การติดหรูของคนไทยจะไปหยุดที่ตรงไหน! CMMU พาส่องการตลาดที่คาดไม่ถึงของกลุ่ม “ลักซูเมอร์” ตลาดลักชูเมืองไทยโต ไม่ได้มาจากคนฐานะดีเท่านั้น แต่มาจากคนรายได้ไม่สูงด้วย เพราะอยากแสดงตัวตนทางสังคม ทำแนวโน้มตลาดโตสวนกระแส ไม่แคร์เศรษฐกิจผันผวน พร้อมเจาะ 4 ธุรกิจมาแรงที่ชาวลักซูเมอร์พร้อมเทใจและเทเงินในกระเป๋า
ปรากฏการณ์ “เสพติดความลักซ์” ของคนไทยกลายเป็นประเด็นที่น่าจับตา แม้ในภาวะเศรษฐกิจที่ไม่ค่อยสู้ดีนัก วัดได้จากความขยันออกสินค้าและบริการของแต่ละแบรนด์ที่ไม่ว่าจะ Launch อะไรออกมา ราคาจะสูงเท่าไหร่ก็มักจะมีผู้คนมากมายยอมไปต่อคิวรอซื้อ หรือเหมากันจนเกลี้ยงเชลฟ์
พฤติกรรม “หยุดไม่ได้ ก็ใจมันลักซ์” ของชาว Luxumer จึงกลายเป็นเทรนด์ทางการตลาดที่น่าสนใจสำหรับหลายๆ ธุรกิจ รวมถึงแคมเปญต่างๆ ที่มักจะมีความหรูเป็นตัวขับเคลื่อน
และจากที่ วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล หรือ CMMU ได้ทำการวิจัยหัวข้อ“Unstoppable Luxumer เจาะอินไซต์ หยุดไม่ได้ใจมันลักซ์” ซึ่งชี้ให้เห็นพฤติกรรมติดหรูของคนไทยและโอกาสใหม่ๆ ที่สามารถนำไปต่อยอดธุรกิจ โดยเรื่องนี้ยังมีประเด็นที่น่าสนใจและต้องติดตามต่อ ซึ่ง ผศ.ดร. สุเทพ นิ่มสาย หัวหน้าสาขาการจัดการ และกลยุทธ์การตลาด จาก CMMU ได้กล่าวถึงปรากฏการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในตลาดสินค้าหรูในขณะนี้ว่า
1. โลกแห่ง “ความลักซ์” จะไม่ได้จำกัดอยู่แค่สินค้าแบรนด์เนม แต่ขยายไปยังสินค้าและบริการรอบตัวที่มาพร้อมกับภาพลักษณ์สุดพรีเมียมและราคาที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับสินค้าในหมวดหมู่เดียวกัน โดยมี TOP 5 สินค้า-บริการหรูโดนใจยุคใหม่ที่ชาว Luxumer พร้อมเทกระเป๋าจ่าย ดังนี้
-อาหารและเครื่องดื่มพรีเมียม ความหรูหราที่ลิ้มรสได้ - ชาว Luxumer ผู้หลงใหลในรสชาติและประสบการณ์ลักซ์ พร้อมจะควักเงินจ่ายเพื่อให้ได้ลองลิ้มชิมรสอาหารและเครื่องดื่มหรูหราที่ให้มากกว่าความอร่อย ไม่ว่าจะเป็น วัตถุดิบชั้นเลิศที่คัดสรรมาอย่างดีหรือมีสตอรี่น่าสนใจ แพ็คเกจที่ได้รับการออกแบบอย่างประณีต หรือบรรยากาศภายในร้านที่ตกแต่งอย่างสวยงาม พิถีพิถัน ซึ่งล้วนแต่สะท้อนรสนิยมและสถานะทางสังคมของผู้กินดื่มได้เป็นอย่างดี
-บัตรคอนเสิร์ต การแสดง และกีฬาแมตช์สำคัญ ที่แฟนคลับตัวยงต้องมี – ถือเป็นสินค้าหรูที่ชาว Luxumer พร้อมแย่งกันจ่ายเหมือนให้ฟรี เพื่อแลกกับประสบการณ์สุดพิเศษที่จะได้รับจากการชมการแสดงหรือการแข่งขันแบบสดๆ แบบริงไซด์ ได้ใกล้ชิดกับศิลปิน ดารา หรือนักกีฬาที่ตนชื่นชอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากได้เป็นผู้หญิงหรือผู้ชายแถวหน้า หรืออยู่ในโซน VIP ก็จะยิ่งเพิ่มความภาคภูมิใจไปอีกระดับ อีกทั้งการเข้าร่วมกิจกรรมเหล่านี้ยังสร้างความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของคอมมูนิตี้ของกลุ่มคนที่มีความชอบเหมือนกัน ได้แสดงตัวตน เสริมภาพลักษณ์ และสร้างการยอมรับทางสังคม
-ท่องเที่ยวแบบกินหรู อยู่สบาย โชว์ไลฟ์สไตล์ผ่านโซเชียล - สำหรับชาว Luxumer การท่องเที่ยวไม่ใช่แค่การพักผ่อนหย่อนใจ แต่ยังได้แสดงสถานะและรสนิยม ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยวต่างประเทศ การบินด้วยชั้น Business Class การเข้าพักในโรงแรมหรูระดับ 5 ดาว หรือร่วมทริปสุดเอ็กซ์คลูซีฟ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อบวกกับการได้แชร์ประสบการณ์และไลฟ์สไตล์หรูหราผ่านโซเชียลมีเดียยิ่งทำให้การใช้จ่ายในการท่องเที่ยวยิ่งคุ้มค่า
-บริการด้านสุขภาพและความงามสุดหรู คุณค่าที่ชาวลักซ์คู่ควร – เพราะภาพลักซ์นั้นสำคัญยิ่ง ชาว Luxumer ส่วนใหญ่จึงพร้อมทุ่มจ่ายให้กับบริการด้านสุขภาพและความงามสุดพรีเมียมเพื่อดูแลตัวเอง ไม่ว่าจะเป็น สปาระดับพรีเมียม คอร์สทำหน้าสุดพิเศษ โปรแกรมฟิตเนสที่ออกแบบมาเฉพาะบุคคลพร้อมเทรนเนอร์ส่วนตัว แพ็คเกจดูแลสุขภาพที่เจาะลึกถึงระดับ DNA ซึ่งถือเป็นการลงทุนที่แสนคุ้มค่าเพราะนอกจากได้ดูแลสุขภาพกายใจแล้วยังสะท้อนไลฟ์สไตล์หรูหรามีระดับ
-สินค้าหรูแบบ Niche ที่ฮิตเฉพาะกลุ่ม - ของสะสม ศิลปะ สินค้าที่มีเรื่องราวเฉพาะตัว มีเอกลักษณ์ และสินค้าหายาก หรือลิมิเต็ดเอดิชัน อย่างเช่น อาร์ตทอย กำลังเป็นที่นิยมอย่างมากในหมู่ชาว Luxumer เพราะนอกจากความภูมิใจที่ได้ครอบครองของหายากไม่ซ้ำใครแล้วยังสะท้อนรสนิยมและตัวตนของผู้สะสม อีกทั้งยังเพิ่มมูลค่าเมื่อเวลาผ่านไป
ผศ.ดร. สุเทพ ได้สรุปว่า เหตุที่ชาว Luxumer ยอมจ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการเหล่านี้แม้ราคาจะสูงกว่าปกติหรือบางคนอาจมองว่าไม่จำเป็น เพราะพวกเขาไม่ได้มองว่าสิ่งเหล่านี้เป็นแค่สินค้าหรือบริการ แต่เป็นการลงทุนในประสบการณ์ที่หายากและมีคุณค่าทางจิตใจ ทำให้การใช้จ่ายกลายเป็นการเติมเต็มความสุขทางใจและสร้างการยอมรับทางสังคม
2.ไม่ต้องรวยก็หรูได้ ถ้าใจมันลักซ์ แม้ว่าความลักซ์ต้องควักเงิน แต่กลับพบว่าการเติบโตของตลาดหรูในประเทศไทยไม่ได้เกิดขึ้นจากชนชั้นสูงหรือผู้มีฐานะดีเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมไปถึงชาว Luxumer รุ่นใหม่ที่รายได้ไม่สูงมากแต่ต้องการแสดงตัวตนทางสังคมอีกด้วย
โดยจากผลการวิจัยพบว่า กลุ่มคนที่มีรายได้น้อยและเงินออมไม่มากนักจะมีความติดลักซ์ในกลุ่มสินค้าประเภทอาหารและเครื่องดื่มเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากเป็น “สินค้าหรูที่พอเอื้อมถึงได้” (Affordable Luxury) ซึ่งมักจะเป็นการกิน-ดื่มเพื่อให้รางวัลตัวเองหรืออยากลองสัมผัสประสบการณ์หรูหราสักครั้งในชีวิต
ในขณะที่กลุ่มที่มีรายได้ปานกลางไปจนถึงสูงส่วนมากจะติดลักซ์ในกลุ่มสินค้าประเภทเครื่องสำอาง สกินแคร์ น้ำหอม และเครื่องแต่งกาย รวมถึงสินค้าแฟชั่น เช่น เสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้าแบรนด์เนม ที่มีมูลค่าหลักหมื่นหลักแสน ซึ่งมักเป็นการซื้อเพื่อเสริมสร้างภาพลักษณ์และเพิ่มความมั่นใจ
และที่น่าสนใจไปกว่านั้น จากผลการวิจัยยังพบอีกว่า ระดับค่าความหลงใหลในวัตถุนิยม (Material Values Scale (MVS) ของผู้ที่มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนไม่เกิน 20,000บาท ไปจนถึงผู้มีรายได้เกิน 200,000 บาท กลับไม่แตกต่าง จึงสรุปได้ว่า “รายได้” ไม่ใช่ตัวแปรสำคัญ ถ้าพึงพอใจก็พร้อมจ่ายเพราะใจลักซ์
3.ลงทุนในความลักซ์ - จ่ายวันนี้ คุ้มวันหน้า ในอดีต การซื้อสินค้าหรูมักถูกมองว่าเป็นการใช้จ่ายฟุ่มเฟือย แต่ปัจจุบัน สินค้าหรูหลายประเภทกลายเป็นของหายากและมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเมื่อเวลาผ่านไปเช่น กระเป๋าแบรนด์เนม นาฬิกาหรู หรือของสะสมลิมิเต็ดเอดิชัน ยิ่งทำให้ชาว Luxumer เห็นว่าเงินที่เสียไปนั้นแสนคุ้มค่า เพราะนอกจากจะสร้างความสุขในปัจจุบัน ยังสร้างมูลค่าเพิ่มได้ในอนาคต
เทรนด์ตลาดหรู โตสวนกระแส ไม่แคร์เศรษฐกิจทรุด
ผศ.ดร. สุเทพ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปี 2568 ไปจนถึงอีกหลายปีข้างหน้า ไม่ว่าเศรษฐกิจจะขาขึ้นหรือขาลง ตลาดสินค้าและบริการหรูยังมีแนวโน้มที่จะเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าจะเกิดเทรนด์ใหม่ๆ ที่น่าสนใจ ดังนี้
1. การตลาดเชิงอารมณ์จะได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะชาว Luxumer ยุคใหม่จะให้ความสำคัญกับ “ความรู้สึก” ที่เกิดจากการใช้สินค้าหรือบริการมากกว่าประโยชน์ที่ได้รับโดยตรง
2. เทรนด์หรูรักษ์โลก (Eco-Conscious Luxury) จะมาแรง ชาว Luxumer ยุคใหม่ โดยเฉพาะกลุ่ม Gen Z และ Millennials จะให้ความสำคัญกับสินค้าและบริการที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สินค้าหรือบริการที่มีนโยบาย Eco-Friendly เช่น ใช้วัสดุรีไซเคิล ลดการปล่อยคาร์บอน หรือมีกระบวนการผลิตอย่างยั่งยืน จะกลายเป็นตัวเลือกสำคัญและมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อมากขึ้น
3. ตลาดหรูมือสอง จะขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ที่มองหาสินค้าหรูในราคาที่ถูกลงหรือเพิ่มมูลค่าได้ในระยะยาว แพลตฟอร์มออนไลน์จะกลายเป็นช่องทางสำคัญในการซื้อขายสินค้าหรูมือสอง ซึ่งจะช่วยให้ชาว Luxumer สามารถเข้าถึงสินค้าที่เคยเอื้อมไม่ถึงด้วยราคาที่จับต้องได้ อีกทั้งยังช่วยลดขยะและสนับสนุนแนวคิดเรื่องความยั่งยืน
4. ธุรกิจเช่าความหรู (Luxury Rentals) จะเฟื่องฟูยิ่งขึ้น โดยชาว Luxumer ที่รายได้ไม่สูงนัก หรือไม่ต้องการลงทุนซื้อสินค้าราคาสูงสามารถเข้าถึงประสบการณ์หรูได้ผ่านการเช่า เช่น การเช่ารถยนต์ กระเป๋า เสื้อผ้า เครื่องประดับ ซึ่งนอกจากราคาที่ถูกลงแล้วยังทำให้สามารถปรับเปลี่ยนสินค้าตามสไตล์และโอกาสได้มากขึ้น
พิชิตใจชาวลักซ์ ด้วยกลยุทธ์สุด PREMIUM
ผศ.ดร. สุเทพ กล่าวเพิ่มเติมว่าชาว Luxumer เป็นกลุ่มผู้บริโภคที่ผู้ประกอบการและนักการตลาดไม่ควรมองข้าม เพราะหากสามารถสร้างสรรค์สินค้าหรือบริการที่ตอบโจทย์และเข้าไปนั่งในใจชาว Luxumer ได้ก็จะกลายเป็นโอกาสทองของธุรกิจ เนื่องจากผู้บริโภคกลุ่มนี้มีกำลังซื้อสูง ไม่มองเรื่องราคาเป็นข้อจำกัด
อีกทั้งยังพร้อมซื้ออย่างต่อเนื่องไม่ว่าเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร พร้อมแนะนำกลยุทธ์สุดพิเศษที่เรียกว่า PREMIUM สำหรับธุรกิจที่อยากพิชิตใจชาว Luxumer ไว้ ดังนี้
P - Privilege - มอบสิทธิพิเศษเหนือระดับกว่าลูกค้าทั่วไป เพื่อให้ชาว Luxumer รู้สึกได้ถึงความ VIP เช่น การให้สิทธิเข้าถึงสินค้าใหม่ก่อนใคร บริการที่จัดเตรียมเฉพาะบุคคล หรือการเข้าร่วมกิจกรรมสุดเอ็กซ์คลูซีฟ
R - Rare – มอบสินค้าและบริการหายาก ไม่ว่าจะเป็นสินค้า Rare Item, Limited Edition หรือ Made by order ที่ไม่เหมือนใครหรือไม่สามารถหาซื้อได้ง่ายๆ เพื่อให้ชาว Luxumer รู้สึกถึงความพิเศษ รู้สึกถึงชัยชนะ และภูมิใจที่ได้ครอบครอง
E – Emotional – สร้างความผูกพันทางอารมณ์ เชื่อมโยงแบรนด์เข้ากับอารมณ์และความรู้สึก โดยใช้เรื่องราวที่สะท้อนความรัก ความสำเร็จ หรือช่วงเวลาสำคัญของชีวิต ทำให้ชาว Luxumer รู้สึกว่าการซื้อสินค้าหรูเป็นมากกว่าแค่การซื้อสินค้า แต่เป็นการลงทุนที่มีคุณค่าทางจิตใจ
M - Memorable - สร้างประสบการณ์ที่ล้ำค่า น่าจดจำ เช่น การได้เข้าร่วมกิจกรรมพิเศษอย่างเช่นคอนเสิร์ตที่จัดขึ้นเพียงปีละครั้ง การได้พบปะบุคคลสำคัญ หรือไอดอลที่ชื่นชอบ ซึ่งจะทำให้ชาว Luxumer จดจำแบรนด์ได้และนึกถึงทุกครั้งเมื่อระลึกถึงประสบการณ์สุดประทับใจ
I – Innovation – นำเทรนด์ ด้วยนวัตกรรมล้ำสมัย เพื่อดึงดูดใจชาว Luxumer ที่ชื่นชอบความทันสมัยและสะดวกสบาย ตัวอย่างเช่น การใช้ AI มาช่วยออกแบบและปรับแต่งสินค้าหรือบริการเฉพาะบุคคล เช่น การออกแบบรองเท้าจากข้อมูลการเคลื่อนไหวของผู้ใช้
U – Unique – สร้างสรรค์สินค้าที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และแตกต่างจากสินค้าที่วางขายทั่วไป ทำให้ชาว Luxumer รู้สึกว่าการเป็นเจ้าของสิ่งที่มีเอกลักษณ์ไม่ซ้ำใครและเป็นตัวแทนของรสนิยมเฉพาะตัว
M – Motivation สร้างแรงจูงใจ เชื่อมโยงแบรนด์กับเป้าหมายและความสำเร็จ โดยทำให้ชาว Luxumer รู้สึกว่าแบรนด์ไม่ใช่เพียงแค่สินค้าหรือบริการ แต่เป็นสัญลักษณ์ที่สะท้อนความสำเร็จของผู้ครอบครอง
ภาพจาก freestocks on Unsplash และ CMMU
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : ใครปรับตัวก่อน คนนั้นรอด! จับตา 12 เทรนด์ใหม่ สู้ศึก ‘อีคอมเมิร์ซ’ ปี 2025
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine