ในโลกการตลาดที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาทุกวันนี้ การติดตามเทรนด์สังคมต่างๆ มีความสำคัญอย่างมากในการแข่งขันระหว่างแบรนด์ ท่ามกลางความชอบและพฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง โซเชียลมีเดีย ครีเอเตอร์ เพื่อน และครอบครัวกำลังกลายเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้ผู้คนค้นพบและตัดสินใจใช้ผลิตภัณฑ์และบริการต่างๆ
สำหรับประเทศไทยเองก็เช่นกัน จากข้อมูลของบริษัทวิจัยตลาด eMarketer เอเชียแปซิฟิกยังคงครองฐานผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียทั่วโลกด้วยจำนวนผู้ใช้รวมกว่า 2.3 พันล้านคน นับว่าเติบโตรวดเร็วยิ่งกว่าค่าเฉลี่ยของทั่วโลก ตอกย้ำจุดยืนของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกในฐานะฐานผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียที่ใหญ่ที่สุดในโลก
ในโอกาสนี้ Meta แชร์ 5 เทรนด์โซเชียลมีเดียสำคัญที่ธุรกิจไทยควรให้ความสำคัญในปี 2025 เพื่อให้ธุรกิจเชื่อมต่อกับลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น และยังคงความเป็นผู้นำในตลาดอย่างต่อเนื่อง ดังนี้
1. Generative AI
ผู้บริโภคและธุรกิจได้สัมผัสถึงประโยชน์ของ Generative AI และมีการนำมาใช้เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิในการทำงาน และนำเอไอมาเพิ่มขีดความสามารถในการสร้างเนื้อหา แนวคิด และโซลูชันใหม่ๆ ด้าน Meta เองได้พบว่ามีผู้ใช้งานเครื่องมือสร้างสรรค์โฆษณาด้วย Generative AI อย่างแพร่หลาย
ผู้โฆษณามากกว่า 1 ล้านรายทั่วโลกใช้เครื่องมือเหล่านี้เป็นประจำเพื่อพัฒนาผลงาน ส่งผลให้มีชิ้นงานโฆษณามากกว่า 15 ล้านโฆษณาด้วยเครื่องมือเอไอของ Meta ในช่วงเดือนสิงหาคม 2024 เพียงเดือนเดียว ทั้งนี้ 30% ของลูกค้ารายใหญ่ที่สุดของ Meta ในเอเชียแปซิฟิกและประเทศไทยได้ใช้เครื่องมือเอไอของ Meta ในการสร้างพื้นหลัง (Background Generation) ของงาน
นอกจากนี้ ยังพบกว่าแคมเปญโฆษณาระดับโลกที่ใช้ฟีเจอร์การสร้างรูปภาพ (Image Generation) ของ Meta มี Click-through Rate (CTR) กล่าวคือมีผู้คลิกดูโฆษณา โดยเฉลี่ยสูงขึ้น 11% และ Conversion Rate (CVR) หรือสามารถปิดการขายได้สูงขึ้น 7.6% เมื่อเทียบกับแคมเปญที่ไม่ได้ใช้เครื่องมือเหล่านี้
Meta ต้องการที่จะตอบสนองความต้องการของผู้ลงโฆษณาจึงเปิดตัว 2 ฟีเจอร์ Generative AI ใหม่สำหรับวิดีโอ ได้แก่ การขยายความละเอียดวิดีโอ และการสร้างภาพแอนิเมชันเพื่อสนับสนุนธุรกิจตลอดกระบวนการสร้างโฆษณา
คำแนะนำสำหรับธุรกิจไทย: ธุรกิจไทยสามารถเริ่มทดสอบหรือใช้เครื่องมือ Generative AI ของ Meta ในแคมเปญโฆษณาเพื่อทดสอบได้เลยว่าองค์ประกอบใดช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของโฆษณาให้ดียิ่งขึ้น
2. การส่งข้อความเชิงธุรกิจ (Business Messaging)
เทรนด์การสื่อสารกับธุรกิจผ่านข้อความเป็นหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดที่สุด เมื่อพวกเขานิยมติดต่อกับธุรกิจผ่านแชทเช่นเดียวกับที่ติดต่อกับเพื่อนและครอบครัวมากขึ้น Meta พบว่าเทรนด์นี้เกิดขึ้นทั่วโลก โดยผู้คนมากกว่า 1 พันล้านคนพูดคุยกับแบรนด์หรือธุรกิจผ่าน Messenger, Instagram และ WhatsApp ทุกสัปดาห์ เห็นได้ชัดในเอเชียแปซิฟิก โดยผู้บริโภคอย่างน้อย 1 ใน 3 แชทกับธุรกิจสัปดาห์ละครั้ง
ประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในผู้นำในเทรนด์ โดย 9 ใน 10 ของผู้บริโภคชาวไทยสื่อสารกับธุรกิจผ่านแอปพลิเคชันแชทระหว่างการซื้อสินค้า และ 75% ของผู้บริโภคพิจารณาว่าการส่งข้อความทางธุรกิจมีผลกระทบอย่างมากต่อการตัดสินใจซื้อ
รายงานเทรนด์โซเชียลล่าสุดจาก eMarketer สะท้อนให้เห็นถึงข้อมูลที่ว่าผู้คนมีแนวโน้มที่จะแบ่งปันเนื้อหาบนโซเชียลและคุยกันผ่านการส่งข้อความส่วนตัวมากกว่าการโพสต์แบบสาธารณะ โดยการแบ่งปันแบบส่วนตัว (private sharing) บนแพลตฟอร์มของ Meta เติบโตขึ้น 100% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
กลุ่มคน Gen Z เป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลงนี้เนื่องจากพวกเขายังคงหาวิธีเชื่อมต่อกับผู้อื่นในกลุ่มและชุมชนขนาดเล็กๆ Meta จึงเปิดตัวแชทบอทสำหรับการส่งข้อความทางธุรกิจและโซลูชัน AI ที่สามารถพูดคุยกับลูกค้าโดยตรง ตอบคำถามเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ ให้ความช่วยเหลือ และอำนวยความสะดวกด้านการค้าขายกับกลุ่มลูกค้าจำนวนมาก
คำแนะนำสำหรับสำหรับธุรกิจไทย: ธุรกิจไทยสามารถจับมือกับพันธมิตรเพื่อเลือกโซลูชันการส่งข้อความที่เหมาะสมกับวัตถุประสงค์ที่ต้องการได้แล้ววันนี้
3. ครีเอเตอร์
เศรษฐกิจของครีเอเตอร์ในประเทศไทยยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพ โดยครีเอเตอร์กลายเป็นผู้ประกอบการยุคใหม่ที่สร้างโมเดลธุรกิจที่ขยายตัวได้ผ่านการร่วมงานเชิงกลยุทธ์กับแบรนด์ในประเทศและระดับโลก ความสำเร็จนี้เป็นผลจากการที่ครีเอเตอร์นำเสนอตัวตนพวกเขาอย่างจริงใจ ซึ่งทำให้ผู้บริโภคเชื่อใจได้ และยังช่วยเสริมสร้างความไว้วางใจและการตัดสินใจซื้อของลูกค้าให้กับแบรนด์ต่างๆ อีกด้วย
เพราะเหตุนี้ งานวิจัยล่าสุดจากบริษัทการธนาคารเพื่อการลงทุน Goldman Sachs จึงคาดการณ์ว่า มูลค่าของเศรษฐกิจครีเอเตอร์ระดับโลกอาจแตะถึง 480 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในปี 2027
การค้นหาครีเอเตอร์ที่เหมาะกับการเป็นผู้ถ่ายทอดเรื่องราวของแบรนด์ได้เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อความสำเร็จของแคมเปญ จากการสำรวจทั่วโลกเมื่อเร็วๆ นี้ พบว่า 53% ของผู้คนมีแนวโน้มที่จะซื้อสินค้ามากขึ้นหากสินค้านั้นได้รับการโปรโมทโดยครีเอเตอร์ใน Reels
นอกจากนี้ งานวิจัยอีกชิ้นจาก Meta ยังพบว่า 70% ของคนไทยพบสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ผ่านโซเชียลมีเดียทุกวัน โดย 75% ในกลุ่มนั้นเปิดเผยว่าคำแนะนำสินค้าจากครีเอเตอร์เป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลมากที่สุดในการตัดสินใจซื้อสินค้า
Meta ได้ประกาศฟีเจอร์ใหม่ที่ทำให้แบรนด์และนักโฆษณาสามารถนำคอนเทนต์จากครีเอเตอร์มารวมในคอลเล็กชันของโฆษณาบน Reels และในพื้นที่อื่นๆ ได้ผ่านทางเครื่องมือ Advantage+ Catalog โดยที่บัญชีของแบรนด์ และครีเอเตอร์จะแสดงคู่กันบนโพสต์ นอกจากนี้ ทางบริษัทกำลังทดสอบรูปแบบโฆษณาใหม่คือ Creator Testimonials ให้แบรนด์มีทางเลือกเพิ่มขึ้น และสามารถปรับปรุงผลการทำงานของโฆษณาจากแคมเปญที่มีการทำงานร่วมกับครีเอเตอร์ได้อย่างง่ายและสะดวกมากขึ้น
ล่าสุด Meta กำลังรวมเครื่องมือโฆษณาพันธมิตรทั้งหมดไว้หน้าเดียวกันใน Ads Manager ที่เรียกว่า Partnership Ads Hub เพื่อให้แบรนด์และนักโฆษณาสามารถนำครีเอเตอร์เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์การโฆษณาได้สะดวกและง่ายที่สุด เครื่องมือนี้จะช่วยให้แบรนด์ตั้งค่าโฆษณาที่ทำร่วมกัน และจัดการเนื้อหาของพาร์ทเนอร์ได้ รวมถึงแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการเข้าถึงได้ง่ายขึ้น
คำแนะนำสำหรับสำหรับธุรกิจไทย: ธุรกิจไทยควรหาโอกาสในเป็นพันธมิตรกับครีเอเตอร์อย่างจริงจัง เพื่อเสริมสร้างการเล่าเรื่องแบรนด์ และใช้เครื่องมือช่วยนำครีเอเตอร์มารวมในกลยุทธ์การโฆษณาได้ง่ายและสะดวกยิ่งขึ้น
4. วิดีโอ
ผู้คนทั่วโลกกำลังบริโภคคอนเทนต์วิดีโอมากขึ้นเรื่อยๆ โดย Insider Intelligence คาดการณ์ว่าเวลาที่ใช้ในการรับชมโทรทัศน์และคอนเทนต์วิดีโอในปี 2025 จะมีเพิ่มขึ้น 15% ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ส่วนเวลาที่ใช้ในการดูวิดีโอบน Instagram และ Facebook ก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยจากข้อมูลของ Meta เผยว่า 60% ของเวลาที่ใช้บนทั้งสองแพลตฟอร์มถูกใช้ไปกับคอนเทนต์วิดีโอ เช่น Reels ซึ่งมีผลต่อการซื้อสินค้า
งานวิจัยล่าสุดเผยว่า 2 ใน 3 ของผู้บริโภคในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกตัดสินใจซื้อสินค้าหลังจากดู Reels และ 71% ของผู้บริโภคในประเทศไทยติดตามแบรนด์หลังจากได้รับชม Reels ที่มีความน่าสนใจ
อีกหนึ่งแนวโน้มที่น่าจับตามองคือ Livestreaming ซึ่งได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นทั้งในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากการวิจัยตลาดของบริษัท Decision Lab พบว่า 73% ของผู้คนเคยดูไลฟ์สตรีมเพื่อเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์หรือบริการ โดย 66% ตัดสินใจซื้อสินค้าที่แสดงในไลฟ์นั้น และ 81% ดูไลฟ์เพื่อจะซื้อสินค้า และ 70% ซื้อสินค้าผ่านฟีเจอร์ช้อปปิงในไลฟ์ นอกจากนี้ 79% ของผู้บริโภคในประเทศไทย ดูไลฟ์อย่างน้อยสัปดาห์ละหนึ่งครั้งและ 70% ของผู้ชมกลับมาซื้อสินค้าเดิมอย่างน้อยหนึ่งครั้ง
การการเติบโตของเนื้อหาประเภทวิดีโอในทุกรูปแบบที่หลากหลายนี้ Meta จึงได้เปิดตัวแท็บวิดีโอแบบเต็มหน้าจอใหม่ที่ทำให้ผู้ใช้สามารถค้นหา และรับชมวิดีโอที่พวกเขาชอบได้ง่ายขึ้นในที่เดียว ไม่ว่าจะเป็น Reels วิดีโอที่ยาวขึ้น หรือไลฟ์ การเปลี่ยนแปลงบน Facebook นี้จะช่วยให้แบรนด์และนักโฆษณายังคงได้รับประโยชน์จากการลงทุนที่ใช้ AI ในการนำส่งโฆษณาและโมเดลการจัดอันดับ ซึ่งช่วยให้สามารถแสดงโฆษณาที่เกี่ยวข้องที่สุดให้กับผู้ใช้แพลตฟอร์มแต่ละคนได้ดียิ่งขึ้น
คำแนะนำสำหรับสำหรับธุรกิจไทย: ผู้ประกอบธุรกิจไทยควรใช้ประโยชน์จากวิดีโอคอนเทนต์ในการวางแผนกลยุทธ์การตลาดให้มากขึ้น และใช้ประโยชน์จากระบบการนำส่งโฆษณาที่ทันสมัยเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพ
5. การค้าข้ามพรมแดน (Cross-Border Shopping)
ในปัจจุบัน ผู้คนใช้เทคโนโลยีในการซื้อสินค้าจากทั่วโลกมากขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการตัวเลือกสินค้าที่หลากหลายยิ่งกว่าเดิม มีการคาดการณ์ว่าการค้าข้ามพรมแดน (Cross-Border Shopping) จะมีมูลค่า 3.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในปี 2028 โดยการค้าข้ามพรมแดนออนไลน์จะช่วยผลักดันการเติบโตของธุรกิจมากกว่าการค้าปลีกในประเทศถึง 2 เท่า
จากงานวิจัยประจำปีในช่วงเทศกาลในเอเชียแปซิฟิกพบว่าอย่างน้อย 50% ของนักช้อปในประเทศไทยเคยซื้อสินค้าข้ามพรมแดนช่วงลดราคาตามเทศกาลต่างๆ นอกจากนี้ 59% ของผู้ซื้อข้ามพรมแดนทั่วโลกค้นพบสินค้าที่ถูกใจผ่านแพลตฟอร์มของ Meta และนักช้อป 41% กล่าวว่าพวกเขามีส่วนร่วมกับแบรนด์หลังการซื้อสินค้าผ่าน Meta ด้วย
การซื้อสินค้าข้ามพรมแดนไม่ได้เฟื่องฟูขึ้นจากราคาสินค้าเพียงอย่างเดียว แต่ยังเกิดจากความต้องการที่จะได้ครอบครองแบรนด์ที่ไม่มีในประเทศของตน และการเข้าถึงสินค้าที่มีคุณภาพสูงกว่า โดยงานวิจัยล่าสุดของ Meta เผยว่า 71% ของผู้ซื้อสินค้าข้ามพรมแดนเปิดกว้างต่อการช้อปปิงจากแบรนด์ใหม่ๆ และ 61% ต้องการมีตัวเลือกสินค้าที่หลากหลายมากขึ้น
ดังนั้น การลงทุนของ Meta ในด้าน AI จึงมุ่งเน้นไปที่การสร้างการเข้าถึงที่ไร้พรมแดน และเพิ่มประสิทธิภาพด้วยการจับคู่สินค้าเข้ากับผู้คนได้อย่างเหมาะสม ซึ่งจะช่วยให้ธุรกิจเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายและทรัพยากรที่กว้างขึ้น รวมถึงการสื่อสารกับลูกค้าได้หลากหลายภาษามากยิ่งขึ้น
คำแนะนำสำหรับสำหรับธุรกิจไทย: ผู้ประกอบธุรกิจไทยสามารถคำนึงถึงการออกแบบประสบการณ์สำหรับลูกค้าให้สามารถซื้อสินค้าข้ามพรมแดนที่ไร้รอยต่อ และเพิ่มเข้ามาในกระบวนการดำเนินงาน โดยแก้ไขข้อติดขัดสำคัญและร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ที่เชี่ยวชาญด้านการขยายตลาดไปในระดับโลก
ภาพ: Meta
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : อะไรๆ ก็เออ-ออ! CMMU เปิดอินไซต์พฤติกรรมคนไทย มักตามกระแสของกิน เทคโนโลยี และการลงทุน
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine