หลังเครือเซ็นทรัลถือหุ้น 75% ‘เรฟ อีดิชั่น’ กางแผนลุยตลาดรองเท้าครั้งใหญ่ เล็งเปิดสาขาแรกปีหน้าที่สิงคโปร์ - Forbes Thailand

หลังเครือเซ็นทรัลถือหุ้น 75% ‘เรฟ อีดิชั่น’ กางแผนลุยตลาดรองเท้าครั้งใหญ่ เล็งเปิดสาขาแรกปีหน้าที่สิงคโปร์

หลังซี อาร์ ซี สปอร์ต เครือเซ็นทรัล รีเทล เข้าถือหุ้นใหญ่ 75% “เรฟ อีดิชั่น” เผยแผนลุยตลาดรองเท้าครั้งใหญ่ เล็งเปิดสาขาแรกปีหน้าที่ Orchard ถนนสายช็อปปิ้งสิงคโปร์ หรือ VivoCity ห้างดังตรงข้ามเซ็นโตซ่า และปักหมุดที่เวียดนามและมาเลเซีย ส่วนอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์รอเฟสต่อไป หวังขึ้นแท่นหนึ่งในผู้นำตลาดรองเท้าวิ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยยอดขายและจำนวนร้านค้าที่จะเพิ่มเป็นสองเท่าตัวใน 3-5 ปี


    ซี อาร์ ซี สปอร์ต ในเครือเซ็นทรัล รีเทล บริษัทค้าปลีกและจัดจำหน่ายเสื้อผ้าและอุปกรณ์กีฬาที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยและผู้บริหารร้านค้าปลีกกีฬา Supersports ประกาศแผนเชิงรุก หลังได้ใช้เงิน 468 ล้านบาทเข้าซื้อและถือหุ้นใหญ่ 75% ในบริษัท เรฟ อีดิชั่น จำกัด ผู้นำเข้าและจัดจำหน่าย แบรนด์สินค้ากลุ่ม Sports Performance & Lifestyle ชั้นนำ อาทิ Hoka, Saucony, Goodr, 2XU, CEP, Qiaodan, XTEP, Kailas, Champion, Aonijie, National Geographic, Teva, Oakley และร้านค้าปลีกอย่าง Rev Runner ผู้นำร้านสเปเชียลตี้สโตร์สำหรับรองเท้าวิ่ง เมื่อไม่นานมานี้

    ตามแผนเชิงรุก บริษัทใหม่ได้จัดตั้งขึ้นเพื่อเตรียมเปิดสาขาแรกในสิงคโปร์ในไตรมาสสองของปีหน้า ในทำเลถนนสายช็อปปิ้งอย่าง Orchard หรือ VivoCity ห้างสรรพสินค้าชื่อดังย่าน HarbourFront ตรงข้ามกับเซ็นโตซ่า นอกจากนี้ยังมีแผนจะเปิด Rev Runner ในมาเลเซียให้ได้ 20 แห่งภายใน 3-5 ปี จากปัจจุบันที่มีสาขาในโมเดลต่างๆ อยู่แล้วถึง 40 แห่ง

    ปัจจุบัน ซี อาร์ ซี สปอร์ต เป็น 1 ใน 6 ธุรกิจที่อยู่ภายใต้กลุ่มเซ็นทรัล แบรนด์แอนด์สเปเชียลตี้ (ซีบีเอส) ในเครือเซ็นทรัล รีเทล


    สุฑาทิพย์ มนูญผล ผู้ช่วยกรรมการ ผู้จัดการใหญ่อาวุโสฝ่ายกลยุทธ์ และพันธมิตร กลุ่มเซ็นทรัล แบรนด์แอนด์สเปเชียลตี้ ในเครือเซ็นทรัล รีเทล กล่าวว่า การเข้าถือหุ้นใหญ่ในบริษัท เรฟ อีดิชั่น เป็นแผนของกลุ่มฯ ที่มุ่งมั่นสรรหาผลิตภัณฑ์แบรนด์และคอนเซ็ปต์ที่ตอบโจทย์ความต้องการให้ครอบคลุมผู้บริโภคที่หลากหลาย ทั้งสินค้ากลุ่มแฟชั่น ไลฟ์สไตล์ และกีฬา

สุฑาทิพย์ มนูญผล


    “กีฬาและสุขภาพไม่ใช่เทรนด์อีกต่อไป แต่กลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตที่สำคัญของผู้บริโภค และยังคงขยายเป็นวงกว้างอย่างต่อเนื่อง ในฐานะที่เซ็นทรัลรีเทลเป็นผู้นำตลาดค้าปลีกและค้าส่งในไทย เราเห็นโอกาสเติบโตในธุรกิจกีฬาที่มีมูลค่ากว่า 3.5 หมื่นล้านบาท และยังมีแนวโน้มเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง” สุฑาทิพย์กล่าว


    อเล็กซองต์ อัมเบล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ซี อาร์ ซี สปอร์ต จำกัด ในเครือเซ็นทรัล รีเทล บอกเหตุผลที่ซี อาร์ ซี สปอร์ต ตัดสินใจซื้อหุ้นใน เรฟ อีดิชั่น ว่า เป็นการหาโอกาสที่จะเติบโตธุรกิจจากภายนอก และเรฟ อีดิชั่น เป็นบริษัทด้านรองเท้ากีฬาที่เติบโตในเมืองไทยมา 24 ปีเคียงคู่กับซูเปอร์สปอร์ตที่มีอายุ 27 ปี

    นอกจากนี้เรฟ อีดิชั่น ยังเป็นผู้จัดจำหน่ายแบรนด์รองเท้ากีฬาที่ได้รับความไว้วางใจจากนักวิ่ง จึงสามารถเข้ามาเติมเต็มอีโคซิสเต็มของซี อาร์ ซี สปอร์ต ได้เป็นอย่างดี เพราะเรฟ อีดิชั่นมีทีมการตลาด ทีมขายที่เชี่ยวชาญด้านรองเท้าวิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่ม Performance และไลฟ์สไตล์ ที่มีศักยภาพในการเติบโตสูง ขณะที่ซี อาร์ ซี สปอร์ต จะมีเครือข่ายการจัดจำหน่ายสินค้าที่แข็งแกร่ง

    ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ ทั้งซี อาร์ ซี สปอร์ต และเรฟ อีดิชั่น ต่างมีแพชชั่นและเห็นคุณค่าที่ยิ่งใหญ่ในศักยภาพของกีฬา รวมถึงต่างเป็นผู้บุกเบิกตลาดกีฬาในประเทศไทย

อเล็กซองต์ อัมเบล


    “การเข้าซื้อหุ้นใหญ่ในเรฟ อีดิชั่น เป็นกุญแจสำคัญที่ต่อยอดความสำเร็จขั้นต่อไปของซี อาร์ ซี สปอร์ต ในแง่ของการเติบโตทางธุรกิจ การขยายฐานลูกค้า และความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง เรามีเป้าหมายครองส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้น ผ่านการขยายสาขาทั้งร้านมัลติแบรนด์อย่าง Supersports และ Rev Runner รวมถึงแบรนด์สโตร์ เป็น 2 เท่าในไทย และขยายสาขาไปยังมาเลเซีย เวียดนาม และสิงคโปร์ พร้อมก้าวสู่การเป็นหนึ่งในผู้นำตลาดในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” อเล็กซองต์ กล่าว

    ปัจจุบันแพลตฟอร์มหน้าร้านในเครือเรฟ อีดิชั่น มีจำนวนรวม 159 แห่งในไทยและมาเลเซีย ทั้งในรูปแบบร้าน Rev Runner, แบรนด์ช็อป, shop in shop รวมถึงในร้านมัลติแบรนด์ต่างๆ และหน้าร้านออนไลน์

    เรฟ อีดิชั่น มีแผนขยายหน้าร้านในเครืออีก 19 สาขาภายในไตรมาสที่ 4 ของปี 2567 รวมถึงร้าน National Geographic Lifestyle Store ที่จะเปิดเป็นสาขาแรกในเมืองไทยด้วย ขณะที่ ซี อาร์ ซี สปอร์ต มีแผนจะขยายหน้าร้านอีก 8 สาขา โดยเป็นร้าน Supersports 1 สาขา และร้านแบรนด์ LFC, Columbia, Merrel และ Reebok รวมอีก 7 สาขา


    ส่วนในปี 2568 เรฟ อีดิชั่น มีแผนจะขยายสาขาทั้งร้านมัลติแบรนด์และแบรนด์สโตร์อีกมากกว่า 20 สาขาทั้งในไทยและมาเลเซีย และยังตั้งเป้าจะเปิดสาขาของ Rev Runner ไม่รวมแบรนด์ช็อปให้ได้ทั้งหมด 20 แห่งในมาเลเซีย และอีก 10-15 ช็อปในเวียดนามภายใน 3-5 ปี

    “ที่ผ่านมามีแต่ร้านรองเท้าวิ่งจากสิงคโปร์ มาเลเซีย และอินโดนีเซียขยายธุรกิจมาเมืองไทย ถึงเวลาแล้วที่ร้านรองเท้าวิ่งของคนไทยจะไปปักหมดในภูมิภาคนี้มากขึ้น” พรศักดิ์ ชินวงศ์วัฒนา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เรฟ อีดิชั่น จำกัด กล่าว

    ตามแผนการขยายธุรกิจดังกล่าว รายได้ของเรฟ อีดิชั่น จะเพิ่มเป็น 2,500 ล้านบาทภายใน 3-5 ปีข้างหน้า จากปีที่ผ่านมาซึ่งมีรายได้อยู่ประมาณ 1,200 ล้านบาท

    ด้าน อเล็กซองต์ กล่าวเพิ่มว่า สิทธิ์การจัดจำหน่ายแบรนด์ต่างๆ จะอยู่ภายใต้การดูแลของซี อาร์ ซี สปอร์ต แต่สิทธิ์การบริหารทั้งหมดอยู่กับเรฟ อีดิชั่น ได้แก่ Hoka, Saucony, Goodr, 2XU, CEP, Qiaodan, XTEP, Kailas, Champion, Aonijie, National Geographic, Teva, Oakley เมื่อรวมกับแบรนด์เดิมที่มีอยู่ ได้แก่ Reebok, Columbia, LFC, Merrell, Speedo, Wilson, Umbro ทำให้ซี อาร์ ซี สปอร์ต ขยายพอร์ตสิทธิ์การจัดจำหน่ายรวมเป็น 20 แบรนด์

    สำหรับบริษัท เรฟ อีดิชั่น จำกัด เป็นผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายแบรนด์สินค้ากลุ่ม Sports Performance & Lifestyle และสินค้ากลุ่มไลฟ์สไตล์แฟชั่น ก่อตั้งขึ้นในปี 2543 ในฐานะผู้บริหารร้านไนกี้ แฟล็กชิปสโตร์ แห่งแรกในไทย และเป็นผู้บุกเบิกและบริหารร้านกีฬา Rev Runner ซึ่งเป็นร้านอุปกรณ์กีฬาสำหรับผู้ที่รักการวิ่งโดยเฉพาะ

พรศักดิ์ ชินวงศ์วัฒนา


    พรศักดิ์ กล่าวว่า การเข้าเป็นส่วนหนึ่งของเครือเซ็นทรัล รีเทลครั้งนี้ เป็นโอกาสสำคัญที่จะติดปีกเรฟ อีดิชั่น และแบรนด์ในเครือ ให้เติบโตยิ่งขึ้นอีกในอนาคต สอดรับแผนกลยุทธ์ของเรฟ อีดิชั่น

    “ปัจจุบัน เทรนด์กีฬายังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง ขยายกลุ่มผู้สนใจไปสู่วงกว้าง เมื่อ 20 ปีก่อน คนไม่พูดถึงรองเท้าวิ่ง รองเท้าเล่นเทนนิส เล่นบาสเก็ตบอล พูดถึงรองเท้าผ้าใบ คู่เดียวเล่นกีฬาได้ทุกอย่าง เดี๋ยวนี้ลูกค้ามีวิวัฒนาการและพร้อมลงทุนกับกีฬา หาข้อมูลเกี่ยวกับรองเท้ากีฬาในเชิงลึกมากขึ้น ตั้งแต่วัสดุที่ใช้ สเปกรองเท้า มีการเปลี่ยนรองเท้าถี่ขึ้น ไม่ต้องรอพื้นสึกเหมือนเมื่อก่อน แนวโน้มค่าเฉลี่ยในการจับจ่ายสินค้ากีฬาแนว Performance Sports ต่อครั้งก็ยังคงสูงขึ้นประมาณ 15% เทียบจากปี 2566

    “เราพบว่านักวิ่งมืออาชีพมีรองเท้าเฉลี่ยคนละ 4 คู่ บางคนใส่ครั้งเดียวทิ้ง บางคนเปลี่ยนรองเท้าเมื่อวิ่งได้เพียง 40 กิโลเมตร บางคนเปลี่ยนที่ 600 กิโลเมตร ค่าเฉลี่ยของนักวิ่งประเภทอีลิทใช้เงินซื้ออุปกรณ์เกี่ยวกับการวิ่ง 30,000 บาทต่อครั้ง ขณะที่นักวิ่งเทรลใช้เงินสูงถึง 40,000 บาทต่อครั้ง นี่แสดงถึงศักยภาพการเติบโตที่ต่อเนื่องของธุรกิจนี้ในอนาคต” พรศักดิ์ กล่าว



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : คนไทยติดหรูกว่าที่คิด! ชี้ช่วยเสริมความมั่นใจ เป็นที่ยอมรับ แม้กว่าครึ่งเงินเดือนไม่ถึง 50,000 บาท

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine