เมื่อตลาดเมล็ดโกโก้โลกมูลค่าสูง 16,000 ล้านเหรียญสหรัฐ แล้วไทยอยู่ตรงไหน - Forbes Thailand

เมื่อตลาดเมล็ดโกโก้โลกมูลค่าสูง 16,000 ล้านเหรียญสหรัฐ แล้วไทยอยู่ตรงไหน

โกโก้ กลายเป็นอีกพืชเกษตรที่หลายฝ่ายให้ความสนใจ เพราะตลาดยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง ช่วงที่ผ่านมาราคาโกโก้ยังเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องบางช่วงราคาพุ่งกว่า 10,000 เหรียญสหรัฐ/ตัน แม้ส่วนหนึ่งจะกระทบจากภัยแล้งที่เกิดขึ้นในแหล่งเพาะปลูก แต่โกโก้ยังคงเป็นวัตถุดิบสำคัญทั้งในขนม ไปจนถึงเครื่องสำอาง และถือเป็นผลผลิตที่โลกมีความต้องการสูง


เจาะเทรนด์โกโก้ ‘ราคาพุ่งแรง-ตลาดโตต่อเนื่อง’

    ช่วงที่ผ่านมามีกระแสข่าวเกี่ยวโกโก้อย่างต่อเนื่อง ทั้งการคาดการณ์ว่าหากโลกร้อนขึ้นในอนาคตเราอาจไม่มีช็อกโกแลตให้กินอีกแล้ว (รายงานของ IPCC ระบุว่าภายใน 40 ปี บางกระแสข่าวระบุว่าภายในปี 2591) ไปจนถึงราคาโกโก้พุ่งสูงขึ้นจนทำสถิติใหม่ กระแสข่าวเหล่านี้เป็นที่สนใจของคนทั่วโลก เพราะ โกโก้ เป็นส่วนประกอบของขนมยอดนิยมอย่างช็อกโกแลต รวมถึงเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มอย่างเหนียวแน่น ซึ่งสะท้อนได้จากตลาดเมล็ดโกโก้ทั่วโลกมีมูลค่ากว่า 16,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

    พูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (ผอ.สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยข้อมูลจากศูนย์ส่งเสริมการนำเข้าจากประเทศกำลังพัฒนา (CBI) ของสหภาพยุโรป ระบุว่า ปัจจุบันตลาดโกโก้และช็อกโกแลตกำลังเติบโต โดยในปี 2566 ตลาดเมล็ดโกโก้ทั่วโลกมีมูลค่า 16,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และคาดว่าจะเติบโตกว่า 22,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี 2571 (เฉลี่ย 7% ต่อปี) สำหรับตลาดช็อกโกแลตทั่วโลก คาดว่าปี 2565 - 2573 จะเติบโตในอัตราเฉลี่ย 4.4% ต่อปี

    ในด้านราคาโกโก้ยังพบว่า ช่วงเดือน มี.ค. 2567 ที่ผ่านมา ราคาโกโก้ในตลาดซื้อขายล่วงหน้าทะลุ 10,000 เหรียญสหรัฐต่อตัน (ราว 10 เหรียญสหรัฐต่อกิโลกรัม) หากเทียบกับช่วง 1 ปีก่อนหน้าราคาฯ อยู่ต่ำกว่า 3,000 เหรียญสหรัฐต่อตัน (ราว 3 เหรียญสหรัฐต่อกิโลกรัม)

    แต่นี่ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะนับจากต้นปี 2566 ถึงกลางปี 2567 เกิดปรากฏการณ์เอลนีโญส่งผลให้เกิดภาวะภัยแล้งในพื้นที่ปลูกโกโก้ ทำให้ผลผลิตโกโก้ในโลกลดลง และราคาโกโก้ในตลาดโลกได้เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องนั่นเอง ล่าสุดในเดือน ต.ค. 2567 ราคาโกโก้ในตลาดโลกอยู่ที่ 6.6 เหรียญสหรัฐต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้น 83.3% จากปีก่อนหน้า

    แม้ว่าราคาโกโก้จะเพิ่มสูงขึ้น แต่ตลาดโกโก้ยังมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทำให้หลายประเทศยังผลักดันการเพาะปลูกต้นโกโก้ และส่งออกทั้งในรูปแบบวัตถุดิบและแปรรูปมูลค่าหลายล้านเหรียญ


โกโก้ทั่วโลกส่วนใหญ่มาจากที่ไหน

    โกโก้ เป็นไม้ผลเขตร้อน ที่ปลูกได้ในแถบ 10-20 องศาจากเส้นศูนย์สูตร สามารถปลูกได้ทั้งในแอฟริกา ที่มีผลผลิตกว่า 75% รองลงมาคืออเมริกา และเอเชีย ซึ่งหากจะระบุว่าประเทศไหนผลิตได้มากที่สุดยังมีข้อมูลจากองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ระบุว่า ประเทศผู้ผลิตโกโก้ 5 อันดับแรกของโลกในปี 2565 ได้แก่

    1) โกตติวัวร์ มีสัดส่วน 37.9% ของปริมาณผลผลิตโกโก้ของโลก

    2) กานา มีสัดส่วน 18.8% ของปริมาณผลผลิตโกโก้ของโลก

    3) อินโดนีเซีย มีสัดส่วน 11.3% ของปริมาณผลผลิตโกโก้ของโลก

    4) เอกวาดอร์ มีสัดส่วน 5.7% ของปริมาณผลผลิตโกโก้ของโลก

    5) แคเมอรูน มีสัดส่วน 5.1%ของปริมาณผลผลิตโกโก้ของโลก

    ส่วนข้อมูลด้านการค้าเมล็ดโกโก้ของโลก (พิกัดศุลกากร 1801) ในปี 2566 พบว่า ประเทศผู้ส่งออกเมล็ดโกโก้ที่มีมูลค่าสูงสุด 5 อันดับแรกของโลก ได้แก่

    1) โกตดิวัวร์ มูลค่า 3,329 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 33.7% ของมูลค่าการส่งออกของโลก

    2) เอกวาดอร์ 1,172 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 11.9% ของมูลค่าการส่งออกของโลก

    3) กานา 1,107 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 11.2% ของมูลค่าการส่งออกของโลก

    4) แคเมอรูน 752 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 7.6% ของมูลค่าการส่งออกของโลก

    5) เบลเยียม 692 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 7% ของมูลค่าการส่งออกของโลก

    ส่วนประเทศที่เป็นกลุ่มเป้าหมายของตลาดโกโก้ หรือหมายถึงประเทศที่นำเข้าเมล็ดโกโก้สูงสุดในโลก 5 อันดับ ได้แก่

    1) เนเธอร์แลนด์ 2,184 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 20.1% ของมูลค่าการนำเข้าของโลก

    2) มาเลเซีย 1,494 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 13.8% ของมูลค่าการนำเข้าของโลก

    3) เยอรมนี 1,338 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 12.3% ของมูลค่าการนำเข้าของโลก

    4) เบลเยียม 977 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 9% ของมูลค่าการนำเข้าของโลก

    5) สหรัฐอเมริกา 804 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 7.4% ของมูลค่าการนำเข้าของโลก

    ทั้งหมดนี้ ยิ่งสะท้อนให้เห็นว่าตลาดโกโก้ เป็นตลาดที่น่าสนใจ เพราะมีขนาดใหญ่ และมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง ว่าแต่ประเทศไทยมีส่วนในตลาดนี้มากแค่ไหน?


ไทยอยู่ตรงไหนในตลาดโกโก้โลก

    ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์พบว่า เมื่อปี 2566 ไทยมีปริมาณผลผลิตเมล็ดโกโก้รวม 3,360 ตัน เติบโตขึ้นกว่า 167.6% เมื่อเทียบกับปี 2565 ที่มีอยู่ราว 1,256 ตัน โดยพื้นที่เพาะปลูกส่วนใหญ่จะอยู่ในภาคใต้ เช่น นครศรีธรรมราช พัทลุง และระนอง เป็นต้น

    ในด้านการส่งออก เมื่อเทียบกับปี 2558 ไทยมีการส่งออกทั้งโกโก้เพียง 138 ตัน จนถึงทุกวันนี้ส่งออกได้หลักพันตันแล้ว โดยทั้งปี 2566 ที่ผ่านมา ไทยมีการส่งออกโกโก้และของปรุงแต่งที่ทำจากโกโก้ คิดเป็นมูลค่ากว่า 87 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 3,004 ล้านบาท แนวโน้มการเติบโตนี้ยังสะท้อนในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 (มกราคม-กันยายน) ที่พบว่า ไทยส่งออกโกโก้และของปรุงแต่งที่ทำจากโกโก้ เป็นมูลค่า 74 ล้านเหรียญสหรัฐ (2,630.7 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 16.4% จากปีก่อนหน้า

*ในปี 2566 ไทยเป็นผู้ส่งออกโกโก้ฯ อันดับที่ 68 ของโลก และเป็นผู้นำเข้าอันดับที่ 90 ของโลก

    ทั้งนี้ ไทยมีตลาดส่งออกโกโก้ฯ สำคัญ 5 อันดับแรก ได้แก่

    1) ญี่ปุ่น 22 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 42.2%

    2) จีน 9 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 40.3%

    3) เมียนมา 6.2 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 19.4%

    4) มาเลเซีย 4.5 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 6.1%    

    5) อินเดีย 4 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 9.4%

    อย่างไรก็ตาม ยังมีตลาดส่งออกที่น่าสนใจ เพราะมีการขยายตัวที่ดี ได้แก่ แคนาดา (ขยายตัว 392%) สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (90.7%) สหรัฐอเมริกา (46.3%) อินโดนีเซีย (33.8%) และรัสเซีย (20.2%)

    ท่ามกลางแนวโน้มความต้องการโกโก้ในตลาดโลกที่มากยิ่งขึ้น โกโก้จึงเป็นอีกตลาดที่น่าสนใจสำหรับผู้ประกอบการ ทั้งการเพาะปลูกเพื่อผลิต ไปจนถึงการแปรรูปในอุตสาหกรรมอาหาร, เครื่องดื่ม, เครื่องสำอาง และยา ซึ่งทำให้หลายประเทศในอาเซียนหันมาส่งเสริมอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับตลาดโกโก้มากขึ้น กรณีศึกษาอย่างอินโดนีเซีย (อันดับ 3 ของโลกในการผลิตโกโก้) ที่รัฐบาลอินโดนีเซียมีมาตรการด้านภาษีมาส่งเสริมให้มีการแปรรูปเพิ่มมูลค่าแทนที่จะส่งออกเมล็ดโกโก้เป็นวัตถุดิบ ส่วนปัจจุบันรัฐบาลมาเลเซียส่งเสริมให้ SME มีการผลิต Single origin chocolate เพื่อส่งออกในรูปแบบผลิตภัณฑ์ช็อกโกแลตแบบต่างๆ มากขึ้น

    ดังนั้น ภาครัฐของไทยควรเริ่มให้ความสำคัญกับตลาดโกโก้มากขึ้น ผ่านมาตรการสนับสนุนด้านต่างๆ เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยตื่นตัวและเร่งขยายธุรกิจในด้านนี้มากขึ้น



ภาพและข้อมูล: กรมวิชาการเกษตร, กระทรวงพาณิชย์

Photo by Tetiana Bykovets on Unsplash



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : แพงจนฉุดไม่อยู่! ราคาซื้อขาย ‘โกโก้’ ล่วงหน้า พุ่งทะลุตันละ 10,000 เหรียญ เป็นครั้งแรก

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine