เอ็นไวโร ไทยแลนด์ เผยพฤติกรรมผู้บริโภคยุคโควิด สร้างเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ “Friendship Economy” ธุรกิจแบบเกื้อกูล พึ่งพา ผู้บริโภคเชื่อมั่นไว้วางใจ แนะธุรกิจเจาะกลุ่มเจนแซด เจนวาย พร้อมเสี่ยงใช้จ่ายก่อน ชูกลยุทธ์ใช้เงินอย่างคุ้มค่ากระตุ้นกำลังซื้อผู้บริโภคช่วงครึ่งปีหลัง
สรินพร จิวานันต์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็นไวโร ประเทศไทย จำกัด บริษัทวิจัยในเครือ บริษัทอินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ จำกัด(มหาชน) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงด้านพฤติกรรมของผู้บริโภค โดยเฉพาะพฤติกรรมในการจับจ่ายซื้อสินค้ารูปแบบใหม่ผ่านกลุ่มขายของ หรือ Market Place ก่อให้เกิดเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า “Friendship Economy” หรือเศรษฐกิจแบบเกื้อกูล พึ่งพากันระหว่างผู้ขายและผู้ซื้อ Friendship Economy ที่เกิดขึ้นในช่วงอยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ จะมีลักษณะเด่น คือ มีความไว้วางใจ ในหมู่ผู้ซื้อและผู้ขาย เพราะมีการเปิดเผยตัวตน จับต้องได้ รู้ที่มาที่ไป ซึ่งผู้บริโภคไม่เคยได้รับจากแบรนด์ที่มีการทำตลาดอยู่ในปัจจุบันนี้ และส่วนใหญ่จะเป็น เจ้าของขายเอง เป็นการการันตีได้ว่าเป็นสินค้าที่มีคุณภาพ เกื้อกูลกัน เธอซื้อชั้น ชั้นซื้อเธอ เปรียบเสมือนการบาร์เตอร์ หรือสังคมแลกเปลี่ยนสิ่งของ ทำให้เกิดการซื้อขายต่อเนื่อง มี ความรู้สึกดี เพราะรู้สึกว่าได้ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน จึงอยากสนับสนุนต่อเนื่องในระยะยาว นอกจากนี้ ยังรู้สึกสนุก เพราะมีการประมูลแข่งกัน รู้สึกดีที่ได้ของคุณภาพดี ราคาถูก รวมทั้งยังประหยัด เนื่องจากไม่ต้องใช้งบโฆษณา และยังมีสินค้าหลากหลาย จุดติดง่าย เพราะผู้บริโภคมีเวลาเข้าไปซื้อ ขายในช่วงที่ต้องถูกกักตัวอยู่บ้าน ซึ่งในช่วงที่กักตัวอยู่บ้าน ช่องทางในการซื้อสินค้าของผู้บริโภคมีเพิ่มขึ้น เช่น เดลิเวอรี่ ออนไลน์ กลุ่มขายของ Market Place และทีวีไดเรคท์ “มองว่า Friendship Economy จะเป็นรูปแบบเศรษฐกิจใหม่ที่อยู่ต่อไปในระยะยาว เพราะเกิดขึ้นในช่วงที่ผู้บริโภคถูกล้างสมองด้วยมุมมองที่ดี การช่วยเหลือเกื้อกูล การอยู่แบบพอเพียง การรักธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพราะสิ่งเหล่านี้คือทางรอดในอนาคต” สรินพรกล่าว เป้าหมายในชีวิตเปลี่ยน ผลสำรวจผู้บริโภคในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ของเอ็นไวโร ไทยแลนด์ ยังแสดงให้เห็นถึงการวางเป้าหมายในชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปโดยให้ความสำคัญกับการมีความสุขในชีวิต การมีสุขภาพที่แข็งแรง มีการงานที่มั่นคง มากกว่าเป้าหมายในการเป็นคนรวย หรือเป้าหมายในการเดินทางท่องเที่ยวรอบโลกลดลง ขณะที่พฤติกรรมในการจับจ่ายซื้อของได้เปลี่ยนแปลงไปเช่นเดียวกัน โดย 74% ระบุว่าจะงดการใช้จ่ายฟุ่มเฟือย โดยเฉพาะในกลุ่มเจนเอ็กซ์ และเบบี้ บูมเมอร์ ที่ให้น้ำหนักกับการลดใช้จ่ายฟุ่มเฟือยถึงร้อยละ 80 และ 84 ตามลำดับ และมีพฤติกรรมในการเก็บเงินมากขึ้น จัดสรรเงินไว้เป็นค่าใช้จ่ายในการรักษาตัว และทำประกันชีวิตมากขึ้น นอกจากนี้ ผู้บริโภคยังรู้สึกผิดที่จะใช้เงิน โดยเฉพาะการซื้อสินค้าฟุ่มเฟือย และไม่จำเป็น โดยร้อยละ 86 จะซื้อสินค้าโดยพิจารณาความจำเป็นมากขึ้น ใช้สมองในการเลือกซื้อสินค้ามากกว่าใช้อารมณ์เหมือนที่ผ่านมา และร้อยละ 65 ยังคำนึงถึงประโยชน์ของสินค้า รวมไปถึงความสะดวกรวดเร็วในการซื้อ รวมทั้งร้อยละ 26 ของผู้บริโภคจะซื้อสินค้าเมื่อมีโปรโมชั่น และร้อยละ 25 ยึดติดกับยี่ห้อน้อยลง “ผลสำรวจที่เกิดขึ้น แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคยังมีกำลังซื้อ แต่เขาจะรู้สึกผิดหากซื้อสินค้าโดยไม่คิดให้รอบคอบ จากวิกฤตที่เกิดขึ้น ทำให้เขารู้สึกว่าต้องใช้เงินอย่างคุ้มค่า เพราะฉะนั้นสำหรับนักการตลาดการทำแคมเปญสร้างภาพลักษณ์ หรือสร้างแบรนด์ อาจไม่ได้ผลเท่ากับการจัดแคมเปญโปรโมชั่น เพื่อให้ผู้บริโภครู้ว่าจ่ายเงินแล้วคุ้มค่า แต่สำหรับเจนแซด และเจนวายจะให้ความสำคัญกับเรื่องเหล่านี้น้อยกว่า และกล้าที่จะจับจ่ายมากกว่า” สรินพรกล่าว สำหรับแผนการลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นจากสถานการณ์โควิดในอนาคต ผู้บริโภคร้อยละ 50 หันมาพึ่งพาตัวเองมากขึ้น เช่น ทำกับข้าวทานเอง ปลูกผักทานเอง ทำสบู่ใช้เอง เป็นต้น และร้อยละ 44 จะทำอาชีพเสริม เพื่อสร้างรายได้หลายทางร้อยละ 41 พร้อมที่จะเพิ่มทักษะการเรียนรู้ใหม่ (Up Skill) ร้อยละ 28 วางแผนการลงทุนในช่องทางที่หลากหลายมากขึ้น และมีเพียงร้อยละ 16 ที่บอกว่าจะหันไปทำเกษตรมากขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นสัดส่วนที่น้อย สวนทางกับที่รัฐบาลให้ความสำคัญในการผลักดันในคนกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เข้าสู่ภาคเกษตร อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจความเห็นของผู้บริโภคครั้งนี้ แม้สถานการณ์โควิดในประเทศไทยค่อนข้างคลี่คลายไปในทางที่ดี แต่ผู้บริโภคร้อยละ 69 ยังมีความกังวลเรื่องการระบาดของโควิดในระลอกที่ 2 เพราะฉะนั้นมาตรการป้องกันการติดเชื้อยังคงต้องเข้มงวดต่อไป อ่านเพิ่มเติม: หอการค้าญี่ปุ่น มองเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังกระเตื้องไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine