MI GROUP คาด เม็ดเงินโฆษณาและการตลาดปี 2568 โตจากปีก่อน 4.5% อยู่ที่ 92,048 ล้านบาท โดยสื่อดิจิทัลรวมถึงสื่อโซเชียลโตเพิ่มขึ้น 16% ครองอันดับ 1 ต่อเนื่องสองปีซ้อน มีมูลค่าราว 38,938 ล้านบาท สำหรับการทำโฆษณา-การตลาดผ่านสื่อดิจิทัลออนไลน์ยังเคงน้นกลุ่มอินฟลูเอนเซอร์เป็นหลัก ณ ปัจจุบัน มีจำนวนอินฟลูฯ ในไทยเพิ่มมากขึ้นจากปีก่อนจาก 2 ล้านราย เป็น 3 ล้านราย
ภวัต เรืองเดชวรชัย ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท มีเดียอินเทลลิเจนซ์กรุ๊ป จำกัด หรือ MI Group เผยว่า ปี 2568 เป็นปีแห่งความท้าทายที่อาจกลายเป็นโอกาสทองที่ธุรกิจและผู้ประกอบการต้องตั้งรับและปรับตัวได้ดี ทั้งโอกาสจากการเติบโตของเทคโนโลยี AI และอุตสาหกรรมใหม่ๆ ในภาคส่วนดิจิทัล เช่น ธุรกิจ Data Center และ Cloud Service ที่มีแผนเข้ามาลงทุนในไทย การท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวทั้งจากภายในและจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีแนวโน้มสูงขึ้น
ทั้งนี้ ในส่วนของเม็ดเงินโฆษณาและสื่อสารการตลาดปี 2568 คาดการณ์ว่าจะเติบโต 4.5% จากปีก่อน 88,061 ล้านบาท ขึ้นมาอยู่ที่ 92,048 ล้านบาท โดยมีปัจจัยหลักจากการเติบโตอย่างต่อเนื่องของสื่อดิจิทัล (รวมถึงสื่อโซเชียล) ที่เติบโต 15% ถือเป็นสื่ออันดับ 1 ติดต่อกันเป็นปีที่ 2 มูลค่ารวมอยู่ที่ 38,938 ล้านบาท, สื่อนอกบ้านโต 10% ขณะที่สื่อหลักดั้งเดิมยังมีเม็ดเงินโฆษณาที่ถดถอยต่อเนื่อง ซึ่งปีนี้ สื่อดิจิทัล สื่อโทรทัศน์ และสื่อนอกบ้าน ยังคงมีบทบาทสำคัญที่แตกต่างแต่ส่งเสริมกันในการทำการตลาด โดยแบ่งสัดส่วนเป็นสื่อดิจิทัล 45% ในขณะที่สื่อออฟไลน์โดยรวมอยู่ที่ 55%
โอกาสของธุรกิจที่น่าจะเติบโตสูงในปี 2568
ผู้บริหารของ MI Group ให้ความเห็นว่า “การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Wellness Tourism) และการท่องเที่ยวเชิงธุรกิจอีเวนท์ (MICE: Meetings, Incentive Travel, Conventions, Exhibitions) ของไทยมีการเติบโตต่อเนื่อง อีกทั้งมาตรฐานการแพทย์ระดับสากลของไทย จะยิ่งดึงดูด Medical Tourists ได้เพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกันหลังจากกฎหมายสมรสเท่าเทียมมีผลบังคับใช้ ก็คาดว่าจะดึงดูดเหล่านักท่องเที่ยว LGBTQ+ จากทั่วโลกให้เดินทางมาไทยมากขึ้น จากการเป็น Wedding Destination สำหรับคู่รักจากทั่วโลก นอกจากนี้ ในส่วนของธุรกิจบันเทิงจากกระแส Soft Power โดยเฉพาะ Thai Cultural Content อาทิ ศิลปิน T-Pop หรือซีรีส์วาย (BL) และยูริ (GL) ที่เป็นกระแสระดับโลก ต่อเนื่องไปถึงอาหารไทยและแฟชั่นไทยก็ได้รับความนิยมอย่างมากในตลาดสากล โดยทั้งหมดนี้น่าจะสร้างรายได้ให้แก่ธุรกิจและประเทศได้มหาศาล”
โฆษณาผ่านสื่อดิจิทัลยังพุ่งเป้าหลักไปที่ Influencer
หากมองเจาะลึกลงไปที่สื่อดิจิทัล จะเห็นได้ว่าสัดส่วนใหญ่ที่สุดจะอยู่ที่การใช้ “Influencer” ที่มีตัวตนในแพลตฟอร์มโซเชียลต่างๆ โดยในปี คาดว่าจำนวน Influencer ในไทยน่าจะมีอยู่ราวๆ 3 ล้านราย หรือคิดเป็น 4.5% ของจำนวนประชากรไทยทั้งหมด (เติบโตจากปี 2567 ที่มีอยู่จำนวน 2 ล้านราย)
โดยการเติบโตหลักมาจาก Micro และ Nano ที่มาในรูปแบบของผู้ใช้จริง (KOC) และพ่อค้า แม่ค้า นักขาย ทั้งมืออาชีพและสมัครเล่นที่เข้าร่วมทำ Affiliate Marketing กับแพลตฟอร์มต่าง ๆ ซึ่งในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ผู้ประกอบการและแบรนด์ เน้นการสื่อสารการตลาดเพื่อดันยอดขายโดยตรงเป็นหลัก (Lower Funnel Marketing) จึงเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้การใช้ Influencer เติบโตสูง ในขณะที่การสื่อสารการตลาดที่มุ่งการรับรู้และการสร้างแบรนด์ (Thematic Ad) ยังคงมีความสำคัญแต่แค่เป็นรอง
สำหรับกลุ่มสินค้า-บริการที่คาดว่าจะใช้งบสื่อสารการตลาดเพิ่มขึ้นในปีนี้ ได้แก่
- สินค้าและบริการเกี่ยวกับการท่องเที่ยว อาทิ โรงแรม สายการบิน แพลตฟอร์มและแอปพลิเคชันท่องเที่ยว
- ประกันชีวิต ประกันสุขภาพ และโบรกเกอร์ประกัน
- วิตามิน อาหารเสริม และยา
- โฆษณาจากภาครัฐ
- การขนส่ง เช่น บริการส่งอาหาร ส่งพัสดุ
- อาหารและสินค้าเพื่อสัตว์เลี้ยง
- สถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร
- กลุ่มสินค้าและบริการที่คาดว่าจะใช้งบสื่อสารการตลาดลดลงในปีนี้ ได้แก่
- E-Marketplace เช่น Shopee, Lazada
- เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เช่น น้ำอัดลม กาแฟ
- ร้านอาหาร
- ของใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น สบู่ ยาสีฟัน
- ผลิตภัณฑ์เพื่อการเกษตร
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : เจาะข้อมูล Insight ปี 2025 'ไทย' แชมป์โลกช็อปออนไลน์ถี่ยิบ! 70% เน้นช็อปทุกสัปดาห์ และธุรกิจทุ่มเงินโฆษณาผ่านดิจิทัลเป็นหลัก
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine