดึงลูกค้า

    สลิล ปัญจคุณาธร เป็นทายาทรุ่นที่ 2 เข้ามาสืบทอดธุรกิจเมื่อ 7 ปีก่อนซึ่งขณะนั้นสหไทยได้เปลี่ยนสภาพจากร้านโชห่วยที่ตั้งขึ้นในปี 2526 มาเป็นห้างสรรพสินค้าในอีก 2-3 ปีต่อมา และมาเป็นศูนย์การค้าภาพลักษณ์สมัยใหม่ภายใต้ชื่อ “สหไทย การ์เด้น พลาซ่า” ในปี 2558 โดยมีพื้นที่ใช้งานทั้งหมด 70,000 ตารางเมตร

    “ในช่วงโควิด สินค้าในห้างขายไม่ดี เราเลยปรับลดพื้นที่ลง 2,500 ตารางเมตร และเปลี่ยนเป็น playland เพิ่มกิจกรรมสำหรับเด็กและครอบครัว กิจกรรมที่เกี่ยวกับท้องถิ่นและกิจกรรมที่เข้ากับไลฟ์สไตล์ลูกค้า ทำให้ดึงลูกค้าใหม่มาที่เรามากขึ้น แบรนด์จากส่วนกลางหลายแบรนด์จึงติดต่อมาเปิดในศูนย์มากขึ้น อาทิ สตาร์บัคส์ สเวนเซ่นส์ และในไตรมาส 4 นี้ก็จะมีแบรนด์อีฟแอนด์บอยมาเพิ่มอีกแห่งหนึ่ง” รองกรรมการผู้จัดการบอก

    หลังโควิด สหไทยได้เปิดซูเปอร์มาร์เก็ตสาขาท่าทองใหม่เป็นสาขาน้องใหม่ล่าสุด ในปี 2565 หลังจากนั้นมาเน้นหาผู้เช่ารายใหม่ๆ เติมเต็มพื้นที่ในศูนย์การค้า ปัจจุบันลูกค้ามาใช้บริการที่ศูนย์วันละประมาณ 15,000-20,000 คน โดย 90% เป็นคนท้องถิ่น

    สหไทยเปิดบริการมาแล้ว 41 ปี มีสาขาทั้งหมด 3 แห่งในจังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นศูนย์การค้า 1 แห่งภายใต้ชื่อ สหไทย การ์เด้น พลาซ่า และซูเปอร์มาร์เก็ตสแตนด์อโลน 2 สาขา ภายใต้ชื่อ สหไทย ซูเปอร์มาร์เก็ต

สลิล ปัญจคุณาธร


    ปัจจุบันสหไทยใช้พื้นที่สร้างศูนย์การค้าไปแล้ว 20 ไร่ เหลือพื้นที่ใช้งานอีก 20 ไร่ โดยแบ่ง 10 ไร่ไว้ทำกิจกรรมต่างๆ และอีก 10 ไร่ กำลังทำมาสเตอร์แพลนพัฒนาตลาดนัด เพื่อดึงลูกค้าเข้ามาเดินได้ทุกวัน ส่วนงบการลงทุนยังไม่ได้สรุปในขณะนี้

    “สุราษฎร์ธานี เป็นท็อป 3 ของจังหวัดที่มีเศรษฐกิจดีของภาคใต้ เราเห็นโอกาสเติบโตและอยากจะเปิดสาขาซูเปอร์มาร์เก็ตของเราในทุกๆ อำเภอ” สลิลบอก

    สลิลเสริมต่อว่า บริษัทยังเตรียมนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาประยุกต์ใช้มากขึ้น อาทิ AI เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน และเดินหน้าสร้างความไว้วางใจให้กับครอบครัวและทีมงาน เพื่อให้ทุกคนมั่นใจ พร้อมร่วมพัฒนาและเดินไปกับองค์กรที่ต้องเปลี่ยนแปลง เพื่อก้าวข้ามความท้าทายด้วยกัน


‘ยูดี ทาวน์ อุดรฯ’ เชื่อค้าปลีกท้องถิ่นยังมีที่ยืน รอรถไฟความเร็วสูงก่อนไปต่อ

    ธนกร วีรชาติยานุกูล ผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการบริหาร ศูนย์การค้ายูดี ทาวน์ เล่าว่า การต่อสู้ของยูดี ทาวน์ใน 17 ปีที่ผ่านมาเต็มไปด้วยความยากลำบาก เพราะเป็นศูนย์การค้าหน้าใหม่ แต่ยูดี ทาวน์ก็เห็นโอกาส ที่จะทำให้ยูดี ทาวน์เป็นศูนย์การค้าที่เป็นทางเลือกใหม่ของคนอุดรฯ ได้ในวันนี้

    การผสมผสานแนวคิดของผู้ก่อตั้งในเรื่องการสร้าง differentiate และแนวคิดการทำการตลาด การไม่ยอมแพ้ที่ติดตัวของธนกรมาตลอด การมีกิจกรรมสมัยใหม่ภายใต้การบริหารของลูกชายและลูกสาวในเจน 2 ซึ่งมิกซ์ความรู้ด้านแฟชั่นที่เรียนมา เข้ากับอีเวนต์และงานของทั้งศูนย์การค้าและโรงแรม การสื่อสารถึงผู้บริโภคผ่านคอนเทนต์และอีเวนต์อย่างต่อเนื่อง คือสิ่งที่ทำให้มั่นใจว่า ยูดี ทาวน์ต้องได้ไปต่อ และเป็นจุดหมายปลายทางของคนอุดรฯ

    “ผมมองคู่แข่งรายใหญ่จากส่วนกลางเป็นรถเทรลเลอร์ ขณะที่ยูดี ทาวน์ เป็นแค่รถจักรยาน เบรกง่ายกว่า และกลับตัวได้เร็วกว่า" ธนกร บอก

ธนกร วีรชาติยานุกูล


    ปัจจุบันยูดี ทาวน์ มีพื้นที่ค้าปลีกกว่า 30,000 ตารางเมตร มีอัตราเช่าพื้นที่กว่า 98% จุดขายที่สำคัญของยูดี ทาวน์ คือตั้งอยู่ในย่าน CBD ของเมือง และอนาคตยังจะเป็นที่ตั้งของสถานีรถไฟฟ้าความเร็วสูง การออกแบบศูนย์ให้ easy to access และ parking on ground ทำให้เข้าถึงร้านค้าที่ต้องการใช้บริการได้ง่าย

    นอกจากนี้ยังมี green community ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ และมี tenant mix จากทั้งท้องถิ่นและส่วนกลางที่ตอบสนองการใช้ชีวิตประจำวันได้ อาทิ วิลล่า โลตัส เคเอฟซี สตาร์บัคส์ แมคโดนัลด์ เอ็มเค ศูนย์อาหาร ธนาคารต่างๆ เป็นต้น

    ในปีนี้ บริษัทได้มีการ relocate พื้นที่สำหรับบางแบรนด์ เพื่อจัดสรรพื้นที่รองรับแบรนด์ใหม่ๆ ที่เข้ามาเติมเต็มการใช้ชีวิตเมื่อไม่นานมานี้ อาทิ ร้านสุกี้ตี๋น้อย ที่เปิดบริการถึงตี 5, ร้านหม่าล่ายอดนิยมอย่างสุกี้จินดา, ฟิตเนส ร้านนาฬิกา, ร้านกล่องสุ่ม และร้านเครื่องสำอางอีฟแอนด์บอย

    “ความที่เราทำยูดี ทาวน์ อยู่ที่เดียว เราจึงโฟกัสและใส่ใจผู้ประกอบการเป็นรายร้านค้า รายแบรนด์ ช่วยเหลือด้านการสื่อสาร สร้างการรับรู้ของแบรนด์ คิดกิจกรรมต่างๆ ทำให้ลูกค้าโดยเฉพาะแฟนประจำของยูดี ทาวน์ ได้พบกับสิ่งใหม่ๆ ที่สร้างแรงบันดาลใจได้ การเดินทางในธุรกิจนี้มา 17 ปีเต็ม ทำให้รู้ทิศทางและต่อยอดธุรกิจในอนาคตได้ ส่วนแผนการขยายธุรกิจในอนาคต คงต้องรอเปิดสถานีรถไฟฟ้าความเร็วสูง ในบริเวณใกล้เคียง โดยเชื่อว่า density ในย่านนี้จะเพิ่มขึ้นแน่นอน” ธนกรกล่าว


‘ธนพิริยะ’ ตั้งเป้าเปิดปีละ 5 สาขา พร้อมจ่อบุกจังหวัดใหม่

    ธนภูมิ พุฒิพิริยะ รองกรรมการฝ่ายขายและการตลาด ห้างธนพิริยะ เชียงราย เป็นผู้บริหารเจน 3 ที่เข้ามาร่วมบริหารธนพิริยะสโตร์ที่เชียงรายเต็มตัวตั้งแต่ปี 2563 หลังจากที่มีโอกาสคลุกคลีกับธุรกิจของครอบครัวโดยทำงานเป็นแคชเชียร์ประจำร้านตั้งแต่อายุ 10 ขวบ ระหว่างมารับไม้ต่อจาก อมร พุฒิพิริยะ คุณแม่ซึ่งเป็นเจน 2 ธนภูมิได้เรียนรู้ประสบการณ์งานด้านต่างๆ ตั้งแต่เจ้าหน้าที่คลังสินค้า ติดตามการเรียงสินค้า เก็บข้อมูลการซื้อขายของลูกค้าให้สำนักงานใหญ่ จนถึงการจัดซื้อสินค้าของกินของใช้ ยกเว้นเพียงงานบุคคลเท่านั้น

    ธนพิริยะ มีสาขาทั้งสิ้น 48 แห่งใน 2 โมเดลคือ ซูเปอร์สโตร์ภายใต้ชื่อธนพิริยะ ขนาด 800-1,000 ตารางเมตร และร้านค้าปลีกชุมชนภายใต้ชื่อ TNP Express มีขนาดเล็กกว่า 450 ตารางเมตร สาขาทั้งหมดของธนพิริยะครอบคลุมจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ และพะเยา ในครึ่งปีหลังนี้จะมีการเปิดสาขาใหม่อีก 3 แห่ง ทำให้มีสาขาทั้งสิ้น 51 แห่งสิ้นปีนี้ ส่วนปีหน้าการขยายสาขาคงเป็นไปตามปกติ คือ เปิดเพิ่มอีก 5 สาขา รวมจะมีสาขาทั้งสิ้น 56 สาขา

    “การเปิดบริการโมเดลของ TNP Express store ช่วยเติมเต็มพอร์ตให้เราสามารถขยายบริการไปยังพื้นที่ที่มีขนาดเล็กลงกว่าปกติได้ และพนักงานของเราได้เรียนรู้และมีประสบการณ์ในเรื่องการกระจายสินค้าเพิ่มขึ้นด้วย ในยุคของผมคงมีการนำไอทีเข้ามาอำนวยความสะดวกให้ลูกค้า และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานมากขึ้น รองรับการแข่งขันที่ไม่ได้มีเฉพาะค้าปลีกบิ๊กแบรนด์เท่านั้น” ธนภูมิกล่าว

ธนภูมิ พุฒิพิริยะ


    ขณะที่ อมร บอกว่า เธอสอนธนภูมิด้วยการทำให้ดู ปล่อยให้เขาทำเอง และทำไปพร้อมๆ กัน กลยุทธ์ที่จะไปต่อได้ต้องมีการปรับเปลี่ยน แต่สิ่งที่ต้องทำต่อไปคือ การโฟกัส มุ่งมั่น เรียนรู้ และรักที่จะทำ

    “ถ้าเรามีมายด์เซ็ตเป็นคนไม่ยอมตาย เราจะมีความพยายามหาหนทางอยู่รอดและไปต่อ พี่มักจะพูดกับเพื่อนๆ เสมอว่า ถ้าเราจะต้องตาย เราจะตายเป็นคนสุดท้าย แต่เราหวังว่ามันจะไม่เกิดขึ้น เพราะเรายังขยายต่อ นอกจากธุรกิจที่มีใน 3 จังหวัดแล้ว เรามีแผนจะขยายในจังหวัดใหม่ๆ ในอนาคตด้วย” อมรบอก


‘TMK ซูเปอร์มาร์เก็ต’ ศึกษาโมเดลใหม่ ตั้งเป้าเปิดในอีก 3-5 ปีข้างหน้า เสริมแกร่ง

    ในช่วง 8 ปีที่ ธนธัช เลิศธโนทัย ที่ปรึกษาฝ่ายปฏิบัติการและพัฒนาธุรกิจ TMK ซูเปอร์มาร์เก็ต ได้เข้ามาช่วยงานครอบครัวของภรรยา สิ่งแรกๆ ที่เริ่มเปลี่ยนแปลงคือ วางแผนผังองค์กร ให้แต่ละแผนกทำงานได้อย่างสอดคล้องกัน รวมทั้งเริ่มนำซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ใหม่ๆ มาใช้ เพราะ TMK เริ่มมีสาขามากขึ้น ไม่สามารถจัดการบริหารงานลำพังเพียงตัวคนเดียวได้ การมีระบบที่ดีธุรกิจจะไปต่อได้

    “การปรับองค์กรต้องทำอยู่เรื่อยๆ ไม่มีที่สิ้นสุด เพราะลูกค้าเปลี่ยนแปลงตลอด เราต้องทำให้ธุรกิจดีขึ้นในทุกๆวัน สร้างความมั่นคงกับการก้าว ไม่ก้าวเร็วมาก แต่ก็ไม่ช้าและต้องถูกทิศทาง เราหยุดก้าวไม่ได้ เพราะหยุดเมื่อไรจะถูกคู่แข่งแซง แม้ร้านค้าปลีกสมัยใหม่มีเต็มตลาด แต่ร้านค้าปลีกท้องถิ่นอีกจำนวนมากยังอยู่รอด แสดงว่าต้องมีดีในตัวเอง” ธนธัชบอก

    ดังนั้นนอกจากจัดผังองค์กร เครื่องมือใหม่ๆ ที่นำมาใช้แล้ว โจทย์อีกข้อก็คือจะทำอย่างไรให้ TMK มีคุณค่าและอยู่ในใจลูกค้าทั้งฐานลูกค้าเดิมและลูกค้าใหม่ๆ

    ในระยะหลัง TMK มีการจัดวางสินค้าที่ขายปลีกและส่งในร้านให้ชัดเจนขึ้น หาสินค้าหลากหลายมาบริการให้ครอบคลุมทุกกลุ่ม ด้วยนโยบายการตั้งราคาที่ไม่เอาเปรียบผู้บริโภค เพื่อให้ลูกค้าเข้าถึงได้ง่ายๆ กว่าที่อื่น ขณะเดียวกันก็ต้องสื่อสารกับคนรุ่นใหม่ด้วยโซเชียลมีเดีย สั่งสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ และมีระบบเดลิเวอรี่

ธนธัช เลิศธโนทัย


    “เราจะอยู่รอดได้ เราต้องแข่งกับตัวเอง ทำให้เราไม่ด้อยค่าไปกว่าคนอื่น เราต้องสร้างความคุ้นเคยกับลูกค้าแบบบ้านๆ เพื่อให้อยู่ร่วมกับชุมชนได้ หาทางแก้ปัญหาระยะสั้น และวางแผนระยะยาวรองรับ” ธนธัชบอก

    TMK เป็นซูเปอร์มาร์เก็ตท้องถิ่น ที่เปิดบริการในจังหวัดกาญจนบุรีมา 30 ปีเต็ม ปัจจุบันมีสาขาทั้งสิ้น 11 แห่ง ในกาญจนบุรี 8 แห่ง ราชบุรี 2 แห่ง และนครปฐม 1 แห่ง

    ตั้งแต่ช่วงโควิดจนถึงปัจจุบัน บริษัทเปิดสาขาไปเพียง 3 แห่ง และจะกลับมาขยายตามแผนเดิม คือเพิ่มสาขาปีละหนึ่งแห่งตั้งแต่ปีหน้า ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ตลาด ปัจจัยบวก และปัจจัยลบที่อาจไม่เอื้อต่อการลงทุนในปีนั้นๆ ด้วย ทำให้ในบางปีอาจจะไม่มีสาขาใหม่ๆ เกิดขึ้น หรือในบางปีอาจจะเห็นสาขาใหม่ถึง 2 สาขาก็ได้

    นอกจากนี้ TMK ยังศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาค้าปลีกโมเดลใหม่ๆ ในอีก 3-5 ปีข้างหน้าด้วย ธนธัชเชื่อว่า ค้าปลีกท้องถิ่นมีที่ยืนในกาญจนบุรีแน่นอน หากปรับตัวเร็วตามลูกค้าได้ทันและแข่งขันกับตัวเองให้ได้ตลอดไป



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : เปิดแผน 1.5 หมื่นล้านของ CPN สร้าง ‘เซ็นทรัล กระบี่’ พร้อมพลิกโฉมใหญ่ 4 ศูนย์ ‘บางนา-ปิ่นเกล้า-แจ้งวัฒนะ-เชียงใหม่ แอร์พอร์ต’

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine