เจาะความสำเร็จ Hungry Hub ยอดผู้ใช้แอป 1 ล้านคนต่อเดือน ลุยขยายสู่สิงคโปร์ ตั้งเป้าเป็น OTA ร้านอาหารระดับโลก - Forbes Thailand

เจาะความสำเร็จ Hungry Hub ยอดผู้ใช้แอป 1 ล้านคนต่อเดือน ลุยขยายสู่สิงคโปร์ ตั้งเป้าเป็น OTA ร้านอาหารระดับโลก

Hungry Hub แพลตฟอร์มจองโต๊ะร้านอาหาร สตาร์ทอัพสัญชาติไทย โชว์ความสำเร็จหลังก่อตั้งมา 10 ปี มีคนใช้แอปกว่า 1 ล้านคน/เดือนแล้ว ยอดจองสะสมกว่า 4 ล้านที่นั่ง พร้อมลุยขยายสู่สิงคโปร์ ตั้งเป้าเป็น Online Travel Agent (OTA) ร้านอาหารระดับโลก


    สุรสิทธิ์ สัจจะเดว์ ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Hungry Hub เปิดเผยว่า Hungry Hub ก่อตั้งขึ้นในปี 2014 ในฐานะแพลตฟอร์มจองโต๊ะร้านอาหารและเป็นที่รู้จักกันด้านโปรโมชั่นบุฟเฟต์ ปัจจุบัน Hungry Hub เติบโตมาเป็นตัวช่วยสำคัญให้ผู้บริโภควางแผนแต่ละมื้อได้อย่างคุ้มค่า ด้วยจุดเด่นคือราคาอาหารทุกประเภทที่ปรากฏบนแพลตฟอร์มนั้นเป็นราคาสุทธิ ไม่ต้องกลัวงบบานปลาย และในอีกมุมหนึ่งก็ดึงดูดคนให้กล้าเข้าร้านอาหารระดับพรีเมียมมากขึ้น เป็นการเพิ่มลูกค้าใหม่ให้ร้านอาหารต่างๆ ไปพร้อมๆ กัน

    “ที่ผ่านมา Hungry Hub สะสมพันธมิตรร้านอาหารในไทยกว่า 1,700 แห่ง ช่วยพันธมิตรร้านอาหารสร้างรายได้กว่า 3,000 ล้านบาท และมีผู้ใช้งานแอปพลิเคชันกว่า 1 ล้านคนต่อเดือน ยอดจองสะสมมากกว่า 4 ล้านที่นั่ง และสามารถสร้างรายได้ให้แก่ร้านอาหาร 1 ร้านได้สูงสุดกว่า 250 ล้านบาทต่อปี” สุรสิทธิ์กล่าว



    ความสำเร็จที่เกิดขึ้นของ Hungry Hub สุรสิทธิ์บอกว่าปัจจัยสำคัญมาจากการกลยุทธ์การตลาดอย่าง Influencer Marketing หรือการใช้ Key Opinion Leaders (KOLs) สร้างสรรค์คอนเทนต์ให้ผู้คนรู้จักร้านอาหารแต่ละร้าน ซึ่งมีตั้งแต่ Micro Influencer ที่มีผู้ติดตามหลักร้อยไปจน Macro Influencer ที่มีผู้ติดตามจำนวนมหาศาล โดยปัจจุบัน Hungry Hub ร่วมงานกับ KOLs บนโลกออนไลน์ราว 300 - 400 เพจ ทั้งชาวไทยและต่างชาติ โดยให้อิสระพวกเขาสร้างสรรค์คอนเทนต์ของตัวเอง

    สำหรับ Hungry Hub เป็นสตาร์ทอัพด้านแพลตฟอร์มการจองร้านอาหารแบบที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน ซึ่งสุรสิทธิ์มองว่าเป็นจุดแข็งในการพิชิตตลาดระดับโลก อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าระบุผลประกอบการย้อนหลัง 3 ปีล่าสุดของบริษัท แอปป์เซอร์เวชั่น จำกัด ซึ่งเป็นผู้ให้บริการ Hungry Hub ดังนี้

    -ปี 2564 บริษัทมีรายได้รวม 36,934,140.16 บาท ขาดทุนสุทธิ 16,090,818.08 บาท

    -ปี 2565 บริษัทรายได้รวม 64,586,274.43 บาท ขาดทุนสุทธิ 31,140,149.47 บาท

    -ปี 2566 บริษัทรายได้รวม 68,936,302.35 บาท ขาดทุนสุทธิ 9,983,115.39 บาท

    ผลประกอบการที่แม้จะยังขาดทุน แต่ดูเหมือนจะไม่หยุดยั้งความพยายามและการเติบโตของ Hungry Hub ได้ ล่าสุด Hungry Hub พร้อมเติบโตไปอีกขั้น เดินหน้ารุกตลาดสิงคโปร์เต็มรูปแบบ โดยเซ็นสัญญาเป็นพันธมิตรกับ Singapore Tourism Board (STB) ร่วมผลักดันการท่องเที่ยวเชิงอาหาร ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์นักเดินทางที่มองหาประสบการณ์รับประทานอาหารระดับกลางถึงไฮเอนด์ที่คุ้มค่าในประเทศเกาะแห่งนี้ โดยมีกลุ่มเป้าหมายหลักคือนักท่องเที่ยวชาวไทยและมาเลเซียที่เดินทางไปสิงคโปร์



    สุรสิทธิ์ กล่าวว่า “การขยายธุรกิจครั้งนี้เป็นก้าวสำคัญสำหรับ Hungry Hub ในการเดินหน้าสู่การเป็น Online Travel Agent (OTA) สำหรับร้านอาหารระดับโลก”

    เขาเผยถึงเป้าหมายระยะยาวที่ Hungry Hub ต้องการจะไปให้ถึง คือการเป็น OTA ระดับโลกเช่นเดียวกับ Agoda, Expedia, Tripadvisor และอื่นๆ แต่เป็น OTA ของร้านอาหารโดยเฉพาะ ดังนั้น Hungry Hub จะให้บริการแค่เฉพาะในประเทศไทยไม่ได้ นำมาสู่แผนการขยายข้ามประเทศ

    สำหรับสิงคโปร์ที่ Hungry Hub เพิ่งเปิดตัวอย่างเป็นทางการไปเมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา สุรสิทธิ์เล่าว่ามีแผนจะรุกสิงคโปร์มาหลายปีแล้ว แต่เพิ่งถึงจังหวะอันเหมาะสม ทั้งยังได้พันธมิตรเป็น STB ทำให้เขาตัดสินใจเดินหน้า และตั้งเป้าว่าจะขยายจำนวนร้านค้าพันธมิตรในสิงคโปร์บนแพลตฟอร์มให้ได้ราว 300 ร้านค้าในปี 2025

    “เราเห็นว่าเซ็กเมนต์ในไทยที่เราทำงานด้วยคือเซ็กเมนต์ของร้านที่พรีเมียม และสิงคโปร์มีร้านพรีเมียมในจำนวนที่เยอะกว่าไทย เกือบทุกร้านอาหารถูกมองเป็นพรีเมียม แต่ไม่จริง พอเราแปะราคาให้เห็น คนจะกล้าเดินเข้าร้านอาหารมากขึ้น” สุรสิทธิ์กล่าวถึงเบื้องหลังแนวคิดที่ทำให้เลือกสิงคโปร์เป็นประเทศที่สองต่อจากไทย

    นอกจากนี้ Hungry Hub ยังวางแผนสร้างการเติบโตอย่างก้าวกระโดดแต่ยั่งยืนในทุกปี ด้วยเป้าหมายสำคัญคือการขยายธุรกิจเพิ่มให้ได้มากกว่าปีละ 1 ประเทศภายใน 3-5 ปีข้างหน้า อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจขยายธุรกิจไปประเทศอื่นยังคงต้องรอดูความสำเร็จในสิงคโปร์อีกครั้ง



    สำหรับแผนธุรกิจในไทย สุรสิทธิ์ตั้งใจขยายพันธมิตรร้านค้าในไทยเพิ่มอีก 1,000 ร้านภายในปี 2025 รวมพันธมิตรเดิมเป็นจำนวนทั้งสิ้น 2,700 ร้าน พร้อมตั้งเป้าเพิ่มจำนวนผู้ใช้งานในไทยโตอีก 50% ซึ่งกรุงเทพฯ ยังคงเป็นเป้าหมายหลัก อย่างไรก็ตาม Hungry Hub มีแผนพานักท่องเที่ยวไปต่างจังหวัดมากขึ้นเช่นกัน

    ในบรรดาพันธมิตรร้านอาหารในไทยของ Hungry Hub กว่า 1,700 แห่ง ราว 1,400 แห่งเป็นร้านอาหารในกรุงเทพฯ ส่วนอีกราว 300 แห่งเป็นร้านอาหารต่างจังหวัด ลูกค้านิยมใช้ Hungry Hub จองร้านอาหารในกรุงเทพฯ และพื้นที่ข้างเคียงมากเป็นพิเศษ เพราะมีร้านระดับพรีเมียมถึงไฮเอนด์จำนวนมาก ประกอบกับการเดินทางที่สะดวกสบาย ทำให้สามารถเข้าถึงร้านต่างๆ ได้ง่ายกว่า ซึ่งจำนวนผู้ใช้งาน Hungry Hub จองร้านอาหารในกรุงเทพฯ คิดเป็นตัวเลข 90% ของยอดจองทั้งหมด ส่วนจังหวัดที่ห่างไกลจากกรุงเทพฯ มักเป็นจังหวัดท่องเที่ยว โดยเมืองที่มีลูกค้าใช้บริการ Hungry Hub เยอะ ได้แก่ พัทยา หัวหิน และเขาใหญ่ ตามลำดับ เพราะมีร้านอาหารลักชัวรีเยอะ



    ทั้งนี้ นอกเหนือจากการขยายตลาด สุรสิทธิ์เผยว่าในปีหน้า Hungry Hub ยังคงไม่หยุดพัฒนาแพลตฟอร์มด้วยเช่นกัน โดยนอกจากฟีเจอร์ควบคุมงบประมาณ (Budget-Controlled Dining) อันเป็นเอกลักษณ์ของ Hungry Hub แล้ว ทีมงานก็กำลังวางแผนยกระดับประสบการณ์ผู้ใช้งานแอปพลิเคชันและเว็บไซต์ในด้านต่างๆ ทั้งการแสดงราคาตามสกุลเงินของแต่ละประเทศ ช่องทางการชำระเงินที่สะดวกต่อผู้คนแต่ละประเทศมากขึ้น เพิ่มภาษาให้หลากหลาย ตลอดจนการจับมือกับพันธมิตรรายอื่นๆ จากทั่วโลก


ภาพ: Hungry Hub


เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : ‘บาร์บีกอน’ เติบโตไปอีกขั้น! เปิดตัวหนังสือนิทานธุรกิจเล่มแรกในไทย ตั้งเป้าเป็นแบรนด์ ‘เพื่อนที่ดีที่สุด’ ของทุกคน

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine