‘เบทาโกร’ ปี 66 ขาดทุน 1,398 ล้าน หลังหมูเถื่อนทำราคาหมูตก ต้นทุนการผลิตเพิ่ม - Forbes Thailand

‘เบทาโกร’ ปี 66 ขาดทุน 1,398 ล้าน หลังหมูเถื่อนทำราคาหมูตก ต้นทุนการผลิตเพิ่ม

เบทาโกรเผยผลประกอบการปี 2566 ขาดทุนสุทธิ 1,398 ล้านบาท หลังหมูเถื่อนทำพิษ กระทบราคาหมูตกต่ำ ส่วนปี 2567 มุ่งสร้างการเติบโตที่มั่นคงและยั่งยืน ขยายกำลังการผลิต ปรับพอร์ตสินค้าและช่องทางการจัดจำหน่าย เน้นบริหารจัดการต้นทุน


    บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) หรือ “BTG” เผยผลการดำเนินงานในปี 2566 โดยระบุว่า ในปี 2566 บริษัทฯ เผชิญกับความท้าทายจากปัจจัยภายนอกหลากหลาย ทั้งสถานการณ์ราคาสุกรตกต่ำจากการลักลอบนำเข้าชิ้นส่วนและเนื้อสุกรจากต่างประเทศอย่างผิดกฎหมาย ต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นจากราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ปรับตัวสูงขึ้น อีกทั้งภาวะเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ ส่งผลต่อผลการดำเนินงานปี 2566

    โดยบริษัทฯ มีรายได้จากการขายและการให้บริการรวม 108,638 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 3.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา และมีผลขาดทุนสุทธิ 1,398 ล้านบาท

    อย่างไรก็ดี บริษัทฯ ยังคงมีโครงสร้างเงินทุนที่แข็งแกร่ง โดยสามารถบริหารอัตราหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (IBD/E) อยู่ที่ 0.97 เท่าในปี 2566 และ TRIS Rating คงอันดับเครดิตที่ระดับ “A” ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงความเชื่อมั่นในปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่ง ศักยภาพการดำเนินธุรกิจและโอกาสเติบโตของบริษัทฯ

    วสิษฐ แต้ไพสิฐพงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) หรือ BTG เปิดเผยว่า สำหรับปี 2567 บริษัทฯ วางกลยุทธ์ขับเคลื่อนธุรกิจ 2024 เพื่อนำพาเบทาโกรไปสู่ “บริษัทอาหารครบวงจรชั้นนำของไทยที่มุ่งมั่นเพิ่มคุณค่าชีวิตทุกคน ด้วยอาหารที่ดีกว่า”

    โดยวาง 3 กลยุทธ์หลักซึ่งเป็นหัวใจในการสร้างการเติบโตที่มั่นคงและยั่งยืนให้เบทาโกร และอุตสาหกรรมอาหาร ผ่าน 4 กลุ่มธุรกิจหลัก ได้แก่ กลุ่มธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรม (Agro Business), กลุ่มธุรกิจอาหารและโปรตีน (Protein & Food Business), กลุ่มธุรกิจต่างประเทศ (International Business) และกลุ่มธุรกิจสัตว์เลี้ยง (Pet Business)

    พร้อมเสริมทัพผู้นำ ด้วยทีมบริหารที่มีประสบการณ์และวิสัยทัศน์ไกล สร้างความแข็งแกร่งให้กับองค์กร เตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในโลกปัจจุบัน โดยทั้งหมดนี้เป็นการขับเคลื่อนธุรกิจภายใต้กรอบ ESG (Environmental, Social, Governance)

    กลยุทธ์ปี 2024 เบทาโกร มุ่งสร้างแลนด์สเคปการทำงานในรูปแบบใหม่ เพื่อเดินหน้าสู่เป้าหมายผลการดำเนินงาน 2567 เติบโต 5-10% ดังนี้

    1) กลยุทธ์การขยายกำลังการผลิต (Capacity Expansion) ด้วยการลงทุนอย่างต่อเนื่อง อาทิ โรงงานผลิตอาหารสัตว์ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ฟาร์มปศุสัตว์และโรงงานแปรรูปอาหาร โรงงานผลิตอาหารสัตว์ที่ประเทศลาว รวมทั้งขยายโรงงานผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงที่จังหวัดลพบุรี เป็นต้น พร้อมการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาช่วยยกระดับการผลิตให้ทันสมัย เพิ่มประสิทธิผลให้ดียิ่งขึ้น

    2) กลยุทธ์ปรับพอร์ตสินค้าและช่องทางการจำหน่าย เพื่อเพิ่มความสามารถในการทำกำไร (Product & Channel Mix Adjustment) มุ่งเน้นผลิตภัณฑ์ที่มีราคาขายและอัตรากำไรที่สูงขึ้น เพื่อเพิ่มรายได้และส่วนแบ่งการตลาด พร้อมขยายช่องทางการจัดจำหน่าย เช่น ร้านเบทาโกรช็อป ช่องทางฟู้ดเซอร์วิส และช่องทางการส่งออก เป็นต้น

    3) กลยุทธ์เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการบริหารจัดการต้นทุนตลอดห่วงโซ่อุปทาน (Cost Transformation) เพื่อเพิ่มผลผลิตที่มีคุณภาพและผลิตภาพ รวมถึงเพิ่มความสามารถในการทำกำไรที่ดียิ่งขึ้น อาทิ การผลิตปศุสัตว์ และระบบการขนส่ง เป็นต้น

    ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้ทรานส์ฟอร์มองค์กรอย่างต่อเนื่อง และล่าสุดได้ดึงผู้บริหารที่มีประสบการณ์และวิสัยทัศน์ไกลมาร่วมขับเคลื่อนธุรกิจ โดยประกาศแต่งตั้ง 5 ผู้บริหารใหม่ นำโดย

    -นางสาวดุลยา พวงทอง ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่ กลุ่มงานบริหารการเงิน

    -นางสาวเยเนอเวียบ ศิริวรรณ ฟิเนท์ ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่ กลุ่มงานทรัพยากรมนุษย์

    -นายชยธร แต้ไพสิฐพงษ์ ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่ กลุ่มงานกลยุทธ์และนวัตกรรม

    -นายสมศักดิ์ บุญลาภ ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ กลุ่มผลิตปศุสัตว์

    -นายไพฑูรย์ จิรานันตรัตน์ ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่ กลุ่มงานพัฒนาประสิทธิภาพ การผลิต และซัพพลายเชน

    พร้อมกับวางพันธกิจดำเนินธุรกิจเพื่อความยั่งยืนภายใต้กรอบ ESG (Environmental, Social, and Governance) กับ 5 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1) การให้ความสำคัญคุณภาพและความปลอดภัยด้านอาหาร 2) การจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 3) การพัฒนาชุมชน 4) การพัฒนาบรรจุภัณฑ์เพื่อความยั่งยืน และ 5) อาชีวอนามัยและความปลอดภัย

    “เบทาโกร เชื่อมั่นว่าภายใต้การกำหนดกลยุทธ์ 2024 และความมุ่งมั่นก้าวสู่ ‘บริษัทอาหารครบวงจรชั้นนำของไทยที่มุ่งมั่นเพิ่มคุณค่าชีวิตทุกคน ด้วยอาหารที่ดีกว่า’ จะเป็นก้าวที่สำคัญสร้างการเติบโตที่มั่นคงและยั่งยืนให้กับเบทาโกร รวมทั้งในทุกภาคส่วน ทั้งผู้บริโภค พันธมิตรทางการค้า พนักงาน ชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม ที่ร่วมเติบโตและยั่งยืนไปพร้อมกับเรา” วสิษฐ กล่าวทิ้งท้าย



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : PTG ปักธงปี 2570 ครองมาร์เก็ตแชร์น้ำมัน 25% ร้านกาแฟพันธุ์ไทย 5,000 สาขา

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine