เทรนด์ ‘Fast Fashion’ เมื่อ 40% คนไทยใส่เสื้อผ้าครั้งเดียวแล้วทิ้ง อาจสร้างปัญหาสิ่งแวดล้อม-แรงงาน - Forbes Thailand

เทรนด์ ‘Fast Fashion’ เมื่อ 40% คนไทยใส่เสื้อผ้าครั้งเดียวแล้วทิ้ง อาจสร้างปัญหาสิ่งแวดล้อม-แรงงาน

FORBES THAILAND / ADMIN
10 Sep 2024 | 06:04 PM
READ 1071

Fast Fashion เป็นอีกภาคธุรกิจที่เติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงที่ผ่านมา โดยปี 2567 นี้มูลค่าตลาดของ Fast Fashion ทั่วโลกอยู่ที่ 142 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 15.5% จากปีก่อนหน้า และยังมีแนวโน้มเติบโตขึ้นเรื่อยๆ โดยอุตสาหกรรมผลิตเสื้อผ้าตามกระแส และมีราคาย่อมเยานี้ยังมีการจ้างงานกว่า 300 ล้านคนทั่วโลก แต่เมื่อมีการผลิตที่มากขึ้นและอาจเกินความต้องการที่แท้จริง อาจกลายเป็นปัญหาในด้านอื่นๆ ตามมา


    ล่าสุด สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ ระบุว่า ธุรกิจ Fast Fashion ที่มีการผลิตเสื้อผ้าตามกระแส แต่ราคาถูกไม่ได้เน้นคุณภาพมาก แม้จะสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจและการจ้างงานได้ แต่ด้วยกระบวนการผลิต และปัจจัยอื่นๆ กลับส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม

Fast Fashion กระทบสังคมไทย ‘ปมลิขสิทธิ์-แรงงาน’

    ในส่วนของประเทศไทย แม้ไม่มีการเก็บข้อมูล Fast Fashion เฉพาะเจาะจง แต่จะรวมอยู่ในอุตสาหกรรมสิ่งทอ และเครื่องนุ่งห่มที่มีมูลค่าถึง 1.6 แสนล้านบาท (ในปี 2565) มีแรงงานในภาคส่วนนี้กว่า 6.2 แสนคน ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในสายการผลิตเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกาย

    แต่หากถามถึงพฤติกรรมของคนไทยที่เกิดจาก Fast Fashion โดยผลสำรวจจาก YouGow ในปี 2560 ยังพบว่า 40% ของคนไทย ทิ้งเสื้อผ้าหลังใส่แค่ครั้งเดียว สาเหตุการทิ้ง ส่วนใหญ่ระบุว่า เกิดจากความเบื่อ ไม่เหมาะสม หรือมีตำหนิ ซึ่งอาจเป็นผลกระทบด้านสังคมที่เกิดจาก Fast Fashion ที่ (1) สร้างวัฒนธรรมการบริโภคเกินพอดี (Overconsumption) ที่ไม่ได้ส่งผลแค่ปริมาณขยะที่เพิ่มสูงขึ้น ยังทำให้คนไม่ได้ตระหนักถึงคุณค่าของการซื้อสินค้า จากการโฆษณาส่งเสริมการขายที่กระตุ้นให้คนซื้อมากกว่าความจำเป็น และการทำให้ค่านิยมเปลี่ยน อาทิ การขายไลฟ์สไตล์ของ Influencer

    นอกจากนี้ยังมีผลกระทบด้านสังคม เช่น (2) ปัญหาสุขภาพ สินค้า Fast Fashion ที่มักพบการปนเปื้อนของสารเคมีอันตราย เช่น พาทาเลท ฟอมาลดีไฮน์ โดยเฉพาะไมโครพลาสติก ที่สามารถสะสมในร่างกายและเป็นอันตรายต่อสุขภาพในระยะยาวได้ ทั้งต่อผู้สวมใส่ และรุนแรงขึ้นต่อกลุ่มแรงงานที่ทำงานในภาคการผลิตดังกล่าว

    ขณะเดียวกัน ท่ามกลางธุรกิจ Fast Fashion ที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ยังพบ (3) การละเมิดลิขสิทธิ์ เกิดขึ้นได้ง่ายและบ่อยครั้ง โดยเฉพาะการคัดลอกดีไซน์ของแบรนด์หรูหรือดีไซเนอร์ชื่อดังมาผลิตสินค้าเลียนแบบในราคาที่ถูกกว่า

    ไปจนถึงผลกระทบในประเด็น (4) การละเมิดสิทธิแรงงาน เมื่อ Fast Fashion เน้นผลิตสินค่าราคาถูกจำนวนมากจึงมักควบคุมต้นทุนการผลิต และลดต้นทุนด้านแรงงานด้วยการละเมิดสิทธิแรงงาน ทั้งการใช้งานเกินเวลา การล่วงละเมิดทางเพศ การใช้แรงงานเด็กแบบผิดกฎหมาย ซึ่งมักพบในประเทศที่เป็นฐานการผลิตในเอเชีย เช่น ปี 2565 กรณีของกัมพูชา พบว่า 94% ของโรงงานผลิตใช้แรงงานเกินเวลา และไม่ให้ผลตอบแทนที่เหมาะสม ขณะที่แรงงานผู้หญิง 14% เคยถูกลวนลาม/ข่มขืน ฯลฯ


‘ซื้อง่ายทิ้งไว’ กระทบสิ่งแวดล้อมระยะยาว

    ธุรกิจ Fast Fashion ที่แต่ละปีผลิตเสื้อผ้าจำนวนมหาศาล แม้เสื้อผ้าที่ใส่แล้วจะยังใส่ต่อไปได้ แต่ขั้นตอนการผลิตอาจสร้างผลกระทบเช่นกัน อาทิ เสื้อเชื้ตฝ้าย 1 ตัว ต้องใช้น้ำในการผลิตกว่า 2,700 ลิตร ซึ่งเป็นปริมาณน้ำที่คนหนึ่งคนจะสามารถดื่มได้ถึง 2 ปีครึ่งอีกหลายครั้ง ดังนั้น ธุรกิจ Fast Fashion จึงส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในหลายมิติ

    1) การปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยเฉพาะก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งมีสัดส่วนอยู่ที่ 10% ของการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ ทั่วโลก สูงกว่าอุตสาหกรรมการบินและการขนส่งทางเรือรวมกัน และคาดว่าภายในปี 2573 อาจเพิ่มขึ้นเกือบ 50%

    2) การใช้น้ำเป็นจำนวนมาก สร้างมลภาวะทางน้ำและอากาศ โดยส่วนใหญ่เกิดจากกระบวนการย้อมและตกแต่งที่ใช้สารเคมีที่เป็นพิษและอันตรายในการผลิต ข้อมูลจาก UN และ ILO ระบุว่า 1 ใน 5 ของปริมาณน้ำเสียทั่วโลกมาจากอุตสาหกรรม Fast Fashion

    3) การเพิ่มขึ้นของขยะที่ย่อยสลายยาก ซึ่งเสื้อผ้าราว 1 แสนล้านตัวที่ผลิตขึ้นในแต่ละปีทั่วโลก กลายเป็นขยะในหลุมฝังกลบกว่า 92 ล้านตัน และคาดว่าภายปี 2576 ขยะเสื้อผ้าจะเพิ่มเป็น 134 ล้านตันต่อปี โดยมีเพียง 1% ที่สามารถนำกลับมารีไซเคิลได้ นอกจากนี้ เสื้อผ้ามีส่วนประกอบของขยะพลาสติกที่ย่อยสลายได้ยากอย่างไมโครพลาสติกที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิต

    4) การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพและธรรมชาติที่เสื่อมโทรม โดยเฉพาะในกระบวนการปลูกวัตถุดิบ อาทิ การปลูกฝ้าย ที่มีการใช้ยาฆ่าแมลง และสารกำจัดวัชพืชปริมาณมาก ซึ่งเป็นพิษต่อระบบประสาทของสิ่งมีชีวิต ส่งผลต่อความหลากหลายทางชีวภาพ และความเสื่อมโทรมของหน้าดิน

    ดังนั้นจากผลกระทบทั้งด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมจาก Fast Fashion ทำให้หลายประเทศทั่วโลก เริ่มตระหนักและออกมาตรการรับมือ และกำกับควบคุมผลกระทบ ซึ่งประเทศไทยอาจต้องดำเนินการเพื่อป้องกันและลดปัญหาที่จะเกิดขึ้นเช่นกัน



Image by freepik



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : TIDLOR จ่อขายหุ้นกู้ชุดใหม่ อายุ 2 ปีครึ่ง ดอกเบี้ยฯ 3.35% ต่อปี คาดจองซื้อ 7-9 ต.ค.นี้

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine