พิซซ่าเกาหลี-อเมริกันบุกไทย ตบเท้าชิงแชร์ตลาดหมื่นล้าน ฝั่งเดอะ พิซซ่า ดึง ‘บิวกิ้น-พีพี’ เป็นพรีเซ็นเตอร์ - Forbes Thailand

พิซซ่าเกาหลี-อเมริกันบุกไทย ตบเท้าชิงแชร์ตลาดหมื่นล้าน ฝั่งเดอะ พิซซ่า ดึง ‘บิวกิ้น-พีพี’ เป็นพรีเซ็นเตอร์

GOPIZZA-Little Caesars พิซซ่าแบรนด์เกาหลีและอเมริกัน บุกเมืองไทย ตบเท้าชิงแชร์ตลาดหมื่นล้าน เจาะลึกคอนซูเมอร์อินไซด์ รายเก่า-ใหม่งัดไม้เด็ดสู้ ฝั่ง ‘เดอะ พิซซ่า คอมปะนี’ ท้าเสิร์ฟเร็ว ได้อารมณ์เหมือนกินที่ร้าน สนนราคาต้านเศรษฐกิจไทยได้ พร้อมดึง 'บิวกิ้น-พีพี' เป็นพรีเซ็นเตอร์


    ปรากฏการณ์การขายข้าวถุงตกต่ำลงอย่างมากเหมือนในอดีต กำลังจะเกิดขึ้นในเมืองไทยอีกครั้ง ไม่ใช่เพราะมีร้านเบเกอรี่อาหารสไตล์ตะวันตกเสิร์ฟทั่วไปในศูนย์การค้า และจากร้านเซเว่นอีเลฟเว่นหน้าบ้าน แต่เป็นการคืบคลานรอบใหม่ในตลาดพิซซ่า

    พิซซ่าใหม่จากเกาหลี "GOPIZZA" ที่อ้างว่าเป็นแบรนด์พิซซ่าที่เสิร์ฟถึงมือลูกค้าเร็วที่สุดแค่ 7 นาที ได้ตัดสินใจสู่สนามแข่งขันของตลาดพิซซ่าในไทยตั้งแต่ 23 ธันวาคมปีที่ผ่านมา หลังจากอิทธิพลด้านการท่องเที่ยว การดูซีรีส์เกาหลี และความนิยม K-Pop ทำให้วัฒนธรรมการกินอาหารเกาหลีอย่างบิบิมบับ ซัมกยอบซัล บูลโกกิ ต๊อกบกกี ถูกเผยแพร่อย่างรวดเร็วในไทย

    นอกจากนี้ “Little Caesars” ผู้นำเบอร์ต้นๆ ในอเมริกาเป็นอีกรายที่กำลังพยายามเข้าตลาดไทย หลังจากที่ได้พยายามมากว่า 7 ปี

    แม้ถือเป็นเรื่องปกติที่พิซซ่ารายใหม่ๆ จะเข้ามาหาโอกาสขยายตลาดในเมืองไทย แต่ครั้งนี้จุดขายที่สำคัญของทั้ง GOPIZZA และ Little Caesars คือความคุ้มค่าและความเร็ว ซึ่งเป็น key success ของ “เดอะ พิซซ่า คอมปะนี” พี่ใหญ่วงการซึ่งมีความแข็งแรงทั้งทุน ประสบการณ์ เทคโนโลยี การตลาด เครือข่าย พื้นที่ และนวัตกรรมสินค้า

    แรงกระเพื่อมของการแข่งขันในตลาดพิซซ่าหมื่นล้านบาทปีนี้ คงมีพอควร อาจจะไม่ใช่แค่จากเดอะ พิซซ่า คอมปะนี แบรนด์อย่างโดมิโนพิซซ่า, Pizza Hut, Scoozi Urban Pizza, นารายณ์พิซซาเรีย หรือพิซซ่าอิตาเลี่ยนโฮมเมด อาจจะโดดมาร่วมวง

    “เดอะ พิซซ่า คอมปะนี ในฐานะผู้นำตลาดพิซซ่าเมืองไทย มีส่วนแบ่งตลาดมากกว่า 70% จะไม่เน้นแข่งขัน แต่ให้ความสำคัญกับการเพิ่มโอกาสการกินพิซซ่าไปพร้อมๆ กับขยายฐานลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ ถ้าไม่เพิ่มโอกาสการกิน พิซซ่าจะเป็นกลุ่มที่เติบโตได้ยาก เพราะเปิดตลาดครอบคลุมทุกจังหวัด ยกเว้นแค่แม่ฮ่องสอน” ธันยเชษฐ์ เอกเวชวิท ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท เดอะไมเนอร์ฟู้ด กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าว


ทำไมเดอะ พิซซ่าฯ ต้องเจาะคนรุ่นใหม่?

    เนื่องจากไทยเป็นตลาดไก่ทอด ดังนั้นเฉลี่ยจำนวนครั้งของลูกค้าที่มาร้านเดอะ พิซซ่า คอมปะนี จึงมีเพียง 1 ครั้งใน 3 เดือน และฐานลูกค้าถึง 55% ก็เป็นกลุ่มครอบครัวและเด็ก คนรุ่นใหม่จึงเป็นเป้าหมายใหม่ ที่จะเพิ่มโอกาสการขาย

    เดอะ พิซซ่า คอมปะนี ได้รีแบรนด์ครั้งใหญ่ในปีที่ผ่านมา มีการปรับเปลี่ยนโลโก้ใหม่ทั้งตัวอักษรและรูปแบบ ปรับยูนิฟอร์มของพนักงาน เน้นสีเขียว และออกแบบร้านให้สว่างและเรียบง่าย ภาพของแบรนด์จึงสนุก ทันสมัย และเป็นที่ชื่นชอบของคนรุ่นใหม่มากขึ้น

    “ในปีนี้เราจะต่อยอดความสำเร็จไปอีกขั้นหนึ่ง และในฐานะที่เดอะ พิซซ่า คอมปะนี เป็นแบรนด์พิซซ่ามหาชน เราจึงใช้พรีเซ็นเตอร์มหาชน ‘บิวกิ้น-พีพี’ มาเป็นพรีเซนเตอร์ เพื่อดึงคนรุ่นใหม่ที่เป็นแฟนพันธุ์แท้อย่างเหนียวแน่นมาอยู่ในระบบของเรา” ปัทม์ พงษ์วิทยาพิพัฒน์ ผู้จัดการทั่วไป เดอะ พิซซา คอมปะนี กล่าว

ปัทม์ พงษ์วิทยาพิพัฒน์ ผู้จัดการทั่วไป เดอะ พิซซา คอมปะนี


    ในหลายปีที่ผ่านมา คนรุ่นใหม่กลายมาเป็นเป้าหมายการขยายโอกาสของสินค้าหลายวงการ โดยเฉพาะธุรกิจอาหาร เพราะคนกลุ่มนี้ใช้ชีวิตสนุกสนานหลังเลิกงาน ชอบมีปาร์ตี้กับเพื่อน พร้อมลองของใหม่ สนับสนุนดารา นักร้องที่ตัวเองชื่นชอบ และที่สำคัญมักจะสั่งอาหารทานในมื้อค่ำจนถึง late night เดอะ พิซซ่า คอมปะนี มองทะลุอินไซด์คอนซูเมอร์เหล่านี้ และเห็นว่าเป็นโอกาสที่จะเติมเต็มการขาย ที่ปกติจะกระจุกตัวในช่วงกลางวัน


เดอะ พิซซ่า คอมปะนี ตอกย้ำ “คุ้มค่า”

    จากสถิติการขายพบว่า ลูกค้าของเดอะ พิซซ่า คอมปะนี จะกลับมาซื้อซ้ำพิซซ่าหน้านิยมหลักๆ อาทิ ฮาวายเอี้ยน ซีฟู้ดส์ค็อกเทล แฮมปูอัด ดับเบิ้ลชีส และมีทเดอลุกซ์ บริษัทจึงได้เปิดตัวเมนูใหม่ ‘พิซซ่าไส้กรอกยั่วนัวเบคอน’ ไส้กรอกรมควันมาพร้อมแฮม เปปเปอโรนี เสิร์ฟพร้อมซอสศรีราชามาโย และขอบไส้กรอกชีสพันเบคอนชิ้นใหญ่ในราคา 479 บาท

    ทั้งยังเตรียมสินค้ารับความท้าทายกำลังซื้อ ด้วยพิซซ่าถาดเล็ก 99 บาทสำหรับทานคนเดียว และ 139 บาทสำหรับเมนูเซ็ต ในช่องทางเดลิเวอรี ขณะเดียวกันยังนำเสนอสลัดในราคาเพียง 79 บาท จากเดิม 99 บาทสำหรับการนั่งทานที่ร้านด้วย

    “เราเพิ่มเมนูทานเดี่ยว ปรับปริมาณอาหารให้เหมาะกับทานคนเดียว เพื่อเพิ่มโอกาสในการทานพิซซ่ามากขึ้น และตอบโจทย์ทุกกำลังซื้อ และที่สำคัญต้องการสร้าง pizza moment” ธันยเชษฐ์กล่าว


    นอกจากนี้ยังตอกย้ำกลยุทธ์ value for money ด้วยการออกแคมเปญ “1 แถม 1 คู่ฟินขวัญใจมหาชน” ตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 17 เมษายนนี้ โดยมีพีพีและบิวกิ้นเข้าร่วมในทุกกิจกรรม คาดว่าจะกระตุ้นยอดขายปีนี้ให้เติบโตได้ถึง 15% จากปีที่ผ่านมาซึ่งเติบโต 10% และเพิ่มสัดส่วนลูกค้าคนรุ่นใหม่จากปัจจุบันที่มีสัดส่วนอยู่ที่ 25% ที่เหลืออีก 75% เป็นคนทำงาน ครอบครัวและเด็ก


ปฏิวัติความเร็วส่งถึงมือลูกค้าเพียง 20 นาที

    เดอะ พิซซา คอมปะนี ได้ทำการเก็บข้อมูล ศึกษาเส้นทาง ความหนาแน่นของผู้บริโภคในแต่ละพื้นที่ แล้วมาปรับเทรดโซนใหม่ ทำให้ลดเวลาส่งได้เหลือ 12 นาทีจากเดิม 16 นาที และปรับขั้นตอนในครัวให้เหลือเพียง 8 นาที และเริ่มการันตีการส่งมอบพิซซ่าให้ถึงมือลูกค้าภายใน 20 นาทีเป็นรายแรกของโลกตั้งแต่ต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยมีร้าน 40 สาขาในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลเข้าร่วมรายการ


    “ตั้งแต่เริ่มให้บริการ พนักงานสามารถส่งสินค้าภายในเวลาที่กำหนดถึง 95% และพบการเติบโตในช่องทางเดลิเวอรีอย่างมีนัยสำคัญ” ปัทม์กล่าว

    ปัจจุบัน พิซซ่ามีการขายผ่านช่องทางเดลิเวอรี 45% เพิ่มจากก่อนโควิดซึ่งอยู่ที่ 25% และที่เหลืออีก 30% และ 25% รับประทานที่ร้านและสั่งกลับบ้านตามลำดับ

    แม้ภาวะเศรษฐกิจยังเป็นปัจจัยท้าทาย บริษัทยังคงเดินหน้าลงทุนด้วยงบกว่า 300 ล้านบาท เปิดสาขาใหม่อีก 25 แห่ง แบ่งเป็นกรุงเทพฯ 10 สาขา และต่างจังหวัด 15 สาขา ทำให้จะมีสาขาทั้งสิ้น 445 สาขาในปีนี้


พิซซ่าที่เร็วที่สุดในเกาหลี ท้าชน

    GOPIZZA พิซซ่ารายใหม่จากเกาหลี ได้เปิดสาขาแรกบนพื้นที่ชั้น 2 ของโลตัสสาขาสุขุมวิท 50 ตั้งแต่เดือนธันวาคมปีที่ผ่านมา เป็นร้านที่ให้บริการซื้อสินค้ากลับบ้าน ไม่มีที่นั่ง แต่มีบริการส่งสินค้าในรัศมีแค่ 1 กิโลเมตร ที่ร้านนี้ มีพิซซ่าให้เลือกทั้งหมด 7 หน้า ตั้งแต่หน้าชีส เปอเปอโรนี ฮาวายเอี้ยน คอมบิเนชั่น ไก่ซอสบุลดัค กังนัมบุลโกกิ จนถึงโซลสโนว์ชริมพ์


    สำหรับ Korean Combo Set จะประกอบด้วยพิซซาหน้าหลักหน้าใดหน้าหนึ่งจาก 7 หน้า เสิร์ฟพร้อมกับต๊อกบกกี่ หรือไก่ทอดและเครื่องดื่ม ราคา 309-409 บาท ส่วน Value Combo Set จะเปลี่ยนจากต๊อกบกกี่หรือไก่ทอด เป็นมันฝรั่งทอด ราคา 239-339 บาท

    แหล่งข่าวกล่าวว่า GOPIZZA มีเจ้าของเป็นคนเกาหลี นอกจากสาขาที่โลตัสแล้ว บริษัทยังมีแผนจะเปิด GOPIZZA ที่คอสโม บาร์ซา ค้าปลีกขนาดใหญ่บนพื้นที่กว่า 102,460 ตารางเมตรที่เมืองทองธานีในเร็วๆ นี้


Little Caesars ผู้นำเบอร์ 3 จากอเมริกาจ่อคิว

    Little Caesars ซึ่งอ้างว่าเป็นเชนพิซซ่าใหญ่อันดับ 3 จากสหรัฐฯ ได้พยายามหาช่องทางเข้าสู่ตลาดเอเชียมานาน และมีความสนใจเป็นพิเศษ ที่ญี่ปุ่น เกาหลี ฮ่องกง ไต้หวัน บังคลาเทศ อินโดนีเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ ลาว มาเลเซีย พม่า และไทย
โดย Little Caesars เริ่มมองหาแฟรนไชส์ไทยตั้งแต่ 7 ปีที่ผ่านมา แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จ ประกอบกับโควิด ในปีนี้จึงกลับมาหาพาร์ทเนอร์ไทยอีกครั้ง


    “เราต้องการขยายธุรกิจในประเทศไทย เพราะขนาดประชากร คนไทยคุ้นเคยกับพิซซ่ามาเป็นเวลานาน และที่นี่ก็เป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวจากทุกมุมโลก เรามองเห็นโอกาสตลาด และอยากมาเป็นทางเลือกสำหรับผู้ที่ชอบพิซซ่าคลาสสิก ด้วย Little Cesar Pizza มีจุดขายที่แข็งแรงในเรื่องความคุ้มค่า จึงน่าจะเหมาะกับกำลังซื้อผู้บริโภคไทยในปัจจุบัน” ตัวแทนเจรจาธุรกิจของ Little Caesars ซึ่งไม่ประสงค์เอ่ยนามกล่าว

    ตามสัญญาผู้ที่สนใจเป็นแฟรนส์ไชส์ของ Little Caesars จะได้สิทธิ์ขยายธุรกิจในเมืองไทยเป็นเวลา 10 ปีและต่อสัญญาอีก 10 ปี ภายใต้งบลงทุน 1.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

    ทั้งนี้ Little Caesars Pizza ก่อตั้งในสหรัฐอเมริกาเมื่อปี พ.ศ. 2502 มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ดีทรอยด์ มิชิแกน ปัจจุบันขยายแฟรนไชส์ครอบคลุม 27 ประเทศในยุโรป เอเชีย ตะวันออกกลาง และลาตินอเมริกา นอกจากพิซซ่าแล้ว Little Caesars Pizza ยังมีธุรกิจอื่นๆ ในมือ ตั้งแต่กีฬาจนถึงธุรกิจบันเทิง

    สำหรับตลาดพิซซ่าเมืองไทยมีมูลค่าประมาณ 10,000-11,000 ล้านบาท เดอะ พิซซ่า คอมปะนี ครองส่วนแบ่งการตลาด 70% แม้ขนาดของพิซซ่าพายจะชิ้นเล็กลง เพราะผู้เล่นจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ในระบบ ปีนี้เราคงยังจะเห็นพิซซ่าแบรนด์ใหม่ๆ หาโอกาสเข้ามาเจาะตลาดอีก เชื่อว่าเมื่อผู้ประกอบการพิซซ่ามองเห็น แบรนด์อาหารจากต่างประเทศอีก 15 แบรนด์ก็เห็น และเตรียมเข้ามาสู่ตลาดอาหารเมืองไทยอีก ความท้าทายครั้งใหม่ กำลังจะเกิดขึ้นไม่ใช่จากการต่อสู้ระหว่างคู่แข่งกับคู่แข่งด้วยกันเอง แต่ต้องตอบโจทย์ผู้บริโภคที่มีความคาดหวังมากขึ้นทุกวัน



​​เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : สามเบอร์เกอร์ต่างชาติเตรียมบุกไทย ‘Gordon Ramsay – Tony Roma’s – Jaggers’ เค้าลางสงครามเบอร์เกอร์รอบใหม่?

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine