JSP เผยกำลังซื้อสูงวัยโตแรง ยอดใช้จ่ายอาหารเสริม 2,000 บาท/ครั้ง ซื้อซ้ำใน 1-2 เดือน - Forbes Thailand

JSP เผยกำลังซื้อสูงวัยโตแรง ยอดใช้จ่ายอาหารเสริม 2,000 บาท/ครั้ง ซื้อซ้ำใน 1-2 เดือน

FORBES THAILAND / ADMIN
10 Apr 2024 | 05:20 PM
READ 1120

JSP เผยผู้สูงอายุไทยทุ่มจ่ายอาหารเสริมเฉลี่ย 2,000 บาทต่อครั้ง พบอัตราการซื้อซ้ำใน 1-2 เดือน ชี้สังคมสูงวัยเต็มรูปแบบดันอาหารเสริมโต 30% พร้อมเปิด 4 ปัจจัย หนุนยอดขายกลุ่มผู้สูงวัยเติบโตโดดเด่น 1.เทรนด์ดูแลสุขภาพเชิงป้องกันหลังทิศทางราคายาพุ่งทุกปี 2.เทรนด์ไม่เอาสารเคมี 3.เทรนด์ครอบครัวคนเดียว และ 4.เทรนด์ไม่อยากแก่ หนุนยอดขายจาก Gen X เติบโต 15 % ในปี 2566 พร้อมคาดปี 2567 เติบโต 30%


    พิษณุ แดงประเสริฐ ประธานเจ้าหน้าที่สายงานขายและการตลาด บริษัท โรงงานเภสัชอุตสาหกรรม เจเอสพี (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ JSP เปิดเผยว่า ปัจจุบันผู้สูงอายุในประเทศไทยมีจำนวนกว่า 13.7 ล้านคน คิดเป็น 20% ของจำนวนประชากรไทยทั้งหมด และในปี 2574 ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ คือมีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปมากกว่า 20% ของประชากรทั้งหมด

    ประเด็นดังกล่าวส่งผลให้ยอดขายสินค้าในกลุ่มผู้สูงอายุของ JSP เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยพบว่ามียอดสั่งซื้อรายละ 2,000 บาทต่อครั้ง และมีอัตราการซื้อซ้ำทุก 1-2 เดือน สินค้าขายดี 5 รายการของสุภาพโอสถ ได้แก่ 1.น้ำมันงาดำรำข้าว 2.4 mix oil 3.สไปมอร์ 4.ฟิช ออยล์ 5.น้ำมันงาขี้ม่อน

    ซึ่งปัจจุบันรายได้จากกลุ่มสินค้าอาหารเสริมผู้สูงอายุคิดเป็น 25% ของรายได้รวม 579 ล้านบาท เมื่อปี 2566 และในปี 2567 มีแนวโน้มเติบโตเป็นสัดส่วน 30% โดยบริษัทตั้งเป้ารายได้สินค้าในกลุ่มผู้สูงอายุเพิ่มเป็น 300 ล้านบาท จากรายได้รวม 750 ล้านบาท


    JSP ประเมินว่าปัจจัยที่สนับสนุนการเติบโตของกำลังซื้อจากกลุ่มผู้สูงวัยมาจาก 4 ปัจจัยหนุนได้แก่

    1.เทรนด์ดูแลสุขภาพเชิงป้องกัน มีการประเมินว่าตัวเลขตลาดรวมสุขภาพเชิงป้องกันจะแตะ 5.5 แสนล้านบาทภายในปี 2568 และคาดว่ามูลค่าตลาดเชิงสุขภาพเชิงป้องกันในกลุ่มผู้สูงอายุ จะมีสัดส่วนเป็น 22% ของตลาดรวม หรือคิดเป็นมูลค่า 1.2 แสนล้านบาทในปี 2568

    ปัจจัยหลักเป็นผลมาจากจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นคนอายุยืนขึ้น อีกทั้งทิศทางตลาดอุตสาหกรรมยาทั่วโลกมีแนวโน้มจะปรับราคายาขึ้นไปอย่างต่ำ 20% ภายในปีนี้ เนื่องจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตยาพุ่งขึ้นอย่างก้าวกระโดด จึงเป็นปัจจัยสนับสนุนเทรนด์การดูแลสุขภาพเชิงป้องกันก่อนป่วยให้ได้รับความสนใจมากขึ้น

    2.เทรนด์ไม่บริโภคและใช้ผลิตภัณฑ์จากสารเคมี สังคมปัจจุบันเริ่มตระหนักมากขึ้นถึงอันตรายของสารเคมีที่มีต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม มองหาทางเลือกที่เป็นธรรมชาติและยั่งยืนมากขึ้นจากความกังวลด้านสุขภาพ ซึ่งสารเคมีหลายชนิดเชื่อมโยงกับปัญหาด้านสุขภาพที่ร้ายแรง เช่น มะเร็ง โรคทางระบบประสาท และปัญหาการเจริญพันธุ์

    ทำให้ผู้คนจำนวนมากมองหาทางเลือกที่เป็นธรรมชาติและยั่งยืนมากขึ้น ต้องการผลิตภัณฑ์ที่ทำจากส่วนผสมจากธรรมชาติและไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพหรือสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้ตลาดสินค้าออร์แกนิกในประเทศไทยมีมูลค่า 2,800 ล้านบาทในปี 2564 และคาดการณ์ว่าจะเติบโตถึง 4,000 ล้านบาทภายในปี 2568

    3.เทรนด์ครอบครัวอยู่คนเดียว ครอบครัวไทยยุคใหม่มีครอบครัวขยายจำนวนน้อยลง ขนาดครอบครัวเดี่ยว และครอบครัวคนเดียวเพิ่มมากขึ้น มีผู้สูงอายุอยู่คนเดียวมากขึ้น โดยในปี 2564 มีผู้สูงอายุไทยอายุ 60 ปีขึ้นไป อาศัยอยู่คนเดียว 842,184 คน คิดเป็น10.2% ของผู้สูงอายุทั้งหมด และคาดการณ์ว่าจำนวนผู้สูงอายุไทยที่อยู่คนเดียวจะเพิ่มสูงขึ้นเป็น 1.8 ล้านคนภายในปี 2574 ส่งผลให้ผู้สูงอายุต้องการดูแลสุขภาพให้แข็งแรงเพื่อให้สามารถดูแลพึ่งพาตัวเองได้

    4.เทรนด์ไม่อยากแก่ ประเทศไทยกำลังโครงสร้างประชากรเปลี่ยนแปลงไปเป็นการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ประชาชนมีอายุยืนยาวขึ้น ต้องการมีคุณภาพชีวิตที่ดี ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขและแข็งแรงแม้ในวัยสูงอายุ ส่งผลให้ผู้สูงอายุเริ่มเป็นกลุ่มผู้บริโภคหลัก เป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง และตระหนักถึงการดูแลสุขภาพให้แข็งแรงและดูดีอยู่เสมอ

พิษณุ แดงประเสริฐ


    “จาก4 ปัจจัยดังกล่าวยังส่งผลให้ตลาดสุขภาพเชิงป้องกันในกลุ่มคน Gen X เติบโตตามตลาดผู้สูงอายุ เนื่องจากคน Gen X คือกลุ่มที่เตรียมเข้าสู่กลุ่มคนสูงวัย ทำให้ยอดขายในกลุ่มดังกล่าวเติบโตเพิ่มขึ้น 15% ในปี 2566 ที่ผ่านมาและคาดว่าจะเติบโต 30% ในปี 2567” พิษณุ กล่าว



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : งานสัปดาห์หนังสือฯ ปิดฉากยิ่งใหญ่ เม็ดเงินสะพัด 400 ล้านบาท นิยายวาย-การ์ตูน แชมป์ขายดีต่อเนื่อง

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine