จับตา! ‘ตั้งฮั่วเส็ง ธนบุรี’ ค้าปลีกในตำนานส่อแววเปลี่ยนมือ MBK อาจเป็นหนึ่งในโผ - Forbes Thailand

จับตา! ‘ตั้งฮั่วเส็ง ธนบุรี’ ค้าปลีกในตำนานส่อแววเปลี่ยนมือ MBK อาจเป็นหนึ่งในโผ

สัญญาณการปรับเปลี่ยน “ตั้งฮั่วเส็ง ธนบุรี” หรือ T-Square กำลังจะเปิดขึ้นต้นปีหน้า หลังซุ่มหาพาร์ทเนอร์ฟื้นชีพค้าปลีกย่านนี้อีกครั้ง วงในเผย “เอ็ม บี เค” อาจเป็นหนึ่งในโผ ส่วนสาขาบางลำภูแม่ค้าเตรียมหาที่ขายใหม่แล้ว ฝั่งผู้บริหาร “เอ็ม บี เค” ปฏิเสธ แต่บอกบริษัทเปิดกว้างสำหรับนโยบาย M&A แต่ต้องเป็นธุรกิจที่ถนัด ล่าสุดเปิดโฉมใหม่พาราไดซ์ พาร์ค ศรีนครินทร์ พร้อมย้ำลงทุนแบบระวัง เพราะเศรษฐกิจไม่แน่นอน


    การปิดห้างค้าปลีกของคนไทย การควบรวมกิจการ หรือการเปลี่ยนมือผู้ถือหุ้นเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะช่วงวิกฤตการเงินในปี 2540 แต่ห้างสรรพสินค้าเก่าแก่ของคนไทยอย่าง “ตั้งฮั่วเส็ง” ยังอยู่รอดพ้นเงื้อมมือของต่างชาติ แม้จะมีค้าปลีกสมัยใหม่ในรูปแบบใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย แต่ตั้งฮั่วเส็งยังมีฐานลูกค้าที่มีความจงรักภักดีอย่างเหนียวแน่นแม้จะเป็นห้างสรรพสินค้าขนาดเล็ก เพราะการสร้างเอกลักษณ์ของตัวเอง โดยเป็นแหล่งรวมสินค้างานฝีมือ และอุปกรณ์เย็บปักถักร้อยครบวงจร ที่ยังคงเป็นจุดแข็งอยู่จนถึงปัจจุบัน

    แม้จะอยู่ในทำเลที่เดินทางสะดวก มีรถประจำทาง และใกล้รถไฟฟ้าใต้ดินก็ตาม ดิจิทัลเทคโนโลยี การระบาดของโควิด การเปลี่ยนแปลงของแลนด์สเคปค้าปลีกในย่านฝั่งธนบุรี และสภาพเศรษฐกิจ ทำให้กิจการของห้างสรรพสินค้าตั้งฮั่วเส็งที่มีอายุครบ 62 ปีในปีนี้ ต้องก้าวสู่จุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ที่สุดอีกครั้งหนึ่ง ภายหลังจากมีการปรับตัวเพื่ออยู่รอดให้ได้มาเป็นระยะๆ


    ตั้งฮั่วเส็งก่อตั้งขึ้นโดยตระกูล “จุนประทีปทอง” ในปี 2505 ในย่านบางลำภู จำหน่ายสินค้าอุปกรณ์เย็บปักถักร้อย เครื่องสำอาง เสื้อผ้า แฟชั่น และอุปกรณ์ตัดเย็บต่างๆ จดทะเบียนร้านค้าเป็น “ห้างหุ้นส่วน” และต่อมาเปลี่ยนเป็น “บริษัท สรรพสินค้าตั้งฮั่วเส็ง จำกัด” เพิ่มสินค้าหลากหลายมากขึ้น วางสินค้าตามหมวดหมู่ชัดเจน มีแผนกซูเปอร์มาร์เก็ต เครื่องไฟฟ้า เครื่องเขียน เครื่องแต่งกายสุภาพบุรุษและสตรี และแผนกเย็บปักถักร้อย

    ด้วยความนิยมจากลูกค้า ตั้งฮั่วเส็งได้เปิดสาขาสาขาที่ 2 บนถนนสิรินธร ในปลายปี 2534 มีพื้นที่ 30,000 ตารางเมตรเป็นอาคารพาณิชย์ 10 ชั้น ตลอดเวลาที่ผ่านมาตั้งฮั่วเส็งมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง แม้จะมีจำนวนสาขาเพียง 2 แห่ง สาเหตุเป็นเพราะการปรับตัวเองตลอดเวลา รวมถึงการปรับโฉม ลดพื้นที่ห้าง เพิ่มพื้นที่พลาซ่า เพิ่มกิจกรรมการเย็บปักถักร้อย การปรับบริการลูกค้า การเริ่มนำสินค้าอาหารปรุงสำเร็จซื้อกลับบ้าน จนเป็นที่ติดอกติดใจและสร้างลูกค้าที่มีความจงรักภักดีในย่านนั้น


    แต่ถึงอย่างนั้น ด้วยสภาพเศรษฐกิจ กำลังซื้อ และพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป การมีค้าปลีกเกิดขึ้นจำนวนมากในหลากหลายรูปแบบในฝั่งธนบุรี ทำให้การตอบสนองความต้องการผู้บริโภคที่ซับซ้อนและมีทางเลือกที่มากขึ้น ทำได้ลำบากยิ่งขึ้นเช่นเดียวกัน

    ร้านของเราจะปิดบริการในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านะคะ เจ้าของร้านยังไม่ได้แจ้งรายละเอียด แต่บอกว่าตั้งฮั่วเส็งคงจะมีการรีโนเวท ไม่รู้ว่าปิดบางส่วน หรือปิดทั้งหมด” พนักงานร้านขายอาหารรายหนึ่งกล่าว

    “เราน่าจะปิดบริการร้านในเดือนกันยายนเพราะหมดสัญญา เราไม่รู้จะมีการปรับปรุงอะไรยังไง ลูกค้าเข้าร้านน้อยมาก เมื่อหมดสัญญา เราก็จะไป” พนักงานเสิร์ฟเชนร้านอาหารรายหนึ่งกล่าว



    จากการลงสำรวจพื้นที่ ห้างสรรพสินค้าตั้งฮั่วเส็ง ธนบุรี ยังเปิดบริการตามปกติทุกวันนี้ แต่มีเพียงชั้นใต้ดินที่เป็นโซนซูเปอร์มาร์เก็ต ซึ่งมีสินค้าวางเรียงบนชั้นวางของน้อยกว่าปกติ และปล่อยให้ว่างมานาน ในชั้นนี้มีเพียงร้านวัตสันเป็นแม็กเน็ตดึงลูกค้ารายเดียวเท่านั้น ที่เหลือเป็นกระบะขายสินค้า และราวแขวนเสื้อผ้า ของฝาก อาหารเล็กๆ น้อยๆ ร้านก๋วยเตี๋ยว เครื่องใช้ไฟฟ้า และร้านฟู้ดคอร์ทจำนวนหนึ่ง


    เหนือจากชั้นซูเปอร์มาร์เก็ตขึ้นมาอีกชั้น ขณะนี้ยังมีร้านอาหารบางร้านเปิดให้บริการอยู่ อาทิ ร้านซานตาเฟ่ ร้านเคเอฟซี ส่วนแมคโดนัลด์ปิดให้บริการไปนานแล้ว พื้นที่ที่เหลือจำหน่ายสินค้าเสื้อผ้าแฟชั่นสุภาพบุรุษและสตรีบางยี่ห้อ รวมทั้งชุดชั้นในยี่ห้อซาบีน่า และไทรอัมพ์ (คาดว่าขณะนี้ได้ย้ายออกแล้ว) พร้อมกระบะจำหน่ายสินค้าราคาพิเศษ และร้านขายสินค้าจิปาถะที่เป็นของตั้งฮั่วเส็งเอง


    ส่วนชั้นที่อยู่เหนือจากชั้นนี้ ปิดให้บริการมานานแล้ว เจ้าหน้าที่บอกว่ารอการปรับปรุงครั้งใหญ่ ส่วนชั้นสินค้าเย็บปักถักร้อย อุปกรณ์เย็บผ้า และสถานที่เวิร์คช็อปสำหรับคนที่ชอบงานฝีมือ ยังคงเปิดให้บริการอยู่บางส่วน และอาจารย์ผู้สอนบางท่านที่เคยเปิดคอร์สสอนประจำที่นี่บางท่าน ได้ย้ายไปเปิดกิจการที่บ้านของตนเองบ้างแล้ว

บริเวณชั้น 3 ตั้งฮั่วเส็ง ธนบุรี


    ทั้งหมดนี้ ล้วนเป็นสัญญาณที่บอกให้เห็นว่า กำลังจะมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่ “ตั้งฮั่วเส็ง ธนบุรี” ในอนาคตอันใกล้ หลังจากมีข่าวลือเป็นระยะๆ ว่าจะปิดเพื่อปรับปรุงมาหลายปี

    อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ทางห้างสรรพสินค้ายังปล่อยให้เช่าพื้นที่ขายสินค้ารายวันอยู่ จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง

    “จะมีการร่วมทุนกับค้าปลีกรายใหม่ และปรับปรุงห้างครั้งใหญ่ในปลายปีหรือต้นปีหน้า ภายหลังได้พันธมิตรใหม่ ไม่แน่ใจว่าจะยังใช้ชื่อตั้งฮั่วเส็งที่สาขาธนบุรี หรือใช้ชื่อของพันธมิตรร่วมด้วย ต้องรอผู้ใหญ่แจ้งมาอีกครั้งหนึ่ง” แหล่งข่าวตั้งฮั่วเส็ง ธนบุรี กล่าว

    ต่อข้อถามที่ว่า พันธมิตรที่มีการพูดคุยถึงความร่วมมือครั้งนี้ มีรายชื่อยักษ์ใหญ่อย่างกลุ่มเซ็นทรัล หรือมาบุญครองหรือไม่ เจ้าหน้าที่เงียบไปชั่วขณะ และตอบว่า “กลุ่มมาบุญครอง อาจจะเป็นไปได้”

    ส่วนตั้งฮั่วเส็งสาขาบางลำพูนั้น ขณะนี้ยังเปิดให้บริการตามปกติ แต่สินค้ามีจำนวนน้อยลงเช่นเดียวกัน ก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวออกมาว่า จะมีการสร้างโรงแรมแทนห้างสรรพสินค้าในต้นปีหน้าเช่นเดียวกัน แต่จากการสอบถามพนักงานแจ้งว่า รอผู้ใหญ่แจ้งรายละเอียดอีกครั้งหนึ่ง

    อย่างไรก็ตาม จากการพูดคุยกับพ่อค้าแม่ค้าที่นี่ ไม่มีใครกล้าฟันธงเรื่องนี้ บอกแต่เพียงว่าพวกตนเองได้เตรียมหาพื้นที่ใหม่สำหรับขายของไว้แล้วหากมีการปิดห้างตามที่เป็นกระแส


‘เอ็ม บี เค’ ปฏิเสธ แต่เปิดโอกาสขยายธุรกิจทุกรูปแบบ

    จากการสอบถามไปยัง นายสมพล ตรีภพนารถ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารธุรกิจศูนย์การค้า บริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารศูนย์การค้ามาบุญครองถึงเรื่องนี้ สมพลกล่าวว่า ตนยังไม่ทราบเรื่องนี้ หากตกลงเข้าร่วมทุนหรือทำความร่วมมือใดๆ กับตั้งฮั่วเส็ง ตนจะต้องรับรู้ก่อน เพื่อศึกษาโอกาสและความเป็นไปได้

    ขณะที่ นายวิจักษณ์ ประดิษฐวณิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้อำนวยการ บริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทเปิดโอกาสขยายธุรกิจในทุกรูปแบบ รวมทั้ง merge & acquisition (M&A) หากธุรกิจนั้นเป็นธุรกิจที่เอ็ม บี เค มีความถนัด

    ก่อนหน้านี้กลุ่มเอ็ม บี เค ได้เคยใช้กลยุทธ์ M&A มาแล้ว โดยทุ่มเงินกว่า 1 พันล้านบาท ซื้อกิจการโรงแรมในย่านข้าวสารและเปิดบริการในชื่อ “ทินิดี เทรนดี้ กรุงเทพ ข้าวสาร” บนถนนรามบุตรีในเดือนธันวาคมปีที่ผ่านมา โรงแรมนี้มีขนาด 215 ห้อง มีอัตราเข้าพัก 70-80% จับกลุ่มนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติที่ชื่นชอบการท่องเที่ยวในรูปแบบที่แตกต่างและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว

    วิจักษณ์บอกว่า ตามปกติ เอ็ม บี เคจะเตรียมเงินไว้สำหรับการขยายธุรกิจปีละประมาณ 2 พันล้านบาท โดยในปีนี้จะเน้นขยาย 3 ธุรกิจ ได้แก่ โรงแรม ศูนย์การค้า และกอล์ฟ

วิจักษณ์ ประดิษฐวณิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้อำนวยการ บริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน)


    “เราคงชะลอการลงทุนเรียลเอสเตทในช่วงนี้ เศรษฐกิจไม่แน่นอนแบบนี้ต้องระวังเรื่องการลงทุนให้มาก เราจะลงทุนอะไรที่ไม่เสี่ยง ส่วนเรื่องดีลก็มีคนมาเสนอเรื่อยๆ แต่เราต้องมั่นใจว่าธุรกิจนั้นอยู่ในโลเคชั่นที่ถูกต้อง มียูนิคเนส และมีจุดแตกต่าง ถ้าเราจะซื้อต้องซื้อในระดับราคาที่สบายใจ ต้องเป็นธุรกิจที่เราชำนาญและต้นทุนต่ำ สิ่งที่ผมกังวลในเวลานี้คือ การเมือง และสงครามลากยาว ผมอยากให้การเมืองนิ่งๆ ทุกคนจะได้ไปได้ อีกอย่างที่อยากให้ทำคือ แก้ปัญหาหนี้ มีหนี้เยอะก็ไม่มีกำลังซื้อ” วิจักษณ์บอก

    ล่าสุดบริษัทได้ปรับโฉมพาราไดซ์ พาร์ค เป็นครั้งแรกในรอบ 13 ปี สู่คอนเช็ปต์ Living in Harmony ใส่ใจการใช้ชีวิต กินดี อยู่ดี สุขภาพดี

    นอกจากนี้บริษัทยังปรับกลยุทธ์และแนวคิดของศูนย์การค้าฯใหม่ทั้งหมด เพื่อมอบประสบการณ์ครั้งใหม่และครั้งสำคัญให้กับลูกค้าฝั่งกรุงเทพฯ ตะวันออกและพื้นที่ใกล้เคียง โดยเริ่มรีโนเวทพื้นที่ศูนย์การค้าฯทั้งหมดกว่า 260,000 ตารางเมตร ตั้งแต่ต้นปี 2566 ซึ่งใช้งบในการปรับโฉมรวมกว่า 1,000 ล้านบาท

    โดยโฉมใหม่นั้นปรับเปลี่ยนทั้งรูปลักษณ์ดีไซน์ บรรยากาศการตกแต่งภายในและภายนอก ด้วยแนวคิด “Natural” มีการปรับโซนภายในศูนย์การค้าใหม่ทั้งหมด ตกแต่งด้วยต้นไม้หลากหลายรูปแบบตามโซนต่างๆ เพื่อให้สอดคล้องกับโลเคชันของพาราไดซ์ พาร์ค ที่ตั้งอยู่พื้นที่ที่เป็น “ปอด” ของกรุงเทพฯ ตะวันออกอย่างสวนหลวง ร.9

    ปัจจุบันอัตราเช่าพื้นที่ของพาราไดซ์ พาร์คอยู่ที่ 85% ของพื้นที่เช่าทั้งหมดที่มีประมาณ 80,000 ตารางเมตร ปัจจุบันร้านค้ายังเปิดบริการเพียง 70% เท่านั้น และขณะนี้ยังมีพื้นที่เช่าเหลืออีกประมาณ 1,000 ตารางเมตรเท่านั้น

    พาราไดซ์ พาร์ค เป็นศูนย์การค้าโมเดลใหม่ที่ออกแบบมาให้ตอบโจทย์ทุกกลุ่มเป้าหมายมีผู้เช่ารายสำคัญๆ อาทิ โรงพยาบาลรามาธิบดี ซึ่งจัดตั้งศูนย์ดูแลสุขภาพครบวงจร “คลินิกพรีเมียม รามาธิบดี เฮลธ์ สเปซ @พาราไดซ์ พาร์ค” เพื่อให้ประชาชนในย่านศรีนครินทร์และพื้นที่ใกล้เคียง ได้เข้าถึงการดูแลสุขภาพและการบริการแพทย์ที่ครบวงจร โดยไม่ต้องเดินทางเข้าเมือง

    นอกจากนี้ยังมีคลินิกเฉพาะทางอย่าง คลินิกสุขภาพใจ พิชญานิน คลินิก ศูนย์การได้ยินเดียร์ Dear Hearing S’RENE by SLC คลินิกสุขภาพสำหรับคนเมือง ที่ให้บริการด้านเวชศาสตร์ชะลอวัย และศูนย์ไตเทียมที่จะเปิดบริการเร็วๆ นี้

    ปัจจุบันมีร้านค้ากว่า 500 ร้านค้า เปิดบริการตอบสนองทุกไลฟ์สไตล์และตอบโจทย์การใช้ชีวิตของทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็น ร้านอาหารชื่อดังอย่าง สีฟ้า, หงเปา, ลัคกี้ สุกี้, ลัคกี้ บาร์บีคิว, ฮิโตริ, สลัดแฟคทอรี่ หรือตลาดติดแอร์อย่าง เสรีมาร์เก็ต ซูเปอร์มาเก็ตชั้นนำ วิลล่า มาร์เก็ต และร้านอาหารใหม่ๆ เพิ่มขึ้นในเร็วๆ นี้

    นอกจากนี้ยังร้านเสื้อผ้าแบรนด์ชั้นนำ อาทิ H&M ร้านกระเป๋านารายา และอุปกรณ์ตกแต่งบ้าน ร้านเฟอร์นิเจอร์ Jas Gallery สถาบันการเงินชั้นนำ สินค้าด้านเทคโนโลยี อิเล็กทรอนิกส์ และแก็ดเจ็ตแบรนด์ ตลอดจนสถาบันกวดวิชาและสถาบันสอนภาษาชั้นนำกว่า 40 สถาบัน

    วิจักษณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า หลังปรับโฉมใหม่ขณะนี้มีลูกค้ามาใช้บริการอยู่ประมาณ 50,000 คนต่อวัน มั่นใจว่าการพลิกโฉมครั้งใหม่และครั้งใหญ่ของพาราไดซ์ พาร์ค จะสร้างประสบการณ์ใหม่ที่แตกต่างไปจากเดิม

    ส่วนธุรกิจของเอ็ม บี เคนั้นมีอัตราเช่าพื้นที่สูงถึง 98% มีจำนวนลูกค้ามาใช้บริการวันละ 85,000 คน สูงกว่าก่อนโควิดระบาด จากการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวต่างประเทศและลูกค้าในประเทศ

    “เราปรับกลยุทธ์การตลาดใหม่ ทำงานเข้มข้นมากขึ้น ทีมการตลาดจะต้องรู้ให้ได้ว่าใครเข้าศูนย์การค้าของเราทุกเดือน เราใช้ข้อมูลในการทำงานมากขึ้น ติดตั้งกล้อง AI ดูลูกค้าและสัมภาษณ์ลูกค้าต่างชาติเดือนละ 10,000 คนทุกเดือน เพื่อจะรู้ว่าลูกค้าต้องการอะไร การมีกลุ่มเซ็นทรัลมาทำธุรกิจในบริเวณใกล้เคียง จะเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน และทำให้พื้นที่ผืนนี้เป็น diamond area for shopping ในอนาคต” วิจักษณ์กล่าว

    เขายังบอกอีกว่า ปัจจุบันลูกค้าของเอ็ม บี เค มีคนไทยมากขึ้น จากก่อนโควิดที่เป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นส่วนใหญ่ สินค้าที่จำหน่ายในศูนย์การค้า 20% เป็นอาหาร ไม่รวมฟู้ดคอร์ท สัดส่วนผู้เช่ารายใหญ่เป็นติวเตอร์ซึ่งช่วยดึงกลุ่มลูกค้าครอบครัวเข้าศูนย์

    ในปีที่ผ่านมา เอ็ม บี เค มีรายได้รวม 12,101 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 1,567 ล้านบาท ปัจจุบันเอ็ม บี เค ดำเนินธุรกิจ 7 ธุรกิจได้แก่ ศูนย์การค้า โรงแรมและการท่องเที่ยว กอล์ฟ อสังหาริมทรัพย์ อาหาร การเงินและการประมูล



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : ทุ่ม 700 ล้าน พลิกโฉม ‘บุญถาวร รัชดาภิเษก’ สู่ Design Village รัชดา คาดเปิดให้บริการปลายปี 2567 นี้

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine